posttoday

สีรุ้ง ความหลากหลายทางเพศ

16 กันยายน 2560

ความก้าวหน้าในวิธีคิดและวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนี้ ต่างยอมรับในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

โดย พรเทพ เฮง          [email protected]

 ความก้าวหน้าในวิธีคิดและวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนี้ ต่างยอมรับในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ - Lesbian, Gay, Bisexual, Trans gender and Queer) โดยเฉพาะในวงการบันเทิงและแบรนด์ชั้นนำระดับโลกต่างๆ

 ในปี 2558 หลังจากที่ศาลสูงสหรัฐประกาศรับรองสิทธิการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันทั้ง 50 มลรัฐ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากหันมาสนใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และพากันเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กให้เป็นสีรุ้ง เพื่อเป็นการประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

 โดยขณะในนั้นมีผู้คนเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ตัวเองเป็นสีรุ้งมากกว่า 26 ล้านคน รวมทั้งคนดังอย่างลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ แอนน์ แฮทธาเวย์ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ แม้กระทั่งผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กอย่าง มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เองก็ได้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ตัวเองเป็นสีรุ้งด้วยเช่นกัน

 ซึ่งทางเฟซบุ๊กเห็นว่าการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ โดยการเปลี่ยนสีรูปครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันเพื่อตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก

 ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ยีนส์เก่าแก่ "ลีวายส์" ก็ร่วมสนับสนุนต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและระลึกถึงทั้งตำนานของ ฮาร์วี มิลค์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิของชาว LGBTQ ผ่านคอลเลกชั่นพิเศษ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความหลากหลายและอิสรภาพของมนุษยชน ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งของการขายจะบริจาคให้กับมูลนิธิฮาร์วี มิลค์ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือชาว LGBTQ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม

 ปัจจุบันในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเชื่อมโยงประชาสังคมออนไลน์ผ่านการแชร์หรือแบ่งปันในรสนิยมเดียวกัน ก็มีแอพพลิเคชั่นสำหรับชาว LGBTQ โดยเฉพาะอย่าง ทินเดอร์ แอพพลิเคชั่นหาคู่เดท มีการเสริมลูกเล่นใหม่สำหรับกลุ่ม LGBTQ เพื่อส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ และเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเพศทางเลือก และนำมาประยุกต์ใช้กับแอพพลิเคชั่นให้เหมาะสม

 ส่วนแอพพลิเคชั่นทำไลฟ์สตรีมมิ่ง VOOV ให้ผู้ใช้สร้างไลฟ์เองหรือชมไลฟ์จากเพื่อนๆ คนอื่น ก็มีแพลตฟอร์มหมวดหมู่ LGBTQ โดยเฉพาะเช่นกัน

 ความหลากหลายของเพศวิถี (Sexuality) และลักษณะการแสดงเพศทางสังคม การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นประเด็นที่ได้รับการยอมรับในกฎหมายระดับสากล และพัฒนาการด้านสิทธิในหลายปีที่ผ่านมา ก็ได้ทำให้เกิดความสนใจมากยิ่งขึ้นทั่วโลกต่อการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศและคนข้ามเพศ บางประเทศมีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติต่อ LGBT แล้ว แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีบทบัญญัติ

 การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ และความเท่าเทียมในสังคม สร้างความเข้าใจอันดีในกลุ่มรักร่วมเพศต่อสังคม แม้การเปิดกว้างของสังคมไทยเองต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ จะคล้ายคลึงกับในอังกฤษ แต่แตกต่างก็ตรงที่ยังไม่มีข้อกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

 จากสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องต่อสู้กันอีกยาวนานเพื่อที่จะได้มีกฎหมายมารองรับสถานภาพของพวกเขาอย่างทันยุคและเข้าใจ โดยไม่รู้สึกแปลกแยกเป็นกลุ่มโดดเดี่ยวของสังคม...