posttoday

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

12 สิงหาคม 2560

ความรัก ความอบอุ่นของ “แม่” ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต และพร้อมที่จะสนับสนุนลูกจนกว่าชีวิตตัวเองจะหาไม่ มาฟังคำบอกเล่าพื้นๆ

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ, วราภรณ์ ผูกพัน ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

ความรัก ความอบอุ่นของ “แม่” ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต และพร้อมที่จะสนับสนุนลูกจนกว่าชีวิตตัวเองจะหาไม่ มาฟังคำบอกเล่าพื้นๆ

แต่สุดยอดยิ่งใหญ่ในหัวใจของพวกเขา ถึงแม่ที่เป็นแรงบันดาลใจ และพร้อมที่จะเป็นลมใต้ปีกให้ลูกๆ บินสูงนำพาชีวิตตัวเองสู่โลกกว้างของสังคม

"Do what you love" คำสอนของแม่สู่ มารีญา พูลเลิศลาภ

 ไม่ผิดนักหากจะเอ่ยถึงความผูกพันระหว่างคุณแม่ ชนกทรวง พูลเลิศลาภ ว่าเป็นแรงสนับสนุนและเป็นลมใต้ปีกให้ลูกสาวที่มีดีกรีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 การันตีความสมบูรณ์แบบ

 มารีญา พูลเลิศลาภ มีความงดงามน่ารัก มีกิริยามารยาทแบบไทยแท้ๆ คืออ่อนน้อม เรียบร้อยซึ่งเป็นผลมาจากการสอนสั่งของคุณแม่ชนกทรวง ได้กล่าวเปิดใจว่า ไม่คิดฝันว่าลูกสาวจะมาอยู่ในจุดนี้ได้ ณ วันนี้ตนรู้สึกดีใจว่าลูกสาวจะได้ทำในสิ่งที่ลูกปรารถนาจะทำ แล้วลูกก็สมหวังตามเจตนาแล้ว

 “ลูกสาวอยากเป็นหมอ เพราะเขาบอกว่าการเป็นหมอจะทำให้เขาสามารถช่วยเหลือสังคมได้ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่เขาปรารถนาอยากช่วยสังคมมาตั้งแต่เด็ก ก่อนประกวดลูกใช้เวลาเตรียมตัวเพียง 1 เดือนเองในการตัดสินใจเข้าประกวด พอแม่รู้ความตั้งใจของลูกแม่ก็เลยสนับสนุน และให้คุณค่ากับการประกวดมาก” คุณแม่ชนกทรวงเล่า

 การให้การสนับสนุนทุกอย่างที่ลูกอยากทำ มารีญา กล่าวว่า ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้เธอตั้งแต่เธอยังเด็กๆ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของมารีญา จึงถือเป็นต้นแบบมาตั้งแต่มารีญายังเป็นเด็ก ทั้งสองสอนให้มารีญาเป็นตัวของตัวเอง ลูกอยากทำอะไรก็สนับสนุน ถือว่าสำคัญที่ทำให้มารีญามีความมั่นใจในตัวเอง อยากทำทุกอย่างเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

 มารีญา เล่าว่า เธอสนิทกับคุณแม่ตั้งแต่เด็กๆ คุณแม่ถือเป็นไอดอลคนแรกที่สอนเธอทุกอย่าง

 “มารีญาจะไม่ใช่คนแบบนี้ถ้าไม่มีคุณแม่ คุณแม่สอนมารีญาทั้งประเพณีไทย วัฒนธรรมทุกอย่างที่เป็นไทย ถ้ามารีญาสนใจหรืออยากเรียนอะไร คุณแม่ส่งมารีญาไปเรียนเลย อย่างตอน 2 ขวบแม่เห็นมารีญาชอบเดินเล่นบนปลายเท้าก็ส่งมารีญาไปเรียนบัลเลต์ เรียกว่าแม่ดูแลใกล้ชิดมารีญาทุกอย่าง

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

 “ตอนมารีญาอายุ 13 ไปเดินแบบถ่ายแบบครั้งแรกๆ คุณแม่ก็ไปด้วย คุณแม่ต้องดูว่าลูกมีอาหารมีน้ำกินหรือยัง ทีมงานดูแลมารีญาเป็นอย่างไร เมื่อคุณแม่วางใจแล้วจึงปล่อยมารีญาได้ คุณแม่เป็นผู้หญิงใจดี สอนเรื่องความอ่อนน้อม ให้มารียาเข้าใจคนอื่น เราต้องพูดดี คิดดี ทำดี แม่พูดสอนตลอด ตอนอายุ 18 มารียาไปเรียนต่อปริญญาตรีเป็นครั้งแรกที่เราห่างกันนานมาก”

 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 เล่าถึงความเอาใจใส่และมีกฎที่เข้มงวดต่อลูกสาวอีกว่า ด้วยเธอเป็นลูกสาวคนเล็กที่มีพี่ชายฝาแฝด 2 คน เธอรู้สึกว่าทำไมพี่ชายทำแบบนั้นแบบนี้ได้ แต่ทำไมมารีญาทำไม่ได้และมีกฎเยอะจัง

 “ถ้าเพื่อนมาบ้านห้องมารีญาต้องเปิดไว้ให้แม่เห็น หรือถ้าไปนอนบ้านเพื่อนผู้ปกครองของเพื่อนต้องเป็นคนที่คุณพ่อคุณแม่รู้จัก ตอนโตก็เข้าใจว่าทำไมเข้มงวดจัง จำได้ตอนเด็กๆ คืนไหนที่มารีญารู้สึกกลัว นอนในห้องไม่ได้ก็จะไปเคาะห้องคุณแม่แล้วจูงคุณแม่มานอนด้วยบ่อยมาก ตั้งแต่ที่จำได้จนถึงอายุ 18 ปี อะไรที่ลูกอยากทำแม่สนับสนุนเต็มที่ และรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาที่ดี

 “คุณแม่สอนว่า do what you love (เน้นเสียง) เป็นประโยคที่คุณแม่สอนมารีญาตลอด แล้วคุณแม่เป็นคนที่รู้ใจมารีญาที่สุด แม่จึงเป็นคนที่ เอ๊ะ! ทำไมมารีญาเลือกอันนี้ มารีญาชอบจริงเหรอ ตอนมารีญาเลือกเรียนบิซิเนส แม่ถามว่า ทำไมล่ะ! นึกว่าจะเรียนด้านจิตวิทยาเสียอีก แต่ช่วงนั้นมารีญาชอบคลาสที่เรียนเกี่ยวกับบิซิเนสมาก อาจารย์สอนสนุก มารีญาก็เลยอยากเรียนด้านนี้ แต่ด้านบริหารธุรกิจ ตอนเปิดโครงการก็ยังต้องใช้ที่จะรู้ในการบริหารโครงการให้ประสบความสำเร็จด้วย

 “คุณแม่เหมือนเป็นคนทำให้มารีญาอยากทำในสิ่งที่มารีญาอยากทำจริงๆ การที่พ่อแม่สนับสนุนลูกตั้งแต่เล็กๆ เหมือนเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวไปในตอนโต แต่ถ้าคนรอบข้างบอกว่า อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ อันนี้ไม่ดี เด็กที่ไม่แข็งแรงพอก็จะไม่ทำอะไรเลย มารีญาคิดว่าสำคัญมาก ถ้ามีแรงผลักดันทุกทาง ถ้าไม่มี เด็กก็ต้องมาจากตัวเองเลย ซึ่งก็ยากมาก”

 และทุกวันแม่ 12 ส.ค. มารีญาถือเป็นวันสำคัญที่นอกจากนำพวงมาลัยมากราบคุณแม่แล้ว ต้องมีของขวัญพิเศษมอบให้เสมอๆ นั่นคือการพาคุณแม่ไปนวดสปา ยิ่งปีนี้เธอได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติ ต้องมีของขวัญที่พิเศษกว่าทุกปีอย่างแน่นอน

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

จักกพันธุ์ ผิวงาม “ชาติหน้าขอเกิดเป็นแม่ลูกกันอีก”

 “ผมเกิดมาจากครอบครัวยากจน เพราะแม่เรียนไม่สูงเนื่องจากไม่มีคนส่งให้เรียน ส่วนพ่อก็พยายามทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่ท่านก็จากไปเสียก่อน ทำให้แม่ต้องหาเลี้ยงพี่สาว ผม และน้อง อย่างสุดความสามารถ ทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินมาส่งลูกให้เรียนจนจบสูงได้ทุกคน”

 คำกล่าวของ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าถึงความหลังครั้งวัยเด็กที่เขาต้องเห็นผู้เป็นมารดาตรากตรำทำงานอย่างหนักหาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว ทำให้มีสถานะยากจน กลืนไม่เข้า คายไม่ออก และมักจำเป็นต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปหาบ้านเช่านับได้ถึง 8 ครั้ง เพียงเพราะไม่มีเงินมาเช่าบ้านแห่งเดิมอยู่

 เขาเล่าว่า แม่มีอาชีพเป็นคนเรียงพิมพ์ตัวอักษร ทำงานอยู่ในโรงพิมพ์เข้างานตลอด 7 วัน ไม่มีวันหยุด โดยแม่มักเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่า ตั้งแต่ยังเด็กได้เคยทำงานอะไรมาบ้าง เช่น ต้องพายเรือไปขายของ บางวันอดมื้อกินมื้อ แต่ไม่เคยเอ่ยคำว่า “ลำบาก เหนื่อย” ให้ได้ยินเลยสักครั้ง สิ่งเหล่านี้คือการสอนให้ลูกทุกคนรู้จักอดทน

 รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า แม่มีความพยายามอันแรงกล้าที่ต้องการส่งให้ลูกได้เรียนสูงๆ โดยส่งให้พี่สาวเข้าเรียนที่โรงเรียนราชินีบน ส่วนเขาเรียนที่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงเรียนชั้นนำที่มีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ทำให้เข้าใจว่าแม่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเรียน เขาจึงตัดสินใจมาสอบเข้าที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีค่าเทอมถูกกว่ามาก ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับแม่อีกทางหนึ่ง

 “กระทั่งเรียนจบปริญญาตรี แม่ถามว่าจะเรียนต่อหรือไม่ เราเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหางานแล้วส่งตัวเองเรียนปริญญาโทเองจะดีกว่า ในขณะที่ผมและพี่สาวเริ่มทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แม่ก็ยังไม่ยอมหยุดทำงาน แม้จะไม่สามารถไปทำที่โรงพิมพ์ได้อีกแล้ว แต่ก็หาอาชีพเสริมด้วยการรับตัดเย็บเสื้อผ้าที่บ้าน นำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว” จักกพันธุ์ กล่าว

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

 คำสอนของแม่ที่จำได้ขึ้นใจและยึดมั่นมาจนถึงทุกวันนี้คือ “คนเราเกิดมาต้องทำประโยชน์ทั้งตัวเราเองและเพื่อสังคมด้วย” ทั้งเรื่องทำนุบำรุงพุทธศาสนา รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการให้ดี

 สุดท้ายเมื่อแม่ชราภาพมากขึ้น โรคต่างๆ รุมเร้า ทั้งเบาหวาน ความดัน สารพัดโรค จึงต้องเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความที่เราไม่มีรถยนต์ของตัวเอง จึงต้องนั่งรถโดยสารประจำทางไปกับแม่ แม้แต่แท็กซี่ก็ยังไม่ได้เรียกใช้บริการ บางครั้งแม่ป่วยหนักต้องนอนพักโรงพยาบาล หลายครั้งเขาไปเฝ้าคอยดูแลหลังเลิกงาน แต่ทันทีที่แม่เห็นเราเข้ามา มักถามว่าวันนี้ทำงานเหนื่อยไหม ทานข้าวหรือยัง ปวดหัวตัวร้อนหรือไม่ ทำให้รู้สึกว่าแทนที่แม่จะเล่าถึงตัวเองว่าเจ็บป่วยอะไรบ้าง แต่แม่เลือกที่จะเป็นห่วงลูกมากกว่าตัวเอง

