posttoday

เมืองอัจฉริยะเพื่อพัฒนา การท่องเที่ยวผู้สูงอายุ

16 กรกฎาคม 2560

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา “เชกา” ได้เข้าร่วมเวทีสาธารณะ ระดมความคิดเห็นเรื่อง “เมืองอัจฉริยะเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวผู้สูงอายุ”

โดย...เพียงออ วิไลย [email protected]

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา “เชกา” ได้เข้าร่วมเวทีสาธารณะ ระดมความคิดเห็นเรื่อง “เมืองอัจฉริยะเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวผู้สูงอายุ” ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 กับสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาหลายจังหวัด เหตุที่เน้นในเรื่องการท่องเที่ยวผู้สูงอายุก็เพราะในอนาคตอันใกล้ ทั้งไทยและประเทศเป้าหมายนักท่องเที่ยวหลักของเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่า 20% หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่า 14% ดังนั้น กลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและกำลังซื้อค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มาพักผ่อนระยะยาว (Long Stay) ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการจูงใจ ด้วยการขยายระยะเวลาวีซ่าให้ถึง 10 ปีแล้ว

เรื่องเมืองอัจฉริยะค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ บางจังหวัดเห็นว่าจังหวัดของตนไม่น่าจะพัฒนาขึ้นเป็นเมืองอัจฉริยะได้ด้วยซ้ำ จึงต้องมีทีมศึกษาวิจัยเมืองอัจฉริยะของประเทศอื่นๆ นำมาเป็นตัวอย่างให้เห็น แต่ละจังหวัดจะได้พิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับขนาดของตน โดยเฉพาะทางด้านความสะดวกสบายของผู้สูงอายุขณะเดินทางท่องเที่ยว

ด้วยเหตุนี้สำหรับประเทศในโซนเอเชียตะวันออก “เชกา” จึงได้เลือกเมืองในเกาหลี จีน และญี่ปุ่น มาเป็นตัวอย่าง เพราะ 3 ประเทศนี้มีประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมานานหลายปี อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านต่างๆ จึงเผชิญปัญหาประชากรเข้ามากระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ทำให้เมืองหลวงและเมืองหลักหลายเมืองกลายเป็นเมืองขนาด Mega City คือมีประชากรเกินกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลกได้วิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าว่า ในอนาคตอันใกล้ ประชากรมากกว่า 70% ของโลก จะเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเมือง อีกราว 30% จะอยู่ในชนบท

เมืองอัจฉริยะเพื่อพัฒนา การท่องเที่ยวผู้สูงอายุ

เมืองใหญ่ขนาดนี้ต้องเกิดปัญหามากมายแน่นอน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนพลังงาน อาชญากร การคมนาคมขนส่ง การบริการทางการแพทย์และการบริการของรัฐที่อาจให้บริการไม่ทั่วถึง เป็นต้น นอกจากนี้ ประชากรในทั้งสามประเทศมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ทำให้ “แนวคิดเมืองอัจฉริยะ” (Smart City) เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นกระแสจากโลกตะวันตกได้เติบโตอย่างรวดเร็วในทั้งสามประเทศ

ส่วนแรงจูงใจในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของทั้งสามประเทศนี้ มีรากฐานมาจากความคิดเดียวกัน คือการป้องกันปัญหาของเมืองที่มีประชากรจำนวนมหาศาลอยู่ร่วมกัน ทางเกาหลีเน้นการแก้ปัญหาของ Mega City ด้วยการสร้างเมืองใหม่ล้อมเมืองเก่า และขยายเมืองที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่วนจีนก็คล้ายคลึงกัน คือ ต้องแก้ปัญหาที่มาจากการเคลื่อนย้ายของประชากรจากชนบทสู่เมืองปีละประมาณ 20 ล้านคน ทั้งนี้ McKinsey Global Institute คาดว่าในปี 2025 ประชากรในเขตเมืองของจีนจะมีจำนวนถึง 926 ล้านคน ในขณะที่การโยกย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่จะยังคงดำเนินต่อไปตามเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ขนาดที่แม้แต่ “ปักกิ่ง” เองก็ยังวิตกว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้หรือไม่ หากประชากรปักกิ่งเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคนในอนาคต!

ยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมจีนกำลังเกิด “การยกระดับขึ้นเป็นชนชั้นกลาง” ซึ่งมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมาก กลุ่มชนชั้นกลางนี้มีความต้องการสภาพแวดล้อมของโลกอัจฉริยะและติดตั้งอุปกรณ์อินเทอร์เน็ต Internet of Things (IoT) ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน McKinsey คาดว่าในปี 2022 ชนชั้นกลางค่อนข้างสูงในประเทศจีน (ปี 2013 เท่ากับกลุ่มที่มีฐานรายได้ 106,000-229,000 หยวน/ปี) จะเพิ่มเป็น 56% ของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง!

ชนชั้นกลางจีนมไลฟ์สไตล์ อย่างไรหรือ มีผลสำรวจกลุ่มชนชั้นกลางใหม่นี้ค่ะ พบว่า 96% มีคอมพิวเตอร์ใช้ 90% มีกล้องดิจิทัล 83% มี HD TV 88% มีเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 70% มี DVD Players “ไม่มีใครเลยที่ไม่มีอุปกรณ์ IoT อย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนั้น นอกจากจะต้องมี Internet Network ที่ดีให้บริการแล้ว ยังต้องมีระบบการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ดีด้วยเพื่อป้องกันปัญหา Blackouts หรือ Burnouts ของอุปกรณ์และระบบ และช่วยให้การใช้พลังงานมีความเสถียรและยั่งยืนมากขึ้น

เมืองอัจฉริยะเพื่อพัฒนา การท่องเที่ยวผู้สูงอายุ

ดังนั้น ในปี 2013 “กระทรวงพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองและชนบท” ของจีนจึงได้เลือกเมืองที่จะพัฒนาเป็น Smart City รุ่นแรก ถึง 285 เมือง กับโครงการเมืองต้นแบบพิเศษ 41 เมือง ครอบคลุมเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจเกือบทั้งประเทศ ส่วนเมืองที่ยังไม่มีความพร้อมทางด้าน Infrastructure และ Network ไม่อาจเข้าสู่โครงการเมืองอัจฉริยะในจีนได้

สำหรับญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าจะใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการเมืองมานานหลายปี ทว่าหลังเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิรุนแรงที่ทำลายพื้นที่ชายฝั่งเป็นบริเวณกว้างเมื่อปี 2011 โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองฟุกุชิมะเสียหายและส่งผลกระทบแก่การจ่ายพลังงานไฟฟ้า ทั่วประเทศขาดแคลนไฟฟ้า นโยบาย Smart City จึงถูกทบทวนใหม่ การบริหารจัดการด้านพลังงานได้กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก และโครงการ Smart Energy ถูกบรรจุเข้าในแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน เป็นการปฏิวัติระบบควบคุมและการใช้พลังงานเพื่อให้ทุกภาคส่วนตั้งแต่ ครัวเรือน ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม และชุมชนโดยรวมได้รับประโยชน์สูงสุดร่วมกัน

นอกจากนี้ ประชากรญี่ปุ่นกว่า 90% (ราว 117 ล้านคน) อาศัยอยู่ในเขตเมือง มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร อยู่ในอัตราที่สูงมาก เช่น โตเกียวมีพลเมืองถึง 12,022 คน/ตร.กม. ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของเมืองใหญ่อื่นๆ อยู่ที่ 6,758 คนดังนั้น เมืองใหญ่ในญี่ปุ่นจึงบริโภคทั้งทรัพยากรและพลังงานมากตามจำนวนคน ของเสีย ขยะ และมลภาวะ เกิดในเมืองมากกว่าชนบท ประมาณการว่าเมืองใหญ่ใช้พลังงานมากกว่า 80% ของทั้งประเทศ ในขณะที่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 75% ! ด้วยเหตุนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นจึงได้ลงทุนทางด้านพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และวิถีชีวิตที่ยั่งยืนเป็นจำนวนมาก

(อ่านต่อฉบับหน้า)