posttoday

ก้าวต่อไปของ CRISPR - รักษามะเร็ง?

16 กันยายน 2560

ในช่วงปีที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวในวงการแพทย์ที่มีคนพูดถึงมากไปกว่าเทคโนโลยี CRISPR-9 อีกแล้ว

 โดย โสภณ ศุภมั่งมี ภาพ : อีพีเอ

 ในช่วงปีที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวในวงการแพทย์ที่มีคนพูดถึงมากไปกว่าเทคโนโลยี CRISPR-9 อีกแล้ว

 เพราะเทคนิคทางการแพทย์ด้วยการตัดต่อยีนชนิดนี้ อาจจะเป็นหนทางแห่งการรักษาโรคมะเร็ง ที่เราทุกคนกำลังเฝ้ารออยู่ก็เป็นได้

 เทคนิคการรักษาด้วยการตัดต่อยีนเพื่อรักษาผู้ป่วยในมนุษย์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2009 ครั้งนั้นแพทย์ใช้การดึงเอา ​Immune Cells (เซลล์ที่เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกาย) ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ออกมาข้างนอก แล้วทำการดัดแปลงยีน CCR5 เพื่อไม่ให้​ทำงานได้

 ซึ่งโดยปกติแล้วเชื้อไวรัส HIV จะอาศัยเจ้า CCR5 ตัวนี้เป็นประตูทางเข้าไปทำลายเซลล์ของร่างกาย เมื่อตัดแต่ง Immune Cells เสร็จเรียบร้อยก็ใส่คืนเข้าไปในร่างกายเช่นเดิม

 ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสสูงที่ไวรัส HIV จะหายไปทั้งหมด และยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงใดๆ

 ที่จริงถ้าย้อนกลับไปช่วงปี 1990 มีการใช้เทคนิคการเติมยีนเข้าไปในเซลล์ร่างกายเพื่อรักษาโรคทางพันธุกรรมที่ไม่ค่อยพบเห็นกันบ่อยๆ แต่การใช้เทคนิคการตัดต่อยีนแบบ CRISPR นั้นเป็นการปรับเปลี่ยนยีนที่อยู่ในเซลล์ (ไม่ใช่การเติมยีนเพิ่มเข้าไป) เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นเทคนิคที่น่าจะรักษาโรคต่างๆ ได้มากกว่าวิธีแบบเก่า

 CRISPR เป็นเทคนิคการตัดแต่งยีนของมนุษย์เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความแม่นยำสูงที่สุดในเวลานี้ และเมื่อเดือน ต.ค. 2016 ที่โรงพยาบาล West China Hospital มันถูกใช้เพื่อทดลองในมนุษย์ (Clinical Trial) เป็นครั้งแรกเพื่อรักษามะเร็งปอด

 Immune Cells ของผู้ป่วยถูกเอาออกมาหยุดการทำงานยีนที่ชื่อว่า PD-1 แล้วก็ใส่กลับเข้าไปในร่างกาย

 ยีน PD-1 นั้นทำหน้าที่เป็นสวิตช์ “ปิด-เปิด” บอกให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นทำงานหรือให้อยู่เฉยๆ ซึ่งปกติแล้วเจ้าเนื้อร้ายจะทำงานโดยการไป “ปิด” สวิตช์ว่าไม่ต้องทำงาน เมื่อ Immune Cells ไม่รู้ว่าตัวเองต้องต่อสู้กับเนื้อร้าย มันก็อยู่เฉยๆ และถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ

 เพราะฉะนั้นถ้า CRISPR ตัดการทำงานของยีน PD-1 ไปแล้วโดยการสั่งให้มัน “เปิด” ตลอดเวลา ตามทฤษฎีแล้วเจ้าเนื้อร้ายก็ไม่สามารถหลอกให้ยีน PD-1 ปิดสวิตช์อีกต่อไป แต่ปัญหาคือเรายังไม่รู้ว่าต่อจากนี้ไป Immune Cells ที่ถูกดัดแปลงให้อยู่ในโหมด “Always On” จะเริ่มทำร้ายเซลล์ของร่างกายอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นพิษภัยอะไรรึเปล่า เพราะการทดลองครั้งนี้ยังต้องมีการเฝ้ารายงานผลและจะเสร็จสิ้นในปี 2018

 แต่ถึงยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีการวางแผนทดลองรักษาด้วย CRISPR ต่อไปในประเทศจีนอีกเป็นสิบรายต่อจากนี้ ทั้งในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งในลำไส้

 ก้าวต่อไปของโครงการทดลองทางการแพทย์โดยใช้ CRISPR คือการปรับแต่งเซลล์ภายในร่างกายของมนุษย์เลย เป้าหมายของการทดลองครั้งนี้คือป้องกันการเกิดของมะเร็งปากมดลูก โดยใช้ CRISPR เพื่อค้นหาและทำลายยีน HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ การทดลองครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในเดือน ก.ค. ที่ประเทศจีนเหมือนกัน

 ถ้าสำเร็จ ผู้ป่วยหลายล้านคนจะได้รับประโยชน์จากการทดลองครั้งนี้ เพราะถึงแม้ว่าตอนนี้มีวัคซีนป้องกัน HPV แต่ก็ไม่ได้ช่วยกำจัดเชื้อไวรัสในร่างกายของคนที่มีเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งเจ้าไวรัสตัวนี้เป็นสาเหตุของมะเร็งในปาก ลำคอ ทวารหนัก (ทั้งผู้ชายและผู้หญิง) และแน่นอนว่าเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก

 ทางเลือกเดิมอย่างการทำคีโมเทอราปีที่เหมือนการยิงปืนกลแบบกวาดเรียบ ไม่เลือกว่าเซลล์ดีหรือเซลล์มะเร็ง เพราะวิธีการทำงานของเคมีบำบัดคือการรับสารเคมีที่ไปทำลายเซลล์ที่มีคุณสมบัติในการแบ่งตัว ทำให้เซลล์ที่กำลังแบ่งตัวหยุดชะงักและตายลงไป เซลล์ดีเซลล์ร้ายไม่มีการแบ่งแยก

 นี่เป็นสาเหตุให้คนที่เข้ารับทำคีโมบำบัดมีอาการเจ็บปากเจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย และผมร่วง เพราะเซลล์ของร่างกายเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่สารเคมีเข้าไปทำลายเช่นเดียวกัน

 แถมยังมีปัจจัยหลายอย่างในการรักษา (ชนิดของมะเร็ง ระยะที่เป็น ความแข็งแรงของผู้ป่วย ฯลฯ) ที่เป็นตัวแปรว่าผู้เข้ารับการรักษาจะหายขาดรึเปล่า เมื่อฟังแบบนี้ CRISPR ดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแน่นอน

 แต่ในขณะเดียวกันที่ CRISPR กำลังถูกมองว่าเป็นผู้ช่วยให้รอด เป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยมีทางเลือกสักเท่าไหร่นัก ต้องย้อนกลับไปมองให้ชัดๆ กันอีกทีหนึ่งว่าการทำงานของ CRISPR นั้นคือการ “ตัดแต่ง” DNA ของร่างกายมนุษย์ แล้วถ้าเกิดมีความผิดพลาดในกระบวนการตัดแต่งขึ้นมาล่ะ

 แทนที่จะเปลี่ยนตัวหนึ่งกลับเปลี่ยนตัวอื่นแทน ทีนี้ร่างกายไม่รวนทำงานผิดพลาดกันไปหมดเหรอ ถ้าเราเอา DNA ที่ถูกปรับเปลี่ยนเรียบร้อยใส่กลับเข้าไปในร่างกายแล้วมันเกิดเป๋ขึ้นมา ตอนนี้จะไปตามหามันกลับมาแก้ไขจะง่ายเหมือนตอนแรกที่ดึงมันออกมาจากร่างกายรึเปล่า? นี่เป็นอีกคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้

 มีเหตุการณ์หนึ่งในปี 2002 ที่การทดลองโดยใช้ Gene Therapy (คนละแบบกับ CRISPR แต่ไอเดียเหมือนกัน) เกิดผิดพลาดขึ้นมาและไปปรับแต่ง DNA ที่ไม่ได้กำหนดไว้ เด็กผู้ชายที่เข้ารับการรักษาเริ่มมีอาการป่วยโรคลูคีเมียหลังจากที่ได้รับยีนที่ถูกตัดแต่งใส่กลับเข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิด DNA ที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่สถานการณ์ที่ทุกฝ่ายคาดหวังจะให้มันเกิด แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอ

 แน่นอนว่า CRISPR นั้นมีการพูดถึงเป็นอย่างมาก และการทดลองในมนุษย์กำลังเริ่มต้นขึ้นในที่ต่างๆ ของโลก อย่างอังกฤษหรืออเมริกา มันเป็นทั้งเรื่องที่น่าตื่นเต้น และในขณะเดียวกันก็ต้องจับตามองให้ดีว่าผลกระทบที่ตามมาในผู้ที่เข้ารับการรักษาเป็นยังไงบ้าง อย่าเพิ่งไปด่วนสรุปว่า CRISPR คือเจ้าชายที่ขี่ม้าขาวมาช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่าง

 เพราะมีคำกล่าวว่า “And no wonder, for even Satan disguised himself as an angel of light.”

 “การกระทำเช่นนี้ไม่แปลกประหลาดเลย ถึงซาตานเองก็ยังปลอมตัวเป็นทูตสวรรค์แห่งความสว่างได้”

 2 Corinthians 11:14

 แต่ถ้าอยากมองโลกในแง่ดีสักนิด CRISPR อาจจะกำลังรักษามะเร็งให้หายไปจากโลกนี้...ก็เป็นได้