 “ตลอดมาผมมักกอดแม่อยู่เสมอ เพราะผมรู้สึกว่าการกอดสามารถส่งผ่านความรู้สึกถึงความรักที่มีต่อกันได้ดีที่สุด ในช่วงท้ายของชีวิตแม่ผมมักบอกเสมอว่า ถ้าชาติหน้ามีจริงเกิดเป็นแม่ลูกกันอีกนะ ทันทีที่ได้ฟังผมน้ำตาไหล เพราะรู้ได้ว่าแม่อยากอยู่ดูแลเราตลอดไป ซึ่งความจริงเป็นไปไม่ได้ แม่ผมท่านเสียไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วยวัย 86 ปี ผมยังคิดถึงท่านทุกวัน”

 จักกพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้เขาก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญใน กทม. ซึ่งเป็นงานที่ต้องบรรเทาทุกข์ร้อนให้กับผู้คน ด้วยความเป็นข้าราชการยิ่งต้องตั้งใจทำงาน โดยยึดหลักปฏิบัติตามคำสอนของแม่มาตลอด คือการทุ่มเททำงานให้เต็มที่ ออกจากบ้านตั้งแต่ 05.00 น. และกลับไม่เคยก่อน 19.00 น. ทุกวัน อย่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ยังต้องออกไปทำงาน ที่ผ่านมาเมื่อกลับมาถึงบ้านจะเห็นแม่มานั่งรอรับหน้าบ้านทุกครั้ง ยิ่งทำให้รู้สึกคิดถึง ห่วงหา และไม่มีวันลบเลือนจากใจไปได้ ทุกวันนี้เขายังคงปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสังคมไม่ให้น้อยลงจากที่เป็นมา

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

รณดล นุ่มนนท์ “แม่สอนให้ผมรักความถูกต้องมีหลักการ”

 รณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าถึงแม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ แม่อันเป็นที่รักของเขาว่า แม่ผมท่านมีชีวิตนี้โลดโผนมาตั้งแต่เด็ก ช่วงที่เกิดก็ออกมาเนื้อตัวเขียว ปากเขียว ไม่มีลมหายใจ เพราะคลอดก่อนกำหนด ดีที่คุณหมอช่วยฟื้นชีวิตกลับมาได้ ปัจจุบันอายุ 82 ปีแล้ว

 ตามชีวประวัติของแม่ ชีวิตในวัยเด็กได้ยากลำบากนัก เพราะคุณตาได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร จ.พัทลุง ทำให้แม่ต้องย้ายตามครอบครัวไปเรียนที่ จ.พัทลุง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เป็นจุดพลิกผันเมื่อคุณตาเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เมื่อเรียนจบ ป.2 แม่ต้องช่วยครอบครัวหั่นหยวกกล้วย คลุกรำเลี้ยงแม่หมู แต่ด้วยความเป็นคนขยัน มุมานะ และใฝ่รู้ตั้งแต่เด็ก จึงเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง

 "บวกกับมรดกที่ตาเหลือไว้ให้คือหนังสือผู้ใหญ่ มีทั้งหนังสือพงศาวดาร นวนิยาย และหนังสือแปล ซึ่งแม่จะหยิบมาอ่านเล่มแล้วเล่มเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนจำขึ้นใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่แม่สอบได้ที่ 1 ทุกปี และสอบได้ที่ 1 ของจังหวัด จนได้รับทุนมูลนิธิฟุลไบรท์เข้ามาเรียนต่อถึง ม.8 ที่วัฒนาวิทยาลัย"

 และเพื่อสานความฝันที่จะเป็นอักษรศาสตรบัณฑิต จึงสามารถสอบได้อันดับที่ 9 ของประเทศเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ตามที่ตั้งใจไว้ และได้บรรจุเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์หลังจากที่จบเป็นบัณฑิตใหม่ๆ ก่อนได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง จนจบปริญญาเอกสาขาวิชาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน และกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

 ต่อมาก็ย้ายไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุดท้ายเกษียณอายุราชการที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีผลงานเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ไว้หลายเล่ม ซึ่งปรากฏในตำรับตำราวิชาประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

“แม่ท่านได้ให้การศึกษาที่ดีแก่ลูก และได้ปลุกจิตสำนึกให้กับลูกๆ ที่ต้องตอบแทนสังคม สิ่งที่แม่ให้เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ผมและน้อง (ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์) มีโอกาสได้เรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์อันมีค่าของแม่ผ่านหนังสือ 'Thamsook University'

“ผมช่างโชคดีเหลือเกินที่เกิดมาเป็นลูกของแม่แถมสุข แม่ได้สอนให้ผมเป็นคนรักการอ่าน ช่างสังเกตและนำไปวิเคราะห์ พร้อมทั้งปลูกฝังให้ยึดถือในความถูกต้อง มีหลักการ และมุ่งมั่นที่จะนำศักยภาพของตนมาใช้ในการทำงานอย่างเต็มที่ การดูแลทดแทนบุญคุณแม่ในช่วงที่ผ่านมาและตลอดไป ไม่สามารถทดแทนกับสิ่งที่แม่ให้ ซึ่งเหมือนของขวัญล้ำค่าที่แม่มอบให้ผม” รณดล กล่าวสรุปถึงแม่ที่เขารักยิ่ง

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ “แม่เป็นแบบอย่างให้ผมรู้จักความรับผิดชอบ”

 การทำหน้าที่ที่มีอยู่อย่างทุ่มเทและเสียสละ การใฝ่หาความรู้ และการรู้คุณคนและการดูแลคนรอบตัว อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวถึงแม่ด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจว่า

 “สิ่งที่ผมได้จากแม่คงเป็นสิ่งที่ผมเห็นจากสิ่งที่แม่ปฏิบัติตัวให้เห็นอยู่เป็นนิตย์ จนทำให้ซึมซับและนำมาเป็นแบบอย่างในชีวิต ไม่ว่าในช่วงที่เรียน ช่วงที่ทำงาน ตั้งแต่เด็กมาจนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบที่สูงมากของแม่ แม่เป็นแม่บ้านที่ทำหน้าที่ดูแลสามีและลูกอีก 4 คน ได้อย่างน่าทึ่งมาก

 “แม่ต้องทำงานบ้านทุกอย่างเอง ทำกับข้าว เลี้ยงลูกเอง จัดการให้ลูกทุกคนได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีและเข้าได้ยากลำบาก ต้องรับส่งลูกไปโรงเรียน แม่ขับรถไม่เป็น แม่ก็เพียรไปหัดเรียนขับรถยนต์ จนสอบใบขับขี่และสามารถขับรถไปส่งลูกไปเรียนเองได้ ซึ่งสมัยก่อนไม่ได้มีพี่เลี้ยงช่วยเลี้ยงลูกเหมือนปัจจุบัน แต่ด้วยความขยันและอดทน และที่สำคัญแม่ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่ แต่แม่พยายามทำให้ดีที่สุดในทุกอย่างที่ทำ”
 นอกจากแม่จะทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว อภินันท์ แจกแจงลึกลงไปว่า แม่ให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบมากและพูดกรอกหูมาตั้งแต่สมัยเรียนกระทั่งทำงานแล้ว

 “จนทำให้ผมกลายเป็นคนมีความรับผิดชอบไปเองโดยปริยาย แม้ผมจะไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนกลับบ้านมาดึกดื่นแค่ไหน เหนื่อย เพลียแค่ไหนก็ตาม แต่ถึงเวลาตื่นต้องตื่น ต้องไปทำหน้าที่ในงานของตัวเอง มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ต้องทำเสมอ” อภินันท์ เล่าย้อนไปถึงวันวาน

