posttoday

ทีมเวิร์กต้องใจเดียวกัน ชานนท์ เอกรัตนากุล + วาทินี สายทอง

26 สิงหาคม 2560

"สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกัน คือเราต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และเหนือสิ่งอื่นใดคือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน"

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

 "สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกัน คือเราต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และเหนือสิ่งอื่นใดคือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน"

 แนวคิดหลักในการทำงานนี้ ทำให้คู่หูประสบความสำเร็จในการจัดงานแสดงสินค้าเป็นอย่างดี

 ทั้งคู่เริ่มงานด้วยกันเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน โดยมี เอ-ชานนท์ เอกรัตนากุล เป็นพี่ใหญ่ช่วยดูแล โยเย-วาทินี สายทอง ช่วยวางแผนจัดงานเอ็กซิบิชั่น หรืองานแสดงสินค้าให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้งคู่มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการโครงการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์

 “ความสัมพันธ์ของเรา เริ่มจากการที่เราต้องเข้ามาเริ่มโปรเจกต์งานแสดงสินค้าโดยพี่เอเป็นคนดูแล งาน BMAM & GBR EXPO ASIA 2017 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีบริหารจัดการอาคาร ส่วนเราเป็นคนดูแลงาน คอนกรีตเอเชีย 2017 ทั้งสองงานนี้มีความสอดคล้องกันอยู่ จึงได้เข้ามาทำงานร่วมกันในที่สุด

 “โชคดีอย่างหนึ่ง ก็คือเราเติบโตมากับการทำงานสไตล์อเมริกันที่ค่อนข้างเปิดกว้าง และการทำงานที่นี่ทำงานกันแบบครอบครัวมีลูกคนโต ลูกคนกลาง ลูกคนเล็ก อยู่กันแบบพี่น้อง แต่เวลาทำงาน เราจะร่วมแชร์ความคิด เปิดรับความคิดเห็นกันทุกคน เป็นสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างจะเป็นสไตล์ที่เราชอบอยู่แล้ว ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะรุ่นเล็กรุ่นใหญ่มีส่วนร่วมแนวคิดในการทำงาน ช่วยกันระดมความคิดหาไอเดีย แล้วช่วยกันเลือกเอาสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดจากความเห็นของคนส่วนมาก เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในงานที่เรากำลังทำด้วยกัน” โยเย กล่าวไว้เช่นกัน

ทีมเวิร์กต้องใจเดียวกัน ชานนท์ เอกรัตนากุล + วาทินี สายทอง ชานนท์

 ชานนท์ เสริมต่อจากคู่หูว่า

 “ผมคิดว่าส่วนหนึ่งทำให้เราทั้งคู่ทำงานแล้วงานเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเจอปัญหาในการทำงานระหว่างกันก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์นั้นสั่นคลอน นั่นเป็นเพราะว่าผมมีหลักในการทำงานของ 4 คำ คำแรกก็คือ อ่อนน้อมถ่อมตน เวลาทำงานเราจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต่อมาก็คือเรื่องของความขยัน เราต้องขยันให้เหมือนคนจีน อีกคำหนึ่งคือตรงเวลา เราควรตรงเวลาให้เหมือนกับฝรั่ง และสุดท้ายคือทีมเวิร์ก ทีมที่ดีจะต้องมีเป้าหมายเดียวกันและทำทุกอย่างให้ทีมบรรลุไปถึงเป้าหมาย ถ้าคนในทีมมองไปที่เป้าหมายเดียวกันว่าคือความสำเร็จของทุกๆ คน นั่นคือทีมเวิร์กที่ดี เราไม่ได้ต้องการเป็นที่หนึ่งแต่เราต้องการให้งานประสบความสำเร็จมากที่สุด

 “เพราะในงานของเรามีปัญหาที่เกินความคาดคิดมากมาย เรากำลังทำธุรกิจที่ขายภาพโครงการให้กับเอ็กซิบิเตอร์หรือลูกค้าที่จะมาออกบูธภายในงาน สร้างภาพในอากาศให้เขาได้เห็น โดยที่เขาไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อถึงวันงานจริงสถานการณ์จริงจะเป็นเช่นไร ต้องเจอกับอะไรจะมีผู้คนเข้ามาเดินชมภายในงานมากน้อยแค่ไหน กำลังขายสินค้าที่จับต้องไม่ได้ เป็นสินค้าที่จะเกิดขึ้นในอีก 9 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้า จึงเป็นการยากที่จะคาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง"

 ชานนท์ ขยายภาพให้เห็นว่า อย่างในส่วนของงาน BMAM & GBR EXPO ASIA ที่เขาทำ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการอาคาร

 "หน้าที่ของผมก็ต้องหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการอาคาร การทำอาคารเก่าให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานแล้ว และการออกแบบอาคารใหม่ให้เป็นอาคารกรีน ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปศึกษาหาสิ่งที่คิดว่าใหม่ที่สุดและเป็นเทรนด์ที่เพิ่งเริ่มเกิดมากที่สุดมาจัดแสดงในงาน ก็เป็นความท้าทายของทีมงานที่จะกำหนดธีมในแต่ละปี และต้องรู้ว่าคนที่จะมาร่วมงาน เขาต้องการชมต้องการเลือกซื้ออะไร

 “สำหรับน้องโยเย ผมคิดว่าผู้หญิงคนนี้เป็นคนเก่งคนหนึ่ง เพราะผู้หญิงที่เข้ามาจับงานที่ต้องใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมและสามารถตีโจทย์ได้แตก เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา ซึ่งน้องเขาดูมีความพยายามและความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ พิสูจน์ได้ งานผลงานในปีที่ผ่านมา ซึ่งเราก็มองเห็นว่าน้องคนนี้เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน พอทำงานด้วยกันแล้วทำงานด้วยกันได้ดี มีแนวคิดในการทำงานคล้ายๆ กัน พูดง่าย แล้วก็ไอเดียความคิดค่อนข้างจะคิดเห็นไปในทางเดียวกัน”

ทีมเวิร์กต้องใจเดียวกัน ชานนท์ เอกรัตนากุล + วาทินี สายทอง วาทินี

 วาทินี ยกกรณีตัวอย่างของเธอคือ

 “ปัญหาบางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ที่คิดว่าเราควบคุมไว้ดีแล้ว จัดการอย่างดีแล้วก็อาจจะเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด เช่น งานแสดงสินค้าต้องมีการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ นำเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย เราจัดการเตรียมเอกสารติดต่อประสานงานเอาไว้ทุกอย่างให้เรียบร้อยแล้ว พอของมาถึงท่าเรือกลับติดด่าน ไม่สามารถนำเข้าประเทศได้เพราะว่าของแสดงสำแดงไม่ถูกต้อง เพราะทางนั้นก็ไม่ทราบว่าของบางอย่างเป็นของต้องห้ามในเมืองไทยแต่ต่างประเทศไม่มีข้อบังคับ

 “ก็ต้องติดต่อประสานงานอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ของเข้ามาจัดแสดงภายในงานให้ทันเวลา และที่ตื่นเต้นกว่านั้นก็อาจจะเป็นช่วงเวลาประมาณ 1 ถึง 2 วันก่อนงานจัดแสดง ก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้สินค้านั้นเข้ามาจัดแสดงงานของเราให้ได้ ก็เป็นความท้าทายในการทำงานอย่างหนึ่ง ตรงนี้ก็รู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้พี่เอกเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำสิ่งต่างๆ ให้กับเรา เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการจัดงานมาก่อน สามารถสอนน้องได้ว่าเวลาเจอปัญหาอะไรก็ตามเราจะต้องแก้ไขอะไรอย่างไร

อีกอย่างหนึ่งที่คิดว่าทำให้การทำงานของวาทินี เป็นไปอย่างราบรื่นก็คือ เวลามีปัญหาอะไรก็ตาม ทั้งคู่จะยกหูโทรศัพท์หากันในทันที หรือไม่ก็เดินไปหาที่โต๊ะ เพื่อปรึกษาปัญหาพูดคุยในรายละเอียดงานต่างๆ ไม่ได้เน้นไปที่การส่งข้อความหากันมากนัก

"จริงอยู่ว่าการส่งข้อความทางไลน์มีความสะดวก แต่บางทีคนรับสารอาจตีความไม่ชัดเจน ไม่เหมือนกับการยกหูโทรศัพท์พูดคุย ซึ่งจะได้ทั้งรายละเอียดของเรื่องราว น้ำเสียงให้รู้ถึงอารมณ์ในการสนทนาทำให้เราสามารถแยกแยะได้ว่า ปัญหานั้นมีความหนักเบามากน้อยแค่ไหน แล้วก็สามารถบอกลงลึกในรายละเอียดโต้ตอบสอบถามก็ได้ในทันที

 “บางครั้งการบอกปัญหางานบางอย่างการส่งข้อความ คนรับอาจจะคิดว่าเราไปว่าเขาหรือเปล่า แต่การโทรหากันการเลือกใช้คำพูดและน้ำเสียงจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น ยิ่งพูดคุยกันบ่อยเท่าไรก็ยิ่งทำให้เรารู้ใจกันยิ่งขึ้น และยังทำให้การทำงานของเราทั้งคู่รู้สึกได้ว่าเป็นทีมเดียวกันมากขึ้นนั่นเอง”