posttoday

ชื่อ ‘ณารา’ บนปกนิยายที่(ยัง)ขายได้

10 กันยายน 2560

“กล้าเรียกตัวเองว่านักเขียน ตอนเขียนงานได้แล้ว 5 เรื่อง จะเป็นนักเขียนต้องมั่นใจว่า งานที่เราทำนั้น หนังสือที่เราเขียนมันเป็นอาชีพเลี้ยงเราได้”

โดย มัลลิกา

“กล้าเรียกตัวเองว่านักเขียน ตอนเขียนงานได้แล้ว 5 เรื่อง จะเป็นนักเขียนต้องมั่นใจว่า งานที่เราทำนั้น หนังสือที่เราเขียนมันเป็นอาชีพเลี้ยงเราได้”

“ณารา” นามปากกาของ “ณิชา ตันติเฉลิมสิน” นักเขียนโรมานซ์ของสำนักพิมพ์พิมพ์คำ

ที่จริงณาราเขียนนิยายได้หลายแนว แต่โรมานซ์เป็นจุดจำหรือเอกลักษณ์ของนิยายณารา เพราะไม่ว่าจะดราม่าเข้มข้น คอมเมดี้ บู๊สนั่น มาเฟีย ประวัติศาสตร์ ข้ามภพข้ามชาติ ทุกแนวจะต้องมีฉากโรมานซ์

กลรักลวงใจ ส้มหวานน้ำตาลเปรี้ยว ขุมทรัพย์แห่งมาซิดอน เพลงรักเพลิงมายา คุณชายธราธร รอยรัก หักเหลี่ยมตะวัน รอยฝันตะวันเดือด ไฟรักเกมร้อน ทะเลไฟ ฯลฯ ตัวอย่างผลงานของณารา

เป็นเวลา 12 ปี ณารามีนิยาย 52 เล่ม บนปกนิยายชื่อคนเขียนใหญ่กว่าชื่อเรื่องเสียอีก นั้นบ่งบอกว่า ชื่อ “ณารา” ขายได้ แฟนนักอ่านเห็นคว้าหมับเพราะเชื่อมือกันอยู่แล้ว แน่นอนว่า ณาราเขียนหนังสือจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คอยติดตามผลงานเสมอ และกลุ่มใหม่ๆ ที่เลือกอ่านบางเรื่อง

“ตั้งแต่เขียนแรกๆ ปี 2548 บก. (บรรณาธิการ) ก็บอกว่า ควรจะมีผลงานอย่างน้อย 2 เล่มต่อปี ให้เขียนงานเสมอเพื่อให้แฟนนักอ่านไม่ลืมเรา ซึ่งเราก็เขียนได้ประมาณปีละ 4 เรื่อง แต่มาช่วง 2 ปีหลังนี้ที่นิยายน้อยอย่างเห็นได้ชัด ปีละ 2 เรื่อง แล้วแฟนๆ ก็มีติงมาว่าช่วงหลังเขียนเบาไป

“เป็นเพราะตอนนี้ทำธุรกิจร้านอาหารที่แคนาดา งานเขียนคืองานที่รักก็จริงแต่ก็ต้องแบ่งเวลาให้ธุรกิจครอบครัว เรายอมรับเวลาน้อยลง ถ้าจะเขียนงานหนักเราจะยิ่งไม่มีทั้งแรงกายแรงสมองจะเขียนงาน เพราะต้องหาข้อมูลมาก”

ชื่อ ‘ณารา’ บนปกนิยายที่(ยัง)ขายได้

แม้จะบอกว่าไม่มีเวลา แต่เรื่อง ดวงใจขบถ ก็ทุ่มเวลาหาข้อมูลเกี่ยวกับการสิ้นชาติรัฐฉาน “ตอนเขียนเรื่องนี้ก็อยู่ภาวะตึงเครียด หาข้อมูลเยอะมาก อ่านหนังสือหลายเล่ม บันทึกของเจ้านางต่างๆ เพื่อสรุปให้รู้ว่า สถานการณ์ช่วงนั้นเป็นยังไง ดูละครดูหนังสังเกตการแต่งกาย คำพูดคำจา ศึกษาจากคนไทยใหญ่”

