posttoday

พรบ.รับรองเพศ + พรบ.คู่ชีวิต ฝันไม่ไกลถึง ‘สิทธิเพศทางเลือก’

16 กันยายน 2560

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สุจิตรา เอกมงคลไพศาล พิธีกรข่าวกีฬาชื่อดัง สาวหล่ออดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย และอดีตมือวางอันดับ 5 ของโลก

 โดย พริบพันดาว

 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สุจิตรา เอกมงคลไพศาล พิธีกรข่าวกีฬาชื่อดัง สาวหล่ออดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย และอดีตมือวางอันดับ 5 ของโลก แชมป์หญิงเดี่ยวประเทศไทย 5 สมัยติดต่อกัน (ปี 2541-2545) ประกาศแต่งงานสไตล์ “หญิงรักหญิง” กับน้องชมพู่ วิภารัศมิ์ ทิพรดาเปรมธนัน ซึ่งคบกันมา 3 ปีครึ่งได้ และไปใช้ชีวิตร่วมกัน

 นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดกว้างในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพต่างๆ ของสังคมไทยที่ไม่ปิดกั้นในเรื่องเพศวิถี พฤติกรรมและการปฏิบัติ เช่นกันความก้าวหน้าในเรื่องนี้ประเทศไทยก็เป็นดินแดนเสรีในการแสดงออกทางเพศอย่างไม่จำกัดประเทศหนึ่งของโลก

 ในทางกลับกัน การปกป้องคุ้มครองและกำกับดูแลทางกฎหมายยังไม่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปได้ไกลมากนัก ซึ่งสวนทางกับการเจริญงอกงามของประชากรชาวเพศทางเลือก (LGBTQ - Lesbian, Gay, Bisexual, Trans gender and Queer) ในสังคมไทย

 เมื่อมองในมุมของกฎหมายคุ้มครองเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ในวันที่ 13 มี.ค. 2558 ก็ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยได้ตกลงเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิก

พรบ.รับรองเพศ + พรบ.คู่ชีวิต ฝันไม่ไกลถึง ‘สิทธิเพศทางเลือก’

 

 ประเทศไทยก็ได้มีกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกฎหมายดังกล่าวได้มีการเพิ่มเติมคำว่า “การแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ปรากฏคำนี้ในกฎหมายไทย และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อสังคม

 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการรณรงค์ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต" เพื่อเปิดทางให้คู่ครองเพศเดียวกันทำการสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้อยู่ในขั้นปรับแก้ ศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ออกแบบระบบการจดทะเบียนและการปรึกษาผู้นำทางศาสนา

แน่นอน ดูเหมือนว่าสังคมไทยเปิดกว้างยอมรับเพศทางเลือก แต่ในทางกฎหมายความรักของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดนัก ล่าสุดก็มีการศึกษาวิจัยยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รับรองเพศ พ.ศ. ... มาดูเส้นทางของประชากรเพศทางเลือกทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกัน 

ปัญหาโลกแตก การรับรองเพศต้องเปิดใจกว้าง

 ประชากรชาวเพศทางเลือก (LGBTQ - Lesbian, Gay, Bisexual, Trans gender and Queer) เควียร์ (Queer) เป็นคำใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เนื่องจากวงการบันเทิงในสหรัฐอเมริกาให้การยอมรับเพศทางเลือกที่มีข้ามข้อจำกัดระหว่างเพศไปสู่ความครอบจักรวาลที่หลากหลายกว่าความเป็นเพศสภาพหรือเพศวิถี

 โดยทฤษฎีเควียร์ในมุมมองทั่วไป มักเป็นที่เข้าใจกันว่าแนวคิดดังกล่าวรวบรวมเอาเพศที่หลากหลายเข้ามารวมไว้ด้วยกัน เช่น เกย์ เลสเบี้ยน รักร่วมสองเพศหรือไบเซ็กชวล (Bisexual) ผู้ถูกเปลี่ยนเพศหรือทรานส์เซ็กชวล (Transsexual) คนข้ามเพศหรือทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) ผู้ที่ยังไม่มีความชัดเจน (Curious) ผู้มีเพศกำกวม (Intersex) รักหลายเพศ (Pansexual) และอัตลักษณ์อื่นๆ ที่มีแนวโน้มเกี่ยวข้อง

 แนวคิดนี้เป็นการรวมเอาเพศสภาวะและเพศวิถีที่ผิดแผกไปจากพวกรักต่างเพศ (Heterosexual) และเป็นแนวคิดที่ยึดเอาความรักร่วมเพศเป็นสารัตถะ (Essentialist Homosexuality)

 สำหรับสถานการณ์ LGBTQ ในประเทศไทยนั้นมีความซับซ้อนและขัดแย้งอยู่มาก โดยแม้ว่าสังคมจะยอมรับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันและการข้ามเพศ และมีจำนวนสาวประเภทสองที่พบเห็นได้อยู่มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ความชิงชังและอคติที่มีต่อกลุ่ม LGBTQ ยังปรากฏให้เห็นอยู่

พรบ.รับรองเพศ + พรบ.คู่ชีวิต ฝันไม่ไกลถึง ‘สิทธิเพศทางเลือก’

 

 แม้ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่อดกลั้นและเป็นมิตรต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย โดยที่กิจกรรมทางเพศของเพศเดียวกันนั้นชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2500 รัฐบาลไทยยังส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติท่องเที่ยวในประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่ต้อนรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างดี

 ทว่า การเลือกปฏิบัติและการดูถูกเหยียดหยามกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็ยังปรากฏอยู่กว้างขวางในสังคมไทย

 ปัจจุบันสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่มีการรับรองและคุ้มครองในทางกฎหมายเทียบเท่ากับบุคคลต่างเพศ แต่ก็มีความพยายามจากนักวิชาการและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิดังกล่าว

 ในการเสวนาหัวข้อร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ พ.ศ. ... เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิและความหลากหลายทางเพศ ร่วมกับองค์กรและนักกิจกรรมด้านส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนเสียงของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไปยังผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้

 ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนาครั้งนั้นว่า การร่างกฎหมายรับรองเพศนั้นจะต้องคำนึงการครอบคลุมถึงสิทธิทุกด้านที่กว้างขวางและบุคคลที่ได้รับเพศใหม่แล้ว ต้องมีสิทธิและความรับผิดชอบตามเพศใหม่ที่ตัวเองรับผิดชอบ

 ไตรรัตน์ ฟ้าปกาสิต นิติกรชำนาญการ กลุ่มกฎหมาย สำนักงานเลขานุการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้ว่าร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ศ. … เป็นกฎหมายทางเลือกให้ประชากรกลุ่มเพศทางเลือกที่สามารถยื่นคำร้องให้คณะกรรมการพิจารณารับรองใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผ่าตัดแปลงเพศแล้ว กลุ่มที่อยากผ่าตัดแปลงเพศแต่ไม่มีเงิน และกลุ่มที่ไม่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องมีคุณสมบัติ อาทิ มีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่มีคู่สมรส ไม่มีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ได้แสดงออกถึงเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิดแก่บุคคลทั่วไปทราบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และหากได้รับการพิจารณาก็จะมีการแก้ไขในเอกสารต่างๆ อาทิ มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ เหมือนผู้ที่มีเพศนั้นโดยกำเนิดทุกประการ มีสิทธิขอเปลี่ยนเพศ ชื่อหรือคำนำหน้าชื่อบุคคลในเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีกองทุนการรับรองเพศ เพื่อให้ทุนแปลงเพศกับกลุ่มที่อยากผ่าตัดแปลงเพศแต่ไม่มีเงิน

 เจษฎา แต้สมบัติ แห่งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มีเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ต้องมีความรวดเร็วในการออกกฎหมาย ต้องมีความโปร่งใส และง่ายต่อการเข้าถึงกฎหมาย และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการร่างกฎหมายก็เป็นส่วนที่สำคัญในกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ เจษฎา ยังได้ให้ข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับงานวิจัยต่างประเทศ ศึกษาการฆ่าสังหารคนข้ามเพศทั่วโลก พบว่ามีคนถูกฆ่าสังหาร 2,264 คน ทุก 72 ชั่วโมงมีคนข้ามเพศถูกฆ่า 1 คน สำหรับประเทศไทยมีคนข้ามเพศตาย 20 กว่าคน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเกลียดชัง การรับรองเพศนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พัฒนาการด้านความเสมอภาคในด้านเพศก้าวไปอีกระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับรองเพศนั้นควรกำหนดด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงเจ้าของปัญหาเป็นหลัก 

 พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมอิสระเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ มองว่านอกจากหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ร่างฉบับนี้ยังได้กำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอรับรองเพศต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งจากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า ร้อยละ 81.2 เห็นสมควรให้มีผู้มีการผ่าตัดแปลงเพศใช้คำนำหน้านามเป็นนาง นางสาวได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ญี่ปุ่น บุคคลนั้นต้องมีอายุ 18  ปี มีการแปลงเพศอย่างชัดเจน หากต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีการยอมรับจากผู้แทนโดยชอบธรรม

 โดยสาระสำคัญของกฎหมายเป็นกฎหมายทางเลือก โดยสร้างคุณภาพให้กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบ สามารถยื่นคำร้องขอคำวินิจฉัยให้รับรองทางเพศได้ โดยมีคณะกรรมการระดับชาติเป็นกลไกดำเนินการ และมีตุลาการวินิจฉัย เพื่อต้องการให้มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถทำให้กลุ่มประชากรเพศทางเลือกเข้าถึงได้ง่าย และเมื่อดูในรายละเอียดของร่างยังพบว่าผู้ที่ต้องการขอการรับเพศต้องไม่มีคู่สมรส ไม่มีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกด้วย

 พงศ์ธร จันทร์เลื่อน รองประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้กฎหมาย 2-3 ปีที่ผ่านมา พยายามบรรจุเรื่องเพศหลากหลายเข้าไป แต่กรอบคิดผู้จัดทำก็ยังติดอยู่กับ 2 เพศ และลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ บางครั้งคนเขียนอาจเจตนาดีในการเขียน แต่เขียนแล้วกฎหมายจะสอดคล้องกับความจริงสักเท่าไหร่ก็เป็นอีกเรื่อง ฉะนั้นการมีกฎหมายที่จะครอบคลุมพลเมืองส่วนนี้ ก็ต้องเขียนอย่างเข้าใจและรับรองให้ถูกต้อง

 ส่วนทีมวิจัยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้รับรองสิทธิของคนที่แปลงเพศ ให้ใช้สิทธิหน้าที่ตามเพศใหม่ได้ โดยเปลี่ยนคำนำหน้านามจากนายเป็นนางสาว หรือนางสาวเป็นนายได้ แต่มีเงื่อนไขต้องแปลงเพศโดยสมบูรณ์ คู่สมรสต้องยินยอมและหากมีลูกต้องบรรลุนิติภาวะ

พรบ.รับรองเพศ + พรบ.คู่ชีวิต ฝันไม่ไกลถึง ‘สิทธิเพศทางเลือก’

 

สิทธิเพศทางเลือกกับจุดยืนในประเทศไทย

 ประชาชนชาวกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทั่วโลกอย่างน้อย 2.6 หมื่นคน ต่างมารวมตัวกันในกลางกรุงลอนดอนเพื่อร่วมเดินขบวนพาเหรด "ลอนดอนไพรด์ ครั้งที่ 45" ไปเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ กันอย่างคึกคัก

 โดยความพิเศษของปีนี้คือเป็นการครบรอบ 50 ปีของการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางเพศ (The Sexual Offences Act) เมื่อปี 2510 ในอังกฤษและเวลส์ ซึ่งทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและชายด้วยกันไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป

 ส่วนในช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการเสวนา "สิทธิเพศทางเลือก กับจุดยืนในประเทศไทย" สังคม กฎหมาย การทำงาน พร้อมร่วมพิจารณาถึงผลกระทบหากไม่มี พ.ร.บ.รองรับ และพบกับตัวแทนเพศทางเลือกในหลากหลายเจเนอเรชั่น

 ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ซึ่งมาเสนอเกี่ยวปัญหาต่างๆ ด้านกฎหมายที่ไม่รองรับสิทธิของเพศทางเลือก ผลกระทบด้านกฎหมาย หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รับรองเพศ ปัญหาที่ทางภาครัฐต้องพิจารณาแก้ปัญหา หากไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รับรองเพศ กรณีศึกษาของต่างประเทศในเรื่องกฎหมายของเพศทางเลือก โดยสะท้อนปัญหาด้านสิทธิความไม่เท่าเทียมทางเพศกรณีเพศทางเลือกในประเทศไทย ผ่าน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

 1) คำนำหน้าในเอกสารสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวัน

 ปัญหาด้านการใช้คำนำหน้าในเอกสารสำคัญ เป็นปัญหารากฐานที่นำมาสู่ประเด็นพื้นฐานการใช้ชีวิต และการไม่มีที่ยืนในสังคมที่ชัดเจนของกลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.บ.รับรองเพศ จะเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานโดยเพศทางเลือกที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายระบุไว้นั้น จะสามารถเลือกใช้คำนำหน้าได้ตามเพศวิถี และจะได้รับผลตามกฎหมายของเพศนั้นๆ โดยการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อนี้ ยังถือเป็นการลดปัญหาความไม่ยอมรับด้านสังคมอีกทางด้วยเช่นกัน

