posttoday

เสียมราฐ ความสุขกลางน้ำ ณ หมู่บ้านกำปงเครี๊ยะ

09 กันยายน 2560

"ทะเลสาบเป็นพลังงานนิจนิรันดร์" คำพูดนี้ได้ยินครั้งแรกในชีวิตจากไกด์ท้องถิ่นนาม “เพชร” ชายวัยกลางคนชาวเสียมราฐ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอดีตเมืองหลวงแห่งกัมพูชาตั้งแต่เด็กจนโต

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

เสียมราฐ ความสุขกลางน้ำ ณ หมู่บ้านกำปงเครี๊ยะ เด็กๆ ในหมู่บ้านกำปงเครี๊ยะแจกรอยยิ้มให้คนแปลกหน้าระหว่างทางกลับบ้าน

 "ทะเลสาบเป็นพลังงานนิจนิรันดร์" คำพูดนี้ได้ยินครั้งแรกในชีวิตจากไกด์ท้องถิ่นนาม “เพชร” ชายวัยกลางคนชาวเสียมราฐ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอดีตเมืองหลวงแห่งกัมพูชาตั้งแต่เด็กจนโต

 เขากำลังพูดถึง “โตนเลสาบ” ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 โดยเริ่มจากข้อมูลทั่วไปอย่างทะเลสาบมีความยาว 260 กิโลเมตร (กม.) กว้าง 80 กม. กินพื้นที่ 5 จังหวัดในกัมพูชาหรือประมาณจากฉะเชิงเทราไปสระแก้ว (เขาเทียบให้คนไทยเห็นภาพ) ตั้งอยู่ใจกลางประเทศโดยสายน้ำจะไหลจากแม่น้ำโขงตอนบนเข้าโตนเลสาบ ไหลลงแม่น้ำโขงด้านล่างผ่านเข้าเวียดนามและออกไปทางทะเลจีนใต้

 ระดับน้ำจะลึกที่สุดช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย. ราวๆ 10 เมตร เป็นแหล่งส่งออกปลาเนื้ออ่อนได้ปีละ 4 แสนตัน และเป็นแหล่งน้ำให้ชาวเสียมราฐทำนาได้ 3 ครั้ง/ปี ทว่าไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าประโยคสุดท้ายที่ว่า

 “โตนเลสาบเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านกลางน้ำถึง 170 แห่ง ซึ่งชาวบ้านยังใช้ชีวิตลอยน้ำจนถึงวันนี้”

เสียมราฐ ความสุขกลางน้ำ ณ หมู่บ้านกำปงเครี๊ยะ ลักษณะบ้านเรือนใต้ถุนสูงในหมู่บ้านกลางน้ำ

ความสุขกลางน้ำที่ กำปงเครี๊ยะ

 ไกด์เพชรนั่งประจำที่อยู่ทางด้านขวาของคนขับตามตำแหน่งรถยุโรป ที่กำลังแล่นอย่างเชื่องช้าบนถนนลาดยางห่างจากตัวเมืองเสียมราฐ 55 กม. มุ่งสู่ท่าเรือนำเที่ยวชมหมู่บ้านกลางน้ำที่สวยที่สุดติด 1 ใน 3 ของโตนเลสาบนาม “กำปงเครี๊ยะ” กำปง แปลว่า หมู่บ้าน เครี๊ยะ แปลว่า คลัง หมายถึง หมู่บ้านคลังสินค้า ที่ในอดีตเคยคึกคักและเต็มไปด้วยสินค้าทางการเกษตร

 เรือนำเที่ยวจอดอย่างเป็นระเบียบโดยมีให้เลือก 2 ขนาด ลำใหญ่บรรทุกได้ 20 ชีวิต ส่วนลำเล็กรับได้น้อยกว่าครึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องเสียค่าเหมาลำ และค่าชมทะเลสาบอีกคนละ 3 ดอลลาร์สหรัฐ ฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง

 ไกด์เพชรจับจองพื้นที่บนหัวเรือ ส่วนนักท่องเที่ยวได้สิทธินั่งบนเก้าอี้หรือขึ้นไปรับลมบนดาดฟ้าก็สบายดี โดยไต้ก๋งจะค่อยๆ เร่งเครื่องเหมือนจงใจให้เห็นบ้านทุกหลังเคลื่อนที่แบบสโลว์โมชั่น ถึงขนาดมีเวลาโบกมือทักทายชาวบ้านที่บังเอิญโผล่หน้ามาได้อย่างไม่ร้อนรน