สิ่งที่ณาราเคยกลัวในการเป็นนักเขียนคือ หมดพล็อต คิดพล็อตไม่ออก พล็อตตัน แต่พอลงมือเขียน พล็อตมีรออยู่เพียบ นั้นเป็นเพราะสิ่งที่ณาราสนใจนำมาเป็นประเด็นจะแวดล้อมตัวเอง และเป็นสิ่งที่เธอมีความสนใจ มีส่วนร่วมกับมันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยวที่เธอมักนำมาสอดแทรกในนิยาย

“อย่างไปเที่ยวรัฐมอนทานาของอเมริกา มีถนนโกอิ้งทูเดอะซัน สุดถนนเส้นนั้นเจอโรงแรมหนึ่งบนทะเลสาบ สร้างมาเกือบ 200 ปี พอเข้าไปในโรงแรมเราเจอภาพของผู้ก่อตั้ง ใส่ชุดสมัยก่อนกระโปรงบานเป็นสุ่มๆ เห็นแล้วรู้สึกมีอะไรน่าเล่า

“ก็คิดพล็อตเป็นข้ามภพข้ามชาติไปเสนอขวัญเรือน เบื้องต้นเขาก็สนใจ แต่ยังไม่เริ่มเขียนเพราะตอนนี้เขียนเรื่อง มนตราสิตางคุ์ อยู่ได้ครึ่งเรื่องแล้ว

“เวลาเขียนงานส่วนใหญ่จะคุยพล็อตกับ บก.ก่อน เพราะเราไม่อยู่เมืองไทย ไม่รู้เทรนด์อะไรมา อย่างตอนนี้เทรนด์นิยายจีนมาแรง แต่เราไม่เคยอ่านหนังสือจีน เราก็ไปเขียนแนวนี้ไม่ได้ ก็เลือกเขียนอะไรที่เรารู้สึกกับมัน

“ชอบเขียวนิยายกึ่งท่องเที่ยว อย่างแคนาดาเขานิยมกีฬาฮอกกี้ ก็เอามาเขียนเรื่อง เงาลวง ให้พระเอกเป็นนักฮอกกี้ ช่วงแรกที่เราไปอยู่แคนาดามีประสบการณ์ทำงานไม่ได้สวยหรู ก็เอามาเขียนเรื่อง วิมานเมฆา บอกเล่าชีวิตเมืองนอกไม่ได้สวยหรูนะ ผู้หญิงคิดจะมีสามีฝรั่งมันไม่ใช่คำตอบ บางคนมีสามีดีก็โชคดีไป บางคนไปเมืองนอกต้องทำงานเลี้ยงสามีก็มี

“ที่สนใจหลากหลาย เพราะเวลาเขียนนานๆ ตัวคนเขียนเองที่จะเบื่อ เราอยากได้อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ คนอ่านก็จะได้ตื่นเต้นไปด้วย เราไม่ได้เก่งอะไรมาก แต่พอเราเขียนแล้วสนุกเราก็อยากเขียน อย่างมีช่วงหนึ่งแค้นใครสักคน ก็เขียนแนวฆาตกรรม ฉันได้ระบายอารมณ์ (หัวเราะ) พอเขียนจบเรื่องอารมณ์แค้นนั้นก็หายไปพอดี”

ตอนนี้ณารามีพล็อตนิยายอีกหลายพล็อตที่กำลังจัดลำดับและให้มันตกผลึก แฟนๆ นักอ่านไม่ต้องกังวลว่า ภารกิจอื่นๆ จะทำให้ณาราเขียนงานน้อยลงกว่านี้ หรือทิ้งช่วงผลิตงาน เพราะอย่างไรเสียการเขียนก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอไปแล้ว