posttoday

สำรองหนี้พุ่ง-ลดดอกเบี้ย กดกำไรธนาคารพาณิชย์

10 กรกฎาคม 2560

บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งได้เริ่มออกบทวิเคราะห์คาดการณ์ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2560

บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งได้เริ่มออกบทวิเคราะห์คาดการณ์ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ของธนาคารพาณิชย์ โดยภาพรวมแล้วธนาคารพาณิชย์ยังเจอปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น และได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเมื่อเดือน พ.ค. 2560 ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลง

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดว่า กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2 ปี 2560 จะลดลง 4% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรก และลดลง 1% เปรียบเทียบกับงวดปีก่อน เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รอบล่าสุดในเดือน พ.ค. ส่งผลกระทบกับส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองยังคงอยู่ในระดับสูงจากกระแสหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ใหม่เพิ่มขึ้น และสินเชื่อที่เติบโตอย่างช้าๆ   

“การลดดอกเบี้ยกระทบกับธนาคารไม่เท่ากัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถูกกระทบหนักสุด เพราะลดทั้งดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อย่างละ 0.25% กดดัน NIM ลดลง 0.10% เพราะสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอีมีสัดส่วน 35-40% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร SCB และกสิกรไทย (KBANK) จะอิงดอกเบี้ย MRR มาก แต่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) น้อย”

บล.กรุงศรี ระบุว่า ผลดำเนินงานของธนาคารในงวดไตรมาส 2 ธนาคารขนาดเล็กจะแข็งแกร่งมาก จากอัตราการตั้งสำรองที่ลดลง และ NIM แข็งแกร่งจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ดีขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อดี ขณะที่ราคารถมือสองปรับตัวสูงขึ้น ธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจะได้รับผลดี

ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เด่นสุดในกลุ่มอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นและอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูง แนะนำซื้อหุ้น KKP และปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 78 บาท หลังปรับเพิ่มกำไรสุทธิปีนี้และปี 2561 ขึ้น 2% สะท้อนอัตราการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลง 

สำหรับธนาคารธนชาต (TCAP) คาดว่ากำไรโตได้ 12-20% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สำรองลดลงเพราะติดตามหนี้เสียได้อัตราสูง ขาดทุนจากการขายรถยึดลดลง ตั้งเป้าว่าสินเชื่อรถยนต์จะโตได้ 2-3% ส่วนทิสโก้กำไรจะหดตัว เพราะไม่แข่งขันในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์“ครึ่งหลังปีนี้สินเชื่อเช่าซื้อจะดีขึ้นจากยอดขายรถในประเทศเพิ่มขึ้น คาดว่ายอดขายรถยนต์จะเพิ่มขึ้น  13% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดย 5 เดือนแรกอยู่ที่ 3.4 แสนคัน คิดเป็นสัดส่วน 42% ของประมาณการยอดขายรถปีนี้คาดไว้ที่ 8 แสนคัน” บทวิเคราะห์ระบุ

ขณะที่ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า กำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2 จะลดลง 3% จากไตรมาสแรก เพราะจากการลดดอกเบี้ยและตั้งสํารองสูงในธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในรายที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) จํานวน 1.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะตั้งสำรองในไตรมาส 2 นี้ จะทำให้เอ็นพีแอลภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.12% ขึ้นมาอยู่ที่ 3.78%

KTB แย่สุด กำไรไตรมาสนี้จะลดลง 17% จากไตรมาสก่อนหน้า เพราะมีค่าใช้จ่ายตั้งสำรองเอ็นพีแอลเพิ่ม 28% เพราะปล่อยกู้ EARTH วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท