posttoday

รุกขกร หัวใจห้องที่ 1 เรื่องต้นไม้ในเมือง

03 มิถุนายน 2560

การป่าไม้ในเมือง (Urban Forestry) หมายถึงการดูแลและจัดการต้นไม้ใหญ่ (Trees) ทั้งหลายที่ขึ้นอยู่ในเขตเมือง

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล + ทีม@Weekly

การป่าไม้ในเมือง (Urban Forestry) หมายถึงการดูแลและจัดการต้นไม้ใหญ่ (Trees) ทั้งหลายที่ขึ้นอยู่ในเขตเมืองเพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองให้ดีขึ้น

 คุณประโยชน์ของต้นไม้ใหญ่ในเมืองนั้นมีมากมาย รวมถึงความสวยงาม การลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) การลดปริมาณการระบายน้ำฝนของเมือง การลดมลพิษทางอากาศ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานด้วยการเพิ่มเงาต้นไม้กำบังอาคารให้มากขึ้น การเพิ่มมูลค่าทางราคาแก่อสังหาริมทรัพย์ ช่วยเพิ่มที่พักพิงแก่สัตว์ต่างๆ ตลอดการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวมให้แก่เมืองได้มาก

 ต้นไม้ใหญ่ให้สีสัน ผิวสัมผัส และความเปรียบต่างที่ทำให้สิ่งแข็งที่เป็นรูปเหลี่ยมทรงเรขาคณิตในภูมิทัศน์เมืองให้แลดูอ่อนนุ่ม ต้นไม้ใหญ่สามารถประกอบกันเป็นกรอบช่องมองวิวที่งดงามและอาจเป็นฉากบังวิวหรือสิ่งไม่น่าดูได้ ด้วย ดอก สี เปลือก ลำต้น โครงสร้างของกิ่งก้านสาขาที่สง่างามสามารถกระตุ้นให้ผู้มองเกิดความปีติและน่าสนใจ การจัดวางต้นไม้อย่างมีแบบแผนจะช่วยส่งเสริมสัดส่วนของงานสถาปัตยกรรมและเสริมขนาดส่วนของเนื้อที่ใช้สอยภายนอกอาคารให้ดีขึ้น

 ในรอบ 2-3 ปีหลังมีความตื่นตัวเรื่องการบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมากขึ้น ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กทม.เพียงฝ่ายเดียว มีการขับเคลื่อนสร้างพลังผ่านภาคประชาสังคม ให้คนเมืองมีส่วนร่วมในการออกเสียงและแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง

 ล่าสุด เครือข่ายต้นไม้ในเมือง สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย โครงการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ โครงการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และกลุ่มบิ๊กทรี ออกแถลงการณ์ เรื่อง "ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ ให้เกิดระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง" กรณี : ต้นไทรที่ถนนชิดลม ล้มจนมีผู้เสียชีวิต

เสียงสะท้อนจากเครือข่ายต้นไม้ในเมือง

 จากกรณีดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านต้นไม้ในเมืองทั้ง 5 องค์กรใหญ่ ขอร่วมแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต และขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล และทุกหน่วยงานที่ดูแลต้นไม้ในเมือง คือ กรุงเทพมหานคร กฟน. กฟภ. ฯลฯ เพื่อให้เกิดการสร้างระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียของประชาชนและประเทศชาติเช่นนี้อีก โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายประกอบไปด้วย

 ข้อเรียกร้องในระยะเร่งด่วน คือ ข้อ 1-3 และข้อเรียกร้องในระยะยาว คือ ข้อ 4-6 ดังนี้

 1.อย่าด่วนตัดต้นไม้ทิ้งทั้งหมด ตามที่มีบางกระแสเรียกร้อง ซึ่งเป็นการตัดสินใจด้วยความรู้ สึก คือ "ความกลัว" สิ่งที่ควรทำคือการแก้ปัญหาด้วยความรู้ โดยใช้ศาสตร์ "รุกขกรรม"

 2.จัดทีมรุกขกรและนักวิชาการ เร่งสำรวจต้นไม้อันตราย (ต้นไม้ป่วย) อย่างเป็นระบบ พร้อมทำสัญลักษณ์ต้นไม้ป่วยให้ประชาชนได้ทราบ และกำหนดแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือได้รักษาต้นไม้ใหญ่ และได้เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับให้ประชาชน และควรจัดทำคู่มือประชาชนในการสังเกตต้นไม้ป่วยเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสำรวจ

 3.จัดทีมตรวจรักษาต้นไม้อันตราย (ต้นไม้ป่วย) โดยมีรุกขกรทำหน้าที่หมอต้นไม้ในการประเมินระดับการรักษา บางต้นอาจใช้การตัดแต่ง บางต้นอาจใช้การค้ำยัน บางต้นอาจต้องปรับปรุงระบบรากและปรับวัสดุดาษแข็งที่ทับระบบราก ยกเว้นบางกรณีที่เกินเยียวยาจริงๆ ถึงมีความจำเป็นต้องตัดทิ้ง

 4.จัดตั้งบริษัท รุกขกรรมนครหลวง โดยเป็นการบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ เพื่อให้เกิดองค์กรที่มีความรู้ทักษะ และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อให้บริการหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง

 5.กำหนดระเบียบปฏิบัติ ให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลต้นไม้ในเมือง ต้องมีรุกขกรที่ได้มาตรฐาน โดยมีการส่งเสริมการฝึกอบรมรุกขกร พัฒนาระบบควบคุมคุณภาพรุกขกร โดยมีการออกใบรับรองความรู้รุกขกร เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการตัดแต่ง รักษาต้นไม้ของหน่วยงาน ซึ่งเป็นมาตรการสากลที่นานาประเทศใช้กันทั้ง ญี่ปุ่น แคนาดา สิงคโปร์ ฯลฯ

 6.ควรออกกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในเมือง เพื่อครอบคลุมต้นไม้ใหญ่ในเมือง ทั้งที่อยู่ในการดูแลของภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดมาตรการการคุ้มครองดูแล และเกณฑ์การปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียน (ตามชนิด ขนาด และสถานที่) ให้มีมาตรฐานปฏิบัติเดียวกันและตรวจสอบได้ ตามหลักสากลของโลก (เป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษและสิงคโปร์ทำ)

 ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านต้นไม้ในเมืองทั้ง 5 องค์กรใหญ่ อันประกอบไปด้วย เครือข่ายต้นไม้ในเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มบิ๊กทรี สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และโครงการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ยินดีให้ความร่วมมือทั้งในด้านข้อมูล ปฏิบัติการ และการสื่อสารกับภาคประชาชน เป็นการยื่นข้อเรียกร้องไปพร้อมๆ กับการยื่นมือเพื่อเป็นเพื่อนร่วมงาน ให้เกิดการร่วมกันสร้าง "ระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง" เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ เพื่อให้ทุกเมืองในประเทศไทยมีความร่มรื่น ทุกชีวิตได้รับประโยชน์จากต้นไม้ในเมืองในทุกมิติ และประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตร่วม เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของต้นไม้ในเมือง

รุกขกร หัวใจห้องที่ 1 เรื่องต้นไม้ในเมือง

กทม.รอไม่ได้

 การรณรงค์ปลูกต้นไม้ในเมืองมีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ทรงให้คำแนะนำและมีพระกระแสรับสั่งกำหนดชนิดต้นไม้และตำแหน่งปลูก รวมทั้งวิธีการปลูกโดยละเอียด ทรงรู้จักต้นไม้มากกว่า 90 ชนิด แต่การรณรงค์ของพระองค์มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่มรื่นสวยงาม ด้วยในยุคนั้นอากาศในกรุงเทพฯ ยังไม่มีมลพิษเท่าปัจจุบัน 

 หน้าที่การปลูกต้นไม้เป็นหน้าที่ของกรมนคราทร ซึ่งต่อมาตกเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ส่วนเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรตกเป็นหน้าที่ของเทศบาล ซึ่งการปลูกต้นไม้ในเมืองทั้งหมดเป็นการปลูกเพื่อความสวยงามและความร่มรื่นเป็นสำคัญ

