posttoday

จุดจบสายลํ้า ทำไมไม่ได้ไปต่อ?

08 กันยายน 2560

ทุกวันที่ลืมตาตื่น มั่นใจได้เลยว่าในวินาที หรือวันนั้นจะมีธุรกิจเกิดใหม่อยู่เสมอ

ทุกวันที่ลืมตาตื่น มั่นใจได้เลยว่าในวินาที หรือวันนั้นจะมีธุรกิจเกิดใหม่อยู่เสมอ และไม่ใช่กิจการเล็กๆ แต่เป็นระดับสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจที่เน้นหนักเรื่องของเทคโนโลยี หรือธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมหรือระบบทันสมัยเข้ามาช่วยให้ตัวเองเติบโตหรือขยายกิจกรรมของตัวเองได้มากกว่าทั่วไปในเวลาอันสั้น

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ได้ตามที่คาดหวัง หรือร้ายกว่านั้น หลายคนไปไม่รอด ด้วยปัญหาหรืออุปสรรคที่ได้เผชิญหน้าจริงๆ ก็ตอนที่ธุรกิจเริ่มนับก้าวแรกในสมรภูมิจริงไปแล้ว คอลัมน์ The Futurist ที่นำเสนอธุรกิจตอบรับโลกในอนาคต พบว่ามีสตาร์ทอัพล้ำสมัยส่วนหนึ่งเช่นกันที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ทิ้งไว้กับซากธุรกิจที่เคยสวยงาม กับคำถามในใจว่า ทั้งหมดเป็นเพราะทันสมัยเกินจนยากจะเข้าใจ หรือแค่ไม่รู้จริงวิชาธุรกิจพื้นฐานแล้วจมน้ำตื้นตาย

จบก่อนโลกได้ยล

โดรนติดตามผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติผ่านสายรัดข้อมือกันน้ำ Lily เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วยวิดีโอสาธิตในเดือน พ.ค. 2015 ด้วยนวัตกรรมโดรนที่ไม่ต้องพึ่งพาคนควบคุมอุปกรณ์ แต่มันจะติดตามเจ้าของโดรนเองผ่านสายรัดข้อมือได้นานถึง 20 นาที โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ชื่นชอบภาพถ่ายมุมสูง หรือผู้เล่นกีฬาแนวเอ็กซ์ตรีม หรือท้าทายความเร็ว ที่ต้องการกล้องลักษณะนี้มาช่วยบันทึกช่วงเวลาดีๆ ของตัวเอง

สองผู้ก่อตั้ง เฮนรี่ แบรดโลว์ และ อองตวน บาลาเรสก์ เปิดให้ผู้สนใจทำการสั่งจองได้ในราคา 499 เหรียญสหรัฐ และมีผู้สั่งซื้อไปมากกว่า 60,000 คน ตามคำกล่าวอ้างของทางบริษัท โดยให้คำมั่นว่าจะจัดส่งภายในเดือน ก.พ. 2016

ทว่า เมื่อเวลาใกล้เข้ามาทางบริษัทไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกรอบเวลา ต้องเลื่อนเวลาจัดส่งออกไปกระทั่งถึงต้นปี 2017 แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง ทางบริษัทกลับส่งอีเมลถึงลูกค้าที่สั่งจองสินค้าว่า พวกเขาไม่สามารถระดมเงินมาเป็นต้นทุนผลิตสินค้าได้ และขอคืนเงินให้ทุกคนภายในเวลา 60 วัน

แต่นอกจากเรื่องของเงิน ในเวลานั้นก็มีโดรนที่มีความสามารถเดียวกันจากบริษัทผู้พัฒนาสัญชาติจีนวางจำหน่ายในตลาดซึ่งคาดว่านี่ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ชะงัก Lily ไว้อย่างชะงัด

พังหนึ่งรอบก่อนล้มหายในที่สุด

ตลาดซื้อขายรถผ่านระบบออนไลน์ อาทิ แอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ Beepi เกิดขึ้นหลังจาก อเล เรสนิค ผู้ก่อตั้งเจอกับปัญหาจากการซื้อรถมือสองสมัยเรียนอยู่ MIT จึงก่อตั้งแพลตฟอร์มและตั้งตัวเป็นสื่อกลางซื้อขายรถ โดยทางบริษัทจะเป็นผู้ตรวจสอบรถที่นำเข้ามาจะขาย ประกาศราคาขายให้หลังจากประเมิน และรับประกันจะรับซื้อรถเองหากยังขายไม่ได้ภายใน 30 วัน ขณะที่ผู้ซื้อสามารถคืนรถได้ภายใน 10 วันหากซื้อไปแล้วไม่พอใจหรือไม่เป็นไปตามรายละเอียดที่ประกาศไว้ โดยสามารถซื้อได้ทั้งเงินทั่วไป เงินดิจิทัล เครดิต เงินกู้ ส่วนรายได้ของสตาร์ทอัพมาจากค่าคอมมิชชั่น คิดเป็น 9% ของราคาซื้อขาย

หลังจากมีแผนธุรกิจ ผู้ก่อตั้ง Beepi ก็ทำการระดมทุนหลายครั้ง ได้รับเสียงตอบรับดีทุกครั้ง กระทั่งช่วงเวลาหนึ่ง มูลค่าขององค์กรเฟื่องฟูไปถึง 560 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ผลประกอบการกลับสวนทางกับเงินทุนสนับสนุน โดยในปี 2016 Beepi มียอดขายรถแค่ 153 คันต่อเดือน ในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเทียบกับผู้ขายรถมือสองรายใหญ่ ตัวเลขนับว่าต่างกันฟ้ากับเหว ในช่วงเวลาเดียวกัน นักลงทุนจากจีนยังตัดสินใจยกเลิกสัญญาว่าจะลงทุนอีก บริษัทจึงเกิดสั่นคลอนอย่างรุนแรง ต้องปิดสำนักงานในหลายรัฐ ขายทรัพย์สินให้คู่แข่ง เลย์ออฟพนักงานส่วนหนึ่ง ครั้นตัดสินใจจะผนวกรวมตัวเองกับบริษัทคู่แข่งรายใหม่เพื่อกู้สถานการณ์ ก็กลับโดนชิ่งรอบสอง ซึ่งรอบนี้ Beepi พังครืนลงทะเลในที่สุด ต้องปิดบริษัท และขายทรัพย์สินเพื่อใช้หนี้นักลงทุนทั้งหมด

จากกรณีนี้ นักวิเคราะห์จาก TechCrunch มองว่า ปัญหาภายในองค์กร และการจัดสรรเงินทุนไม่เก่ง อาจมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ธุรกิจต้องจบลงอย่างไม่สวยเช่นนี้ก็เป็นได้

ต้นทุนสูงบีบคั้นเส้นทางไป

เครื่องคั้นน้ำผลไม้ควบคุมผ่านเทคโนโลยี QR Code และสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย Juicero เป็นที่ฮือฮาอย่างมาก หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือน มี.ค. 2016 ตรงกับช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังตื่นตัวเต็มที่กับการกินการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพ

อุปกรณ์นี้ทำงานพร้อมกับถุงบรรจุผักผลไม้ที่ใช้กับเครื่องคั้นนี้โดยเฉพาะ เพราะเครื่องจะต้องสแกนโค้ดที่อยู่บนซอง ซึ่งมีอายุเพียงแค่ 8 วัน หลังจากนั้นแล้วโค้ดจะหมดอายุ ทำให้เครื่องไม่คั้นเจ้าถุงนี้ออกมาเป็นน้ำได้ Juicero สนนราคาแรกเริ่มที่ 699 เหรียญสหรัฐ ก่อนจะลดลงเกือบครึ่งต่อครึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่จู่ๆ เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาไม่กี่วัน ทางบริษัทก็ประกาศระงับการขายทั้งเครื่องและถุงคั้นน้ำผลไม้ รวมถึงประกาศซื้อเครื่องคืนจากลูกค้าด้วย ให้เหตุผลว่าไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อลดราคาจำหน่ายได้

ก่อนเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น มีประเด็นถกเถียงมากมายในหมู่ลูกค้าและผู้ใช้งาน Juicero ตั้งแต่เดือน เม.ย. มีผู้ทดลองใช้มือบีบถุงคั้นน้ำ แล้วพบว่าได้ผลไม่ต่างกับการใช้เครื่อง ซึ่งการทดลองนี้บอกเล่าต่อกันจนเป็นข่าวแง่ลบที่กระทบต่อองค์กรอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ ผู้คนยังมองว่าเครื่องนี้มีราคาขายสูงเกินไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้กระทบกระเทือนถึง Behar บริษัทที่เป็นผู้ออกแบบสินค้าแนวผสานเทคโนโลยีขับเคลื่อนสำนักข่าวด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรม Dezeen วิเคราะห์ว่า การใช้บริษัทไฮเอนด์มาออกแบบสินค้าสตาร์ทอัพ มีส่วนอย่างยิ่งที่ดันราคาขายสินค้าจนสูงลิบ

ปัจจุบัน Behar ออกมาตอบโต้แทน Juicero และผลิตภัณฑ์ ขณะที่ทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็แก้ข่าวว่า พวกเขายังไม่ได้ไปไหน แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นศูนย์รวมสุขภาพครบวงจรเท่านั้น &O5532;