posttoday

ขี่จักรยานสร้างสมดุลชีวิต

16 กันยายน 2560

การเล่นกีฬานอกจากเป็นงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดีแล้ว ในบางจังหวะเวลากีฬาก็ทำให้ผู้เล่นเกิดแนวคิดสร้างสรรค์ดีๆ

 โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

 การเล่นกีฬานอกจากเป็นงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดีแล้ว ในบางจังหวะเวลากีฬาก็ทำให้ผู้เล่นเกิดแนวคิดสร้างสรรค์ดีๆ ได้เช่นกัน

 อย่างเช่น ภาสิต ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น ที่มีงานอดิเรกสุดชื่นชอบคือการขี่จักรยานและเกิดแนวคิดใหม่ๆ ก็เพราะขี่จักรยาน

 ภาสิต เล่าว่า ปกติแล้วยามว่างจะชอบอยู่บ้าน หรือไม่เสาร์-อาทิตย์ก็จะออกไปขี่จักรยานเพื่อออกกำลังกาย โดยจุดเริ่มต้นของการขี่จักรยานมาจากไปเรียนหลักสูตรของตลาดทุนแล้วก็มีเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันชวนไปขี่จักรยาน

 "แรกๆ ยังไม่ได้มีจักรยานด้วย เพื่อนๆ ก็พาไปซื้อ วันแรกที่ไปขี่จักรยานกับเพื่อน โดนหลอกไปขี่จักรยานระยะทางถึง 50 กิโลเมตร"

 แม้ว่าจะไปขี่จักรยานครั้งแรกแบบไม่ตั้งตัวอะไร แต่จากครั้งนั้นก็ทำให้ภาสิตเริ่มชอบการขี่จักรยาน และกลายเป็นไปขี่จักรยานกับกลุ่มเพื่อนเป็นประจำ

ขี่จักรยานสร้างสมดุลชีวิต

 "มีการท้าทายกันในกลุ่มว่าต้องขี่จักรยานให้ได้ 100 กิโลเมตร เลยเถิดไปถึงการวางเป้าหมายลงแข่งขันไตรกีฬา"

 ภาสิต รู้สึกว่า การขี่จักรยานเหมือนกับการได้สู้กับตัวเอง สู้ตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ เพราะจักรยานไม่เหมือนกับการเล่นบอลที่ต้องเล่นเป็นทีม เนื่องจากจักรยานต้องขี่เองและสู้ด้วยตัวเอง

 "ความท้าทายของการขี่จักรยานก็คือ เรามีข้อจำกัดของตัวเองเท่าไร แล้วเราจะก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองได้หรือไม่ ซึ่งก็เหมือนกับการทำงานที่เราต้องตั้งเป้าหมาย แล้วเราจะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่"

 ภาสิต ระบุว่า ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ที่หยุดจะพยายามไม่คิดเรื่องงาน การไปขี่จักรยานก็เหมือนไปบำบัดตัวเองจากความเครียดและเหนื่อยล้าจากการทำงานมาตลอดสัปดาห์

 "ก็ต้องยอมรับว่าระหว่างขี่จักรยานไปในบางเส้นทาง เรามักจะได้เห็นอะไรหลายอย่างที่ปกติเราก็เห็นแบบผ่านๆ ตาอยู่แล้วเวลานั่งรถหรือขับรถผ่าน"

 เมื่อเปลี่ยนมาวิ่งหรือขี่จักรยาน ภาสิตมักจะได้เห็นสิ่งต่างๆ สองข้างทางที่เคยเห็น ชัดเจนขึ้นอย่างที่บางครั้งก็คาดไม่ถึงว่าสิ่งที่เห็นจะต่อยอดไปสู่การทำงานได้

ขี่จักรยานสร้างสมดุลชีวิต

 “ตอนนี้บริษัทก็ทำปุ๋ย ทำเหมืองโปแตช ตอนที่ไปขี่จักรยานผ่านไปสองข้างทางมองเห็นปุ๋ย เห็นแนวทางการทำตลาดปุ๋ย เห็นรายละเอียดว่าชาวบ้านอยู่แถวไหน ทำนาอย่างไร แล้วคนขายปุ๋ยใช้โปรโมชั่นแบบไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราอาจจะมองไม่เห็นเวลาที่นั่งบริหารอยู่” ภาสิต กล่าว

 ไม่เพียงเท่านี้ จากการที่ภาสิตเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำทัพขององค์กรให้ก้าวไปได้ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภาสิตก็จะใช้หลักการขี่จักรยาน กลับมาประยุกต์กับการก้าวข้ามความท้าทายนี้ โดยดูว่าจะนำเทคโนโลยีใดมาใช้ได้ เพื่อให้คนทำงานเหนื่อยน้อยลง ลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน

 "แทนที่จะใช้วิธีการแบบเดิมๆ ก็ใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ทำให้รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่แค่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ทำอย่างไรให้งานที่มีอยู่ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากให้เปรียบภาพชัดๆ ก็เหมือนกับมีจักรยาน ก็ต้องเอามาขี่ ไม่ใช่นำจักรยานมาแบกหรือเข็นไป" ทุกวันนี้ ภาสิตไม่เพียงแต่ขี่จักรยาน แต่ยังมีความสุขกับการศึกษารายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับจักรยาน ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เลยชอบที่จะศึกษาโครงสร้าง กลไกต่างๆ ว่า ทำไมจักรยานคาร์บอนบอบบางถึงแข็งแรงได้

 ทั้งนี้ ภาสิต เชื่อเสมอว่า ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต (เวิร์ก ไลฟ์ บาลานซ์) ดังนั้นนอกจากให้เวลากับการทำงานแล้ว ก็ต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งเพื่อตัวเองและคนในครอบครัว

 "มาถึงวันนี้การขี่จักรยานก็คือช่วงเวลาที่ได้ทำเพื่อตัวเอง เป้าหมายของภาสิต หลังจากนี้เกี่ยวกับการขี่จักรยานก็คือ อยากขี่จักรยานจากกรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่"

ขี่จักรยานสร้างสมดุลชีวิต

 ภาสิตฝากไปถึงคนทำงานด้วยว่า อยากให้คนทำงานดูแลสุขภาพกันด้วย เพราะถ้าสุขภาพร่างกายดี จิตใจมั่นคง งานก็จะออกมาดี แต่ปัจจุบันมองเห็นหลายคนทำงานกันหนักเกินไป ทำงานหนักแบบลืมตัว มารู้สึกอีกทีก็ตอนที่อาการร่างกายฟ้อง ปวดหัว เป็นไข้ แล้วก็วูบไป

 "ดังนั้น เวิร์ก ไลฟ์ บาลานซ์ คือสิ่งที่สำคัญ ถ้าคิดจะทำงานหนัก ร่างกายก็ต้องแข็งแรงก่อน"

 ทุกวันนี้ภาสิตให้ความสำคัญอย่างมากกับการส่งเสริมให้คนในบริษัทออกกำลังกาย โดยเริ่มง่ายๆ จากการเดินขึ้นบันไดก่อน เพราะการขึ้นบันไดเป็นการเช็กสภาพร่างกายได้ระดับหนึ่งว่า

 "ระหว่างขึ้นบันได หัวใจเต้นหนักเกินไปไหม เราเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ถ้าเหนื่อยเกินไปลองไปเช็กสุขภาพดูดีไหม ถือเป็นการดูแลแบบง่ายๆ ใครที่ทำงานหนักมากๆ ลองไปขี่จักรยานปลดปล่อยความเครียดกันบ้าง ไม่แน่ว่าอาจจะได้แนวคิดดีๆ กลับมาเป็นประโยชน์กับงานด้วยก็ได้"