posttoday

การออกแบบอาคารบ้านพัก สำหรับผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า

29 กรกฎาคม 2560

จากข่าวช็อกโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาในเรื่องการเสียชีวิตของนักร้องนำระดับโลก Chester Bennington ร็อกเกอร์ดังวง Linkin Park ซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

โดย...ผศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ  นักวิจัย สกว. ด้านการออกแบบแสงและการส่องสว่างสำหรับผู้สูงอายุ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากข่าวช็อกโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาในเรื่องการเสียชีวิตของนักร้องนำระดับโลก Chester Bennington ร็อกเกอร์ดังวง Linkin Park ซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ในสมัยเด็กนั้น Chester มีเบื้องหลังที่แสนเศร้า นับตั้งแต่การมาจากครอบครัวที่แตกแยก ถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเยาว์ รวมไปถึงการติดยาเสพติดในช่วงวัยรุ่น ซึ่งในเดือนก่อนหน้านั้นเพื่อนสนิท Chris Cornell นักร้องนำวง Soundgarden Chris ก็เพิ่งฆ่าตัวตายจากสาเหตุที่คาดว่าน่าจะมาจากอาการซึมเศร้าเช่นกัน และทำให้เป็นสาเหตุในการกระทบกระเทือนจิตใจต่อ Chester จนคิดสั้นในครั้งนี้

โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้สูงอายุ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่มีอาการซึมเศร้าเป็นอาการสำคัญในการดำเนินโรค ส่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งในกิจวัตรประจำวันและการงาน ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานซึ่งมีความรุนแรงของโรคในระดับที่ต่างกัน อาการป่วยดังกล่าวมีโอกาสกำเริบซ้ำเมื่ออาการสงบหรือหายไปแล้ว

ในปัจจุบันผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแม้จะสามารถรักษาได้ด้วยยาต้านเศร้า แต่พบว่ามีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 30-40 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาดังกล่าวเท่าที่ควร จึงได้มีการศึกษาเพื่อพยายามหาวิธีการรักษาอื่นๆ เพื่อเอื้อให้ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการรักษาหรือช่วยให้เห็นผลการรักษาที่เร็วขึ้น นั่นคือการใช้สภาพแวดล้อมเพื่อช่วยในการบำบัดโรค

หลายการศึกษาในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมภายในมีผลต่อการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย “สี” นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของสภาพแวดล้อมภายใน โดยสีของผนังห้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ มีผลทำให้ผู้ใช้พื้นที่นั้นสามารถรับรู้ได้ถึงขนาดของพื้นที่ดังกล่าวได้ เกิดการตอบสนองทางด้านจิตใจที่แตกต่างกัน เช่น สีฟ้าและสีเขียวของผนังห้องให้ความรู้สึกเป็นพื้นที่พักผ่อน ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และสามารถก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า ความกังวล และความเครียดน้อยกว่าสีอื่นๆ

นอกจากนี้ การมี “แสงธรรมชาติ” เข้ามาในห้องสามารถช่วยให้เกิดอาการซึมเศร้าน้อยลง การมีทิวทัศน์ธรรมชาติภายนอกที่ประกอบด้วยพืชพรรณต่างๆ ต้นไม้และน้ำ จะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ทำให้เกิดอารมณ์บวก ลดความกลัว ลดความวิตกกังวล ช่วยป้องกันหรือลดความคิดเครียด และส่งผลต่อการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ ทำให้เกิดความสนใจได้มากกว่าทิวทัศน์เมือง 

ส่วนในประเทศไทยมีการศึกษาการศึกษาอิทธิพลของสีของผนังและการมีทิวทัศน์ภายนอกต่อการรักษาผู้สูงอายุชาวไทยที่ป่วยโรคซึมเศร้า ผลการศึกษาพบว่าห้องพักในสถานสงเคราะห์คนชราที่มีสีโทนเย็นก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าน้อยกว่าสีของผนังห้องโทนอบอุ่น และทิวทัศน์ภายนอกที่เป็นทิวทัศน์เมืองจะก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุชาวไทยน้อยกว่าทิวทัศน์ธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างกับการศึกษา

ในต่างประเทศ โดยอาจเกิดจากความแตกต่างทางด้านการรับรู้และมองเห็นของผู้สูงอายุไทยและต่างประเทศ

แนวทางจากงานวิจัยเหล่านี้จึงสามารถนำมาปรับใช้กับสภาพแวดล้อมของบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะห้องนอน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต หรืออย่างน้อยจะเป็นการช่วยทำให้การดำรงชีวิตอยู่ต่อไปของผู้ป่วยนั้นมีความสุขและความพึงพอใจที่มากขึ้นได้