posttoday

จักรยานสาธารณะ เกิดแน่หากคนเปลี่ยน (พฤติกรรม)

21 กันยายน 2560

Bike-Sharing ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายประเทศในยุโรปและเอเชียได้ใช้บริการรถจักรยานให้เช่ามาเป็นเวลาหลายสิบปี

ระบบจักรยานสาธารณะ หรือ Bike-Sharing ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศในยุโรปและเอเชียได้ใช้บริการรถจักรยานให้เช่ามาเป็นเวลาหลายสิบปี เนื่องจากการใช้รถจักรยานเดินทางในเมือง ยิ่งระยะทางสั้นๆ ยิ่งสะดวก ประหยัดเวลา ช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยควันพิษ ลดปัญหารถติด ประหยัดน้ำมันรถยนต์ แถมได้ออกกำลังกายอีก

ยิ่งทุกวันนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ทำให้จักรยานสาธารณะเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีจักรยานสาธารณะหลายแบรนด์เข้ามาให้บริการ เช่น โมไบค์ (Mobike) ผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก สัญชาติจีน จับมือกับบริษัท เอไอเอส บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดยจะเริ่มให้บริการที่ มก.เป็นแห่งแรกแล้วขยายมายังห้างในกลุ่มเซ็นทรัล ออฟโฟ (Ofo) จักรยานสาธารณะสัญชาติจีน ที่เพิ่งเปิดให้บริการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่นานมานี้ หรือ โอไบค์ (Obike) จากสิงคโปร์ ที่จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือแม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ให้บริการจักรยานสาธารณะ ซียู ไบค์ (CU Bike) เป็นต้น เรียกว่าส่วนใหญ่จะให้บริการภายในมหาวิทยาลัย

จักรยานสาธารณะ เกิดแน่หากคนเปลี่ยน (พฤติกรรม)

ปันปั่น...จักรยานสาธารณะ

ย้อนไปเมื่อปี 2555 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำโครงการจักรยานสาธารณะในชื่อว่า “ปันปั่น” (ปัจจุบันโครงการก็ยังอยู่) เป็นบริการให้ยืมหรือให้เช่า รถจักรยานแก่คนกรุงด้วยระบบอัตโนมัติ ใช้ขี่ในระยะสั้นๆ เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างในการเดินทางด้วยรถขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่าง รถไฟฟ้า โดยเปิดให้บริการในพื้นที่สาทร พระราม 4 ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนสีลม ถนนนราธิวาส ถนนวิทยุ และถนนเพลินจิต ซึ่งเป็นบางจุดของถนนเท่านั้น ทั้งหมด 50 สถานี จำนวน 500 คัน

เครือฟ้า บุญดวง หัวหน้าศูนย์สารสนเทศจราจร กองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการมาถึงปัจจุบัน มีสมาชิกสมัครใช้บริการปันปั่นอยู่ที่ 9,800 คน โดยในช่วงแรกๆ ของโครงการมีผู้ใช้ต่อวันอยู่ที่ 600-700 คน แต่ปัจจุบันลดลงอยู่ที่ประมาณ 400-500 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทรงตัวไม่ขึ้นไม่ลง ขณะที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศ โดยเวลาที่คนมาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเวลาเช้าและตอนเย็น

“โดยเฉพาะตอนเย็น ช่วงเลิกงานเป็นเวลาที่จักรยานปันปั่นไม่พอต่อความต้องการ เพราะเป็นเวลาที่ใครก็อยากหลีกเลี่ยงปัญหารถติด หันมาใช้จักรยานปั่นไปสถานีรถไฟฟ้า แต่เนื่องจากจักรยานมีน้อย สถานีหนึ่งมี 8 หัวล็อกจักรยานก็จริง แต่ 3 หัวล็อกไว้สำรองจอด เพราะฉะนั้นก็จะใช้จริงแค่สถานีละ 5 คัน” เครือฟ้า กล่าว

การที่ผู้ใช้บริการลดลงจากช่วงแรกๆ เครือฟ้ามองว่า เป็นเรื่องปกติ ถ้าจะให้ผู้มาใช้บริการเยอะขึ้นก็ควรขยายบริการไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้า พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการมากขึ้น

“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีของปันปั่นยังตามหลังผู้ให้บริการรายอื่นๆ อยู่มาก นอกจากนี้ปัญหาในเรื่องฝนก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ทำให้ผู้ใช้จักรยานในบางวันลดลง”

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดที่จะปรับปรุงและจัดให้มีระบบจักรยานสาธารณะในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปรับปรุงจักรยาน ทำสี และติดสติ๊กเกอร์ ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ระยะที่ 2 จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาให้บริการ ระยะที่ 3 ขยายพื้นที่การให้บริการ โดยจะเปิดให้เอกชนจัดหาจักรยานสาธารณะไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน  

“ทุกวันนี้ปันปั่นยังไม่ได้หักค่าบริการของสมาชิกผู้ใช้แต่อย่างใด โดยค่าสมัครตอนแรก 320 บาท เงินยังอยู่ครบ เรียกว่าตั้งแต่เปิดมา เปิดให้บริการฟรีอยู่ตลอดไม่ได้เก็บเงิน เนื่องจากทางกรุงเทพมหานครต้องการให้คนกรุงหันมาใช้จักรยานในการเดินทางและทำกิจกรรมมากขึ้น” เครือฟ้า กล่าว

ขณะที่ สันติ โอภาสปกรณ์กิจ ผู้ประสานงานกลุ่มบิ๊กทรีส์ (Big Trees) มองว่า ปันปั่นอิงกับโฆษณามากเกินไป โดยจะเห็นว่าตามสถานีปันปั่นจะมีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ รวมทั้งมีจุดจอดจักรยานที่อยู่บนเกาะกลางถนน ก็แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้สนใจคนใช้จักรยาน ที่ควรจะต้องได้รับความสะดวกและปลอดภัยเวลาจะใช้จักรยาน

“ช่วงแรกที่เปิดให้ทดลองผมไปใช้บริการอยู่ แต่ก็แค่ครั้งนั้นครั้งเดียวเพราะมองว่า กทม.สนใจแต่ป้ายโฆษณามากกว่า ไม่ได้คำนึงถึงคนใช้ จุดที่ควรตั้งสถานีก็ไม่ตั้ง ไปตั้งไหนก็ไม่รู้ คือตั้งแล้วมันไม่เป็นเครือข่ายเชื่อมต่อกัน เช่น จากจุด A มาจุด B จบเลย แล้วไงไปไหนล่ะทีนี้ นี่แหละที่ผมมองว่าคนกรุงไม่ค่อยให้การตอบรับ อีกอย่างเทคโนโลยีที่ปันปั่นใช้ล้าสมัย ไม่ทันคนอื่นเขา อย่างโมไบค์ เขาใช้จีพีเอสทันสมัยกว่าเยอะ” สันติ กล่าว

จักรยานสาธารณะ เกิดแน่หากคนเปลี่ยน (พฤติกรรม)

ควรเริ่มที่มหาวิทยาลัย

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า ด้วยศักยภาพของประเทศไทย เส้นทางจักรยานยังคงอันตรายอยู่ เพราะฉะนั้นถ้ามีจักรยานสาธารณะก็ควรจะเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยดีที่สุด เพราะถ้าไม่เกิดที่มหาวิทยาลัยข้างนอกก็คงจะเกิดยาก แต่ถ้าทำสำเร็จก็สามารถขยายออกไปข้างนอกได้

เวลานี้ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มให้บริการจักรยานสาธารณะแล้ว เช่น เกษตรศาสตร์ เรามีภาพลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยจักรยานอยู่แล้ว ก่อนนี้มีจักรยานให้นิสิตยืมปั่นในมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ยังใช้อยู่ แต่ความนิยมลดน้อยถอยลงตามยุคสมัย เพราะด้วยความทนทานของจักรยานไม่เต็มร้อย ซ่อมแซมลำบาก แถมไม่ถูกใจวัยรุ่นด้วย

ดร.จงรัก กล่าวว่า “ตอนนี้ มก.กำลังจะดึงภาพลักษณ์นั้นกลับมา โดยมหาวิทยาลัยได้จับมือกับโมไบค์ ผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะจากจีน อย่างแรก เพื่อดึงความเป็นกรีนยูนิเวอร์ซิตี้กลับมาสู่เกษตรฯ เอาภาพลักษณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยจักรยานกลับมา สอง มหาวิทยาลัยมีนโยบายเน้นเรื่องเทคโนโลยีเพื่อต้องการทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นสมาร์ทยูนิเวอร์ซิตี้ สาม โมไบค์เป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งคนสร้างสตาร์ทอัพก็อยู่ที่มหาวิทยาลัย บรรยากาศนี้จะส่งเสริมให้นิสิตคิดค้นนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถทำเป็นบิซิเนสได้ สี่ผมอยากให้นิสิตรู้จักพึ่งพาตัวเองไม่ใช่เป็นผู้ร้องขอ เขาต้องสามารถสร้างองค์ความรู้และเป็นที่พึ่งพาของคนอื่นได้

ผมคิดว่า จักรยานสาธารณะเกิดแน่ แต่คนเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น ไม่เฉพาะเวลาออกกำลังกาย แต่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เริ่มที่บ้าน โรงเรียน และในมหาวิทยาลัย ต้องทำให้เป็นชีวิตประจำวัน เช่น ไปไหนใกล้ๆ ไม่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ หรือขับรถยนต์ไป ให้เดินหรือขี่จักรยาน ผมเชื่อว่า ถ้าทำอย่างนี้จักรยานสาธารณะเกิดแน่นอน

จักรยานสาธารณะ เกิดแน่หากคนเปลี่ยน (พฤติกรรม)

สิ่งสำคัญภาครัฐต้องมีระบบรองรับให้ดีด้วย เช่น มีทางเฉพาะของจักรยาน ซึ่งผมมองว่าจำเป็นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อย่างน้อยฟุตปาทก็ควรให้ขี่จักรยานได้ เหมือนญี่ปุ่นก็ขี่บนฟุตปาท ของเราจุดไหนทำได้ก็ควรทำ อย่าท้อถอยครับ ส่งเสริมให้เกิดขึ้นให้ได้ สมาร์ทซิตี้ไม่ไกลเกินเอื้อม” รักษาการอธิการบดี มก. กล่าว

ด้าน สันติ กล่าวว่า ถ้าอยากสนับสนุนให้คนที่ไม่เคยใช้จักรยานหันมาใช้จักรยานสาธารณะในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ การมีถนนที่เป็นทางจักรยานแยกต่างหากเป็นสิ่งจำเป็น เพราะคนที่ไม่เคยขี่จักรยานย่อมไม่มีใครอยากเสี่ยงหรืออยากให้ลูกหลานของตัวเองมาชีวิตมาเสี่ยงบนถนน

“อยากให้ลองนึกถึงงานไบค์ฟอร์แดดกับไบค์ฟอร์มัม ทำไมคนมาปั่นเป็นแสนเป็นล้านคนทั้งที่จำนวนมากไม่เคยปั่นก็ยังมาปั่น ก็เพราะว่าวันนั้นเขามั่นใจว่าปลอดภัย นี่คือตรรกะง่ายๆ เพราะฉะนั้นเพื่อคลายความกังวลของคนที่ไม่เคยปั่น แต่อยากให้เขามาปั่น รัฐก็ต้องมีทางจักรยานพิเศษเฉพาะให้ และผมเชื่อว่ายังไงก็แล้วแต่จักรยานสาธารณะในประเทศไทยเกิดแน่นอน แต่ไม่รู้วันไหนปีไหน” สันติ กล่าวทิ้งท้ายแบบขำๆ