posttoday

กาญจนา เข็มลาย ทำเกษตร แบบคน(เคย) เมือง

10 กันยายน 2560

เมล็ดพันธุ์ผักที่ได้มาจากการลงพื้นที่เรียนรู้แบบทัวร์ซี๊ด (Tour Seeds) จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

โดย พาแลง

เมล็ดพันธุ์ผักที่ได้มาจากการลงพื้นที่เรียนรู้แบบทัวร์ซี๊ด (Tour Seeds) จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา นำลงปลูกบนดินในกระถาง ผ่านมา 5 วันต้นเริ่มงอก ทำให้นึกถึงการพูดคุยกับกูรูด้านการเก็บเมล็ดพันธุ์ "พี่จุ่น-กาญจนา เข็มลาย" สมาชิกเกษตรกรในกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ที่ใช้พื้นที่ 5 ไร่ ที่ได้รับเป็นมรดกมาพัฒนาให้เป็นสวนแบบผสมผสานและแหล่งเรียนรู้ด้านการเก็บเมล็ดพันธุ์ แต่ใช่ว่าเธอจะกลายเป็นกูรูได้แบบฉับพลัน เพราะถึงแม้จะมีครอบครัวเป็นเกษตรกร แต่ชีวิตของกาญจนาก่อนหน้านี้ เรียกว่าเป็นสาวเมืองกรุงเต็มตัว

กาญจนา เข็มลาย ทำเกษตร แบบคน(เคย) เมือง

"อยู่กรุงเทพฯ มานาน ทำงานมีครอบครัว และทำงานอยู่กรุงเทพฯ มาโดยตลอด จนกระทั่งเจอวิกฤตน้ำท่วมตอนปี 2554 และคุณแม่เสีย เราพบว่าในปีน้ำท่วมกรุงเทพฯ ต่อให้เรามีงาน มีเงิน แต่ถ้าเราไม่มีอาหาร เราก็อยู่ไม่ได้ ประกอบกับลูกเราก็เรียนจบปริญญาตรี มีงานทำแล้ว ก็เลยตัดสินใจกลับบ้านตอนปี 2555" พี่จุ่น เล่าที่มาของการกลับบ้านเกิด

มรดกจากครอบครัว แม่แบ่งที่ดินให้ลูก 7 คน อย่างเท่าเทียมคนละ 5 ไร่ พี่จุ่นเองหลังจากกลับบ้านเธอตัดสินใจพลิกที่ดินจากไร่มันสำปะหลังและสวนมะม่วงให้กลายเป็นพืชไร่ พืชสวน และปลูกผักอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่บุ่มบ่าม "ที่ดินผืนเดิมเป็นไร่มันสำปะหลัง แม่ตัดสวนมะม่วงทิ้งเพราะไม่ได้ราคา เราก็มาปรับปรุงดินก่อนลงพืช ภายในพื้นที่ 5 ไร่ เราใช้เป็นพื้นที่ปลูกบ้าน ปลูกของกิน และปลูกพืชพันธุ์ ท้องถิ่น เป็นสวนผสมผสานกับพี่น้อง พอเรามาทำก็ได้รับโอกาสไปอบรมเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ พอกลับมาก็เลยทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

กาญจนา เข็มลาย ทำเกษตร แบบคน(เคย) เมือง

"ตัวพี่จุ่นเองไม่ใช่คนทำการเกษตร ทำไม่เป็น ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน ตอนเริ่มบุกเบิกเราฝึกเริ่มทำทีละนิดทีละเล็กละน้อย ไม่ได้วาดผังว่าจะปลูกอะไรตรงไหน ส่วนหนึ่งเพราะทำอะไรไม่เป็นมาก่อน เพราะเรายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะได้ผล ถ้าลงตูมทีเดียวก็ไม่รู้จะได้ทุนเมื่อไหร่ ทำตามกำลัง เช่น ถ้ามีกล้วยก็เอาหน่อไปปลูก และเอาพืชอย่างอื่นแทรกเข้ามา ไม่ลงทุนตูมเดียว คือ ปลูกพืชอายุสั้นรอ เรียนรู้ไปทีละนิดๆ ถึงแปลงจะไม่สวยเท่าของคนอื่น แต่ทำให้เราไม่เสี่ยงกับโรค และทำให้มีของกินตลอด ไม่ต้องซื้อ"

กาญจนา บอกว่า พื้นที่ อ.สนามชัยเขต ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและมีความมั่นคงทางอาหารในระบบเกษตรอินทรีย์ ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งระบบควบคุมการผลิตภายในกลุ่มและการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล เป็นต้นแบบของพื้นที่ในโซนภาคตะวันออก "เครือข่ายของเราไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตหรือขายอย่างเดียว เราสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคเหมือนเป็นพี่น้อง และช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เวลาเจอภัยธรรมชาติ เราเคยเป็นผู้ประสบภัยเมื่อปี 2554 เพราะเจอวิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพฯ พอเขาเจอน้ำท่วม ก็ส่งเมล็ดพันธุ์ไปให้ เราเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วย เราไม่ได้ช่วยแค่ตัวเอง เราได้ช่วยเพื่อนๆ ด้วย"

