posttoday

เศรษฐกิจพอเพียง สู่โภชนาการยั่งยืน

19 กันยายน 2560

เศรษฐกิจพอเพียงจากพระเมตตาสู่ชาวเขาในพื้นที่หมู่บ้านลุ่มน้ำแม่จัน

ชาวเขาในพื้นที่หมู่บ้านลุ่มน้ำแม่จัน ได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เข้าเฝ้ารับเสด็จ เมื่อครั้งทรงเยี่ยมหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ถึง 3 ครั้ง ในปี 2522-2524

ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพื้นที่ในทุ่งโป่งป่าแขม ประมาณ 200 ไร่ ให้กับชาวเขาเพื่อปรับเป็นพื้นที่ทำนา โดยรับสั่งให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ทำฝายเพื่อส่งน้ำเข้าที่นา ทั้งยังได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ สำหรับสร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนบ้านปางสา

เศรษฐกิจพอเพียง สู่โภชนาการยั่งยืน

แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 30 ปี รอยพระบาท รอยแย้มพระสรวล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ยังตราตรึงอยู่ในดวงใจของราษฎรทุกชาติพันธุ์ ที่นาของพ่อ 200 ไร่ ยังคงงอกงามโดยปราศจากสารเคมี และกลายเป็นแหล่งอาหารที่ทำกินให้กับชาวเขาในลุ่มแม่น้ำจันเรื่อยมาจนถึงวันนี้

จะแฮ-สุพจน์ หลี่จา ผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะ เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เล่าว่า เขามีโอกาสได้รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ขณะนั้นเขายังเด็ก และรับรู้เรื่องราวต่างๆ อย่างรางเลือน ต่อเมื่อเขาเรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโท และได้กลับมาทำงานร่วมกับชาวชาติพันธุ์ เขาจึงเสาะหาเรื่องราวของพระองค์ท่าน ตลอดจนแนวทางที่พระองค์พระราชทานไว้ให้แก่ชาวชาติพันธุ์ นั่นคือ เศรษฐกิจพอเพียง

 

เศรษฐกิจพอเพียง สู่โภชนาการยั่งยืน

“ความเมตตาและความรักที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีให้ชาวชาติพันธุ์ คนรุ่นเก่าพูดอยู่เสมอว่า ถ้าไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 พวกเขาเหล่านั้นไม่รู้จะมีชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตได้ดีงามได้อย่างไร เขาซาบซึ้งที่พระองค์ท่านทรงตรากตรำเข้าไปหาเขาในพื้นที่ เสวยพระกระยาหารแบบเดียวกับชาวชาติพันธุ์ ความซาบซึ้งกลายเป็นความเชื่อและศรัทธา รักหวงแหนต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

โครงการที่พระองค์ท่านมอบให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ยิ่งตอกย้ำให้พี่น้องชนเผ่าเกิดความภาคภูมิใจในการดำเนินรอยตามพระราชาในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทุกวันนี้ในพื้นที่ต่างๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ หรือต่อให้พระองค์ท่านไม่เคยเสด็จฯ แต่พี่น้องชนเผ่าทุกคนก็ดำเนินชีวิตตามแนวพระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานเป็นแนวทางมากกว่าเศรษฐกิจ การเกษตร หรืออาหาร แต่สำหรับชาวชาติพันธุ์ คือ ภาพรวมของชีวิต เป็นเสมือนกุญแจที่จะไขให้คนเกิดความรักความหวงแหน เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน

เศรษฐกิจพอเพียง สู่โภชนาการยั่งยืน

“จริงๆ แล้วหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเราชนเผ่าอยู่แล้ว พี่น้องชนเผ่ามีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เพาะปลูกทำการเกษตรเพื่อหล่อเลี้ยงชีพในครอบครัวและแบ่งปันไปสู่คนในสังคม ผมถอดความจากคำบอกเล่าของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แล้วนำมาต่อยอดโครงการเกี่ยวกับโภชนาการ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวเขา และเราก็สื่อสารกับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ในแนวคิดที่แฝงมากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องที่แฝงอยู่ในหลักปรัชญานั้น คือ เรื่องของความรัก โดยใช้หลักเหตุผล ในหลวงพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ทุกคนมีความรักมีความสามัคคี เห็นใจผู้อื่น สามารถดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมที่งดงามอย่างมีความสุข มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และพี่น้องชนเผ่าได้รับรู้รับทราบและปฏิบัติตามที่ในหลวงได้มอบให้ตลอดมา ตอกย้ำให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องและทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ และสืบสานเจตนานี้ ในหลวงมอบความรักเป็นมรดกที่มอบให้พี่น้องชาติพันธุ์”

จะแฮ ยืนยันในฐานะตัวแทนของพสกนิกรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ว่า แม้วันนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว แต่สิ่งที่พวกเราได้ยึดมั่นและสืบทอดสิ่งที่พระองค์ท่านทรงมอบให้

