posttoday

พระเมรุมาศ จากคติความเชื่อสู่ศูนย์รวมงานช่าง

05 กรกฎาคม 2560

คติการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ ตามโบราณราชประเพณีของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดการปกครองแบบเทวนิยม

โดย...กองทรัพย์ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

คติการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ ตามโบราณราชประเพณีของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดการปกครองแบบเทวนิยม เพื่อใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง การสร้างพระเมรุมาศเป็นงานใหญ่ ซึ่งจากหลักฐานพงศาวดารสมัยอยุธยา มีการกล่าวถึงการถวายพระเพลิงพระบรมศพและการสร้างพระเมรุเรื่อยมาตามลำดับ แสดงถึงอำนาจและความเจริญถึงขีดสุดของราชอาณาจักรอยุธยาตอนปลายได้สืบทอดต่อเป็นแบบแผนให้กับพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังคงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ แต่เริ่มเปลี่ยนแปลงตัดทอนในรัชกาลที่ 5 ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการกำหนดจัดการพระบรมศพของพระองค์ไว้ก่อนเสด็จสวรรคตหลายประการเป็นต้นว่า ให้สร้างพระเมรุมาศมีขนาดเล็กเพียงพอแก่ถวายพระเพลิงได้ มิให้สูงถึง 2 เส้นดังแต่กาลก่อน ครั้นรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกตัดทอนการปลูกสร้างพระเมรุมาศและการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระองค์ลงอีกหลายประการ งานพระเมรุจึงลดขนาดลงนับตั้งแต่นั้นมา

ดังนั้น คนไทยในรัชกาลที่ 9 ได้เห็นการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ครั้งแล้วครั้งเล่าในยุคสมัยเรา งานถวายพระเพลิงจะมี “ขนาดและรูปแบบ” งดงามวิจิตรก็จะแตกต่างกันตามยุคสมัย เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน

พระเมรุมาศ จากคติความเชื่อสู่ศูนย์รวมงานช่าง

 

คติหลักของการสร้างพระเมรุคือเป็นการจำลองภาพเขาพระสุเมรุ ทั้งในด้านความสูงและองค์ประกอบรายรอบ ทิวเขาสัตบริภัณฑ์ ดินแดนของท้าวเทพ อสูร ครุฑ นาค และป่าหิมพานต์อันเป็นที่อยู่ของวิทยาธรและคนธรรพ์ กินนร และสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ส่วนทิศทั้ง 4 ของพระเมรุเปรียบเสมือนทวีปทั้ง 4 ที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ อันได้แก่ บุพพวิเทหทวีป อุดรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และชมพูทวีป

คติจักรวาล มาสู่การออกแบบงานสถาปัตยกรรม ตามความเชื่อของพุทธและพราหมณ์ ที่ว่าเขาพระสุเมรุคือศูนย์กลางของจักรวาล เขาไกรลาสที่ประทับของพระอิศวรเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น โดยการจัดสร้างพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้รวมวิชาช่างสรรพศิลป์ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม จิตรกรรม ไว้ในพระเมรุฯ

อารักษ์ สังหิตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ให้ข้อมูลไว้ในเอกสารประกอบในกิจกรรมพิพิธเสวนา ครั้งที่ 4 เรื่อง “สถาปัตยกรรมเนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ” โดยสังเขปว่า พระเมรุมาศเป็นสิ่งก่อสร้างชั่วคราวที่ใช้งานเฉพาะเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรื้อถอนออกได้ง่ายเมื่อเสร็จพระราชพิธี ดังนั้นแนวคิดเรื่องของโครงสร้างอาคารและส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมย่อมเป็นไปตามลักษณะงานเฉพาะสำหรับงานก่อสร้างพระเมรุมาศที่สามารถรื้อถอนออกได้ง่ายเช่นกัน

พระเมรุมาศ จากคติความเชื่อสู่ศูนย์รวมงานช่าง

 

สำหรับโครงสร้างพระเมรุมาศ มีวิวัฒนาการปรับปรุงตามสภาพและชนิดของวัสดุ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ และขณะเดียวกันทรัพยากรป่าไม้ลดลงจึงมีการปรับลดการใช้ไม้ ซึ่งแต่เดิมเป็นวัสดุการก่อสร้างหลักของการก่อสร้างพระเมรุมาศเป็นวัสดุอื่นแทน เช่น เหล็ก เหล็กรูปพรรณ ไม้อัด วัสดุซีเมนต์ ซีเมนต์บอร์ด กระเบื้องหลังคาโลหะ การหล่อลวดลายประดับต่างๆ ด้วยเรซิน (Rasin) แทนการใช้ไม้ฉลุ เป็นต้น

โครงสร้างพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการปรับเปลี่ยนเป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณทั้งหมด ซึ่งการประกอบเหล็กรูปพรรณเป็นโครงสร้างใช้วิธียึดติดกันด้วยสลักเกลียวและแป้นเกลียว (Bolt & Nut) ส่วนโครงสร้างพระที่นั่งทรงธรรมใช้วิธีการต่อเชื่อมด้วยไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การออกแบบโครงสร้างพระเมรุมาศย่อมขึ้นอยู่กับรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นหลัก นอกจากนี้โครงสร้างพระเมรุมาศจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ยังขึ้นอยู่กับการกำหนดน้ำหนักเพื่อการใช้สอยอีกด้วย

ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน ให้ข้อมูลพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่า เป็นพระเมรุทรงบุษบก 9 ยอดบนชั้นฐานชาลาย่อมุมไม้สิบสอง วางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร

พระเมรุมาศ จากคติความเชื่อสู่ศูนย์รวมงานช่าง

 

โครงสร้างเป็นเหล็กแบบยึดนอตด้วยฐานราก องค์พระเมรุมาศปิดผิวประดับด้วยไม้อัด กรุกระดาษทองย่นตกแต่งลวดลายและเครื่องประกอบพระอิสริยยศ มีเทวดาเชิญฉัตรและบังแทรก มีองค์มหาเทพ 5 พระองค์ คือ พระพิฆเนศวร พระอินทร์ พระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์ รายรอบพระเมรุมาศชั้นลาน อุตราวรรตมีสระอโนดาตทั้งสี่ทิศ มีน้ำไหลจากสัตว์มงคลประจำทิศ สู่สระอโนดาต ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์

บุษบกประธานผังพื้นอาคารเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ชั้นฐานเป็นฐานสิงห์ เหนือฐานสิงห์เชิงบาตร ชั้นที่หนึ่งเป็นชั้นครุฑยุดนาค เชิงบาตรชั้นที่สองเป็นชั้นเทพพนม เครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนเจ็ดชั้น บนยอดสุดปักนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น)

โถงกลางภายในเป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศ ติดตั้งฉากบังเพลิงทั้งสี่ทิศ เขียนรูปพระนารายณ์อวตารในปางต่างๆ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้งสี่ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันตกและทิศใต้ติดตั้งลิฟต์ที่ชั้นฐานชาลาแต่ละชั้น ทางด้านทิศเหนือของพระเมรุมาศ มีสะพานเกรินสำหรับใช้เป็นที่เคลื่อนพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศ จากคติความเชื่อสู่ศูนย์รวมงานช่าง

 

ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือและทิศใต้ แนวคิดในการจัดสะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยนำพืชพรรณและเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เนื่องมาจากพระราชดำริ พรรณไม้ภายนอกรั้วราชวัตรนำมาจากพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก ภายในรั้วราชวัตรวางแนวคิดในการเลือกพรรณไม้ที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณและพรรณไม้สีเหลือง ขาว เพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ

ลักษณะพระเมรุมาศพิเศษสุดนี้ แสดงศิลปกรรมล้ำเลิศเฉลิมพระบารมียิ่งใหญ่ไพศาล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ดำริรงสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดถึง 70 ปี และยังสถิตอยู่ในหัวใจของชาวไทยนิจนิรันดร