กาญจนา เข็มลาย ทำเกษตร แบบคน(เคย) เมือง

"ในสวนของเราต้องปลูกพืชที่เรากินได้อย่างน้อย 15 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นพืชพันธ์ุท้องถิ่น เช่น ชะมวง มะละกอ ชะอม บวบงู น้ำเต้า ถั่วฝักยาว มะเขือยาว ฯลฯ พี่ว่าไม่พอ เพราะเราอยากกินโน่นกินนี่ ก็ปลูกตามที่เราอยากกิน หรือเท่าที่เราอยากได้เมล็ดพันธุ์ได้ จนเต็มพื้นที่ บางทีก็ไปขอเมล็ดขอกิ่งเขามา ก็เอามาแบ่งกัน ก็แบ่งกันก็ได้เจอกัน คุยกัน แบ่งปันกัน ยิ่งคนเมืองยิ่งเห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ ก็สนใจถามมีอย่างนี้ด้วยเหรอ อยากได้อยากกินก็หามาปลูก เพราะเราก็ได้กินด้วย ได้ขายด้วย ก็ดีใจแล้ว เพราะความที่เราเป็นคนเมือง พอเรากลับมาอยู่ก็มีความรู้สึกว่ามันได้ใจ"

"จริงๆ แล้ว ไม่ได้มีความรู้เรื่องเกษตรเลย มันร้อน มันเหนื่อย ทำใหม่ๆ ขายไม่ออก ไม่มีที่ไป ขนไปบริจาคหมดเลย" พี่จุ่น เล่าด้วยน้ำเสียงสบายๆ เธอบอกว่า การเริ่มต้นจากผู้ให้ ดึงดูดให้คนอื่นๆ เดินทางมาหาเธอมากขึ้น จากเครือข่ายกลุ่มเกษตรอินทรีย์ "มีคนมาเยี่ยมกลุ่มเรา ก็กลายเป็นช่องทางขายเล็กๆ น้อยๆ ทำเกษตรอินทรีย์จะขายแต่ผักสดเท่านั้น ต้องเปลี่ยนวิถีการขายผักสด ทำเมล็ดพันธ์ุ กิ่งตอน กิ่งพันธุ์ ทุกอย่างที่เป็นของเกษตรเราก็สามารถเอามาสร้างรายได้ได้ทั้งหมด ในสวนเราขายได้ทุกอย่าง เราแบ่งปัน มีเพื่อน การแชร์ การได้รับความรู้จากกลุ่มพี่น้อง ก็เอามาดัดแปลงกับของเรา สุดท้ายเราก็ส่งต่อ ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ เยอะเลย ตอนนี้กำลังอินเลย เวลามีคนชวนให้ไปค้างที่ไหน ไม่อยากจะไป ห่วงสวน (ยิ้ม)"

กาญจนา เข็มลาย ทำเกษตร แบบคน(เคย) เมือง

มากกว่าการปลูกผักเพื่อกิน หรือเน้นปลูกผักสดเพื่อเก็บขายตามฤดูกาล กาญจนา มองไกลถึงการทำพื้นที่ให้เป็นแปลงที่ปลูกเพื่อเน้นการเก็บเมล็ดพันธุ์ "เหตุผลข้อแรก คือ เราเป็นคนเมืองมาก่อน ก็ออกตัวว่าไม่ถนัดนักกับการทำงานลงพื้นที่หนักๆ อย่างพี่สาวของพี่จุ่นจะเป็นคนขยันมาก เขาจัดการเรื่องแรงงานได้ดี แต่เราพอกลับมามองตัวเอง พี่จุ่นเป็นคนเรื่อยๆ ก็เลยมองหาสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี ซึ่งการเก็บเมล็ดพันธุ์ ถ้าใส่ใจรายละเอียด เราจะได้เปรียบเรื่องราคา ได้ใจกว่าปลูกผักสดแล้วขาย เรื่องรายได้ของคนที่ปลูกผักแล้วขายเลย ยกตัวอย่างเช่น ผักสดบางชนิด ในฤดูกาลจะขายได้ 30 บาท/กก. เราไม่ขายผักสด แต่จะรอให้เขาแก่ เติบโต อดใจรออีกสัก 2-3 สัปดาห์ จะได้ส่วนที่เป็นเมล็ด 1 กก.ของผักสด มันได้อีก 10 เท่าของราคาผักสด หรือผักบางตัวมันจะมีราคาเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะ เราได้เรียนรู้วิถีของเขาค่อนข้างเยอะ" พี่จุ่น ให้ภาพ

กาญจนา บอกหลังจากถูกป้อนคำถามว่ารายได้เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับการอยู่ในเมืองกรุง "ไม่ได้มีรายได้อะไรเยอะนะ แต่เราไม่ค่อยมีรายจ่าย ข้าวก็มีกินเอง ปลูกผักในแปลงก็พอกินทุกวัน ซื้อบ้างแค่เนื้อสัตว์ มีรายได้เข้ามาวันละ 200-300 บาท ก็อยู่ได้แล้ว แต่จริงๆ แล้วก็มากกว่านั้น แต่ที่สุดของการทำงานตรงนี้ คือ ความสุขที่ได้ปลูกแล้วได้เห็นผล และเราได้กินเอง มัน ดีใจ๊ ดีใจ แค่กล้วยออกลูก มะเขือมีลูก มัน ดีใจมากเลย"