 “มีครั้งหนึ่งที่เกือบเกิดเหตุพลิกผันในชีวิตผม ตอนที่เป็นวัยรุ่นไปทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนโรงเรียนจะให้ออก แม่เป็นคนที่ต้องไปนั่งเฝ้าขอร้องกับอธิการอย่างอดทน จนผมได้อยู่เรียนต่อแบบถูกภาคทัณฑ์ มันเป็นจุดหักเหจริงๆ ในชีวิตผม ที่ผมรู้สึกว่าทำให้พ่อแม่เดือดร้อน ถึงที่สุดจนต้องไปวิงวอนขอร้องโรงเรียนขนาดนั้น แม่คงรู้ว่าถ้าผมโดนไล่ออกตอนกลางคันขนาดนั้น การไปเข้าเรียนที่อื่นคงยาก อนาคตคงมืดมัว นับแต่นั้นมาผมจึงตั้งใจเลยว่าจะไม่ทำตัวไปจนถึงจุดนั้นอีกเป็นอันขาด”

 อีกเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจากแม่มาไม่น้อย อภินันท์ บอกว่าคงเป็นเรื่องการรักการอ่านหนังสือ แต่ถึงแม่จะไม่ได้เรียนสูง แต่แม่เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ไม่ใช่อ่านอะไรที่วิชาการ แต่อ่านเรื่องทั่วไปหลากหลายประเภท ทั้งนิยาย ดารา กีฬา การเมือง ดนตรี และอีกสารพัด

 “หนังสือพิมพ์ก็อ่านทุกหน้า อ่านหลายฉบับ ทุกตารางนิ้ว แม้กระทั่งหน้าประกาศงานศพ ทำให้รู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย แถมนำพูดคุยเปิดประเด็นกับลูกๆ ด้วยสม่ำเสมอ ยังจำได้ว่าสมัยเด็ก แม่พาพวกผมไปเช่าหนังสือมาอ่านจนหมดทุกเล่มในร้าน จนหนังสือใหม่มาไม่ทันเลยทีเดียว ผลจากความชอบอ่านหนังสือของแม่ ทำให้ลูกๆ ทุกคนรักการอ่านไปด้วย ผมเองด้วยซ้ำที่อาจจะอ่านน้อยกว่าพี่น้องคนอื่น”

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

 นอกจากนี้ อภินันท์ บอกถึงบุคลิกพิเศษของแม่ที่เป็นคนที่รักษาความสัมพันธ์ และรู้คุณคน

 “อันนี้ท่านทำให้เห็นจนเราก็รับรู้ไปด้วย เช่น แม่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่มีบุญคุณกับแม่ แม่ก็ดูแลผู้ใหญ่ท่านนั้นด้วยดี ไปเยี่ยมเยือนสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 40-50 ปี ทำให้ผมได้เรียนรู้การรักษาความสัมพันธ์กับคนที่หลากหลาย คนที่มีบุญคุณ คนใกล้ตัว คนรู้จัก ด้วยความใส่ใจ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา แม่บอกว่าแม่ชอบทำบุญกับคนใกล้ตัว

 “สุดท้ายแม่ยังเป็นแบบอย่างของคนที่เจรจาต่อรองเก่งมาก เพราะแม่รู้จุดยืนของตัวเองว่าต้องการอะไร แม่รู้ว่าจะทำให้คนที่เจรจาด้วยต้องพิจารณาข้อเสนอของแม่เป็นพิเศษได้อย่างไร แม่ให้เวลากับการเจรจา มีขั้นตอนการทำให้ไปถึงจุดที่การเจรจาจะจบตามที่ต้องการได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะที่ผมได้เรียนรู้จากแม่”

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต

รุ่ง มัลลิกะมาส “แม่สร้างให้เป็นคนมีความเชื่อมั่น”

 ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รุ่ง มัลลิกะมาส เล่าถึงสิ่งที่แม่ให้ความสำคัญ พร่ำสอน และทำให้ดูเป็นตัวอย่างมาตั้งแต่เล็กจนโตว่า แม้จะเกิดมาเป็นผู้หญิง แต่เราต้องเป็นคนที่มีความสามารถ หมั่นเพียรหาความรู้ เพื่อจะได้ทำงานที่ดี สามารถหาเลี้ยงตัวเอง รวมทั้งเป็นกำลังของครอบครัวได้เมื่อโตขึ้น

 “แม่จึงเป็นคนที่ไม่ค่อยพึ่งพาคนอื่นรอบข้าง แต่มักมีบทบาทเป็นที่พึ่งของคนอื่น ซึ่งเข้าใจว่าแม่เป็นแบบนั้นมาตั้งแต่ยังสาว เช่น ช่วยคุณตาคุณยายส่งเสียน้องๆ เรียนจนจบมหาวิทยาลัย เป็นต้น และทุกวันนี้แม่ก็ยังเป็นที่พึ่งพาของลูกหลานและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ

 “อีกอย่างที่แม่มีอิทธิพลสูงมากต่อลูกคือ การสร้างความเชื่อมั่น ตั้งแต่เด็กแม่จะคอยให้กำลังใจเสมอว่า 'ลูกทำได้' หรือถ้าลูกอาจจะทำคนเดียวไม่ได้ อย่างน้อย 'เรา (แม่ลูก) ทำได้' รุ่ง พูดถึงแม่ผู้เป็นที่รัก

 มีเหตุการณ์หนึ่งที่ รุ่ง จำได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากในวัยเด็กของตัวเอง คือการกระโดดชั้นจากอนุบาล 1 ไปอนุบาล 2 หลังจากเรียนไปได้เพียงไม่กี่เดือน ที่ได้กระโดดชั้นเพราะสอบได้อันดับต้นๆ ของห้อง แต่พอเลื่อนชั้นขึ้นไปแล้วผลการเรียนกลับตกฮวบเกือบบ๊วย เพราะอนุบาล 2 ต้องอ่านคำออกแล้ว

 “แต่ตัวเองเพิ่งท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ คล่องได้ไม่นาน เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่สะเทือนขวัญมาก แต่สุดท้ายก็ได้แม่ช่วยประคับประคองความเชื่อมั่นที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดของลูกให้เรื่องที่เคยคิดว่ายาก ท้อ มันผ่านไปได้ โดยแม่บอกว่า 'ง่ายมาก เดี๋ยวแม่สอนให้เอง แป๊บเดียวก็ทันเพื่อน' ซึ่งไม่นานก็เรียนทันเพื่อนจริงๆ

 ต่อมาถึงตอนเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา ถึงขั้นไปชักชวนแม่ให้มาช่วยกันเรียนเพื่อสอบให้ได้ที่ 1 ของห้อง ซึ่งทุกวันนี้นานๆ ครั้งแม่ยังหยิบเหตุการณ์ครั้งนั้นมาล้อว่า

 “ในใจนึกขำมากที่ได้ยินลูกมาชวนทำอะไรประหลาดๆ แต่ก็อุตส่าห์ไม่ขำออกมาให้ลูกเห็นและบอกว่า 'ได้! เรามาทำ ‘ที่หนึ่ง’ กัน' ซึ่งสุดท้ายลูกก็เรียนได้ด้วยตัวเองนั่นแหละ แต่การที่ได้รู้ว่ามีแม่เป็นกำลังใจอยู่ข้างๆ เสมอทำให้การเป็นลูกคนเดียวไม่เหงา และช่วยให้มั่นใจว่าไม่ว่าจะทำอะไรความหวังคงไม่ไกลเกินเอื้อม”

‘แม่’ ลมใต้ปีกลูก...ที่เป็นยิ่งกว่าทุกอย่างของชีวิต