posttoday

พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ณ วัดเบญจมบพิตร

11 มิถุนายน 2560

หนังสือเรื่องวัดเบญจมบพิตร ชุดความรู้ไทย ที่องค์การค้าคุรุสภา จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2530 นั้น พระศรีวิสุทธิวงศ์

โดย...ส.สต

หนังสือเรื่องวัดเบญจมบพิตร ชุดความรู้ไทย ที่องค์การค้าคุรุสภา จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2530 นั้น พระศรีวิสุทธิวงศ์  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เรียบเรียง ว่าเป็นวัดที่มีความงามเป็นเลิศ ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม และความประณีตในด้านศิลปกรรม เป็นความงามที่ปรากฏนามไปทั่วโลก สารคดีเรื่องนี้จึงมีความมุ่งหมายที่จะนำชมวัดเบญจมบพิตร โดยกล่าวถึงประวัติความเป็นมา ความสำคัญของวัด ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ศึกษาได้รำลึกถึง ได้เห็นคุณค่า และตระหนักในความสำคัญของสมบัติของชาติ ที่ควรช่วยกันอนุรักษ์สืบต่อไป 

ข้อมูลที่พระศรีวิสุทธิวงศ์  นำมาเรียบเรียงได้จากการศึกษาประวัติของวัด และจากที่มีผู้เขียนจารึกไว้ ทั้งได้สอบถามจากพระเถระผู้ใหญ่ ทายก ทายิกาผู้ให้ความอุปถัมภ์แก่วัดมาเป็นเวลาช้านาน

ตามประวัตินั้น วัดนี้แต่เดิมชื่อวัดแหลม ต่อมามีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดไทรทอง เพราะเห็นจะมีต้นไทรทองในวัดเป็นสำคัญ

ก่อนที่จะมีชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันวัดนี้มีชื่อว่าเบญจบพิตร สืบเนื่องมาจากกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 2 ใช้วัดแหลม เป็นที่ตั้งกองบัญชาการทัพ ป้องกันพระนคร คราวที่เจ้าอนุวงศ์ยกทัพมายึดถึง จ.นครราชสีมา ใน พ.ศ. 2369 ช่วงรัชกาลที่ 3

พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ณ วัดเบญจมบพิตร

เมื่อเสร็จจากการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์แล้ว กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์  ร่วมกับพระน้องยาเธออีก 4 พระองค์ปฏิสังขรณ์วัด คือ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินฤทธิ์ พระองค์เจ้าหญิงอินทนิลและพระองค์เจ้าหญิงวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามวัดว่าวัดเบญจบพิตร หมายถึงวัดเจ้านาย 5 พระองค์

ถึง พ.ศ. 2442 ในคราวที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระราชวังดุสิต วัด 2 วัดถูกยุบคือวัดดุสิต และวัดร้างอีก 1 วัด พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างวัดทดแทนวัดที่ถูกยุบ พระองค์จึงทรงเลือกวัดเบญจบพิตรปรับปรุงขยายให้เป็นวัดที่ใหญ่โตยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ

1.เพื่อเป็นที่อนุสาวรีย์ถึงพระองค์เช่นเปลี่ยนชื่อจากเบญจบพิตร เป็นเบญจมบพิตร หมายถึงวัดรัชกาลที่ 5 และเพิ่มสร้อยนามว่าดุสิตวนาราม เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชวังดุสิต เมื่อสวรรคต รัชกาลที่ 6 อัญเชิญพระสรีรังคารมาบรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช พระประธานในพระอุโบสถ

2.เป็นพิพิธภัณธ์รวบรวมพระพุทธรูปโบราณและสมัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการศึกษา

พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ณ วัดเบญจมบพิตร

3.เพื่อเป็นแบบอย่างการช่างศิลปกรรมและวิจิตรกรรมของสยาม

4.เป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์มหานิกาย

พิพิธภัณฑ์

ที่นี่จะกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ คือพระวิหารคดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป เพราะราชประสงค์ในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงสร้างไว้ก็เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ รวบรวมพระพุทธรูปโบราณแบบต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 52 องค์ มาประดิษฐานสลับนั่งและยืน ตามลำดับ

พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ณ วัดเบญจมบพิตร

พระวิหารคด เป็นลักษณะมุขกระสัน ต่อจากพระอุโบสถ จากมุขด้านใต้โอบไปทางตะวันตกมาจดด้านเหนือ พระวิหารนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกับพระอุโบสถ โดยการออกแบบแปลนของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

พื้นระเบียงพระวิหารปูด้วยหินอ่อนตัดเป็นลาย เสากลมหินอ่อนทั้งแท่งจำนวน 64 ต้น ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทองทึบ ด้านหลังมีซุ้มประตูประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ คือ 1.พระศิลาสมัยทวาราวดี จากเมืองลพบุรี (มุขตะวันตกเฉียงใต้-ด้านใต้) 2.พระศิลาจากสมัยทวารวดี จากเมืองลพบุรี (มุขตะวันตก-ด้านใต้) 3.พระศิลาสมัยอมราวดี จากเมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา (มุขตะวันตก-ด้านเหนือ) 4.พระศิลาสมัยอยุธยาจากเมืองลพบุรี (มุขตะวันตกเฉียงเหนือ-ด้านเหนือ)

หน้าบันวิหารคดนั้นได้จำหลักลวดลายตรากระทรวงต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งหมด 10 กระทรวง ตามด้านขวาของพระอุโบสถ (ทิศใต้ริมคลอง) ไปโดยรอบตามลำดับ

พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ณ วัดเบญจมบพิตร