 ปัจจุบันชาวกำปงเครี๊ยะ ทำอาชีพค้าขายและทำไร่ทำสวนตามชายฝั่ง บ้านเรือนมุงจาก ใต้ถุนสูง บ้างเป็นบ้านปูนอันแสดงถึงฐานะ บ้างกึ่งบ้านกึ่งเรือเคลื่อนไหวตามระดับน้ำ แต่ทุกหลังจะมีเรือผูกไว้กับท่าน้ำหน้าบ้านไว้สำหรับสัญจร ซึ่งในหมู่บ้านมีทุกอย่างไม่ต่างจากบนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน (ลอยน้ำ) วัด (บนสันดอน) ร้านค้า แม้กระทั่งปั๊มน้ำมันก็มีให้เรือแวะเติมกลางทะเลสาบนั่นเลย

 เสียงเครื่องยนต์อื้ออึงอยู่ในหูนานเป็นชั่วโมง เป็นเวลาเดียวกับที่บ้านเรือนสองข้างทางเริ่มบางตาแล้วค่อยๆ หายไป จนรอบตัวมีแต่ผืนน้ำสีน้ำตาลเข้มจรดเส้นขอบฟ้า เรือดูเล็กไปถนัดตาเมื่ออยู่กลางโตนเลสาบของจริง แต่ฤดูกาลนี้ทะเลสาบหน้าฝนน่ากลัวพอๆ กับมหาสมุทรกลางพายุ เพราะไม่ทันได้ตั้งตัวกระแสลมก็พลันพัดแรงจนมีแต่คลื่นหัวแตกเต็มผืนน้ำ พร้อมกับเมฆที่ลอยคล้อยต่ำจนไม่มีช่องว่างระหว่างเส้นน้ำและฟ้า

 ขณะนั้นไต้ก๋งตัดสินใจหันหัวเรือกลับและเร่งความเร็วหนีฝนสาดที่ชาวเสียมราฐต่างทราบดีว่า ฝนที่นี่ตกแรงแม้ไม่นาน แต่ก็ไม่อยากให้แขกที่บรรทุกมาเต็มลำเรือเปียกปอน ขาขึ้นจึงใช้เวลาไม่เท่าขาล่อง ซึ่งดีใจที่ได้เห็นภาพกำปงเครี๊ยะชุ่มฉ่ำสมกับเป็นหมู่บ้านที่มีความสุขกลางสายน้ำ และที่สำคัญชาวบ้านสามารถรักษาน้ำไว้ได้บริสุทธิ์เหมือนรอยยิ้มของเด็กน้อย

 ระหว่างทางก่อนถึงฝั่ง นึกขึ้นได้ว่าลืมถามคำถามสำคัญเรื่องทะเลสาบเป็นพลังงานนิจนิรันดร์ ไกด์จึงเปล่งเสียงตอบแข่งกับเสียงฝนว่า “เพราะน้ำคือพลังงาน” นับเป็นครั้งที่สองที่ได้ยินคำนี้ “พลังงานที่ทำให้เกิดอารยธรรมและการค้า เมื่อประเทศใดมีน้ำและข้าวจะสามารถสร้างกองทัพ การค้า และประเทศชาติ เช่นเดียวกับโตนเลสาบที่ทำให้เกิดอังกอร์”

เสียมราฐ ความสุขกลางน้ำ ณ หมู่บ้านกำปงเครี๊ยะ ลูกหลานชาวกำปงเครี๊ยะพายเรือเป็นทุกคน

สามปราสาทแห่งอังกอร์

 อังกอร์ แปลว่า เมืองหลวง และเสียมราฐเคยเป็นอดีตเมืองหลวงแห่งอาณาจักรกัมพูชา ที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อปี 2493-2513 หรือ 5 ปีก่อนเข้าสู่ยุคเขมรแดงที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการเข้ามาของมหาอำนาจภายนอก แต่ปากกาก็หยุดจดอยู่แค่นั้น เพราะไกด์เพชรหยุดเล่ากะทันหันก่อนเปลี่ยนเป็นเรื่องประวัติศาสตร์และปราสาทในอังกอร์

 หนึ่งวันนี้เขาจะพาไปชมปราสาท 3 แห่ง ได้แก่ ปราสาทนครวัด ปราสาทบายน และปราสาทตาพรหม ที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ 2 พระองค์ โดยเริ่มต้นที่ "ปราสาทนครวัด" เขาเล่าว่า การสร้างปราสาทคือ การแสดงสติปัญญาและอำนาจบารมีของกษัตริย์ ดังนั้นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ดำริให้สร้างปราสาทนครวัด เมื่อปี 1656 หรือ 904 ปีที่แล้ว นับเป็นกษัตริย์ผู้สร้างระบบชลประทานที่ฉลาดล้ำ

 เนื่องจากหินทรายที่นำมาสร้างปราสาทถูกตัดมาจากภูเขากุเลนที่ห่างออกไป 54 กม. ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขุดคลองและใช้น้ำจากโตนเลสาบปล่อยเข้าไป เพื่อขนย้ายหินทรายน้ำหนักมหาศาลลงบนแพไม้ไผ่ ปล่อยให้ไหลไปตามคลองตรงเข้าสู่ปราสาท

