posttoday

โปรตีนต่ำ-ไขมันสูง ‘ตักบาตร’... อย่าลืมถามพระ

09 กันยายน 2560

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา มีความตื่นตัวในการจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณรฯ

โดย พริบพันดาว

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา มีความตื่นตัวในการจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณรฯ โดยมีการตรวจวัดความดัน ตรวจเลือด ตรวจฟัน ตรวจสายตาให้แก่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร

 ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าโรคส่วนใหญ่ที่เกิดกับพระสงค์ได้แก่ โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูงโรคเบาหวาน และโรคไตวาย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคอันสืบเนื่องมาจากอาหารที่ญาติโยมใส่บาตร

 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2558 พบพระสงฆ์เข้ารักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ใน 5 กลุ่มโรคสำคัญ คือ 1.โรคเมตาโบลิซึมและไขมันในเลือดผิดปกติ 2.โรคความดันโลหิตสูง 3.โรคเบาหวาน 4.โรคไตวายและไตล้มเหลว และ 5.โรคข้อเข่าเสื่อม

 นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าสาเหตุของอาการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 90 มาจากอาหาร โดยเฉพาะอาหารชุดยอดนิยม เช่น แกงเขียวหวาน พะโล้ ผัดกะเพรา ของทอด รสจัด รวมถึงน้ำปานะที่มีรสหวาน อย่างกาแฟกระป๋อง ชาเขียว เครื่องดื่มชูกำลัง เสี่ยงต่อการอาพาธโรคอ้วน โรคเบาหวาน ถึงร้อยละ 45 ซึ่งจะกลายเป็นโรคเรื้อรังที่จะทำเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในภายหลัง และยังพบภาวะเสี่ยงกระดูกพรุน เนื่องจากพระสงฆ์จำนวนมากมีแคลเซียมต่ำกว่าคนปกติ 8-10 เท่า

 เหตุฉันอาหารโปรตีนต่ำ-ไขมันสูง ขยับร่างกายออกกำลังกายน้อยกว่าชายไทย จึงเป็นวิกฤตสุขภาพของพระสงฆ์ไทยยุคปัจจุบัน ที่เป็นเหตุให้เจ็บป่วยและต้องรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลายเป็นปัญหาสุขภาวะที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

พบพระสงฆ์ กทม. และเขตเมืองกว่าครึ่งเสี่ยงโรคอ้วน

 พฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เนื่องจากพระภิกษุและสามเณรไม่สามารถเลือกฉันอาหารตามใจชอบได้ แต่จะขึ้นอยู่กับผู้มีจิตศรัทธาที่ไปทำบุญตักบาตร

 การทำบุญตักบาตรของคนไทยโดยทั่วไปมาจากความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าเมื่อใดก็ตามจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ใหญ่ ที่ล่วงลับไปแล้ว อันดับแรกที่ทุกคนนึกถึง คือในขณะที่ญาติผู้ใหญ่มีชีวิตอยู่ชอบรับประทานอะไร ซึ่งหนีไม่พ้นอาหารคาวหวานทั้งหลาย โดยอาหารบางอย่างมีรสชาติหวานจัด มันจัด และเค็มจัด พระภิกษุและสามเณรก็ต้องฉันอาหารตามที่ได้รับมา ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ 

 อาหารตามท้องตลาดส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้ามักปรุงรสชาติเข้มข้นจัดเป็นหลัก เมื่อพระภิกษุฉันไปเรื่อยๆ จากที่ไม่มีความเสี่ยงเจ็บป่วย พอผ่านไปสักระยะหนึ่งจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย จากที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ก็เริ่มป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพระภิกษุในไทยอายุเฉลี่ยเกิน 60 ปีขึ้นไปมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพระภิกษุอายุมากและรับประทานอาหารหวานจัด มันจัด และเค็มจัด ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ประกอบกับออกกำลังกายน้อย ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย

 ความเคลื่อนไหวของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สช. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรณีพระสงฆ์ไทยกำลังเผชิญกับภาวะสุขภาพที่เสื่อมลงจากอหารการกิน ซึ่งก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ

 รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ (สสส.) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ใน กทม. และในภาคอีสานพบว่า พระสงฆ์ใน กทม. และในเขตเมืองกว่าครึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน

 โดยพระสงฆ์ใน กทม. 48% ของกลุ่มตัวอย่างมีภาวะอ้วนลงพุงมากกว่าชายใน กทม. 39% และชายทั่วประเทศ 28% ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่สำคัญได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ส่วนจากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ในภาคอีสาน พบว่า พระสงฆ์ในเขตเมืองเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าในเขตนอกเมือง

 “สาเหตุสำคัญมาจากอาหารใส่บาตรที่มีโปรตีนต่ำหรือได้รับเพียง 60% ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ ปริมาณใยอาหารมีระดับต่ำ จึงชดเชยด้วยการดื่มน้ำปานะที่มีน้ำตาลสูงถึง 7 ช้อนชา/วัน” 

รศ.ดร.ภญ.จงจิตร ให้ข้อมูลต่อว่า จากการเก็บข้อมูลฝั่งฆราวาสพบว่า อาหารส่วนใหญ่ในการถวายพระมาจากการซื้ออาหารชุดใส่บาตร โดยมีหลักการเลือกอาหาร คือ ความสะดวกและราคา เลือกเมนูที่ผู้ล่วงลับชอบบริโภค ซึ่งเมนูหลักที่แม่ค้านิยม เช่น ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน หมูทอด และขนมหวาน ทำให้พระสงฆ์จำเป็นต้องฉันเพื่อให้ญาติโยมได้บุญ ไม่เสียศรัทธา 

นอกจากนี้ ยังพบว่าพระสงฆ์ออกกำลังกายน้อยเพราะกลัวผิดพระธรรมวินัย โดยพบว่า ใน 1 วัน พระสงฆ์เดินเบาประมาณ 30 นาที ซึ่งน้อยกว่าชายไทยที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 100 นาที

 “พระสงฆ์จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพต่ำ ได้แก่ ขาดการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ขาดการตรวจสุขภาพประจำปี และมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย ที่ผ่านมาจึงได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อร่วมกันออกแบบชุดความรู้สงฆ์ไทยไกลโรคในการให้ความรู้ความเข้าใจถึงการสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์”

โปรตีนต่ำ-ไขมันสูง ‘ตักบาตร’... อย่าลืมถามพระ

พระธรรมวินัยเรื่อง "ฉันอาหาร" 

 ข้อมูลในพระไตรปิฎกฉบับประชาชน เกี่ยวกับ “โภชนวรรค” วรรคว่าด้วยการฉันอาหาร เป็นวรรคที่ 4 มี 10 สิกขาบท คือ สิกขาบทที่ 1 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน 1 มื้อ)

 ภิกษุฉัพพัคคีย์ไปฉันอาหารในโรงพักเดินทาง ที่คณะเจ้าของเขาจัดอาหารให้เป็นทานแก่คนเดินทางที่มาพัก แล้วเลยถือโอกาสไปพักและฉันเป็นประจำ เป็นที่ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงพักเพียงมื้อเดียว ถ้าฉันเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้ภิกษุไข้ ซึ่งเดินทางต่อไปไม่ไหวฉันเกินมื้อเดียวได้

 สิกขาบทที่ 2 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม)

 พระเทวทัตเสื่อมลาภสักการะ จึงต้องเที่ยวขออาหารเขาตามสกุล ฉันรวมกลุ่มกับบริษัทของตน มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุฉันอาหารรวมกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้เมื่อเป็นไข้ เมื่อถึงหน้าถวายจีวร เมื่อถึงคราวทำจีวร เมื่อเดินทางไกล เมื่อไปทางเรือ เมื่อประชุมกันอยู่มากๆ เมื่อนักบวชเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร

 สิกขาบทที่ 3 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารที่อื่น)

 กรรมกรผู้ยากจนคนหนึ่งนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปฉันที่บ้าน ภิกษุทั้งหลายไปเที่ยวบิณฑบาตฉันเสียก่อน (อาจจะเกรงว่าอาหารเลวหรือไม่พอฉัน) เมื่อไปฉันที่บ้านกรรมกรคนนั้นจึงฉันได้เพียงเล็กน้อย (เพราะอิ่มมาก่อนแล้ว) ความจริงอาหารเหลือเฟือ เพราะชาวบ้านรู้ข่าวเอาของไปช่วยมาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารรายอื่นก่อน ภายหลังทรงผ่อนผันให้ในยามเจ็บไข้ ในหน้าถวายจีวร ในคราวทำจีวร มอบให้ภิกษุอื่นฉันในที่นิมนต์แทน 

สิกขาบทที่ 4 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามรับบิณฑบาตเกิน 3 บาตร)

 มารดานางกาณาทำขนมไว้จะให้บุตรีนำไปสู่สกุลแห่งสามี ภิกษุเข้าไปรับบิณฑบาตแล้วกลับบอกกันต่อไปให้ไปรับ นางจึงถวายจนหมด แม้ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ที่ทำขนมก็เกิดเรื่องทำนองนี้ จนบุตรีของนางกาณาไม่ได้ไปสู่สกุลสามีสักที ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุตรีของนาง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุเข้าไปสู่สกุล ถ้าเขาปรารถนาด้วยขนมหรือด้วยข้าวสัตตุผง เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา พึงรับเพียงเต็ม 2-3 บาตร ถ้ารับเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์ ทางที่ชอบ ภิกษุรับ 2-3 บาตรแล้ว พึงนำไปแบ่งกับภิกษุทั้งหลาย

 สิกขาบทที่ 5 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามฉันอีกเมื่อฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว)

 ภิกษุรับนิมนต์ไปฉันบ้านพราหมณ์คนหนึ่ง แล้วบางรูปไปฉันที่อื่นหรือไปรับบิณฑบาตอีก พราหมณ์ติเตียน แสดงความน้อยใจ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุฉันเสร็จแล้วบอกไม่รับอาหารที่เขาเพิ่มให้แล้ว เคี้ยวหรือฉันของเคี้ยวของฉัน ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงอนุญาตให้ฉันอาหารที่เป็นเดนได้

 สิกขาบทที่ 6 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามพูดให้ภิกษุที่ฉันแล้วฉันอีกเพื่อจับผิด)

 ภิกษุรูปหนึ่งรู้ว่า ภิกษุอีกรูปหนึ่งฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว แกล้งแค่นไค้ให้ฉันอาหารอีก เพื่อจับผิดเธอ (ตามสิกขาบที่ 5) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้น

 สิกขาบทที่ 7 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล)

 ภิกษุพวก 17 ฉันอาหารในเวลาวิกาล พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารในเวลาวิกาล (ตั้งแต่เที่ยงไปจนรุ่งอรุณ)

 สิกขาบทที่ 8 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน)

 พระเวลัฏฐสีสะเก็บข้าวตากไว้ฉันในวันอื่น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน

 สิกขาบทที่ 9 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง)

 ภิกษุฉัพพัคคีย์ขออาหารประณีต คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อฉันเอง เป็นที่ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้น เว้นไว้แต่อาพาธ

 สิกขาบทที่ 10 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ (ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน)

 ภิกษุรูปหนึ่งไม่ชอบรับอาหารที่มนุษย์ถวาย จึงไปถือเอาเครื่องเซ่น ที่เขาทิ้งไว้ตามสุสานบ้าง ตามต้นไม้บ้าง ตามหัวบันไดบ้าง มาฉัน เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารที่เขามิได้ให้ (ประเคน) เว้นไว้แต่น้ำและไม้สีฟัน

 พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า แม้อาหารบิณฑบาตจะเลือกไม่ได้ แต่สามารถพิจารณาฉันอาหารที่ดีต่อร่างกายตนได้ โดยพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ฉันอาหารพอสมควร และพระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนฆราวาส เพราะพระภิกษุต้องประพฤติตนสำรวม โดยเฉพาะในละแวกบ้านหรือเขตชุมชนตามหลักเสขิยวัตร

 “แต่มีหลักกิจวัตร 10 ประการที่พระพุทธเจ้าอนุญาต ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกาย เช่น การเดินบิณฑบาต กวาดลานวัด ทำความสะอาดวัด เดินจงกลม ตัดต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ เพื่อขยับร่างกาย รวมถึงแกว่งแขนลดพุงลดโรค ซึ่งทำได้ในพื้นที่วัด ในช่วงจำพรรษาจึงอยากให้พระสงฆ์หันมาดูแลสิ่งของภายในวัด ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายในลักษณะการทำความสะอาด ดูแลงานสาธารณูปการในวัด และฉันอย่างพิจารณา”

พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ

 นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดมติมหาเถรสมาคม เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” โดยจะมีการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป คือ ความร่วมมือในการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ ฆราวาส และหน่วยบริการสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาพที่นำเอาหลักพระธรรมวินัยเป็นตัวนำ และใช้ความรู้ทางสุขภาพเป็นตัวเสริม

 ซึ่งในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์จะมี 3 มิติที่เกี่ยวข้องโดย สช. จะร่วมสนับสนุนการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญฯ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และแผนเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อเห็นชอบ และประกาศให้ภาคีเครือข่ายรับทราบในสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 10 ในเดือน ธ.ค. นี้         

 บุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกและเป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์อย่างเป็นรูปธรรม

 “หลังจากธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติประกาศใช้แล้วจะมีการเสนอไปยังที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในพระสงฆ์ร่วมกันทั่วประเทศเพื่อให้พระสงฆ์ตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเอง หลักปฏิบัติที่ถูกต้องของฆราวาส รวมถึงการส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทางสุขภาพ ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกของสงฆ์และหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างเป็นระบบ”  

 นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. มีตัวอย่างการทำงานที่เป็นรูปธรรมเชิงพื้นที่ และทำงานเชิงรุกในมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้พระนิสิตมีความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพระในฐานะนักสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promoter) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของคณะสงฆ์เพื่อเป็นแกนนำเสริมสร้างสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา

 “ปัจจุบันมีพื้นที่เรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและคณะสงฆ์ทั้งสิ้น 20 จังหวัด ทำให้เกิดชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย รวมถึงร่วมกับกลุ่มพระสังฆะในการจัดการความรู้ให้ฆราวาสเรื่องสุขภาวะพระสงฆ์ ผ่านโครงการสร้างพระธรรมทายาทนักพัฒนาสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ เป็นต้น”

โปรตีนต่ำ-ไขมันสูง ‘ตักบาตร’... อย่าลืมถามพระ

"ปิ่นโตสุขภาพ" ทุ่งตะโกโมเดล จ.ชุมพร

 นวัตกรรมออกแบบสุขภาพความสุข อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร มีการบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการจัดการบริการสุขภาพที่มีความเข้มแข็งของเครือข่าย เชื่อมระบบตั้งแต่ระดับอำเภอไปสู่ชุมชน ด้วยนวัตกรรมการบริหารที่เรียกว่า “ทุ่งตะโกโมเดล”

 นวัตกรรมความร่วมมือที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพให้รุดหน้า รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยหัวใจหลักของระบบการทำงานนั้น ประกอบด้วย คนทั้ง 5 ช. คือ คนชง เป็นคนที่พบเจอปัญหา คนชู คือผู้เป็นประธานการทำงานนั้น คนช่วย คือผู้ที่สามารถให้ความร่วมมือช่วยเหลือ คนเชียร์ คือคนที่เป็นแรงสนับสนุนให้กำลังใจ ส่วนสุดท้าย คนชิม คือประชาชนที่ได้รับผลแห่งความสุขนั้นทุ่งตะโกโมเดล

 โดยได้ริเริ่มมาเป็นเวลา 9 ปี ทำให้เห็นการทำงานเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากขึ้น ผ่านงานด้านเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนของโรงพยาบาลทุ่งตะโก การสนับสนุนจากเทศบาลทุ่งตะโก สาธารณสุข และความร่วมมือจากภาคประชาชน ที่ในอดีตต่างฝ่ายต่างทำงานแค่ในส่วนของตน แต่วันนี้การทำงานร่วมกันภายใต้ทุ่งตะโกโมเดลนั้น ทำให้เกิดผลสำเร็จ

 ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับความช่วยเหลือที่อย่างทั่วถึง การส่งเสริมเรื่องสุขภาพและอาหารปลอดภัยที่เข็มแข็ง ตลอดจนกระทั่งการบูรณาการความรู้ไปสู่โรงเรียน เพื่อต่อยอดความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขอนามัยโดยเริ่มต้นจากเยาวชน รากแก้วที่พร้อมจะเติบโตเป็นต้นไม้แห่งความหวังของชุมชนต่อไป     

 นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทุ่งตะโกโมเดล จ.ชุมพร ถือเป็นตัวอย่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่ จากปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ทำให้ชาวบ้านมาพูดคุยกันและเกิดกติกา “ปิ่นโตสุขภาพ” เวลาใส่บาตรจะต้องเอาเมนูสุขภาพใส่ในปิ่นโตถวายพระ และพระในชุมชนก็เป็นนักส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะมีการจัดการความรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งการออกกำลังกายของพระสงฆ์เพื่อให้เกิดความรู้ร่วมกัน

พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ

 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามมติสมัชชาแห่งชาติเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” โดยมอบหมายให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักไปปรับแผนยุทธศาสตร์ชาติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน และนำเสนอต่อที่ประชุม คมส. โดยให้ยึดหลักการสำคัญ 3 เรื่อง คือ

 1.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย

 2.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย

 3.บทบาทพระสงฆ์กับการเป็นแกนนำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม

 ทั้ง 3 เรื่อง เป็นแนวทางที่คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ร่วมกันวางไว้

 “ต้องการเร่งรัดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 1 ปีรองรับยุทธศาสตร์ฯ  เพราะการเดินหน้าเรื่องนี้ ต้องเร็ว ต้องทำแผนให้ชัดว่าใน 1 ปีจะทำอะไร จะเกิดผลอะไรได้บ้าง และต้องให้สะเทือนทั้งสังคม” นพ.ปิยะสกล กล่าว

 ประธาน คมส. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก

 “สมเด็จพระสังฆราช ท่านยังเป็นตัวอย่างได้อย่างดีในการดูแลสุขภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะพระสงฆ์ โดยที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมได้บรรจุเรื่องวัดส่งเสริมสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเข้าสู่แผนงานสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์” 

 สถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ เพื่อให้การขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการต่อไป

 “การขับเคลื่อนเรื่องนี้จะสำเร็จได้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพราะเป็นเรื่องความเชื่อและพฤติกรรมด้วยในการตักบาตร หรือใส่บาตรอาหาร รวมถึงถวายภัตตาหารให้กับพระสงฆ์ ที่มุ่งอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้รับ เป็นต้น และเห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องปรึกษากับมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ด้วย ให้ปรับระเบียบกองทุนให้ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ได้ เพราะจะช่วยลดพระสงฆ์อาพาธ ลดภาระของการรักษาพยาบาลได้อย่างดี”

 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กล่าวว่า 2 แนวทางหลักที่กรมอนามัยขับเคลื่อน ประกอบด้วย

 1.โครงการพัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพ ที่ทำอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี กลไกหลักเป็นการอบรมพระอาสาสมัครสุขภาพประจำวัด (พระ อสว.) แต่พบว่าทำไปได้เพียง 3,000 วัด จาก 30,000 วัด ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของเจ้าอาวาสของแต่ละวัดเป็นหลัก 

 และ 2.ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการยกร่าง เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป