posttoday

ปั้นไทย ‘ฮับ’ ดูแล สังคมสูงวัยอาเซียน

19 สิงหาคม 2560

สิงคโปร์และไทยประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนแนะว่า

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

สิงคโปร์และไทยประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนแนะว่าควรมองให้เป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งการผลักดันสู่ศูนย์กลางในอาเซียนเป็นไปได้ แต่ต้องปิดจุดอ่อนด้านการสนับสนุนเชิงนโยบาย และการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย และประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ แห่งอาเซียน เปิดเผยว่า สิงคโปร์และไทย เป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ส่งผลต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์มากขึ้น ซึ่งไทยมีอัตราการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ 6-7% ต่อปี ส่วนใหญ่ไทยพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงผ่านการนำเข้า พบว่า 80% ของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในประเทศมาจากการนำเข้า และเป็นเครื่องมือที่ผลิตในประเทศไม่ถึง 20%

ทั้งนี้ บริษัทดำเนินธุรกิจด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศประมาณ 3,000 แห่ง ในจำนวนนี้ 500 แห่ง เป็นผู้ผลิตเครื่องมือการแพทย์ด้วยตนเอง ที่เหลือเป็นการนำเข้าทั้งหมด โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปี 2559 มูลค่า 31.577 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2558 มีมูลค่า 27.685 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2560) ไทยนำเข้ามูลค่า 14.737 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนประเทศเพื่อนบ้านเป็นผลดีในแง่ที่ไทยมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ก่อนประเทศเพื่อนบ้าน โดยในอนาคตเมื่อกลุ่มเพื่อนบ้านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านความรู้ เทคโนโลยี และการดูแลรักษากลุ่มผู้สูงอายุจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญในการวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ในประเทศ คือ ความชัดเจนในการทำงานของรัฐ ทั้งนี้รัฐบาลส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นการ
เริ่มต้นที่ดี แต่ขาดการขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ประการที่ 1 รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายในการพัฒนา ว่ามีวัตถุประสงค์ใดเป็นหลัก เช่น พัฒนาการผลิตเพื่อลดและทดแทนการนำเข้าในประเทศ หรือพัฒนาการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นต้น ประการที่ 2 บูรณาการควมร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัยด้านเครื่องมือแพทย์ ต้องมีตัวแทนจากบุคลากรแพทย์ วิศวกรชีวะการแพทย์ นักวิจัยที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารจัดการ ขับเคลื่อนให้งานวิจัยใช้ได้จริง และลดความซ้ำซ้อนของงานวิจัย ประการที่ 3 ควรจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเครื่องมือแพทย์แห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานกลางในการทดสอบความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์ที่มีการนำเข้า และศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ ลดการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็น

สมศรี ดาวฉาย นายกสมาคมอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทย ระบุว่า ไทยนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูงด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมาก เน้นพัฒนานวัตกรรมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ลดการแข่งขันทางธุรกิจ อีกทั้งพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุปกรณ์การแพทย์ดึงดูดการลงทุน เพื่อกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในอาเซียน ล่าสุดเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ป เอเชีย เตรียมจัดงานนิทรรศการทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ “เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2017” ครั้งที่ 8 วันที่ 6-8 ก.ย. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมพร้อมอนาคตอาเซียนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย