posttoday

7 เคล็ดไม่ลับวางแผนเดินทางทำงานในต่างถิ่น

11 กรกฎาคม 2560

การทำงานในบางสายงานมีความจำเป็นต้องออกเดินทางอยู่บ่อยครั้ง บางคนก็แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเวลาได้พักอยู่บ้านกันเลยทีเดียว

เรื่อง โยโมทาโร่ ภาพ เอเอฟพี

การทำงานในบางสายงานมีความจำเป็นต้องออกเดินทางอยู่บ่อยครั้ง บางคนก็แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเวลาได้พักอยู่บ้านกันเลยทีเดียว ซึ่งการทำงานที่ต้องเดินทางสำรวจพื้นที่หรือออกพบลูกค้าในต่างถิ่นต่างแดนนั้นก็จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดีเพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วง และในขณะเดียวกันคุณเองก็จะได้ไม่ล้าจากการเดินทางมากนัก

1.รู้เป้าหมายตัวเอง

การวางแผนเดินทาง ขั้นแรกคือรู้แน่ชัดว่าต้องการอะไรจากการเดินทางในครั้งนั้น คุณอยากจะไปถึงสถานที่เพื่อทำงานอย่างเดียว หรือมีแผนการทำงานอื่นแทรกซ้อนอยู่ในโปรแกรมหรือไม่ บางครั้งเราก็อาจจะแทรกโปรแกรมส่วนตัวเวลาพักหลังเลิกงานไปด้วยก็ไม่มีใครว่าอะไรขอให้ทำงานบรรลุเป้าหมายก็พอ

2.วางแผนเวลาให้สอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านั้น

หากการเดินทางในทริปนั้นคุณดูแล้วต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จ ตั้งแต่เตรียมงานไปจนถึงเก็บงานให้เรียบร้อย การคำนวณเรื่องเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณควรเผื่อการเดินทางไว้ล่วนหน้า 1 วัน ไม่ใช่การเดินทางเช้าเพื่อพบลูกค้าตอนบ่าย อาจเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น ไฟลต์เที่ยวบินเลื่อนจากสภาพอากาศ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ อย่างไม่คาดคิด และควรเผื่อเวลาก่อนกลับอีกอย่างน้อย 1 วัน หากงานไม่เสร็จตามกำหนดที่วางไว้ นั่นหมายความว่าหากคุณมีนัด 2 สถานที่จะต้องเผื่อช่องว่างระหว่าง 2 งานนี้ ด้วยเวลา 1 วันเสมอ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณเตรียมพร้อมสำหรับงานต่อไปได้อีกด้วย

3.ศึกษาข้อมูลก่อนไป

ก่อนเดินทางหาหนังสือท่องเที่ยวสักเล่ม 2 เล่ม มาอ่านเกี่ยวกับวัฒนธรรมประวัติศาสตร์และสิ่งที่น่าสนใจของจุดหมายที่คุณจะไป ลองเข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต อ่านหนังสือพิมพ์หรือวารสารของท้องถิ่น จากทางอินเทอร์เน็ตยิ่งรู้มากเท่าไหร่ก็ช่วยให้คุณทราบซึ้งกับสถานที่ได้มากขึ้น ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่คุณพบไม่ว่าจะเป็นภาพที่พบเห็น ปัญหา ผู้คน และประเพณี ที่มีผลต่อความคิดและการตัดสินใจหน้างาน

4.จัดกระเป๋าให้เบา

เอาเสื้อผ้าที่ปรับเปลี่ยนได้ง่ายใส่ทุกอย่างที่ต้องการลงในกระเป๋าใบเดียวที่สะพายได้ ถ้าทำได้คุณจะรู้สึกโล่งใจมากเมื่อไม่ต้องเสียเวลาเข้าแถวเช็กอินแบบมีสัมภาระใหญ่ และเมื่อถึงจุดหมายคุณก็สามารถเดินตัวปลิวผ่านบรรดาผู้โดยสารร่วมเที่ยวบินที่ต้องรอคอยสัมภาระ

5.ลงรายละเอียดให้ชัด แต่อย่าอัดแน่นเกินไป

ในการทำงานจริงคุณจะพบว่าทุกอย่างกินเวลานานกว่าที่คุณคิด อย่าพยายามอัดกิจกรรมเกิน 3 อย่าง/วัน เผื่อเวลาไว้สำรองสำหรับกรณีรถประจำทางเสียหรือเหตุล่าช้าอันอื่น หากคุณจัดตารางทำงานไว้อย่างยืดหยุ่นเวลาที่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามแผนจะได้ไม่ต้องเดือดดาล และที่สำคัญลงรายละเอียดให้ชัด ตั้งแต่ตำแหน่งสถานที่ รายละเอียดงาน เบอร์ติดต่อให้พร้อม จะช่วยลดการเสียเวลาค้นหาที่ไม่จำเป็นหน้างานได้มากทีเดียว

6.อย่าจองที่พักหลายคืนในที่ที่ไม่เคยไป

บางครั้งเราอาจจะต้องอยู่หน้างานเป็นเดือนๆ ทำให้เราต้องจองที่พักล่วงหน้าเอาไว้ให้พร้อม แต่ถ้าเป็นสถานที่ที่คุณไม่เคยไป เราแนะนำให้จองไว้เพียง 2 คืนแรก เพื่อดูว่าสภาพที่พักจริงเป็นอย่างไร บริการดีไหม เดินทางไปหน้างานสะดวกหรือไม่ ถ้าถูกใจค่อยติดต่อจองที่พักเพิ่มภายหลังก็ยังทัน อาจจะมีการเปลี่ยนห้องบ้างก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แน่นอน

7.ใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์

สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เราจะหัวเสียและเสียเวลาไปกับมันทำไม ทำใจยอมรับปัญหา รีบหาทางแก้ไข คุณอาจจะพบว่า มีบางสิ่งที่สามารถแก้ขัด แก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ สมมติว่ารถคุณเสียกลางทางก็อย่าได้หัวเสีย แค่โทรบอกปัญหาที่เกิดขึ้น เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาหลายๆ ทางเลือกกับลูกค้าหรือลูกทีม แล้วใช้เวลาที่รอรถคันใหม่ทำความรู้จักกับท้องถิ่นนั้นให้มากขึ้น คิดเสียว่าเป็นโอกาสได้มองวิวแปลกตาพักผ่อนไปก็แล้วกัน