posttoday

นัยนา ยังเกิด ไวท์เฮ้าส์เมลอน เกษตรแบบผสมผสาน

20 สิงหาคม 2560

ทุกคนล้วนมีความฝันด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถทำฝันให้เป็นจริงในเวลาเพียง 5 ปี เช่น เธอคนนี้ นัยนา ยังเกิด

โดย...อณุสรา  ทองอุไร

ทุกคนล้วนมีความฝันด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถทำฝันให้เป็นจริงในเวลาเพียง 5 ปี เช่น เธอคนนี้ นัยนา ยังเกิด ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มสื่อสารองค์กร สายงานสื่อสารและบริหารแบรนด์ ธนาคารธนชาต สาวสวยหน้าหวานที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการประชาสัมพันธ์นานกว่า 20 ปี แม้ดูจากรูปลักษณ์หน้าตาแล้วเธอน่าจะมีงานเสริมเกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับ เสื้อผ้า หรือร้านขนมเบเกอรี่เสียมากกว่า

แต่เธอบอกว่าเธอเคยอ่านหนังสือการเกษตรผสมผสาน เกษตรพอเพียงแล้วชอบ คิดว่าเป็นวิถีที่ยั่งยืนกว่าที่จะไปเปิดร้านอาหาร หรือร้านกาแฟที่มีคู่แข่งเยอะมาก ใครๆ ก็อยากเปิดร้านกาแฟจึงมีร้านกาแฟทุกซอยในยุคนี้ เธอจึงเลือกมาทางเกษตรผสมผสาน โดยเริ่มจากการทำฟาร์มเห็ด ชื่อกระท่อมฟาร์มเห็ดเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่าน ซึ่งก็ไปได้ดี แต่ก็มีช่วงหน้าร้อนของทุกปีเห็ดจะออกดอกน้อยลงไป จนของไม่พอขายและค่าใช้จ่ายไม่พอกับค่าจ้างของลูกจ้างที่มาทำงาน

“เราคิดว่าที่ในฟาร์มเห็ด ยังพอมีเหลืออีกนิดหน่อย พอจะหาพืชผลชนิดอื่นๆ มาลงได้อีก อย่างที่แนวทางเกษตรผสมผสานสอนไว้ให้ปลูกพืชให้หลากหลาย ถ้าต้นไม้นี้ราคาตก เรายังมีผลไม้ชนิดอื่น เวียนขายไป จนครบทุกฤดูกาล บางปีผลไม้ชนิดราคาดี บางปีราคาตก เราก็กระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกต้นไม้หลายชนิด แต่เราก็จะเลือกผลไม้ที่เราชอบ” เธอเล่าอย่างมีความสุข

เธอเคยไปรับประทานเมลอนที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง แล้วอร่อยหวานชื่นใจประทับใจไม่รู้ลืม แต่ราคาก็แพงเหมือนกัน แล้วก็แอบฝันไว้ในใจว่า สักวันจะหาทางปลูกเมลอนเองให้ได้ หลังจากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตว่าเมลอนมีกี่สายพันธุ์ พันธุ์ไหนที่ปลูกได้ดี เหมาะกับอากาศที่ประเทศไทย หาข้อมูลล่วงหน้าไว้ 3 ปีกว่า แล้วก็รอโอกาสว่าเมื่อไหร่ที่พร้อมจะลงมือทันที

นัยนา ยังเกิด ไวท์เฮ้าส์เมลอน เกษตรแบบผสมผสาน

หลังจากที่ทำกระท่อมฟาร์มเห็ดมาได้ 5 ปีเริ่มมีประสบการณ์เริ่มมีความรู้บ้างเราก็แปรรูปเห็ดเป็นน้ำพริกเห็ดอีกหลายชนิด น้ำเห็ด แหนมเห็ด เห็ดกรอบ ขายก้อนเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด พอมีเงินเก็บ เธอก็นำเงินไปผ่อนที่แปลงใหม่ที่อยู่ไกลออกไปจากฟาร์มเห็ดไม่มากนัก เพื่อจะเตรียมไว้ทำฟาร์มเมลอน (เนื่องจากที่ปัจจุบันของฟาร์มเห็ดเธอเช่าอยู่)

