posttoday

เมือง(ไม่)ปลอดภัย สำหรับผู้หญิง

30 สิงหาคม 2560

เมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นทางสังคมที่คล้ายคลึงกันจนเกือบจะเหมือนเป็นเรื่องเดียวกันในความรู้สึก ต่างกันที่ต่างกรรมต่างวาระ เปลี่ยนแค่ตัวละครและสถานที่

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์  ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี, คลังภาพโพสต์

เมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นทางสังคมที่คล้ายคลึงกันจนเกือบจะเหมือนเป็นเรื่องเดียวกันในความรู้สึก ต่างกันที่ต่างกรรมต่างวาระ เปลี่ยนแค่ตัวละครและสถานที่ กรณีแรกเป็นกรณีของลูกจ้างประจำหญิงในกระทรวงสาธารณสุขถูกล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ อีกกรณีคือนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถูกรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันล่วงละเมิด ทั้งสองกรณีเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

ทั้งความเหมือนที่ประเด็นการล่วงละเมิด ยังมีความเหมือนที่สถานที่เกิดเหตุ โดยทั้งสองกรณีเกิดขึ้นในสถานที่ที่ควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง แต่ก็เหลือจะเชื่อว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ แห่งหนึ่งคือภายในรั้วกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ อีกแห่งหนึ่งคือสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาแถวหน้าของประเทศ ทั้งสองกรณียังมีความคล้ายกันในแง่ของตัวเหยื่อที่ลุกขึ้นสู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่บทความนี้อยากพูดถึงที่สุด

เมือง(ไม่)ปลอดภัย สำหรับผู้หญิง

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเสวนาเรื่อง “การคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว : รัฐกับการคุ้มครองผู้เสียหายและอำนวยความยุติธรรม” จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ที่โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ วิภาวดีรังสิต

ก่อนที่การสัมมนาจะเริ่มต้น แทนที่จะมีการประกาศให้สื่อมวลชนใช้ความระมัดระวังในการเก็บภาพผู้เสียหายเหมือนการทำข่าวล่วงละเมิดทางเพศทุกครั้ง ตรงกันข้าม ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนภิเษก หนึ่งในผู้เสวนากล่าวอนุญาตผู้สื่อข่าวให้ทำข่าวได้เต็มที่ รูปภาพไม่ต้องเบลอและไม่ต้องปิด รวมทั้งสามารถใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง เป็นไปตามคำอนุญาตของตัวเหยื่อเอง “ธารารัตน์ ปัญญา” อีกหนึ่งคนสำคัญของการเสวนาครั้งนี้

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกอาย คนที่ทำผิดต่างหากต้องเป็นคนที่รู้สึกอาย ไม่ใช่เรา” นี่คือประโยคหนึ่งในบทความที่ธารารัตน์ ผู้เสียหายจากกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยนักศึกษารุ่นพี่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวหลังเกิดเหตุการณ์

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ธารารัตน์ตกเป็นข่าวจากการร้องเรียนมหาวิทยาลัยต้นสังกัดว่า ถูกกระทำชำเราโดยนักศึกษาชายรุ่นพี่ร่วมคณะ ระหว่างไปนอนในห้องที่หอของเพื่อน ทั้งหมดกลับจากการดื่มสังสรรค์ ทุกคนอยู่ในสภาพมึนเมา แม้เธอจะขัดขืนด้วยการเตะถีบดิ้นรน หากรุ่นพี่ก็ใช้ความพยายามหลายครั้ง ที่สุดต่อสู้วิ่งหนีออกมานอกห้องได้ ตัดสินใจเปิดเผยเรื่องทั้งหมดอย่างกล้าหาญ พร้อมกับเรียกร้องให้ลงผิดทางวินัยต่อนักศึกษารุ่นพี่ ซึ่งต่อมาถูกมหาวิทยาลัยสอบสวนว่ามีความผิดจริงและได้รับโทษ

เมือง(ไม่)ปลอดภัย สำหรับผู้หญิง

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนภิเษก กล่าวว่า การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นทุกจุดและเกิดขึ้นทุกที่ในสังคมไทย ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น กฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศกลายเป็นเสือกระดาษ ที่ “เอาไม่อยู่” นั่นเป็นเพราะรากฐานของระบบอุปถัมภ์และระบบอำนาจนิยม สังคมไทยมองผู้เสียหายอย่างมีอคติ ที่สำคัญคือกระบวนการเอาผิดผู้กระทำภายใต้ระบบราชการมีความยุ่งยากซับซ้อน กระบวนการไต่สวนที่ถูกออกแบบด้วยระบบราชการนี้ หลายครั้งยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า แทนที่จะเป็นผู้เสียหาย กลับเป็นผู้กระทำผิดที่ได้รับการช่วยเหลือปกป้อง

“กฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางเพศในปัจจุบันถูกเรียกว่าเสือกระดาษ และแทบไม่ได้ทำหน้าที่ของมันเลย ก็เพราะกระบวนการไต่สวนถูกออกแบบมาให้กินเวลานานมาก ร่วมกับวิธีคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ สังคมโทษเหยื่อ และระบบอุปถัมภ์แย่ๆ ก็ทำให้สังคมไทยที่ผ่านมาแทบไม่สามารถเอาผิดต่อผู้กระทำได้อย่างที่ควรจะเป็น เหยื่อจำนวนมากเลือกนิ่งเลือกเงียบ เพราะออกมาก็เจ็บตัว”

วันนี้ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะการลุกขึ้นสู้ของผู้เสียหาย ทิชาระบุถึงธารารัตน์ว่า คือประจักษ์พยานที่กล้าหาญ โดยการยืนหยัดต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งมีพลังยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เหยื่อแม้เพียงคนเดียว หากหาญกล้าที่จะสู้ นั่นหมายถึงโมเมนตัมหรือแรงผลักที่ยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในสังคม เหมือนก้อนอิฐก้อนหนึ่งที่ตกกระทบผิวน้ำแล้วสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อไปไม่สิ้นสุด สามารถส่งต่อพลัง (Empower) ต่อเหยื่อหรือสตรีไทยที่ถูกคุกคามทางเพศในสังคม ลุกขึ้นทวงถามในฐานะผู้เสียหายที่มีสิทธิ

“ธารารัตน์คืออิฐก้อนนั้น อย่าแค่ชื่นชมแล้วจบ สังคมต้องช่วยกันออกมาปกป้องเธอด้วย นี่คือผู้เสียหายคดีทางเพศที่ให้คุณค่าใหม่ต่อสังคมเรา”

ธารารัตน์เล่าว่า ตัดสินใจลุกขึ้นร้องเรียนกับมหาวิทยาลัยและโพสต์ในเฟซบุ๊ก เนื่องจากต้องการให้สังคมรับรู้ว่า การข่มขืนและการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติ กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นทันที มีทั้งดีและไม่ดี ส่วนหนึ่งชมเชย ส่วนหนึ่งตรงกันข้าม เช่น ให้ท่าเอง เมาเอง พาตัวไปอยู่ในที่เสี่ยงเอง ฯลฯ สะท้อนสังคมที่กล่าวโทษเหยื่อ ตัดสินใจเผชิญหน้ากับปัญหา เพราะคิดว่าคงเสียใจมากกว่าถ้านิ่งเงียบและแบกรับความรู้สึกแย่ๆ ไว้กับตัวเอง

เมือง(ไม่)ปลอดภัย สำหรับผู้หญิง

“ในครั้งแรกทำอะไรไม่ถูก เสียใจ ตกใจ ช็อก ไม่บอกครอบครัว แต่ปรึกษาเพื่อนสนิท ทบทวนตัวเองว่าต้องการอะไร คิดอยู่หนึ่งสัปดาห์ก็ตัดสินใจบอกที่บ้านและยื่นเรื่องร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย”

ธารารัตน์ไม่ได้แจ้งความ เพราะไม่คิดว่ากระบวนการยุติธรรมจะเยียวยาความรู้สึกได้จริง วันนี้มีการเอาผิดทางวินัยต่อผู้กระทำ ซึ่งธารารัตน์ถือว่าเพียงพอ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการที่เหยื่อในมุมมืดคนอื่นๆ จะได้รู้ว่าไม่ได้ยืนอยู่คนเดียว เธอเชื่อว่าปัจจุบันมีการคุกคามทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศภายในมหาวิทยาลัยระหว่างเพื่อนนักศึกษาด้วยกันจำนวนมาก เคารพในการตัดสินใจของทุกคน ส่วนตัวคิดว่าการเงียบไม่เป็นประโยชน์ ตัวเองจะไม่ปิดบังสิ่งที่เจอมาและจะใช้ชีวิตตามปกติต่อไป

สำหรับการออกมาพูดกับสังคมต้องอาศัยความเข้มแข็ง ธารารัตน์กล่าวว่า สังคมเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีคนออกมาพูดมากขึ้น แรงต้านจากสังคมมีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรดีไปกว่าเข้มแข็ง เข้มแข็งและเข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้รวมถึงการประเมินไว้ล่วงหน้าถึงความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแน่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งหมดนี้จะไม่มีทางทำให้คุณค่าในตัวของเราลดลง

