posttoday

1.0 + 4.0 สมการใหม่ เกษตรกร + ธุรกิจเพื่อสังคม

03 กรกฎาคม 2560

ตัวเลขแห่งยุคสมัยระดับนโยบายของชาติ “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นคำที่ได้ยินเกือบทุกเย็นวันศุกร์

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ตัวเลขแห่งยุคสมัยระดับนโยบายของชาติ “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นคำที่ได้ยินเกือบทุกเย็นวันศุกร์ แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่า 4.0 คืออะไร หรือที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือ ประเทศไทยเคยผ่าน 1.0 ถึง 3.0 มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมไม่รู้ตัว

ถ้าจะกล่าวให้ง่าย ตัวเลขดังกล่าวคือโมเดลการพัฒนาประเทศไทย โดย 1.0 เน้นภาคเกษตร 2.0 เน้นภาคอุตสาหกรรมเบา เช่น การทอผ้า อาหารกระป๋อง ยาและเครื่องเวชภัณฑ์ 3.0 เน้นภาคอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น การต่อเรือ สร้างรถไฟ และเครื่องจักรกล โดยปัจจุบันการพัฒนาประเทศกำลังอยู่ในโมเดล 4.0 คือแนวคิดที่จะนำโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้นั่นเอง

ทว่าเราก็ยังอยู่ในสังคมที่รวมไว้ซึ่งทุกตัวเลข เพราะเกษตรกร (1.0) ก็ยังทำนาตามวิถีปกติ ไปพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (4.0) ที่รุดหน้าไปทุกวัน จึงเกิดคำถามสำคัญว่า เทคโนโลยีจะเกื้อหนุนภาคเกษตรหรือชาวบ้านได้อย่างไร ซึ่งน่าดีใจที่มี “คนรุ่นใหม่” จำนวนไม่น้อยตั้งคำถามเช่นเดียวกันนี้ และลงมือเชื่อมโยงเลขทศนิยมทั้งสองผ่านโมเดล “ธุรกิจเพื่อสังคม” โดยนำเครื่องมือสมัยใหม่เข้าไปแก้ปัญหาบางอย่างในภาคเกษตรกรรม

1.0 + 4.0 สมการใหม่ เกษตรกร + ธุรกิจเพื่อสังคม

ฟาร์มโตะ ผู้บริโภคพบเกษตรกร

ช่องทางการขายผลผลิตทางการเกษตรรูปแบบใหม่ที่เชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากัน ผ่านวิธีการ “ร่วมเป็นเจ้าของผลผลิต” เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกันผ่านช่องทางออนไลน์ของฟาร์มโตะ

จากนั้นเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะส่งผลผลิตให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยสามารถตั้งราคาขายได้เอง (บวกจากราคาตลาดโลกไม่เกินร้อยละ 20) เพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้สินและราคาผลผลิตตกต่ำ อันเป็นการปูทางให้เกษตรกรพัฒนาและเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง ส่วนผู้บริโภคจะได้ความมั่นใจในคุณภาพอาหารที่สดใหม่ เพราะเป็นผลผลิตที่ร่วมดูแลและเห็นการเจริญเติบโตตั้งแต่ลงดินถึงเก็บเกี่ยว

อาทิตย์ จันทร์นนทชัย ผู้ก่อตั้งฟาร์มโตะ กล่าวว่า ปัจจุบันคนเมืองต้องการบริโภควัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ ส่วนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็เจอปัญหาทางการตลาด ขายไม่ได้ ราคาไม่ดี ซึ่งปัญหาทั้งสองข้อนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการตลาดบนโลกออนไลน์

“ฟาร์มโตะก่อตั้งมาได้เกือบ 10 เดือน โดยเราเริ่มจากการสร้างเพจเฟซบุ๊ก yourfarmto เพื่อเป็นหน้าบ้านทำความเข้าใจว่าเราเป็นใคร และเป็นช่องทางให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของผลผลิต โดยผู้บริโภค 100 รายแรกตัดสินใจเป็นเจ้าของนาข้าวตั้งแต่ยังไม่เป็นต้นอ่อนด้วยซ้ำ ซึ่งตอกย้ำความเชื่อของเราเองว่า แพลตฟอร์มนี้น่าจะเป็นไปได้ เพราะตลาดผู้บริโภคผลผลิตอินทรีย์มีอยู่จริง”

เขายังเชื่อว่า การรับรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเพาะปลูกให้แก่กันจะทำให้คุณค่าผลผลิตที่ได้รับเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่ใช่แค่รสชาติที่อร่อยสดใหม่ แต่คือ “มิตรภาพ” ที่ส่งผ่านจากหัวใจของเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค

ปัจจุบัน ฟาร์มโตะเปิดเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ (www.farmto.co.th) และกำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่น โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ผ่าน 4 ขั้นตอน คือ หนึ่ง เลือกผลผลิตของเกษตรกรที่ต้องการร่วมเป็นเจ้าของและชำระเงินในระบบ สอง เกษตรกรอัพเดทภาพ ป้ายชื่อ และการเจริญเติบโตของผลผลิตในช่วงต่างๆ สาม เดินทางไปเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมการเพาะปลูกตามตารางที่เกษตรกรนัดหมาย และสี่ รอรับผลผลิตที่บ้านหรือนัดรับผลผลิตที่แหล่งเพาะปลูก ส่วนฝั่งเกษตรกร ทีมฟาร์มโตะจะลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับตัวแทนชุมชนด้วยตัวเอง

ตามกลไกทางการตลาด เมื่อมีดีมานด์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ก็ย่อมต้องมีซัพพลายเพื่อป้อนตลาด เขาจึงหวังว่าการขายรูปแบบใหม่นี้จะสามารถเปลี่ยนเกษตรเคมีให้เป็นเกษตรปลอดภัย และจะกลายเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้ ซึ่งนอกจากจะแก้ไขปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำทั่วประเทศไทยได้แล้ว การทำเกษตรปลอดภัยยังทำให้อากาศ ดิน และน้ำในชุมชนปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลกลับมาที่ตัวคนให้มีชีวิตที่ปลอดภัยตามไปด้วย

“ผมมองว่า ฟาร์มโตะ ไม่ได้ขายผลผลิต แต่เราขายสัมพันธภาพระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกร ซึ่งจุดเล็กๆ นี้จะถูกพัฒนาไปเป็นภาพใหญ่ อย่างปัจจุบันประเทศไทยมีคนทำเกษตรปลอดภัยเพียง 1-5% ถ้าฟาร์มโตะสามารถทำตลาดให้ผลผลิตจากเกษตรปลอดภัยขายได้และราคาดี เกษตรกร

ก็จะหันมาเพาะปลูกด้วยวิธีนี้มากขึ้น จากนั้นสินค้าเกษตรไทยอาจส่งออกได้มากขึ้น และสุดท้ายประเทศชาติก็จะพัฒนา โดยเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี” อาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย

1.0 + 4.0 สมการใหม่ เกษตรกร + ธุรกิจเพื่อสังคม

แฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส ตลาดลดความเหลื่อมล้ำ

ความจริงที่ว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ทว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพียงร้อยละ 10 ของจีดีพีทั้งประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเรื่องน่าเศร้านี้ได้เป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า แฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส (Happy Farmers) ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนไทยใกล้ชิดกันมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท เพื่อมุ่งสู่ประเทศที่ไร้ซึ่งความเหลื่อมล้ำในอนาคต

เบน-อชิตศักดิ์ พชรวรณวิชญ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส กล่าวว่า ธุรกิจนี้มีจุดมุ่งหมายในการช่วยเกษตรกรไทยให้มีรายได้ที่ดีขึ้น โดยการขยายตลาดเกษตรกรรมผ่านทางอี-คอมเมิร์ซ หรือตลาดออนไลน์บนเว็บไซต์ www.happyfarmers.com ที่เน้นขายสินค้าอินทรีย์และสินค้าจากธรรมชาติที่ส่งตรงจากเกษตรกรไทย อย่างล่าสุดแฮปปี้ฟาร์มเมอร์สได้พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้เป็น “ของขวัญเพื่อสังคม” ที่เมื่อผู้บริโภคซื้อจะสามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ทันที

“เมื่อปีที่แล้วเราแก้ปัญหาเรื่องราคาข้าวตกต่ำ โดยนำข้าว 12 สายพันธุ์มาไว้ในแพ็กเกจจิ้งเดียวแล้วขายเป็นชุดของขวัญเพื่อสังคม โดยเริ่มทำกับชาวนาในบุรีรัมย์ สุรินทร์ และมหาสารคาม การขายข้าวอินทรีย์จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต และสามารถดูแลตั้งแต่คนต้นน้ำหรือชาวนาไปจนถึงปลายน้ำหรือผู้บริโภค”

1.0 + 4.0 สมการใหม่ เกษตรกร + ธุรกิจเพื่อสังคม

สำหรับปีนี้มีอีก 2 โครงการ คือ จากฝิ่นสู่ฝ้าย เพราะประเทศไทยยังมีการปลูกฝิ่นอย่างผิดกฎหมายอยู่จริง ซึ่งฝิ่นไม่สามารถทำให้หมดไปได้ด้วยการตัดโค่น แต่แก้ได้ด้วยการให้อาชีพใหม่ที่พึ่งพาได้แก่ผู้เพาะปลูกชาวเขา และการทำผ้าฝ้าย คือ สิ่งที่ชาวเขาใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ในอนาคต และโครงการกาแฟปลูกป่า เพราะการทำเกษตรไม่ต้องจบลงด้วยการตัดไม้ทำลายป่าเสมอไป เกษตรกรปลูกกาแฟอินทรีย์ใน จ.ตาก จึงใช้เทคนิคการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาเพื่อรักษาและขยายผืนป่าในพื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อน

“เราใช้กลไกของโซเชียลกิฟต์มาพัฒนาต่อยอด” อชิตศักดิ์ กล่าวต่อ “โดยจะลงไปในพื้นที่ที่มีปัญหาและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อน เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำความรู้เข้าไปปรับใช้ ดูแลปัจจัยในการผลิต จากนั้นรับซื้อผลผลิต และนำมาทำเป็นของขวัญเพื่อสังคมขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในมุมของผู้บริโภคจึงไม่ได้แค่ซื้อสินค้า แต่ยังได้ทำความดีทางอ้อม ซึ่งเป็นคุณค่าที่อยู่เหนือมูลค่า”

ตลาดเกษตรกรออนไลน์ฟรีของแฮปปี้ฟาร์มเมอร์สก็ยังมีอยู่ โดยเกษตรกรจะจำหน่ายสินค้าอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ

โดยตรงแก่ผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และแฮปปี้ฟาร์มเมอร์สจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการขายจากเกษตรกรเพื่อสร้างตลาดที่ต้นทุนต่ำที่สุด รวมถึงสร้างโอกาสให้เกษตรกรอยู่รอดมากที่สุดในเวลาเดียวกัน

1.0 + 4.0 สมการใหม่ เกษตรกร + ธุรกิจเพื่อสังคม

 

 

บลู บาสเก็ต ตลาดนัดธรรมชาติ

เมื่อความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและความชำนาญด้านการออกแบบเว็บไซต์ของทีม บุญมีแล็บ เดินเคียงคู่ไปกับความตั้งใจจริงที่อยากให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น จึงเกิดเป็น บลูบาสเก็ต ตะกร้าของคนช่างเลือก ในลักษณะของตลาดนัดธรรมชาติบนเว็บไซต์ www.bluebasket.market ที่เปิดให้ทุกคนสามารถช็อปปิ้งอาหารออร์แกนิกและสินค้าจากธรรมชาติได้โดยตรงจากผู้ผลิตตลอด 24 ชั่วโมง

บุญมีแล็บ คือที่ปรึกษาด้านการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ รวมถึงระบบการบริการและผลิตภัณฑ์ดิจิทัล โดยทีมบุญมีแล็บเชื่อว่า สักวันทุกคนจะไม่ต้องกังวลถึงเรื่องอาหารที่กิน เสื้อผ้าที่ใส่ ว่าจะปลอดภัยหรือไม่
เพราะบลูบาสเก็ตจะช่วยให้คำว่า ออร์แกนิกหรือวิถีธรรมชาติกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวจนกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” เพราะเมื่อมีคนกินคนใช้มากขึ้น ก็มีคนปลูก คนปรุง คนผลิตมากขึ้นตามไป ราคาก็จะน่าซื้อน่าจับจ่าย และสุดท้ายจะมีตลาดเกิดขึ้นเองในท้องถิ่น

“เราเริ่มโครงการนี้ด้วยความคิดที่อยากจะแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าออร์แกนิกและสินค้าสุขภาพได้ง่ายและมีราคาไม่แพง ถ้ามีคนบริโภคมากขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น ราคาก็จะถูกลง เกิดเป็นวงจรที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีและความรู้ต่างๆ จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นระเบียบเพื่อสนับสนุนให้วงจรนี้เคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น คือ เกิดการซื้อขาย สร้างงานสร้างธุรกิจในท้องถิ่น จากนั้นระบบอาหารที่ยั่งยืนก็จะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โดยเราคิดว่าปัญหานี้ใหญ่และเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับทุกคน”

บลูบาสเก็ตจะหักค่าบริการเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายตามจริง ไม่มีค่าเปิดร้าน หรือการจำกัดจำนวนสินค้าต่อร้าน ซึ่งต่ำกว่าการฝากวางหน้าร้านทั่วไปอยู่มาก รวมถึงหัวใจสำคัญของการเป็นตะกร้าของคนช่างเลือก จึงมั่นใจได้ว่า ทุกอย่างที่ขายในตะกร้าสีฟ้านี้จะมีแต่ของดี ไม่มีสารเคมี และไม่มีวัตถุที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าเกษตร ในรูปแบบของตลาดออนไลน์ที่ปราศจากพ่อค้าคนกลาง และการกำหนดเพดานราคาสินค้าที่เอาเปรียบเกษตรกรมากเกินไป ทำให้เราเห็นภาพไทยแลนด์ 4.0 แบบจับต้องได้ ซึ่งนอกเหนือจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ยังได้สร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างไว้ในหัวใจคนไทยด้วย