เนื่องจากเธอเชื่อมั่นในเกษตรทางเลือกแนวธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ที่สามารถทำเพื่อเลี้ยงชีพได้จริง บริหารจัดการให้ดีก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน แต่ก่อนที่จะไปลงทุนทำเมลอนในที่แปลงใหญ่ที่ซื้อไว้

เธอก็ลองปลูกโรงเรือนเล็กๆ ที่ฟาร์มเห็ดปัจจุบันนี้ก่อน เพื่อลองถูกลองผิด เรียนรู้ให้มีประสบการณ์ที่มากเพียงพอ เพราะที่ผ่านมาเธอได้แต่หาข้อมูล ยังไม่ได้ลงมือทำจริงจังจนกระทั่งเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาที่เธอได้ฤกษ์ดี โดยถือฤกษ์เอาวันเกิดตัวเองเริ่มทำเมลอนจำนวน 50 ต้น เป็นโรงเรือนเล็กๆ ลงทุนไปเกือบ 3 หมื่นบาท เพื่อนำร่องเมลอนชุดแรกด้วยน้ำมือตัวเอง

หลังจากลงแปลงได้ 2 เดือนกว่า เมลอนของเธอก็ออกลูก ด้วยความตื่นเต้นจนทนไม่ไหว (หัวเราะ) เธอก็ไปสลักชื่อของเธอบนเมลอนลูกแรกที่ออกผล จนตอนนี้ลูกใหญ่จนเกือบจะเก็บผลผลิตได้แล้ว

“ยอมรับว่าเห่อมาก ตื่นเต้นมาก เพราะเมลอนจะว่าปลูกง่ายก็ไม่จริงเสียทีเดียว เพราะเป็นพืชเปราะบางแมลงเต่าทองจะมากินใบง่าย ยิ่งถ้าปลูกในโรงเรือนจะไม่มีผึ้งหรือแมลงมาช่วยผสมเกษร เราจึงต้องไปช่วยผสมเกษรตัวผู้ตัวเมียเพื่อให้ออกผลผลิต ถือว่าเป็นพืชปราบเซียนเหมือนกัน”

ตอนแรกเธอเข้าใจว่าการเพาะเลี้ยงเมลอน กับฟาร์มเห็ดมีความใกล้เคียงกัน คือต้องดูแลใกล้ชิด และชอบแดดจัด ที่สำคัญการปลูกพืชออร์แกนิกเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจเพราะใครๆ ก็อยากมีสุขภาพที่ดี หลายคนยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ผักผลไม้ปลอดสารเคมี

นัยนา ยังเกิด ไวท์เฮ้าส์เมลอน เกษตรแบบผสมผสาน

อีกทั้งเธอมั่นใจว่าถ้าเธอปลูกเมลอนเยอะๆ อย่างน้อยเธอน่าจะได้เมลอนไปจำหน่ายในราคาที่สบายกระเป๋าขึ้น เธอจะพยายามขายเมลอนในราคาที่ถูกลง ถ้าไปซื้อเมลอนตอนนี้ลูกละเกือบ 300 บาท เธอตั้งใจจะขายไม่แพงเกินไปโดยลูกละไม่เกิน 200 บาท ถ้าปลูกในจำนวนที่มากพอเธอคิดว่าน่าจะทำได้

ที่ทำอยู่ตอนนี้ถือว่าเป็นแปลงนำร่องที่เพิ่งเริ่มต้นไม่ถึง 3 เดือน จะลองถูกลองผิดไปสัก 2-3 ครั้ง จะเรียนรู้กันไปทุกวัน จนกว่าได้ผลผลิตที่ดีพอ มีประสบการณ์มากพอ แล้วจะไปลงที่แปลงใหม่ที่ซื้อไว้ประมาณปลายปีนี้