หรับขั้นตอนการดำเนินการเอาผิดทางวินัยของมหาวิทยาลัยไม่มีขั้นตอนที่แน่ชัด ไม่มีกำหนดระยะเวลาการสืบสวนสอบสวนที่ชัดเจน จะดีกว่านี้มากถ้ามีระเบียบปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้เสียหายในการร้องเรียนเรื่องทางเพศ เช่น ศูนย์ร้องเรียน นักศึกษารู้ว่าเกิดเหตุแล้วต้องตรงไปที่ไหน

อีกกรณีหนึ่งเป็นลูกจ้างหญิงตำแหน่งเลขานุการแจ้งความพร้อมหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ เนื้อหาเป็นการกระทำลวนลามอนาจารโดยผู้บังคับบัญชา เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ถูกกระทำต่อเนื่องมาถึง 3 ปี แต่ต้องทนเพราะถูกข่มขู่ไม่ต่อสัญญาจ้างปีต่อปี พฤติกรรมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเข้ามาล็อกตัวและบีบหน้าอกต่อหน้าธารกำนัล แม้ร้องเรียนภายในแล้วแต่ผู้เสียหายถูกกดดันให้ไปหาหลักฐานมาด้วย นำมาซึ่งคลิปที่แอบถ่าย

เมือง(ไม่)ปลอดภัย สำหรับผู้หญิง

อังคณา อินทสา ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เชื่อว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกคุกคามลวนลามในที่ทำงาน เพราะผู้กระทำมีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ใช้อำนาจที่เหนือกว่า ขณะที่ผู้หญิงที่ถูกคุกคามก็ไม่กล้าดำเนินการเอาผิด เนื่องจากกลัวมีปัญหาในหน้าที่การงาน หากสังคมยังนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาก็จะยังคงอยู่ต่อไป แต่ถ้าวันใดผู้เสียหายลุกขึ้นมาบอกว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นปัญหา และสังคมเข้ามาสนับสนุนผู้เสียหาย กลไกที่มีอยู่ก็จะช่วยปกป้องผู้เสียหายได้

“ที่สำคัญคนในสังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติ ไม่มองผู้หญิงว่าเป็นฝ่ายผิด ควรให้กำลังใจ ช่วยเหลือเยียวยา หมดยุคที่จะคิดว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว ถึงเวลาต้องสังคายนากฎ ก.พ.ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการออกแบบให้มีหน่วยงานกลางขึ้นมา เพื่อรับมือกับปัญหาคุกคามทางเพศในระบบราชการ” อังคณากล่าว

ทิชาระบุว่า ทางออกของปัญหาการคุกคามทางเพศในหน่วยงานราชการ คือ ทุกครั้งที่เกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ควรให้มีคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ เช่น นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปัญหาการคุกคามทางเพศ เข้าร่วมไต่สวนหาข้อเท็จจริงด้วย เพื่อเป็นการสร้างดุลยภาพ ทำให้มีการเอาผิดอย่างจริงจัง และไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซง

งานวิจัยหลายชิ้นด้านอาชญาวิทยารายงานตรงกันว่า การที่อาชญากรตัดสินใจลงมือกระทำผิด สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่ง เพราะผู้กระทำคิดว่าจะไม่มีใครจับได้ เพราะคิดว่าจะไม่มีใครล่วงรู้ เพราะคิดว่าจะลอยนวลหนีความผิดไปได้ ใช่! กฎหมายคือเครื่องมือ หากการเปลี่ยนที่ทัศนคติของคนสำคัญที่สุด โดยเฉพาะตัวผู้เสียหายที่จะไม่นิ่งเงียบ หันมาตอบโต้และใช้สิทธิในฐานะผู้เสียหาย

เมืองจะปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ก็ต่อเมื่อคนในสังคมมีทัศนคติต่อเรื่องการล่วงละเมิดที่ตรงกัน มีความเคารพในเนื้อตัวจิตใจบุคคลอื่นด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน เป้าหมายที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไรในสังคมไทยนี้ฟังดูเลื่อนลอยก็จริง หากอย่างน้อยที่สุดวันนี้เรามีเหยื่อที่ตอบโต้ด้วยการลุกขึ้นสู้ สังคมของเราจะมีเหยื่อที่กล้าพูดและกล้าทวงสิทธิมากขึ้น ครั้งหน้าที่คนคิดเอาเปรียบผู้หญิงจะทำการ...เขาจะ “ยั้ง” และจะ “คิด” มากขึ้น