posttoday

อาชีพ+ธุรกิจรุ่ง ในสังคมสูงอายุ

01 สิงหาคม 2560

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้ตบเท้าก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยญี่ปุ่นนั้นก้าวสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุเต็มที่ตั้งแต่ปี 2549 เร็วกว่าประเทศอื่นๆ

โดย...วรธาร ภาพ เสกสรรค์ โรจนเมธากุล, เอเอฟพี, รอยเตอร์ส

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้ตบเท้าก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยญี่ปุ่นนั้นก้าวสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุเต็มที่ตั้งแต่ปี 2549 เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ตามด้วยอิตาลี เยอรมนี และสวีเดน ขณะที่ประเทศในอาเซียนทุกประเทศ มีแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเร็ววันนี้ โดยประเทศสิงคโปร์และไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาระยะหนึ่งแล้ว เฉพาะไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ระบุว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในปี 2568 หมายความว่าตลาดในส่วนของผู้สูงอายุนับวันจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศต่างๆ ในอาเซียนและประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายด้วย

สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในสังคมผู้สูงอายุก็คือจะมีสายงานใหม่ๆ อาชีพและธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นรองรับสังคมผู้สูงอายุ คำถามก็คือ แล้วสายงาน อาชีพ ธุรกิจใหม่ๆ อะไรที่คาดว่าจะมาแรงและตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และเต็มที่ (Super-Aged Society)

อาชีพ+ธุรกิจรุ่ง ในสังคมสูงอายุ

งานอาสาสมัคร

รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นในปัจจุบันคือ ด้วยการแพทย์ที่ดีและคนสมัยนี้รู้วิธีดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้แม้เป็นผู้สูงอายุแต่ก็ดูไม่แก่ บางคนอายุ 60 ปีก็เหมือน 40 ปี ทั้งสุขภาพยังแข็งแรงอีกด้วย อีกอย่างที่เห็นคือตำแหน่งสำคัญในองค์กรใหญ่ๆ คนอายุเกิน 60 ปีทั้งนั้น ที่ยังคงนั่งในตำแหน่ง ซึ่งคนเหล่านี้มีสมองที่ยังแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง และสามารถทำงานได้สบายๆ

“รัฐก็ต้องกลับมาคิดว่าเกษียณที่ 60 ปีเร็วเกินไปหรือเปล่า หรือเกษียณแล้วจะให้ไปทำอะไร เมื่อก่อนเกษียณแล้วไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ตอนนี้ลูกไม่มีหลานให้เลี้ยง เพราะอัตราการเกิดของคนน้อยลง ก็ต้องคิดถึงอาชีพสำหรับคนอายุเกิน 60 ปีแล้วว่าต้องมีอะไรให้เขาทำ หรืออาจไม่ต้องเกษียณที่ 60 ปี ซึ่งประเทศไทยก็มีเริ่มแล้วในบางอาชีพ เช่น ตุลาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในญี่ปุ่นและสิงคโปร์จะให้ผู้สูงอายุเป็นอาสาสมัครทำงานให้สังคม ญี่ปุ่นจะเยอะกว่า เช่น ให้ไปดูแลเรื่องจราจร ดูแลห้องสมุดสาธารณะ ช่วยบอกทางที่สนามบิน ให้ข้อมูลบริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น”

คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กล่าวต่อว่า รัฐต้องหางานหรืออาชีพให้คนเหล่านี้ทำ เพราะแม้พวกเขาจะเกษียณและอายุเยอะก็จริง แต่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ อีกอย่างบางคนเงินน้อยยังต้องการใช้เงินอยู่

อาชีพดูแลคนป่วยและผู้สูงอายุ

ใช่ว่าทุกคนเกิดมาจะสุขภาพดีแข็งแรงหมด เพราะฉะนั้นอาชีพหนึ่งที่น่าจะมาแรง ก็คืออาชีพดูแลผู้ป่วยและคนสูงวัย ปัจจุบันอาชีพนี้กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย และเชื่อว่าถ้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อไร อาชีพนี้ก็คงอยู่อันดับต้นๆ แน่นอน

“ไม่ต้องเป็นพยาบาลเต็มตัวก็ได้ แต่เป็นผู้ช่วยพยาบาลที่มีความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพเป็นอย่างดี เช่น การออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัด อาหารและโภชนาการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงวัยและคนป่วย ตลอดจนการดูแลผู้สูงอายุในด้านอื่นๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย มีอารมณ์แจ่มใส เป็นต้น” รศ.ดร.พิภพ กล่าว

อาชีพ+ธุรกิจรุ่ง ในสังคมสูงอายุ

ด้าน ดร.สมยศ เจตน์เจริญรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพระดาบส มองว่าในอนาคตอาชีพดูแลผู้สูงอายุบูมแน่นอน ยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความผูกพันที่ดีต่อกันด้วย เพียงแต่ว่าคนที่ยังไม่พร้อมจะรับคนดูแลผู้สูงอายุเข้าไปอยู่ในระบบนั้น ก็อย่าเพิ่งหาคนไปดูแลคนป่วยหรือผู้สูงอายุในบ้านตัวเอง โดยเฉพาะคนที่คิดค่าจ้างถูกๆ หรือเอาไปเป็นทาสในเรือน พวกนี้ต้องหายไปจากสังคมก่อน ขณะเดียวกันคนที่จะไปดูแลผู้สูงอายุนั้นจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

ขณะที่ จินตนา กูลวิริยะ หัวหน้าหลักสูตรเคหบริบาล โรงเรียนพระดาบส กล่าวว่า โรงเรียนพระดาบสเปิดสอนหลักสูตรเคหบริบาล (ดูแลผู้สูงอายุและเด็ก) เข้าสู่รุ่นที่ 12 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำริว่า อนาคตเมืองไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น และขาดคนดูแล รวมทั้งดูแลเด็กด้วย เนื่องจากพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ซึ่งปัจจุบันก็เป็นจริงตามที่พระองค์มีพระราชดำริไว้ทุกอย่าง หลักสูตรนี้สอนทั้งการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ เช่น วัดความดัน การป้อนข้าว แปรงฟัน การนวด และทุกอย่างเกี่ยวกับคนไข้ จบแล้วพาไปสมัครงานด้วย จึงเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุแน่นอน

อาชีพเพื่อนผู้สูงวัย

บางคนอาจมองว่าอาชีพนี้มีด้วยหรือ รศ.ดร.พิภพ บอกว่า ในต่างประเทศเริ่มมีแล้ว เพราะคนสูงวัยบางคู่อาจหย่าร้าง บางคู่เสียชีวิตบ้าง แต่คนเหล่านี้ร่างกายยังแข็งแรง บางคนอยากมีเพื่อน ดังนั้นอาชีพเพื่อนผู้สูงวัยก็อาจจะมากขึ้น ส่วนประเทศไทยตอนนี้ ผู้ชายอายุถัวเฉลี่ย 72 ปี ขณะที่ผู้หญิงอายุ 78 ปี เรียกผู้หญิงอายุยืนกว่า 6-8 ปี ส่วนหนึ่งอาจมาจากโครงสร้างของยีน แต่บางทีก็เป็นเรื่องของการดูแลร่างกาย ฉะนั้นผู้หญิงอาจจะขาดเพื่อนทำกิจกรรมและการดูแล

“อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นในปัจจุบันคือการออกแบบคอมมูนิตี้ บ้าน ชุมชนสำหรับผู้สูงวัยอย่างเดียว อันนี้ถือว่าก้าวไปผิดทางมาก เช่น สร้างบ้านเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่รู้ไหมคนสูงอายุไม่อยากห่อเหี่ยวแต่อยากมีชีวิตสดชื่น ดังนั้นต้องออกแบบสถานที่ ชุมชนที่รวมคนหลายวัยไว้ด้วยกันรองรับคนสูงวัยในเรื่องต่างๆ เช่น การเดินเหิน รถเข็น เรื่องป้าย เป็นต้น การออกแบบในเรื่องเหล่านี้ต้องเกิดขึ้น”

อาชีพ+ธุรกิจรุ่ง ในสังคมสูงอายุ

สตาร์ทอัพจะรุ่งเรือง

คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวต่อว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยจะบูม เช่น สายรัดข้อมือที่ตรวจวัดความดันและอัตราการเต้นของหัวใจของผู้สูงอายุ เวลาที่มีปัญหาสายรัดนี้สามารถที่จะต่อโทรศัพท์ไปถึงลูกหลานในเบอร์ที่ได้กำหนดเอาไว้

ปัจจุบันเริ่มมีธุรกิจพวกนี้แล้ว บางอันวัดเบาหวานได้ด้วย หรือบางทีถ้าผู้สูงอายุเคลื่อนไหวด้วยความเร็วผิดปกติก็จะเกิดสัญญาณเตือนว่าผู้สูงวัยอาจเกิดการหกล้มขึ้นได้

“ผู้สูงวัยล้มนี่เป็นเรื่องใหญ่ พอมีอาการเคลื่อนไหวเร็วและแรงผิดปกติสัญญาณพวกนี้จะไปเตือนที่ลูกหลานผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และยังไปถึงระบบโฮมออโตเมชั่นด้วย หมายความว่าต่อไปกล้องวงจรปิดที่ต่อกับอินเทอร์เน็ตที่ถูกติดเต็มบ้านไว้ดูผู้สูงวัยผ่านมือถือได้ มีอะไรก็เปิดกล้องดู ใครไปใครมากดกริ่งที่บ้านกล้องจะจับภาพคนกดกริ่งส่งรูปเข้ามือถือเรารู้ได้เลย หรือผู้สูงวัยที่มีปัญหาอัลไซเมอร์ก็ขีดวงรัศมีไว้ถ้าออกนอกเขตที่กำหนดให้มันส่งสัญญาณเตือนมาที่มือถือ”

รศ.ดร.พิภพ กล่าวต่อว่า สายรัดข้อมือที่พูดถึงอาจอยู่ในรูปนาฬิกาหรือการ์ดก็ได้ สามารถติดตามตัวได้เพราะมีระบบจีพีเอส
อยู่ ธุรกิจเหล่านี้มาแน่นอน นอกจากนี้อาจมีธุรกิจรับพาผู้สูงวัยไปช็อปปิ้งเปิดหูเปิดตา หรือพาไปเที่ยว หรืออาจมาดูแลตอนที่ช่วยปรุงอาหารแล้วกลับไป มองว่าธุรกิจใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพจะเกิดขึ้นมาก และตอบโจทย์ในแต่ละเรื่องโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ

ขณะที่ รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มก. กล่าวว่า อาชีพแพทย์ วิศวกรมาแน่นอน เพราะมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงอาชีพเกษตรกรที่อาจต่างไปจากเดิม มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ และเครื่องทุ่นแรงเข้ามาช่วย ถ้าให้คนรุ่นใหม่ไปทำเกษตรแบบคนรุ่นก่อนคงไม่ทำแน่ ต่อไปประเทศไทยจะต้องปรับเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นเกษตรกรผู้ประกอบการจึงจะช่วยซัพพอร์ตผู้สูงอายุได้

“ธุรกิจอาหารสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะได้รับความนิยม เนื่องจากคนใส่ใจสุขภาพ ต่อไปผู้ป่วยบางคนที่กลืนอาหารลำบากก็จะมีการผลิตอาหารที่กินง่ายกลืนง่าย หรือถ้าสมมติเป็นโรคเบาหวานก็จะมีการจัดอาหารเฉพาะโรคให้เลยเพิ่มความสะดวกมากขึ้น และจากนี้ไปจะมีคนไปเรียนฟู้ดไซน์เพื่อมาประกอบอาชีพทางนี้เยอะขึ้น นอกจากเหนือจากแพทย์ พยาบาล วิศวกร และธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น” รศ.ดร.สิรี กล่าว