posttoday

โลกออนไลน์ ... หลุมดำพรากชีวิตสัตว์ป่า

27 สิงหาคม 2560

“ได้แค่นี้ก็พอกินแล้วคับ ลูกปิ่นหรือตะพาบภูเขา” - ภาพ : ตะพาบมีชีวิตจำนวน 4 ตัวในกะละมัง

โดย...วิมลรัตน์ ธัมมิสโร

“ได้แค่นี้ก็พอกินแล้วคับ ลูกปิ่นหรือตะพาบภูเขา” - ภาพ : ตะพาบมีชีวิตจำนวน 4 ตัวในกะละมัง

“วันหยุด ซ้อมมือกันหน่อย พอได้ลาบคับ” - ภาพ : นกหลากสีนับ 10 ตัว พร้อมปืน

“การยิงเป็นกิจวัตรประจำวันของผม วันไหนไม่ได้ยิงเหมือนขาดอะไรไป” - ภาพ : เลียงผาไร้วิญญาณเต็มไปด้วยเลือด

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาในกลุ่มปิดชื่อ “สายล่าหากิน” บนเครือข่ายเฟซบุ๊ก ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยขบวนการล่าสัตว์ป่าและการค้าผ่านตลาดออนไลน์ หากพิมพ์คำว่า “ซื้อขายสัตว์” ลงไป จะปรากฏผลลัพธ์นับร้อย

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หมอนักอนุรักษ์ ให้ภาพว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นการเกิดขึ้นของกลุ่มการค้าสัตว์ป่าออนไลน์จำนวนมาก และผลพวงจากการแผ่ขยายตลาดเช่นนี้จะนำไปสู่ระบบนิเวศธรรมชาติที่ถูกทำลาย ทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการล่าสัตว์ป่ามากนัก สังเกตได้จากการกำหนดโทษที่ค่อนข้างต่ำ เจ้าหน้าที่รัฐก็มีกำลังน้อย จึงทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย

สำหรับกฎหมายที่ใช้เอาผิดขบวนการเหล่านี้ได้ก็คือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 20 ซึ่งกำหนดไว้ว่าห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ธิติกร กิตตินันท์ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เล่าว่า ยังคงพบการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ทุกๆ วัน ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนจากเว็บไซต์สู่เฟซบุ๊ก ทั้งยังการแทรกตัวรวมกับสินค้าทั่วไป อย่างไรก็ตามในกลุ่มปิดเหล่านี้มีคนส่วนหนึ่งที่เข้าใจกฎหมายและแจ้งข้อมูลมายังกรมอุทยาน

“ได้รับข้อมูลจากคนที่เห็นกลุ่มปิดเหล่านี้เรื่อยๆ แต่สำหรับการติดตามผู้ค้าเป็นเรื่องยาก พยายามที่จะแฝงตัว และประชาสัมพันธ์เพื่อให้บุคคลในกลุ่มเกิดความเข้าใจ สำหรับตลาดของการค้ามีการไล่จับ โดยพ่อค้าออนไลน์ตลาดใหญ่ๆ มีการเปลี่ยนอาชีพ ทั้งยังกลับตัวมาให้ข้อมูล แต่ก็ยังมีกลุ่มวัยเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสายเช่นกัน” ผู้อำนวยการรายนี้ ระบุ

ข้อมูลจาก ฝ่ายคดีและของกลาง ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ระบุว่า ปีงบประมาณ 2552-2559 มีคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า 4,665 คดี ผู้กระทำผิด 5,428 คน ตรวจยึดสัตว์ป่าของกลาง 106,988 ตัว ตรวจยึดสัตว์ป่าของกลาง 19,754 ซาก และตรวจยึดสัตว์ป่าของกลาง 33,112.11 กิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2559)

ช่วงเดือน มี.ค. 2560 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยแพร่บทความแสดงผลการเก็บข้อมูลซื้อขายสัตว์ป่าจากเฟซบุ๊ก ชื่อกลุ่ม “ซื้อ-ขายสัตว์แปลกๆน่ารักๆ” ซึ่งมีจำนวนสมาชิก 53,485 คน โดยพบพฤติกรรมเย้ยกฎหมายด้วยการโพสต์บัตรประชาชน บัญชีธนาคาร ควบคู่กับสินค้านั่นก็คือสัตว์ป่า

มูลนิธิสืบฯ สรุปว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2558 ถึงเดือน เม.ย. 2559 มีสัตว์ป่าถูกโพสต์ขายจำนวน 711 ครั้ง แบ่งเป็น 105 ชนิด 1,396 ตัว มีสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายอีกจำนวนหลายชนิด

นี่เป็นเพียงข้อมูลจากกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวเท่านั้น ทว่าในโลกออนไลน์ที่กว้างใหญ่ยังมีอีกหลากหลายกลุ่มที่มีพฤติกรรมเดียวกัน นั่นหมายถึงการละเมิดกฎหมายโดยไม่เกรงกลัว และนั่นคือความท้าทายสำหรับ “ชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362” และ “ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง” ซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำความผิดเหล่านี้

นอกจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างเช่น องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) องค์กรทราฟฟิค (TRAFFIC) และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนในการช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่า และเป็นหูเป็นตาให้กับการหยุดซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์แล้วยังมีแฟนเพจชื่อ “Help Save Wildlife” ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน

สำหรับประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ ร่วมเป็นหนึ่งในการเฝ้าระวังขบวนการล่า-ค้าสัตว์ป่าออนไลน์ได้ เพียงแจ้งเบาะแสผ่านทางเว็บไซต์ www.dnp.go.th และหมายเลขโทรศัพท์ 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง