posttoday

บ้านสูงวัย หัวใจเดียวกัน

20 กันยายน 2560

หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ประชากรโลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอีก 35 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 โดยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด

ปัจจุบัน ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยจากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า หลังจากปี 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ

สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

คาดว่าในปี 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 17.6 ล้านคน (26.3%) และปี 2583 จะมีจำนวนถึง 20.5 ล้านคน (32.1%) ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนสถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ

หนึ่งในสมาชิกในบ้านนั้น มีผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลมากกว่าคนในวัยอื่นๆ ทั้งทางสภาพร่างกายและจิตใจ ความต้องการทางร่างกายนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก โดยอาศัยการออกแบบหรือปรับเปลี่ยนบางส่วน รวมถึงการเลือกใช้วัสดุ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ภายในบ้านได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข

หลักการการออกแบบ Aging-In-Place Design ซึ่งหมายถึง แนวทางการออกแบบสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุในรูปแบบที่ให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยในบ้านของตนเองได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ต้องถูกส่งไปอยู่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ผู้สูงอายุ ที่ไม่ใช่บ้านของตนเอง เช่น โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงคนชราแบบ Day care หรือ Nursing home เป็นต้น โดยหลักการจะออกแบบเน้นในเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่อยู่อาศัย ภาพรวมที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

ข้อมูลจากงานสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “ที่อยู่อาศัยสำหรับสังคมผู้สูงอายุ : จากมุมมองเชิงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ” ในงาน มหกรรมบ้าน ธอส. เอ็กซ์โป @ กรุงเทพฯ ที่จัดโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์ว่า ในปี 2568 สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของจำนวนประชากร และในปี 2578 เพิ่มเป็น 30% จากข้อมูลในปี 2546 ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 10% ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มแบบเท่าตัว

โดยบอกว่า จากสถิติผู้สูงอายุมีความต้องการอยู่ที่บ้านของตัวเอง มากกว่าสถานบริการผู้สูงอายุ โดยประชาชนในชนบทมีความต้องการสูงถึง 92% ส่วนเขตเมืองสูงถึง 72% ทำให้เห็นว่าธุรกิจประเภท Home Healthcare จะได้รับความนิยมในอนาคต ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ไตรรัตน์ แจงว่า สัดส่วนผู้สูงอายุมีมากกว่าเด็ก ขณะที่จำนวนแรงงานเริ่มลดลง ซึ่งหากวางแผนไม่ดีจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ควรมีการออกมาตรการสนับสนุนให้บุตรหลานนำค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุ มาใช้หักลดหย่อนภาษีได้

รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องส่งเสริมกิจการ ธุรกิจผลิตอุปกรณ์ ปรับปรุงบ้าน รวมทั้งธุรกิจประกัน จะต้องสนับสนุนให้นำเงินมาใช้ในการปรับปรุงบ้านได้ นอกจากนี้ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ลงทุนสร้างชุมชมผู้สูงวัย โดยรูปแบบอาจจะไม่เป็นตึกสูงเกินไป ในลักษณะชุมชนย่อมๆ เป็นต้น

พร้อมทิ้งท้ายไว้น่าสนใจมากว่า การพัฒนาที่พักสำหรับผู้สูงอายุ ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด และถือเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในเรื่องของบุคลากร เห็นได้จากปัจจุบันไทยมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคและดูแลผู้สูงอายุได้ไม่ดีพอ

พญ.นาฏ ฟองสมุทร ผู้บริหารโครงการที่พักผู้สูงอายุสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย มองว่า การเตรียมรับมือกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ในระยะต่อไป กิจการ รวมถึงการออกแบบต่างๆ ต้องรองรับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบลักษณะประชากร ที่เพศหญิงในวัยเกษียณจะมีสัดส่วนสูงกว่าเพศชายในอัตรา 60:40 สินค้า บริการต่างๆ จะต้องคำนึงถึงเพศหญิงมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย และการอยู่ร่วมกันในสังคม

การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะ “คลื่นสึนามิผู้สูงอายุ” (Population Tsunami) ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า จากประชากรที่เกิดในช่วงเบบี้ บูมเมอร์ ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกิจการประเภท Care Housing ต้องเริ่มปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดย พญ.นาฏ นำเสนอแผนเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องคำนึงถึงปัจจัย 3 ด้าน คือ

1.ในเรื่องของรายได้ ต้องเตรียมตัวและเริ่มออมเงินในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ระดับรายได้เก็บออมที่เหมาะสมของชนชั้นกลาง สำหรับใช้จ่ายในชีวิตหลังวัยเกษียณควรมีไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านบาท/ปี

2.การดูแลเรื่องสุขภาพ เพื่อไม่ให้เป็นผู้สูงอายุที่มีโรคภัยไข้เจ็บ และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เพิ่มขึ้น

