posttoday

ธวัชชัย อินทศร ดอกไม้และขวากหนาม ในมหานครนิวยอร์ก

27 สิงหาคม 2560

บางครั้งเรามักมองดินแดนอื่นที่เรายังไม่เคยไปสัมผัส ไปฝังรากใช้ชีวิตอย่างเป็นวิถีทุกตื่น ว่าช่างงดงาม มีอิสระ มีระเบียบวินัย

โดย...มัลลิกา นามสง่า

บางครั้งเรามักมองดินแดนอื่นที่เรายังไม่เคยไปสัมผัส ไปฝังรากใช้ชีวิตอย่างเป็นวิถีทุกตื่น ว่าช่างงดงาม มีอิสระ มีระเบียบวินัย อีกหลายเหตุผลที่จะยกมาสนับสนุนให้ดินแดนแห่งนั้นน่าไปยิ่งนัก

เป็นดินแดนที่อยากกางปีกบินร่อนด้วยหัวใจอันพองโต ตื่นตาตื่นใจกับประสบการณ์ใหม่ๆ “ธง-ธวัชชัย อินทศร” ก็เคยผ่านห้วงความรู้สึกเยี่ยงนี้

มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คือ ดินแดนที่ธวัชชัยเลือกไปอยู่หลังจากศึกษาจบระดับอุดมศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ทางบ้านจะทัดทาน อยากให้อยู่สานต่อธุรกิจการค้าส่งรายใหญ่ใน จ.นครสวรรค์ แต่ก็ไม่อาจต้านพลังหนุ่ม

จากตั้งใจไปศึกษาไม่กี่ปี แต่จนแล้วจนรอดนับเวลาได้รวม 25 ปีเศษ ธวัชชัยกลายเป็น “นิวยอร์กเกอร์” ที่คนไทยพำนักในนิวยอร์กรู้จักมักจี่ เหล่าคนดังจากเมืองไทยไปเยือนก็ต้องแวะไปทักทายถามไถ่ ใครเดือดร้อนในต่างแดนก็มาขอความช่วยเหลือ

ทว่ากว่าจะมาถึงจุดอันเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้อื่นได้ เขาก็ล้มลุกคลุกคลาน เกือบเอาตัวเองไม่รอดมาก็หลายหน ความสำเร็จที่เกิดผลในวันนี้ ระหว่างทางนั้นมีคราบน้ำตาเป็นรอยประทับให้จำมิมีวันลืมได้ลง

ธวัชชัย อินทศร ดอกไม้และขวากหนาม ในมหานครนิวยอร์ก

Help Me Please, ความซวยในดินแดนอื่น

ชีวิตในเมืองไทยธวัชชัยไม่เคยต้องตกระกำลำบาก พอเรียนจบอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่อเมริกา ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากพูดภาษาอังกฤษให้เก่ง จะได้กลับมาเป็นสจ๊วด แต่หารู้ไม่ว่า การเดินทางไปในครั้งนั้น ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

“มีเงินติดตัวไปเพียง 1 หมื่นบาท จุดหมายแรก คือ Portland Oregon เมืองมหาวิทยาลัย ที่สมัครเรียนไว้และผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่ตัดสินใจสละสิทธิ เพราะทางครอบครัวไม่อยากให้ไป ตอนนั้นไฟในตัวแรงมาก เลยบอกที่บ้านว่าไม่ต้องส่ง เดี๋ยวจะหาเงินเรียนเอง”

วันแรก ในดินแดนอื่น ณ หอพักมหาวิทยาลัย กับน้ำตาแรก “ติดอยู่ในห้องน้ำ เปิดประตูไม่ได้ แล้วเราเป็นนักเรียนคนแรกที่เดินทางมาถึง พยายามส่งเสียงเรียกให้คนช่วย แต่ไม่มีใครได้ยิน คำแรกที่พูดในอเมริกาคือ Help Me Please ร้องเรียกคนให้มาช่วยอยู่นาน จนเหนื่อยก็ไม่มีใครได้ยิน จาก Help Me Please กลายเป็นร้องตะโกน Halo Help Halo ร้องจนแสบคอ

ตอนนั้นเริ่มขาดอากาศหายใจ เพราะห้องน้ำขนาดเล็กมาก และเราก็เริ่มตกใจกลัว ใจก็สั่น ทำอะไรไม่ถูก พยายามทุบประตู ทุบไปทุบมา ดันไปโดนหลอดไฟ ไฟดับมืดสนิทเลย ตอนนั้นเริ่มหมดแรง คิดในใจว่า แม่จ๋าลูกขอลาแล้ว ลูกหายใจไม่ออก คือยังไงก็ตายแน่ๆ น้ำตาเริ่มไหล เพราะคิดถึงบ้าน

สุดท้ายตัดสินใจสู้ ถ้าไม่มีใครช่วยเราได้ เราต้องช่วยตัวเราเอง ลุกขึ้นมาใช้กำปั้นทุบประตู ทุบไปเรื่อยๆ ซ้ำอยู่ที่เดิม มือขวาเริ่มถลอก เลือดก็ออก เริ่มเจ็บแสบที่มือ”

ธวัชชัย อินทศร ดอกไม้และขวากหนาม ในมหานครนิวยอร์ก

ธวัชชัย ใช้ความพยายามอยู่ 3 ชั่วโมง เพื่อที่จะทลายประตูได้สำเร็จ เขาเดินลงไปหาเจ้าหน้าที่พร้อมกำมือที่มีเลือดอาบ

“I Broke Gate พอพูดจบ ฝรั่งมันไม่สนใจเราด้วยซ้ำว่าเราเจ็บแค่ไหน รีบวิ่งขึ้นไปดูประตูพร้อมพูดว่า Oh My God! How This You Do That? สรุปโดนค่าทำประตูพังไป 300 ดอลลาร์สหรัฐ”

หลังจากพักหอบจากเรื่องตื่นเต้นในวันแรก ธวัชชัยก็นั่งนับเงินวนไปวนมา ไม่ใช่ว่ามันมากมายจนนับไม่จบสิ้น แต่เขาแทบไม่อยากเชื่อว่า เงินที่พกติดตัวมาจากเมืองไทยนั้น มีจำนวนน้อยนิด เมื่อตัดสินใจจะมาตายเอาดาบหน้าแล้ว จะบากหน้าส่งเสียงโทรกลับไปขอเงินที่บ้านก็ไม่ได้

เขาจึงตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนนักศึกษาต่างชาติที่รู้จักกันในเมืองไทย และเป็นคนรับเขาจากสนามบินมาส่งที่หอพัก แต่ก็ไม่ทราบที่อยู่แน่ชัดและบ้านเรือนแต่ละหลังก็หน้าตาราวฝาแฝด

“ผมตัดสินใจเดินกลับไปที่หอพัก หยิบกระเป๋าเดินทาง 2 ใบ เดินเชิดหน้าลงจากหอพัก อิเจ้าหน้าที่คนเดิมถามว่า จะไปไหน ตอบไปสั้นๆ ว่า Go Home แล้วเดินเชิดหน้าสะบัดบ๊อบใส่มันอย่างไม่แคร์ เดินไปที่เอเยนซี ซื้อตั๋วมุ่งสู่ New York City”

ธวัชชัย อินทศร ดอกไม้และขวากหนาม ในมหานครนิวยอร์ก

Halo New York, (ติด)คุกในแดนศิวิไลซ์

ยังไม่สิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว เพราะธวัชชัยยังมีคนรู้จักในมหานครนิวยอร์ก เมื่อถึงสนามบิน John F. Kennedy พี่ที่มารับได้พาเขานั่งรถชมเมือง

“ตอนนั้นตื่นเต้น รู้สึกตึกที่นี่สวยงามไปหมด เป็นแหล่งรวมความเจริญทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ละครบรอดเวย์ หรือแม้กระทั่งร้านอาหารดีๆ รู้สึกถึงคำที่หลายคนบอกว่า I Love New York ตอนนั้นเราก็อยากตะโกนดังๆ เหมือนกันนะว่า I Love New York”

ความศิวิไลซ์ของมหานครทำให้ธวัชชัยหลงเสน่ห์ได้ทันที ความสนุกสนานจะเกิดขึ้นที่นี้ ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นอันจะเกิดขึ้นในดินแดนนี้ จะมีชีวิตที่เสรีมีความสุขในนิวยอร์ก เขามีความคิดนี้วาบขึ้นมา แต่ในความเป็นจริง เขาได้ยินเสียงสะอื้นไห้ของตัวเองมากกว่าได้ยินเสียงหัวเราะ และคาดไม่ถึงด้วยว่า ชีวิตจะลำบากขนาดนี้

“ผมได้ไปช่วยทำงานที่ร้านอาหารไทย ที่เมืองลองไอส์แลนด์ ออกจากเกาะแมนฮัตตัน ออกไปทางควีนส์ประมาณ 1 ชั่วโมง วันนั้นภรรยาพี่เจ้าของร้านอาหารไทยให้เราขับรถพาไปตลาด ในรถมีลูกสาวอายุ 3 ขวบด้วย”

ภาพรถยนต์พุ่งประสานงากันด้วยความเร็วสูง ผุดขึ้นชัดอีกครั้ง ธวัชชัยเล่าราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อตะกี๊ เสียงแตรรถยนต์ที่ดังค้างลั่นสนั่นยิ่งเพิ่มความชุลมุนให้กับสถานการณ์ตรงนั้น กลิ่นน้ำมันที่ไหลออกมาจากใต้ท้องรถ ในใจก็สะพรึงกลัวว่ามันจะติดไฟลุกโชนจนระเบิด

“แรงอัดของถุงลมนิรภัยแรงมาก กดมาที่หน้าอก หายใจแทบไม่ออก ตำรวจมาขอดูใบขับขี่ พระเจ้าใบขับขี่อินเตอร์หาย ไม่รู้ว่าใส่ไว้ในกระเป๋าใบไหน แล้วเด็กที่นั่งอยู่เบาะหลังก็ไม่ได้คาดเข็มขัดอีก สรุปงานนี้ต้องขึ้นศาล ต้องเข้าคุกอยู่ 1 อาทิตย์”

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้ธวัชชัยไม่ขับรถอีกเลยจวบกระทั่งปัจจุบัน

ธวัชชัย อินทศร ดอกไม้และขวากหนาม ในมหานครนิวยอร์ก

จังหวะชีวิตไม่ได้เต้นรำงดงามกลางฟลอร์ หรือใส่สูทหรูไปดูละครบรอดเวย์ ทว่าธวัชชัยต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ต้องตื่นตี 5 เพื่อเตรียมตัวไปเซตอัพครัวไว้รอเชฟใหญ่ หั่นหมู หั่นผัก เตรียมต้มน้ำซุป ต้มยำ ต้มข่า ผสมเครื่องแกง แกงเขียว แกงแดง แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ ทำได้หมด จนถึง 6 โมงเช้า อาบน้ำแต่งตัว วิ่งให้ทันขบวนรถไฟ เพื่อไปเรียนที่เมืองนิวยอร์ก

บางวันวิ่งทัน บางวันก็พลาด เพราะมัวหกคะเมนลื่นหิมะ เรียนเสร็จบ่าย 3 ต้องรีบวิ่งหัวซุกหัวซุนเพื่อให้ทันรถไฟ เพื่อไปทำงานให้ทัน เลิกงาน 5 ทุ่ม ใช้ชีวิตวนๆ ไปแบบนั้น จนเมื่อเหตุการณ์หนึ่งได้พลิกชีวิตเขา

“ทำงานเก็บเงินประมาณ 6 เดือน เริ่มมีเงินเยอะ แต่เอาเงินไว้ใต้ที่นอน โดยไม่รู้เลยว่าเด็กๆ ที่อยู่บ้านรู้แหล่งเก็บเงินของเรา แล้วโดนขโมย ไปบอกป้าของเด็กเขาก็เข้าข้างกัน ผมเลยตัดสินใจหนีออกจากบ้าน มีเงินเหลือติดตัวไม่กี่ร้อยเหรียญ”

ในที่สุดก็ได้สัมผัสชีวิตโฮมเลส (Homeless) แล้วเดินหางานตามร้านรวงต่างๆ อย่างทุลักทุเล เจอคนเสนองานให้หลายรูปแบบ ทั้งหญิงและชาย ถึงขั้นเอาเงินมาล่อ เดือนละ 3,000 ดอลลาร์ (ตอนนั้น 1 ดอลลาร์ ประมาณ 25 บาท) แต่เขายอมกัดฟันทนความจนดีกว่าจะใช้ตัวเขาแลก

ตำรารวยอยู่ก้นครัว

หลังจากนั้นธวัชชัยตัดสินใจไปเมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต ไปสมัครเป็นผู้ช่วยพ่อครัว หาเงินจ่ายค่าเทอมที่เรียนภาษาที่นั่น

“วันแรกก็เจอทีเด็ด เจ้าของร้านให้เลาะปีกไก่เพื่อเอากระดูกออก ไก่มีประมาณ 1,000 ชิ้นได้ หนังไก่ลื่นมาก แค่จับก็หลุดมือ วันแรกทำได้ 50 กว่าชิ้น เจ้าของเดินมาบอกว่า ทำงานแบบนี้ไปหากระโปรงมาใส่เหอะ เราก็ยิ้มสู้เพราะไม่รู้จักใครเลยที่นี่ ฝึกทำไปเรื่อยๆ”

ชีวิตยังโซซัดโซเซไม่พอ ร้านปิดกิจการ ต้องหางานใหม่อีก ย้ายไปอยู่บอสตัน แต่ยังเลือกทำงานในร้านอาหารเช่นเคย “มีเรื่องตลกเกิดขึ้นมากมายที่ร้านนี้ ตอนนั้นเราเริ่มพูดภาษาอังกฤษพอได้ ฝรั่งมาสั่งอาหารกลับบ้าน เราถามว่า What I Can Do For You Sir? ฝรั่งตอบกลับมาว่า What You Can Do For Me?

ธวัชชัย อินทศร ดอกไม้และขวากหนาม ในมหานครนิวยอร์ก

เริ่มเก่งแล้วไง เลยรีบตอบฝรั่งกลับทันทีว่า I Can Give You Everything Beside The Star And Month คนอื่นงงกันหมดว่าไอ้นี่ตอบอะไร สุดท้ายนึกออกหัวเราะกันจนน้ำตาเล็ด ประโยคนั้นก็คือ ฉันหาให้คุณได้ทุกอย่าง ยกเว้นดาวกับเดือน”

ธวัชชัยผ่านการทำงานในร้านอาหารมาทุกแผนก และทำได้ทุกหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น ทำอาหารในครัว บาร์เทนเดอร์ ตำแหน่งผู้จัดการ เตรียมของ สั่งของ ซื้อของ หั่นของ ล้างห้องน้ำ ล้างครัว ซ่อมตู้เย็น ซ่อมแอร์ จับหนู รวมทั้งการควบคุมดูแลคนงานชาติต่างๆ ให้อยู่กันได้อย่างสันติสุข

I Love New York เป็นสิ่งที่ธวัชชัยรู้สึกจริงก่อนเปล่งเสียงออกมา “กลับมานิวยอร์กอีกครั้ง ได้รับความช่วยเหลือจากผู้หญิงใจดีท่านหนึ่งให้เรามาช่วยงาน จนกลายเป็นหุ้นส่วนทำธุรกิจ สร้างร้านอาหารใหม่ขึ้นมา ในย่านแหล่งเจริญที่สุดในเกาะแมนฮัตตัน จนร้านมีชื่อเสียงโด่งดัง มีบรรดาเซเลบ ดารา ผู้นำในแต่ละประเทศนักร้องทั้งไทยและต่างประเทศมาไม่เว้นในแต่ละวัน”

หลังจากทนใช้ชีวิตอดมื้อกินมื้อ ทำงานหนัก ไร้ที่หลับนอนเป็นหลักแหล่ง เป็นเวลา 4 ปี ที่ธวัชชัยสู้ขยันทำทุกอย่างเพื่อเก็บเงิน จนมีทุนที่สร้างอนาคตของตัวเอง จนสามารถเปิดร้านอาหารได้ 3 ร้าน ที่ซีแอตเติล วอชิงตัน และนิวยอร์ก ตอนนั้นเขาสามารถหาเงินได้เดือนละ 2 ล้านบาท

หวนคืนมาตุภูมิ เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวนิวยอร์ก

ฟันฝ่ามรสุมที่นิวยอร์กมาหลายครั้ง ใช้ชีวิตตกต่ำที่สุด จนถึงอู้ฟู่มีเงินทอง มีผู้คนห้อมล้อมมาขอพึ่งพิง ทั้งที่พักอาศัย หยิบยืมเงิน ให้ช่วยรับรองต่างๆ นานา โดนทั้งถูกหักหลัง เนรคุณ ใส่ร้ายป้ายสี จนในที่สุด เวลา 25 ปี ก็พอเหมาะพอดี ที่ธวัชชัยตัดสินใจกลับมาลงหลักปักฐานบนแผ่นดินเกิด

ช่วงแรกที่กลับมา เขาเลือกใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ที่บ้านเกิด หมู่บ้านศาลเจ้าไก่ต่อ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ระหว่างนั้นก็มีคนโทรตามให้ไปช่วยงานมากมาย เพราะเชื่อมือจากประสบการณ์ในต่างประเทศอันโชกโชน

อย่างไรเสีย เขาไม่เคยลืมสีสันชีวิตในก้นครัวได้เลย จึงตัดสินใจเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ใช้ชื่อว่า New York Boat Noodle Gallery ตั้งใจทำร้านก๋วยเตี๋ยวเรือให้อร่อยที่สุด และสวยมากที่สุดในประเทศไทยให้ได้ โดยนำของสะสมจากนิวยอร์กมาตกแต่งร้าน

ทั้งรูปเซเลบ ดารา และนักกีฬาชื่อดังจากทั่วโลก พร้อมลายเซ็นที่เจาะจงให้ธวัชชัยเพียงหนึ่งเดียว นอกจากนี้ยังมีของเก่าที่มีมูลค่าสูงและหายาก มีไม่กี่ชิ้นในโลก นำมาให้ลูกค้าได้ชื่นชมด้วย เรียกว่าเป็น อาร์ต แกลเลอรี่ย่อมๆ เลย

อีกหนึ่งความตั้งใจที่เปิดร้าน คือ ให้คนชรา คนพิการ และคนฐานะยากจนรับประทานฟรีตลอดชีพ

ธวัชชัย อินทศร ดอกไม้และขวากหนาม ในมหานครนิวยอร์ก

“ผมเคยได้ยินคนพูดว่า Nothing Free In This World ผมไม่เชื่อ ผมเลยตัดสินใจให้คนชรา คนพิการ หรือคนด้อยโอกาส และคนที่ทำดีเพื่อสังคม มารับประทานที่ร้านได้ฟรีตลอดชีพ

ตอนนี้ถ้าผมตายไป ผมไม่เสียดายแม้แต่นิดเดียว เพราะผมเกิดมาได้ทำทุกอย่างที่คนอื่นไม่มีโอกาสเหมือนเรา ได้ไปทุกที่ที่อยากไป ได้กินทุกอย่างตั้งแต่อาหารแบบชาวบ้าน จนถึงอาหารที่แพงหูฉี่ ได้นอนข้างถนน จนกระทั่งโรงแรมหรู ได้มีเพื่อนตั้งแต่ชาวไร่ ชาวนา จนคนดังระดับประเทศมากมาย รู้จักทุกคนตั้งแต่คนตกทุกข์ได้ยาก จนกระทั่งคนรวยระดับโลก แต่ถ้ายังไม่ตายก็จะขอใช้ชีวิตที่เหลือ ช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเราต่อไป เพราะสิ่งที่เราได้ทำนี้ มันจะเป็นความดีติดตัวเราไปตลอดชีวิต เป็นตัวอย่างและแนวทางที่ดี ถูกต้อง ที่คนรุ่นหลังสมควรทำและปฏิบัติต่อไป”

กรุงเทพมหานคร แม้จะไม่ศิวิไลซ์เท่ากับมหานครนิวยอร์ก แต่ชีวิตของธวัชชัยในวันนี้ ก็เปี่ยมไปด้วยความสุข ที่ผ่านมาเขาได้สัมผัสหลายสิ่งหลายอย่าง นับว่าคุ้มค่าต่อชีวิตหนึ่งที่ได้ออกไปเรียนรู้ และในที่สุดแม้โลกจะกว้างใหญ่แค่ไหน สุดท้ายก็เพียงพื้นที่เล็กๆ ที่เขาต้องการพำนักอย่างสงบสุข และเขาเลือก เมืองไทย