“สิ่งที่จับต้องได้ที่สุด ก็คือ การดำรงชีวิตตามแนวพระราชดำรัส เช่น ที่นา 200 ไร่ ที่พระราชทานให้ พวกเราก็จะดำรงและใช้ประโยชน์จากผืนดินแห่งนี้เพื่อผลิตอาหาร เพื่อเลี้ยงลูกครอบครัวของตัวเองจนไปสู่ลูกหลานตราบนานเท่านาน”

นอกจากที่นาของพ่อที่ทรงพระราชทานพื้นที่ให้ชาวเขาไว้ทำกินแล้ว ปลายทางของประวัติศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่น ความจงรักภักดีที่คงอยู่ เชื่อมร้อยประวัติศาสตร์และหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังช่วยเกื้อกูลให้สถานศึกษาใน ต.เทอดไทย ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

เศรษฐกิจพอเพียง สู่โภชนาการยั่งยืน

พันธวัช ภูผาพันธกานต์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า พื้นที่ ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง มีชนชาติพันธุ์ 7 ชาติพันธุ์ ได้แก่ อาข่า ลาหู่ จีนยูนนาน ไทยใหญ่ ม้ง ลีซอ และลั๊วะ อาศัยอยู่ในพื้นที่ 18 หมู่บ้าน และบ้านบริวารอีก 16 ชุมชน ประชากรราว 20,528 คน จาก 5,236 ครัวเรือน นี่เองทำให้พื้นที่ในเขตนี้มีความหลากหลายทางความรู้ภูมิปัญญา โดยเฉพาะความหลากหลายทางด้านอาหารที่เรียนรู้และสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่ช่วยสนับสนุนให้คนในเผ่าพันธุ์ตนเอง ได้อยู่รอดปลอดภัย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีในการส่งเสริม ให้เกิดพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร และนำผลผลิตเข้าสู่ขบวนการทางด้านอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กและประชาชนในพื้นที่

ตัวอย่างของสถานศึกษาที่นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและพัฒนาโรงเรียนสอนอาชีพให้เด็กๆ และชุมชนไปพร้อมกัน คือ โรงเรียนสามัคคีพัฒนา โรงเรียนขยายโอกาสที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีชมพูที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการเรียนการสอน

เนียร เชื้อเจ็ดตน ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคีพัฒนา กล่าวว่า เมื่อ 4 ปีก่อนโรงเรียนแห่งนี้มีปัญหาเรื่องพัฒนาการของนักเรียน และอยู่ในลำดับบ๊วย เมื่อนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการเรียนการสอน เพิ่มศักยภาพของผู้เรียน จัดทำสื่อการสอนในโรงเรียน ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นฝึกเป็นวิชาชีพ ทำให้ปัญหาต่างๆ ลดลง

เศรษฐกิจพอเพียง สู่โภชนาการยั่งยืน

ในพื้นที่ 19 ไร่ นอกจากอาคารเรียนแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เดิมเป็นป่าทึบ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถูกแบ่งพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งพื้นที่เพื่อเพาะปลูก เช่น ผักตามฤดูกาล มะนาว เก๊กฮวย เลี้ยงสัตว์ เช่น กบ ปลา หมู ไก่ไข่ ไส้เดือน จิ้งหรีด ฯลฯ โดยแบ่งให้เด็กแต่ละชั้นดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญและคุณค่าของเศรษฐกิจพอเพียง

กระบวนการทำงานทำให้เด็กได้ซึมซับในสิ่งที่เขาสนใจ นำความรู้ไปใช้ในครอบครัว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ส่งเสริมอาชีพ เช่น ผู้ปกครองนักเรียนปลูกเก๊กฮวยขายสร้างรายได้ ซึ่งรายได้จากการขายผลผลิตของโรงเรียนจะนำเป็นเงินกองทุนหมุนเวียนส่งเสริมอาหารกลางวันโภชนาการของเด็กๆ จึงมีคุณภาพดีขึ้น

สุพจน์ เสริมว่า ถ้าเทียบกับในอดีตอาหารตามธรรมชาติมีเยอะขึ้น อาหารปลอดภัยเพราะปลูกเองกินเอง ก็จะไม่มีสารเคมีใดๆ แต่ปัจจุบันการพัฒนาระบบต่างๆ ของสังคม มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น ชาวเขาก็ถูกชักชวนให้เข้าสู่วังวนนี้มากขึ้น ก็อาจจะมีการเริ่มใช้สารเคมี ซึ่งนี่เป็นปัญหาหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มที่พยายามมาค้นหาสิ่งที่ดีงามของชาติพันธุ์ “เราก็พยายามมาดูว่ามีอาหารหรือเมล็ดพันธุ์อะไรอยู่ที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของครอบครัวและชุมชนได้ เราก็ส่งเสริมให้เขาปลูกและกิน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ก็ส่งเสริมให้เขาลดการใช้สารเคมีลงได้ เพราะฉะนั้นอาหารที่เขาได้มาก็ปลอดภัยต่อตัวเองและดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นี่คือแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาใช้กับหลักโภชนาการและความเชื่อของชาวเขา”