3.การมีที่อยู่อาศัยในวัยเกษียณ ที่อบอุ่น และปลอดภัย

พร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่า ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุต้องเริ่มจาก 3 ขั้นตอน คือ 1.เริ่มจากที่บ้าน ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ล้วนต้องการอยู่ที่บ้าน ซึ่งการอยู่ที่บ้านก็ต้องมีผู้ดูแลอย่างมีคุณภาพ 2.กรณีที่ไม่มีผู้ดูแลที่บ้าน ต้องมีสถานที่ให้ผู้สูงอายุพักอาศัยในระหว่างที่ลูกหลานออกไปทำงาน และ 3.ผู้สูงอายุในช่วงปลาย ไม่สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ต้องการที่พักอาศัยแบบ Nursing Home หรือการยกโรงพยาบาลมาหาผู้สูงอายุที่บ้าน

การทำให้ที่พักสำหรับผู้สูงอายุประสบความสำเร็จได้ จะต้องเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ที่จะต้องดูว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละขั้นตอนได้อย่างไร โรงพยาบาลที่จะต้องเข้ามาร่วมมือในการให้บริการ และธุรกิจดูแลสุขภาพในรูปแบบ Healthcare ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ

บ้านผู้สูงอายุในฝันจากแนวคิดคนรุ่นใหม่

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่า 20% ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่า 14% ขึ้นไป

เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีการประกาศผลในโครงการประกวดแบบ “บ้านผู้สูงอายุ” โดย ธอส. ชิงรางวัลทุนการศึกษามูลค่ารวม 3 แสนบาท เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นออกแบบบ้านที่สามารถสร้างได้จริง มีพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสม สวยงามควบคู่ไปกับความสะดวกสบาย ปลอดภัย พร้อมทั้งเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเอื้อประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุมากที่สุด เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

การที่นิสิตนักศึกษาได้ใช้ความรู้ ความสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการออกแบบบ้านผู้สูงอายุ ซึ่งผลงานการออกแบบบ้านดังกล่าวจะนำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบบ้านให้กับผู้สูงอายุในอนาคต มีผ่านเข้ารอบรวมทั้งสิ้น 14 ราย

คณะกรรมการตัดสินซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เอสซีจี และผู้บริหาร ธอส. ได้ร่วมกันพิจารณาผลงานของนิสิตนักศึกษาจาก 10 สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่ให้ความสนใจส่งแบบบ้านเข้าประกวด และได้คัดเลือกผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ แสดงรายละเอียดพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสม สวยงาม สะดวกสบาย ปลอดภัย เลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเอื้อประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยมากที่สุดให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมกับได้รับทุนการศึกษา 3 รางวัล รางวัลละ 1 แสนบาท ประกอบด้วย

1.ศิริพร คำแก้ว นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชื่อผลงาน “บ้านอยู่เย็น”

 

บ้านสูงวัย หัวใจเดียวกัน

 

2.ปริญญา เนตรคำ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชื่อผลงาน “L House”

 

บ้านสูงวัย หัวใจเดียวกัน

 

3.พีรพล สุทธิมรรคผล นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชื่อผลงาน “บ้านวันวาน”

 

บ้านสูงวัย หัวใจเดียวกัน

 

แบบบ้านวันวาน แนวคิดในการออกแบบของทีมพีรพล นำเสนอมุมมองของการออกแบบว่า คนสูงอายุมักชอบพูดถึงเรื่องเก่า ชอบเล่าความหลังในอดีต ผู้สูงอายุอาจจะรู้สึกมีความสุข สบายใจ และปลอดภัยต่อสิ่งที่เขารู้สึกคุ้นเคย ทำให้เขามักโหยหากับสิ่งเดิมๆ ยิ่งในอดีตของผู้สูงอายุในยุคปัจจุบัน ก่อนที่จะมาอยู่อาศัยในบ้านที่มีลักษณะสมัยใหม่ เขาเคยอาศัยอยู่บ้านที่มีลักษณะแบบบ้านไทยสมัยก่อน จึงเลือกออกแบบบ้านให้มีกลิ่นอายบ้านไทยสมัยก่อน เพื่อให้มีความรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปอยู่ในบ้าน ซึ่งในอดีตมีบรรยากาศที่ใกล้ชิดธรรมชาติแบบที่เขาเคยคุ้นชินอีกครั้ง

ส่วน ศิริพร ตัวแทนจากทีมบ้านอยู่เย็น บอกถึงแนวคิดในการออกแบบคือต้องการให้คนในครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า และสามารถรองรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงผู้สูงอายุติดเตียง โดยมีการออกแบบราวจับทั่วบริเวณบ้าน มีระบบแสงไฟฟ้าให้มองเห็นได้ชัด รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

การเตรียมความพร้อมก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาแบบบ้านให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ของสังคมไทย