การปลูกเมลอนถือว่าเป็นความฝันสูงสุดของเธอที่ตั้งใจไว้นานหลายปี มีความมุ่งมั่น ส่วนหนึ่งเพราะมีใจรัก เพราะถือเป็นผลงานที่ละเอียดอ่อน อาศัยความรักความใส่ใจ เพราะชอบแนวทางนี้จริงๆ ที่ทำเกษตรผสมผสานที่ผ่านมาเกือบ 5 ปีนี้ไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อน เรียนรู้จากการค้นคว้า ไปอบรม แล้วก็ลองลงมือทำลองถูกลองผิดด้วยตัวเอง หาตลาดด้วยตัวเอง ทำผลผลิตให้ดี เดี๋ยวตลาดจะมาหาเราเอง

“จำได้ว่าตอนเก็บดอกเห็ดได้ครั้งแรก เรายังไม่มีตลาด ไปนั่งขายกันสองคนแถวตลาดบางบัวทอง เราไม่อายไปขายวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพราะมั่นใจในสินค้าของเราว่าดีจริงไม่มีสารเคมี ดูแลการปลูกการเก็บด้วยความตั้งใจ ลูกค้าจะเห็นได้เองเราขายเองไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เมื่อลูกค้าเห็นถึงความตั้งใจเขาก็มาช่วยกันอุดหนุน ปากต่อปาก จนมีลูกค้ามาเองจนของไม่พอขาย ลูกค้าจะชมว่าเห็ดเราสด สวย เก็บเป็นช่อสวยงาม เราเชื่อว่าเมลอนก็เช่นกันถ้าเราคุณภาพดี ตลาดจะมาหาเราเอง”  เธอกล่าวอย่างมั่นใจ

นัยนา บอกต่อไป ว่าเธอเชื่อเรื่องแนวเศรษฐกิจพอเพียง ค่อยๆ ทำเริ่มจากเล็กๆ ไม่ก่อหนี้สิน ทำไปทีละส่วน ขายมีรายได้ก็มาขยายส่วนตัวไป ไม่กู้ธนาคารไม่ทำอะไรเกินตัวทำเท่าที่พอมีแล้วก็ขยายไปทีละส่วนๆ เริ่มจากเล็กไปใหญ่ ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่เอาความสุขใจเป็นตัวตั้ง ไม่ได้หวังรวยแบบเฉียบพลันค่อยๆ ทำค่อยๆ โต เพราะนี่เป็นงานเสริม ไม่ใช่งานหลัก ทำเพราะมีความสุขเพราะมีใจรักจริงๆ

นัยนา ยังเกิด ไวท์เฮ้าส์เมลอน เกษตรแบบผสมผสาน

เธอบอกว่าโชคดีที่เธอมาถูกทางก็คือ ได้ทำสิ่งที่เธอรักและชอบอย่างแท้จริง แล้วโชคดีว่าได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจอีกด้วย จึงได้ทำความสุขใจและสบายกระเป๋าทำให้มีรายได้เพิ่ม ที่สำคัญยังช่วยกระจายรายได้ไปยังคนใกล้เคียง เพราะใครทำน้ำพริกเก่งเธอก็ขอให้เขาไปช่วยคิดแปรรูปให้

เมื่อเธอมีประสบการณ์มากขึ้นก็เปิดอบรมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจได้ไปสร้างรายได้กับครอบครัวของพวกเขา “ถ้าเราทำจนเก่งขึ้นเราก็จะบอกต่อ เราไม่หวงวิชาเราให้เต็มที่ใครที่มีใจรักจริง ใส่ใจก็สามารถทำได้แบบที่เราทำเช่นกัน ปลายปีนี้เราจะเริ่มเปิดฟาร์มเมลอนชื่อไวท์เฮ้าส์เมลอน ความฝันเป็นจริงตอนอายุ 46 ปี” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

เธอกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้คือรู้สึกทำให้อุ่นใจ เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอนหากการงานมีปัญหาเจอพิษเศรษฐกิจอะไรขึ้นมา การมีแผนสองรองรับชีวิตไว้บ้าง ก็ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่างน้อยพอมีอาชีพเสริมทำ ชีวิตในยุคไทยแลนด์ 4.0 นี้จะหวังรายได้จากทางเดียว หรือมีงานทำเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป สำหรับความมั่นคงในชีวิต ยิ่งสำหรับคนที่มีครอบครัวมีลูกต้องดูแล การทำเกษตรพอเพียงผสมผสานนี่ สำหรับเธอแล้วคิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีงามมากๆ