posttoday

ไทยนำนักธุรกิจเยือนสหรัฐ

24 มิถุนายน 2560

ประเทศไทยกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลงทุนของยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐ

ประเทศไทยกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลงทุนของยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐ โดยหลังการเข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ของ ราล์ฟ แอล บอยซ์ ประธาน บริษัท โบอิ้ง ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของสหรัฐ

สมคิด ระบุว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยเมื่อไม่นานมานี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย ได้นำคณะนักธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน มาเยือนประเทศไทย ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของไทย ไปเยือนประเทศสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในการเดินทางครั้งนี้จะมีการนำคณะนักธุรกิจร่วมด้วย โดยสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเนื่องจากสหรัฐถือเป็นนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การลงทุนของโบอิ้งนั้น จะอยู่ในเฟส 2 ของการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้

“คาดว่าประมาณไตรมาส 3 น่าจะเห็นความชัดเจนของโครงการแล้ว ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 70 ล้านบาท สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้โครงการในเฟส 2 นี้ โดยทั้งหมดนี้จะต้องให้มีความชัดเจน เพื่อให้มีการประกาศพื้นที่ให้การส่งเสริมให้ทันก่อนสิ้นปีนี้ หากโบอิ้งสนใจลงทุน คาดว่าจะมีการตัดสินใจช่วงปลายปี 2560” คณิศ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าความร่วมมือของบริษัท การบินไทย และบริษัท แอร์บัสนั้น คาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือ หรือทำสัญญาร่วมลงทุนในไตรมาสแรกปี 2561 ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนแล้วว่า ใครจะถือหุ้นเท่าไร ลงทุนในสัดส่วนเท่าไร

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มีกำหนดการประชุมในวันที่ 19 ก.ค. 2560 มีประเด็นในการหารือที่สำคัญ คือ ขั้นตอนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ที่จะลดลงเหลือ 8-9 เดือน รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ที่จะเชื่อมท่าเรือสำคัญ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ

ขณะที่การลงทุนของจีนในประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่า มูลค่าการค้าการลงทุนของนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย ตั้งแต่ปี 2554-2559 มีมูลค่ารวม 4,308 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการลงทุนใน 7 ธุรกิจใหญ่ และในปี 2559 จีนเป็นกลุ่มประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) รวม 930 ล้านเหรียญสหรัฐ และในอนาคตมีแนวโน้มที่นักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 แซงหน้าญี่ปุ่นได้

จ่าย ลู่ หลิง ที่ปรึกษาสภาการเมืองแห่งมณฑลซานตง ประเทศจีน กล่าวว่า ในปี 2559 มูลค่าการค้าระหว่างมณฑลซานตงกับไทยสูงถึง 5,870 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 3,670 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ไทยอยู่ในเส้นทาง One Belt One Road ซึ่งหวังว่าจะสามารถเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างกันให้เกิดประโยชน์แบบวิน-วินทั้งสองฝ่าย สำหรับนักธุรกิจจากมณฑลซานตงที่มาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทยในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเทคโนโลยี หรือไอที กลุ่มพลังงานและกลุ่มเครื่องจักร

เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สำหรับผลการจัดงาน Thailand’s Big Strategic Move ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอโครงการลงทุนของประเทศไทย โดยเฉพาะอีอีซีนั้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นภาพการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ชัดเจน รวมทั้งเห็นถึงความพยายามในการเดินตามแผนที่วางไว้ ซึ่งสถานการณ์ในต่างประเทศขณะนี้มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือบางประเทศก็ไม่ได้มีการเติบโตในทิศทางที่ชัดเจนนัก ส่งผลให้ประเทศไทยตอนนี้ก็ถือว่าไม่ด้อยหรือแย่กว่าประเทศอื่น