 2) พ.ร.บ.ความเท่าเทียมด้านการทำงานกับทัศนคติของคนในสังคม

 สืบเนื่องจากประเด็นคำนำหน้าในเอกสารสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมการทำงาน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในปัจจุบันมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมด้านการทำงาน ที่รองรับในประเด็นดังกล่าวอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว แต่การประกาศใช้ พ.ร.บ.รับรองเพศนั้น จะเป็นการแก้ไขประเด็นข้างต้นให้มีความครอบคลุม และช่วยลดความไม่เท่าเทียมของ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มากขึ้น

 3) กฎหมายรับรองครอบครัว กฎหมายการจดทะเบียนสมรสกับการใช้ชีวิตครอบครัว

พรบ.รับรองเพศ + พรบ.คู่ชีวิต ฝันไม่ไกลถึง ‘สิทธิเพศทางเลือก’

 

 อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มเพศทางเลือกทั่วโลก โดยกฎหมายที่ไม่รองรับการใช้ชีวิตคู่ของเพศทางเลือก ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ด้านกฎหมายมากมาย เช่น การใช้สิทธิแทนคู่สมรส การรับรองสิทธิหากคู่สมรสเสียชีวิต รวมไปถึงการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันไม่ได้มีการระบุห้ามไว้แต่อย่างใด แต่เมื่อมีการรับรองถึงคู่สมรสของเพศทางเลือกแล้วนั้น จะช่วยปรับทัศนคติของคนในสังคม และทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

 หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รับรองเพศแล้วนั้น นอกจากจะช่วยในเรื่องผลกระทบจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนกลุ่มเพศทางเลือกมีสิทธิและความเท่าเทียมเท่ากับผู้อื่นมากขึ้นแล้วนั้น ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเป็นที่ยอมรับในสังคมในวงกว้างมากขึ้นไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามหากไม่มีการประกาศใช้กฎหมายที่รองรับเพศทางเลือก สิ่งที่ทางภาครัฐบาลควรเล็งเห็นคือ การเปิดเผยและการเติบโตขึ้นของจำนวนประชากรเพศทางเลือกในประเทศไทย และปัญหาต่างๆ ด้านสิทธิความไม่เท่าเทียมของประชากรเพศทางเลือก ที่ทางภาครัฐควรหาแนวทางเพื่อตอบสนองการดูแลประชากรอย่างครอบคลุม

 ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ บอกว่า หากไทยไม่ผลักดัน พ.ร.บ.รับรองเพศ ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่สามารถเลือกใช้คำนำหน้าชื่อในเอกสารสำคัญได้ตามเพศวิถี ทำให้การติดต่อต่างๆ เกิดปัญหา นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวข้องกับการทำงานเกิดความไม่เท่าเทียมกัน โดยผู้ประกอบการบางแห่งมีนโยบายไม่รับสมัครพนักงานจากกลุ่มเพศทางเลือก จะรับเฉพาะเพศหญิงและชายเท่านั้น ทำให้ขาดโอกาส หรือหากยินดีรับเข้าเป็นพนักงาน แต่โอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานมีน้อย เนื่องจากทัศนคติด้านลบที่ว่าบุคลิกภาพอาจไม่ได้รับการยอมรับ

 วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม มาขยายความปัญหาต่างๆ ในสังคมด้านความไม่เท่าเทียมที่พบในชีวิตประจำวัน ความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และบริบทของประเทศไทย

 ซึ่งเขาได้สะท้อนมุมมองว่า ในห้วงเวลาที่ตนยังเป็นวัยรุ่น ณ ขณะนั้น การแสดงออกของเพศทางเลือกยังไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมมากนัก ทุกอย่างถูกปิดกั้น และมีความไม่เท่าเทียมสูง ทั้งในแง่ของการเรียนและการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ที่ต้องแต่งกายให้ตรงตามเพศสภาพ หรือแม้กระทั่งบุคลากรที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ ก็ถูกกีดกันไม่ให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าจะชักจูงลูกศิษย์ให้มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางเพศ

 แต่ในปัจจุบันสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการเปิดกว้างมากขึ้น และชี้วัดบุคคลที่ความสามารถมากกว่าเพศสภาพเป็นลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีในบางบริบทที่ยังไม่ได้เปิดรับมากนัก ซึ่งหาก พ.ร.บ.รับรองเพศ ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบในทุกขั้นตอน และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ตนมองว่าปัญหาที่เคยเกิดขึ้น อันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางเพศจะหมดไป และอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายของคนในสังคมอย่างเป็นสุข อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าโชคดีกว่าหลายประเทศ

 ในประเทศไทยพบว่าสังคมไปไกลแล้ว แต่กฎหมายยังต้วมเตี้ยมอยู่ คนทั่วโลกยังไม่เข้าใจธรรมชาติของกลุ่มเพศทางเลือก มองเป็นพวกแปลกปลอม ผ่าเหล่า เป็นภัยสังคม สารพัดที่จะกล่าวโทษกันได้ แม้แต่คนไทยยังนึกว่าคนกลุ่มนี้เลือกที่จะมีเพศใหม่เอง ซึ่งไม่จริง โดยยืนยันว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้เลือกเพศ แต่เป็นเองโดยกำเนิด จึงเห็นว่าหาก พ.ร.บ.รับรองเพศ ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบในทุกขั้นตอน และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมทางเพศจะหมดไป และอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายของคนในสังคมได้

 ชวิน ศรีสมวัฒน บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ในฐานะเพศทางเลือกคลื่นลูกใหม่ มาชี้ถึงปัญหาต่างๆ ที่พบในการศึกษาและการทำงาน และนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และบริบทของประเทศไทย เขาสนับสนุนเต็มที่ให้มี พ.ร.บ.รับรองเพศ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและยอมรับกลุ่มเพศทางเลือกมากขึ้น 

 ชวิน บอกว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบในบางบริบทของสังคม เมื่อต้องสัมภาษณ์เพื่อเข้าฝึกงานบริษัทแห่งหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่านโยบายของบริษัทไม่รับบุคคลที่แต่งกายตรงข้ามกับสถานภาพทางเพศ จึงทำให้ตนต้องหาที่ฝึกงานใหม่ ซึ่งหาก พ.ร.บ.รับรองเพศได้ผ่านการอนุมัติและดำเนินการใช้จริงแล้ว โดยส่วนตัวมองว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งในการทลายกำแพงของความเหลื่อมล้ำให้เบาบางลง เกิดความเข้าใจที่ดีและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล รวมถึงไม่ตัดสินบุคคลอื่นเพียงแค่เพศสภาพ

 การกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหา หากไม่มีกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.รับรองเพศ และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อให้ประชากรไทยกลุ่ม LGBTQ เเสดงจุดยืนเปิดพื้นที่ให้กลุ่มเพศทางเลือกให้ชัดเจนมีที่อยู่ที่ยืนในสังคมไทยชัดเจน

……….ล้อมกรอบ…………

20 เพศสภาพในสังคมไทย

ข้อมูลจาก ผศ.ดร.จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่เขียนลงในคอลัมน์ จันทร์วิภา นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 983 ปีที่ 38 ระบุถึงเพศสภาพและเพศวิถีในสังคมไทยมี 20 ประเภท ซึ่งแบ่งคร่าวๆ โดยประมาณได้ดังนี้

1.ชาย

2.หญิง

3.ทอม คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวในแบบผู้ชาย มีจิตใจเป็นเพศชาย และรักใคร่ผู้หญิงและดี้

4.ดี้ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ทอม

5.ทอมเกย์ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่ได้ทั้งผู้หญิง ทอม และดี้

6.ทอมเกย์คิง คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่เฉพาะทอม โดยชอบเป็นฝ่ายรุก

7.ทอมเกย์ควีน คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่เฉพาะทอม โดยชอบเป็นฝ่ายรับ

8.ทอมเกย์ทูเวย์ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่เฉพาะทอม โดยชอบเป็นทั้งฝ่ายรุกและรับ

9.เกย์คิง คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่ผู้ชาย และชอบเป็นฝ่ายรุก

10.เกย์ควีน คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้ชาย อาจมีจริตของผู้หญิง แต่รักใคร่ผู้ชาย และชอบเป็นฝ่ายรับ

11.โบ๊ท คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้ชาย รักใคร่ได้ทั้งผู้หญิง เกย์คิง และเกย์ควีน ยกเว้นกะเทย และเป็นได้ทั้งฝ่ายรุกและรับ

12.ไบท์ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ทั้งทอม เลสเบี้ยน และผู้ชาย

13.เลสเบี้ยน คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ผู้หญิงด้วยกัน

14.กะเทย คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้หญิง รักใคร่ผู้ชาย

15.อดัม คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่ทอม

16.แองจี้ คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ทอม

17.เชอร์รี่ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่เกย์และกะเทย

18.สามย่าน คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ได้ทั้งเลสเบี้ยน ทอม และผู้ชาย

19.ผู้หญิงข้ามเพศ คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย แต่มีจิตใจเป็นหญิง และได้ผ่านการแปลงเพศเป็นผู้หญิงแล้ว

20.ผู้ชายข้ามเพศ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง แต่มีจิตใจเป็นผู้ชาย และได้ผ่านการแปลงเพศเป็นผู้ชายแล้ว