 ปราสาทนครวัดทางด้านหน้ามี 5 ประตู ด้านหลังมี 1 ประตู โดดเด่นด้วยพระปรางค์ 5 ยอด ล้อมด้วยระเบียงคด 3 ชั้นก่อนถึงปราสาท และมีคูน้ำรอบด้านเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้าง 200 เมตร นอกจากนี้ ปราสาทนครวัดยังมีบทบาท 4 ประการ คือ เป็นปราสาทของกษัตริย์ เป็นวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์และพุทธเถรวาทในเวลาต่อมา เป็นโรงเรียนที่จะตั้งอยู่โดยรอบปราสาท และเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของกษัตริย์

 จากนั้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ได้สร้าง "ปราสาทบายน" หรือนครธมในปี 1724 ปราสาทประกอบด้วยพระปรางค์จำนวน 37 ยอด ทุกยอดมีลักษณะเป็นรูปพระพักตร์ของพระองค์

 นอกจากนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังได้สร้าง "ปราสาทตาพรหม" ถวายอุทิศให้กับพระราชบิดา และต่อมาได้กลายมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด แต่ปัจจุบันกลายเป็นโบราณสถานที่มีเอกลักษณ์ที่สุดด้วยต้นสะปงหรือต้นสำโรงขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่เหนือปราสาท และรากไทรที่ชอนไชจนเป็นหนึ่งเดียวกับหินทราย

 ไกด์เพชรยังกล่าวด้วยว่า พื้นที่มรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกกินพื้นที่ถึง 401 ตารางกิโลเมตร มีปราสาทมากกว่า 200 แห่ง และพื้นที่ทั้งหมดจะเขียวชอุ่มอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าในหน้าแล้ง ส่วนงานบูรณะจะมีอยู่แทบตลอดเวลาภายใต้การดำเนินการของหลายชาติทั้งญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทั้งในแง่ของสัมพันธไมตรีและการเมือง

 สรุปแล้วกัมพูชาอยู่ในภาวะสงครามมามากกว่า 30 ปี อยู่ดีๆ ไกด์ของเราก็วกกลับมา การประกาศเป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี 2535 เปรียบเหมือนการสร้างชาติให้กลับคืนมา จากเมืองที่ไม่มีคนอยากอาศัย ปัจจุบันเสียมราฐมีประชากรกว่า 1 ล้านคน ที่อพยพเข้ามาหาอนาคตกับการท่องเที่ยว

 แต่กระนั้น สิ่งที่คนกัมพูชาต้องการมากที่สุดไม่ใช่เงินตรา แต่คือ สันติภาพและสันติสุขที่รอคอย

 ชายวัยกลางคนที่พูดแทบตลอดเวลาจบบทสนทนาไว้เพียงเท่านี้ และภาพสุดท้ายที่เห็นคือ เขายังคงนั่งประจำที่อยู่ทางด้านขวาของคนขับตามตำแหน่งรถยุโรปเหมือนครั้งแรกที่เจอกัน

เสียมราฐ ความสุขกลางน้ำ ณ หมู่บ้านกำปงเครี๊ยะ รอยยิ้มสดใสต้อนรับนักท่องเที่ยว

..........ใต้ภาพ............

00 รูปเปิด เด็กๆ ในหมู่บ้านกำปงเครี๊ยะแจกรอยยิ้มให้คนแปลกหน้าระหว่างทางกลับบ้าน

01 จุดถ่ายภาพนครวัดสะท้อนน้ำยอดนิยม

02 ลูกหลานชาวกำปงเครี๊ยะพายเรือเป็นทุกคน

03 รอยยิ้มสดใสต้อนรับนักท่องเที่ยว

04 ลักษณะบ้านเรือนใต้ถุนสูงในหมู่บ้านกลางน้ำ

05 ชาวบ้านกำลังพายเรือผ่านวัดกลางน้ำ

06 วัยรุ่นเร่งสปีดเรือแข่งกันเป็นสีสันของกำปงเครี๊ยะ

07 คลื่นลมแรงก่อนฝนเทลงกลางทะเลสาบ

08 ชาวบ้านโบกมือทักทายนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา

09 นางอัปสรถูกจับจนผิวมันวาว

10 นกพิราบโบยบินเหนือยอดปราสาทนครวัด

11 ทางขึ้นสูงชันสู่หนึ่งในห้ายอดของปราสาทนครวัด

12 ไกด์โชว์ท่าถ่ายภาพยอดนิยมที่ปราสาทบายน

13 ใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

14 รากต้นไทรอ้อมรัดตัวปราสาทตาพรหม

15 หญิงชราผูกข้อมือให้ชาวบ้านด้านในปราสาทตาพรหม

16 ต้นสะปงสูงใหญ่เหนือปราสาทตาพรหม

17 นักท่องเที่ยวลอดหน้าต่างนครวัดเพื่อเก็บภาพ