posttoday

โครงสร้างประชากรเปลี่ยน เราจึงเปลี่ยนแปลง

03 มิถุนายน 2560

การศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร” ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่อง “ผู้สูงอายุ” และ “สังคมสูงวัย” เท่านั้น

โดย...ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประสานชุดโครงการวิจัย ‘ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย’ สกว.

การศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร” ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่อง “ผู้สูงอายุ” และ “สังคมสูงวัย” เท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับ “คนทุกช่วงวัย” ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมในทุกมิติของชีวิต จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

จากงานวิจัยพบว่าครอบครัวฐานะปานกลาง อาจมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ โดยทั่วไปอาจจะอยู่ที่เดือนละ 1.5-2 หมื่นบาท ต่อ 1 คน ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ แต่ถ้ารวมลูก ตัวเลขค่าใช้จ่ายจะมีสูงขึ้น และมีความหลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว

สำหรับนโยบายยืดอายุเกษียณนั้น เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันไม่สิ้นสุด ครั้งหนึ่งเคยยกประเด็นถกเถียงแค่ว่าไม่ให้เรียกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปว่า “วัยเกษียณ” โดยขอให้ขยับการใช้คำว่า “ผู้สูงอายุ” หรือ “วัยเกษียณ” ไปที่อายุ 65 ปีขึ้นไปแทน แต่เรื่องนี้ก็โยนกันไปมาเพราะส่งผลกระทบมาก นี่แค่จะขอเปลี่ยนคำเรียกเพื่อไม่ให้สะเทือนใจเท่านั้น และไม่ได้กระทบต่อสวัสดิการใดๆ ก็ยังไม่มีข้อยุติ สุดท้ายประเด็นนี้จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกันต่อ แต่หลายหน่วยงานก็พยายามเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่เลยวัย 60 ปีแล้วได้ทำงานต่ออย่างไม่เป็นทางการ

มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าประทับใจมาก คือ เรื่อง “The Intern” เป็นเรื่องที่ใครดูก็สนุก ไม่ว่าจะมองประเด็นไหนก็ตาม พอนักประชากรศาสตร์ได้ดูก็มองว่ามันเป็นเรื่องประชากรมากๆ ในเรื่องมีซีอีโอคนหนึ่งเกษียณอายุไปแล้ว พอได้หยุดอยู่บ้านก็เหงา ในที่สุดก็กลับมาสมัครทำงานอีกครั้งในตำแหน่ง “อินเทอร์น” หรือเด็กฝึกงาน 

ประเด็นที่ดีของหนังเรื่องนี้ คือ ผู้สูงอายุคนนี้กลับเข้ามาทำงานแล้ว ได้ปรับวิธีคิดและทัศนคติในการทำงานไปมาก เพราะโดยทั่วไปผู้สูงอายุ มากประสบการณ์ มักจะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองขลังขึ้นมา ผู้คนจะต้องฟังฉัน และหลายคนก็ทำตัวเป็นมนุษย์ป้ามนุษย์ลุง จนไม่มีใครกล้าทักท้วงอะไร แต่ซีอีโอเก่า รุ่นเก๋าคนนี้พอกลับมาเป็นอินเทอร์นก็ปรับการวางตัวอย่างดี และรู้ตัวดี นั่นคือ มีลิมิตในการเสนอความคิด รวมถึงการแสดงบทบาทเป็นผู้คอยแนะนำที่ค่อยๆ พูด ค่อยๆ เสนอความเห็น โดยให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงบทบาทเต็มที่ ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็มีความรู้ดีและข้อมูลมาก แต่อาจยังขาดประสบการณ์ โดยเฉพาะประสบการณ์ทางด้านการใช้ชีวิต

ในอนาคตเราต้องส่งเสริมการทำงานรูปแบบนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะต้องได้ทำแน่ๆ เพราะเราต้องการแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานจากผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุในสมัยก่อนมาก

กลับมาที่สังคมไทย ที่บอกว่า “แก่ก่อนรวย” ตอนหลังเขาเริ่มพูดเรื่อง “เงินหมดก่อนตาย” ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของผู้สูงอายุ จะเป็นช่วงที่ใช้เงินออมสูงมากในการต่อสู้เพื่อลมหายใจสุดท้าย อาจจะใช้เงินสูงถึงร้อยละ 50-60 ของเงินออมทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการพยาบาลปัจจุบันก็สูงขึ้น สังคมสูงวัยจึงเป็นสังคมที่จะต้องเตรียมตัวรองรับในมิติที่หลากหลายกว่าแต่ก่อนอย่างมาก

ที่มา : เว็บ Knowledge Farm - ฟาร์มรู้สู่สังคม สกว.