 ภายหลังเกิดอุบัติเหตุต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพมหานคร โค่นล้มลงมากลางถนนทำให้มีผู้เสียชีวิต นำมาสู่การสำรวจทั้ง 50 เขตทั่วเมือง พบว่า มีต้นไม้จำนวน 785 ต้นที่ต้องการค้ำยัน และต้นไม้ที่ต้องขุดออกทั้งหมดจำนวน 965 ต้น รวมถึงต้นไม้ที่จำเป็นต้องตัดทอนความสูงอีก 175 ต้น รวมแล้วมีต้นไม้จำนวน 1,925 ต้น ที่ควรได้รับการดูแลรักษาไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย

 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ระยะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้มีลมกระโชกแรง สุ่มเสี่ยงที่ต้นไม้จะหักโค่นเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงสั่งการให้สำนักสิ่งแวดล้อม ออกสำรวจต้นไม้ที่มีสภาพสุ่มเสี่ยงหรือไม่สมบูรณ์มั่นคงให้เร่งดำเนินการแก้ไขตามหลักวิชาการและระเบียบปฏิบัติ แต่ต้องคงไว้ซึ่งความสวยงาม ไม่ตัดแต่งจนกิ่งไม้โกร๋น

 ส่วนกรณีต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่เอกชนให้ประสานเจ้าของพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ภายในบริเวณบ้านเรือน และตัดแต่งเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการหักโค่นด้วย ซึ่งสำนักงานเขตทุกเขตยินดีให้บริการตัดแต่งและเก็บขนกิ่งไม้ไปทิ้ง โดยคิดอัตราค่าบริการตามที่ระเบียบกำหนด

 สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (กทม.) กล่าวว่า ขั้นตอนปฏิบัติในการดูแลรักษาต้นไม้ของ กทม. เริ่มที่สำนักงานเขตแต่ละพื้นที่จะทำการตัดแต่งต้นไม้ทรงพุ่มให้มีลักษณะไม่ต้านแรงลม ตัดลดทอนความสูงและเพิ่มไม้ค้ำยันลำต้น ตลอดจนศัลยกรรมตามหลักรุกขกรรม เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงและสวยงาม

 ทั้งนี้ หลักการตัดแต่งกิ่งไม้ ประกอบด้วย 1.ไม่ตัดกิ่งบริเวณที่มีสีคล้ำ เพื่อป้องกันเชื้อโรค 2.ไม่ตัดให้เหลือแต่ตอกิ่ง ป้องกันเชื้อโรคและแมลงมาเจาะทำลายความแข็งแรงของต้นไม้ 3.ไม่ตัดให้กิ่งฉีกขาด 4.แต่งแผลให้เรียบร้อย และ 5.ไม่มีการทาสีหรือปูน

 อย่างไรก็ตาม ภารกิจของ กทม.ในการดูแลต้นไม้ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำหนดตัดต้นแต่งในช่วงเดือน เม.ย.ของทุกปี เนื่องจากช่วงนี้จะมีอุณหภูมิร้อนระอุสูงที่สุดทำให้ต้นไม้แตกใบใหม่กลับคืนมาได้ รวมทั้งเป็นระยะสะสมอาหารเลี้ยงลำต้นไว้ได้เพียงพอ จึงเหมาะสมที่สุดในการดำเนินการตัดแต่ง ส่วนในช่วงหน้าฝนทางเจ้าหน้าหน่วยเบสท์ทุกสำนักงานเขต เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 สำหรับพื้นที่ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่อายุมากและเสี่ยงต่อการโค่นล้ม ได้แก่ ต้นไม้ในพื้นที่เขตปทุมวัน เขตวัฒนา เขตพระนคร เขตดุสิต และเขตบางซื่อ ทาง กทม.ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลเป็นพิเศษแล้ว

 ทางด้านกรมป่าไม้ ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและจัดตั้ง "หน่วยงานการป่าไม้เมือง" ขึ้น โดยขยายงานจากสำนักงานจัดการป่าชุมชนที่เน้นด้านเศรษฐกิจและสังคม มาเน้นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง

ต้องเร่งสร้างรุกขกร

 ผลของการพัฒนาเมืองที่แออัดและการติดขัดของการจราจร ทำให้เกิดปัญหามลพิษรุนแรงขึ้น การปลูกต้นไม้ใหญ่จึงเริ่มมามองในด้านการช่วยบรรเทามลพิษทางอากาศและการจับฝุ่น ปัจจุบัน ต้นไม้มีความสำคัญต่อเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ มีการรณรงค์การสร้าง "ป่าไม้ในเมือง" (Urban Forestry) เพื่อลดปัญหามลพิษ ดังนั้น ต่างประเทศจึงออกกฎหมายส่งเสริมให้มีการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้อย่างจริงจัง เพราะกฎหมายที่ดีและทันสมัยจะทำให้การพัฒนาบ้านเมืองรุดหน้าอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติ

 ธราดล ทันด่วน ครูใหญ่โรงเรียนต้นไม้ รุกขกรผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ในงานภูมิทัศน์เมือง ซึ่งจบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฟันธงอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ปัญหาใหญ่ ณ วันนี้ คือขาดคนหรือบุคลากร ไม่ใช่การขาดงบประมาณ แม้กระทั่งในเชิงธุรกิจ คนที่ทำงานด้านนี้คือตัดต้นไม้มีงานรอล้นมือ 3-4 เดือนเลยทีเดียว

 “ต้องเร่งสร้างคน คือการไม่ใช่สร้างให้รู้ แต่สร้างให้ทำเป็นให้ปฏิบัติได้จริงๆ กับคนที่ไม่รู้อะไรเลย มาอบรมกันจริงๆ 20 วันก็ได้ แต่ก็ยังไม่คล่อง โอเค พอทำงานได้เป็นหลักสูตรผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ ซึ่งเร่งรัดแล้วก็ประมาณนี้ ผมมองว่าระบบการศึกษาของเรามองข้ามตรงนี้ไป อย่างไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีการเพิ่มมูลค่าการบริการ ตรงนี้เป็นการพัฒนาคนเพื่อให้ก้าวข้ามค่าแรงถูกๆ ไม่ใช้ช่างที่มีค่าแรงตัดต้นไม้ที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ แต่ใช้ช่างที่ชำนาญตัดแต่งได้สวยและปลอดภัย ซึ่งต้องใช้ความชำนาญ ทั้งระบบการศึกษาของเรายังให้ความสำคัญตรงนี้น้อยไป ถึงแม้จะเร่งสร้างตรงนี้ สัก 3-4 ปี ปัญหาก็ยังแก้หมดหรือไม่ก็ยังไม่รู้เลย”

 จากประสบการณ์การทำโรงเรียนต้นไม้ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถผลิตบุคลากรออกไปได้แล้ว 100 กว่าคน ธราดล บอกว่า ทุกคนที่จบออกไปมีงานดีๆ ทั้งนั้นเลย

 “ของเราเป็นการศึกษานอกระบบ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีเงินสนับสนุนจากส่วนต่างๆ เลย ค่าใช้จ่ายในการอบรมคน เราต้องไปหาสปอนเซอร์มาช่วยสนับสนุน การมาอยู่ในค่ายอบรม 20 วัน ค่าใช้จ่ายต่อคนไม่ใช่พันสองพันบาท และยังต้องมีอุปกรณ์มีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ

 “อยากจะให้สถาบันที่เกี่ยวกับเกษตร อย่างวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ คัดเอาเด็กนักศึกษาที่สนใจภาคปฏิบัติการตัดไม้ใหญ่อย่างถูกหลักวิธีเอามาเข้าค่ายเคี่ยวกรำอย่างจริงๆ จังๆ กันตรงนี้ ไม่น่าก็จะได้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีรุกขกรหลายคนที่พร้อมจะเดินทางไปฝึกอบรมได้เลยทั่วประเทศ ถ้าทางสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ รวมตัวกันทั้งภูมิภาคจัดอบรมขึ้น เราก็จะระดมรุกขกรไปช่วยทันที เพราะเรารู้ว่าเป็นปัญหาของประเทศ”

 การบริหารจัดการเรื่องต้นไม้ใหญ่ในเมืองก็ยังต้องแก้ไขด้วย ระยะหลังๆ ธราดล มองว่าเขาไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทำงานของเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ตรงที่ทางเครือข่ายเน้นการขึ้นทะเบียนรุกขกร

 "ในมุมของผมที่ค้านตรงจุดนี้ เพราะปัจจุบันเรายังมีคนที่มีองค์ความรู้เรื่องนี้ยังไม่พอ ยิ่งไปคัดสรรคนที่จะเข้ามาก็จะทำให้ยิ่งน้อยลงไปอีก สิ่งที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการสร้างคน นอกจากอบรมคนในระบบแล้ว นักวิชาการที่เกี่ยวกับต้นไม้ทั้งหลายต้องมานั่งประชุมกันทำคู่มือปฏิบัติงานที่ง่ายๆ คนปฏิบัติงานถือคู่มือนี้ไปอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ต้องสร้างคนขึ้นมา อย่าไปคาดหวังอะไรที่ไกลเกินตัว ยิ่งจะมาคัดกรองคนที่จะเข้ามาทำงานรุกขกร ยิ่งผิดประเด็นกันไปกันใหญ่เลย”

 ธราดล ขยายความต่อถึงมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพของการจะเป็นผู้ฝึกสอนหรืออบรมรุกขกรได้ ต้องผ่านการทำงานด้วย เพราะต้องบอกว่างานตัดต้นไม้เป็นงานอันตรายมากๆ ถ้าเกิดพลาดพลั้งขึ้นมาก็เสียชีวิตได้

 “เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเป็นครูสอนต้องผ่านหรือมีชั่วโมงบินพอสมควร เฟสแรกต้องสร้างคนในระดับปฏิบัติการบนต้นไม้ให้ได้เยอะๆ ก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยคัดคนเหล่านี้มาเป็นครูฝึก อาจจะดูชั่วโมงการทำงานแล้วยกระดับมาเป็นครูฝึกกัน มาสร้างครูฝึกกันอีกในระยะต่อมา พื้นฐานตรงนี้ถ้าเรามีการพัฒนาก็จะยกระดับฝีมือคนไทยขึ้นมาได้ เชื่อว่าในศาสตร์ด้านนี้คนไทยมีคุณภาพพอและเหนือกว่าหลายประเทศ เพราะสายเลือดคนไทยเป็นเกษตรกร อีกข้อหนึ่งเรื่องศิลปะก็อยู่ในสายเลือดคนไทย พื้นฐานมีอยู่แล้วพอมาใช้อุปกรณ์หรือวิธีการใหม่ๆ ก็จะยกระดับฝีมือแรงงานทั่วไปไปเป็นแรงงานฝีมือที่มีราคาสูงขึ้น แม้กระทั่งกรมแรงงานก็ควรสนใจเรื่องพวกนี้เ เพราะทุกฝ่ายมองข้ามการฝึกคน การสร้างคนตรงนี้ไป

 “บริษัทรุกขกรนครหลวงก็มีการพูดมานานแล้ว แต่ก็ไม่มีการขยับเขยื้อนกันสักเท่าไหร่ ถ้ามีบริษัทเกิดขึ้นและสร้างคนขึ้นมารองรับทุกอย่างก็ดีขึ้น ก็ต้องช่วยกัน แต่ตอนนี้พอมีบริษัทรุกขกรนครหลวงขึ้นมา พอไปถึงตรงนั้นแล้วเอาใครมาทำล่ะ ใครจะมาตัดต้นไม้ มันไม่มีคน ถ้ามีคนพร้อม ไม่ว่าจะออกไปทำบริษัทใหญ่ ทำเอสเอ็มอีก็ยังเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีคุณค่าต่อสังคม เราต้องสร้างคน”

 สำหรับตลาดตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ ธราดล สะท้อนภาพว่า ปัจจุบันก็ปล่อยไปตามสภาพ ทั้งที่ลูกค้าเหล่านี้ในเมืองใหญ่มีกำลังซื้อสูงและพร้อมจ่าย

 “ผมบอกเลยว่าคนที่มีฝีมือและตัดต้นไม้ได้ค่อนข้างดี รับงานกันล้นมือ คิวยาวกันหลายเดือน ในฐานะคนที่ทำอาชีพนี้ ผมไม่หวงความรู้ ต้องเร่งสร้างคนป้อนให้กับสังคมเพื่อจัดการเรื่องนี้ให้เป็นระบบ โดยเฉพาะในมหานครอย่างกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ทั้งหมด เมืองท่องเที่ยว ต้องใช้คนมาจัดการระบบต้นไม้ใหญ่ เรื่องฝีมือของคนไทย ทราบมาว่าคนที่ได้รางวัลชนะเลิศติดต่อกันมาหลายปีแล้วที่สิงคโปร์ เรื่องการทำงานบนต้นไม้เป็นคนไทย เพราะฉะนั้นคนไทยมีคุณภาพพอที่จะทำงานนี้ได้ดี เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนสนใจ มีอะไรที่จะมาช่วยกระตุ้นการศึกษาการเรียนรู้ด้านนี้ขึ้น”

 รายได้ของรุกขกร ธราดล เปิดเผยว่า ถ้าเป็นคนงานทำงานหน่วยงานต่างๆ พื้นฐานโดยทั่วไป ปีนต้นไม้ได้ ทำงานบนต้นไม้ได้ อย่างน้อยๆ วันละ 500 บาท แต่ว่าตัวรุกขกรที่มีการศึกษาพอสมควร วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

 “ผมไม่อยากให้เรื่องเงินมาเป็นเรื่องหลัก อยากเห็นเรื่องความรักต้นไม้ อยากเห็นเรื่องต้นไม้สวยงามของคนทำงานด้านนี้เป็นเรื่องหลัก เป็นเรื่องจิตวิญญาณข้างใน ซึ่งไม่ว่าจะทำบริษัทใหญ่หรือเอสเอ็มอีเล็กๆ ถ้ารักต้นไม้เขาจะมีงานรองรับแน่นอน ผมการันตี คนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ต้องรักต้นไม้ แข็งแรง ปีนต้นไม้ได้ไม่กลัวความสูง แต่ถ้าได้รับการศึกษามาทางด้านเกษตรสายพืช จะยิ่งได้เปรียบคนอื่น

 “ยกตัวอย่างพวกที่เรียนมาทางด้านวนศาสตร์ ซึ่งเรียนเรื่องต้นไม้มาโดยเฉพาะจะไปเร็วมาก แต่ก็มีมาทำงานด้านนี้หลายคนแล้ว แต่ก็ยังน้อยอยู่ ทุกคนก็งานล้นมือหมด ขยับขึ้นเป็นเถ้าแก่เจ้าของบริษัทกันหมดแล้ว งานตัดต้นไม้คนที่เป็นผู้นำต้องนำร่องสาธิตปีนขึ้นไปก่อน ต้องให้ลูกน้องเชื่อมั่น เพราะจะดุลูกน้องจะตำหนิหรือจะสั่งงานเขา ถ้าลูกน้องไม่เข้าใจต้องขึ้นไปแสดงให้เขาดูได้อย่างถูกวิธี เป็นงานที่ยาก”

รุกขกร หัวใจห้องที่ 1 เรื่องต้นไม้ในเมือง

 ธราดล บอกว่าแม้จะไม่ได้ดังใจทุกอย่างในการขับเคลื่อนการสร้างและพัฒนารุกขกรเพื่อมารองรับการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง แต่เขาย้ำว่า ต้องมีความหวัง...

 “ไม่มีความหวังไม่ได้ ในแง่การบริหารเมือง ผมอยากจะบอกว่า กทม.คงจะดูพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ไม่ได้ ต้องเลือกพื้นที่ที่ทำได้ดีที่สุดก่อน เลือกเป้าหมายเป็นพื้นที่ไป เลือกเป้าหมายให้ดีที่สุดก่อนแล้วค่อยขยายออกไป ต้องทำเป็นโรลโมเดลก่อน ทำพื้นที่ตัวอย่างให้เห็น ต้องส่งมอบต้นไม้ที่มีคุณภาพให้สังคมได้เห็นชัดเจนก่อน แล้วก็ได้รับการสนับสนุนและการยอมรับมากขึ้น แต่ว่าถ้าเราทำกันสะเปะสะปะอย่างนี้ ภาพที่ชัดเจนก็จะไม่เกิด แม้จะมีตำหนิจากคนในสังคมบ้าง ทำไม่ได้ดังใจบ้าง เพราะทุกอย่างกระจัดกระจายเป็นจุดเล็กจุดน้อยหมด มันต้องทำให้เห็น อย่างเกาะรัตนโกสินทร์ก็ทำให้การฟื้นฟูต้นไม้และตัดตามหลักวิชาการดูแลให้เห็น ถ้าทำได้ทุกอย่างเป็นเรื่องเล็กหมด อย่างเรื่องงบประมาณหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งต้องผ่านข้อแรกให้ได้เสียก่อนคือการสร้างคนขึ้นมาทำงานตรงนี้”

 ธราดล ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในการดูแลต้นไม้ในเมืองของประเทศสิงคโปร์ว่า มีจุดเด่นหลายเรื่อง จุดแรกสิงคโปร์ไม่เลือกต้นไม้ที่แปลกประหลาดมาปลูก

 “เขาเลือกต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากป่าชายเลนและป่าชายหาด ซึ่งของเขาก็หายไปหมด เพราะเขาเป็นเกาะและก็รื้อถมทะเลทำสิ่งปลูกสร้าง แต่เขาไปศึกษาว่าต้นไม้ชนิดไหนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าชายเลนของเขา เขาก็จะไปเอาต้นไม้เหล่านี้จากไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาปลูกที่สิงคโปร์ เนื่องจากประเทศเขาเป็นเกาะเขาก็เลือกปลูกไม้ป่าชายเลนป่าชายหาด เพราะเมื่อเอามาปลูกก็จะดูแลรักษาง่าย บ้านเราเมืองไทยยังไม่เข้าใจตรงนี้ ไปคว้าต้นไม้มาจากสารพัดแหล่งเอามาปลูก ชื่อก็แปลกประหลาด เป็นภาษาฝรั่งเยอะแยะ ผมว่าไม่ถูก”

 ธราดล ขยายภาพว่า สิงคโปร์โฟกัสโดยขีดพื้นที่ว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องเขียว ซึ่งก็ทำให้เขียวจริง ถ้าเดินซอกแซกในสิงคโปร์เราไปเจอพื้นที่ไม่มีต้นไม้เลย เพราะถ้าปลูกแล้วไม่ได้ดีเขาก็ถอย

 “สิงคโปร์เลือกเครื่องมือถูกต้อง เวลาอยากได้พื้นที่สีเขียว เขาเอาต้นไม้ใหญ่เข้าไปนำเป็นพระเอก พอดูแลต้นไม้ใหญ่ดี ความร่มรื่นก็ตามมาทันที บ้านเราจะเก่งเรื่องปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับบนเกาะกลางถนน ตัดเป็นรูปต่างๆ แล้วถามว่ามันร่มรื่นไหม ซึ่งจะไม่ได้ความร่มรื่นอย่างที่ทุกคนฝันถึง ในอีกภาคหนึ่งนั้นต้นไม้ใหญ่ดูแลปีละครั้ง ถ้าตัดแต่งดีๆ หรือมีระยะเวลาพอ ลากยาวถึง 2 ปีครั้งก็เป็นไปได้ แต่ไม้ดอกไม้ประดับที่ทำกันอยู่ต้องตัดทุก 15 วัน เมืองไทยเลือกเครื่องมือที่จะบรรลุความเขียวก็ผิดแล้ว ซึ่งสร้างความเหนื่อยให้กับตัวเอง เปลืองงบประมาณ เปลืองคน เราไม่ใส่ใจที่จะสร้างคนดูแลต้นไม้ให้เป็นเรื่องเป็นราว ต้นไม้ใหญ่เวลาหน้าแล้งเขาดูแลตัวเขาเองได้ เพราะระบบรากเขากว้าง หน้าแล้งก็ไม่ต้องรดน้ำ แต่ในกรุงเทพฯ พอเข้าหน้าหนาวปุ๊บก็มีรถวิ่งรดน้ำต้นไม้ทั่วกรุงเทพฯ เลย ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ทำไมเราไม่เอาเงินเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มาสร้างคนเพื่อดูแลต้นไม้ให้มันถูกต้อง ผมว่าเป็นเรื่องฝีมือการจัดการและบริหารเลยที่ต่างกัน"

 คุณภาพผู้บริหาร สิงคโปร์เลือกเครื่องมือที่บรรลุเป้าหมายได้อย่างชาญฉลาด ซึ่ง ธราดล ชี้ว่าเมืองไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้นได้ สำหรับงานของเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ธราดล บอกว่า ทางกลุ่มผู้ปฏิบัติงานรุกขกรกำลังรวมกลุ่มกันทำกลุ่มผู้ทำงานต้นไม้ในเมือง พยายามให้การศึกษาให้การอบรมและเผยแพร่ความรู้ให้มากที่สุด

 “เราก็ทำในส่วนของเราในฐานะคนทำงานให้เต็มที่ ส่วนที่เราไม่เห็นด้วย ก็ปล่อยให้เขาเดินไปก็ไม่ขัดขา ในส่วนของเราที่คิดว่าถูกต้องเราก็เดินของเราไป ทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันก็คือความร่มรื่นของบ้านเมือง”

กฎหมายเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในเมืองในประเทศไทย

 จากหนังสือ "ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง" ของ ศาสตราจารย์พิเศษเดชา บุญค้ำ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543 ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาเป็นการเฉพาะสำหรับการจัดการหรืออนุรักษ์ต้นไม้ในเมืองโดยตรง มีเพียงบางมาตราในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กล่าวถึงความรับผิดทางละเมิด เช่น มาตรา 434 ว่าด้วยความเสียหายเกี่ยวกับการบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ และบทบัญญัติในบรรพ 4 หมวด 2 ว่าด้วยแดนแห่งกรรมสิทธิ์และการใช้กรรมสิทธิ์ เป็นต้น กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดจากต้นไม้โดยอนุโลมอาจสรุปเฉพาะที่เกี่ยวกับต้นไม้ดังนี้:-

 สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและการละเมิดมีดังนี้

 มาตรา 1344 รั้วต้นไม้ซึ่งหมายเขตที่ดิน ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างเป็นเจ้าของร่วมกัน

 มาตรา 1345 เจ้าของรั้วต้นไม้ร่วมมีสิทธิตัดรั้วต้นไม้ได้ถึงแนวเขตที่ดินของตน

 มาตรา 1346 ดอกผลของต้นไม้ตรงแนวเขตที่เป็นเจ้าของร่วมกันตกเป็นของเจ้าของคนละส่วนเท่ากัน และหากตัดโค่นลงก็เป็นเจ้าของไม้คนละส่วน

 มาตรา 1347 เจ้าของที่ดินมีสิทธิตัดรากหรือกิ่งที่ยื่นเข้ามาและเอาไว้เสียได้ หากได้บอกผู้ครอบครองต้นไม้ให้ตัดนานพอควรแล้ว

 มาตรา 1348 ดอกผลของต้นไม้ที่หล่นตามปกติลงในที่ดินแปลงใดถือเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น

 จะเห็นได้ว่ากฎหมายข้างต้นเป็นเรื่องของสิทธิและการละเมิดทั่วไปที่มีต้นไม้เข้าไปเกี่ยวข้อง อาจมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการป่าไม้ และกฎหมายใหม่ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศมีกล่าวเกี่ยวกับต้นไม้ไว้บ้าง แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายที่ตราออกมาโดยเฉพาะเพื่อการอนุรักษ์ตัวต้นไม้ไว้หรือเพื่อบังคับให้ปลูกต้นไม้ขึ้นโดยตรง

 สำหรับความรับผิดทางกฎหมายจากการละเลยปล่อยให้ต้นไม้ก่ออันตราย และการดูแลต้นไม้ถนนที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับต้นไม้มีแนวโน้มจะทวีมากขึ้นในอนาคต ตามจำนวนต้นไม้ที่ได้เร่งระดมปลูกในเมืองต่างๆ ในขณะนี้คือ ความรับผิดในอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากต้นไม้ ดังปรากฏในตามข่าวหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าของต้นไม้ผุอันตรายที่ปล่อยปละละเลยไว้ไม่ดูแลปล่อยให้เกิดอันตรายล้มทับคนบาดเจ็บหรือตาย หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

 เจ้าของต้นไม้จึงมักจะแพ้คดี ต้องชดใช้ค่าเสียหายและเสียเวลากับคดีความ หากเจ้าของเอาใจใส่ดูแลต้นไม้อย่างถูกต้อง เมื่อเกิดล้มทับคนหรือทรัพย์สินเสียหายอันเนื่องมาจากลมพายุที่รุนแรงผิดปกติก็ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย จึงน่าวิตกว่าต้นไม้ที่กรุงเทพมหานคร เมืองเทศบาล และ อบต.ต่างๆ ที่ปลูกไปแล้วนับล้านต้นด้วยต้นไม้ที่ไม่ได้มาตรฐาน และด้วยการดูแลรักษาและตัดแต่งผิดวิธี ซึ่งย่อมสร้างปัญหาให้เจ้าของเมื่อโตเต็มที่ ในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการสู้คดีและชดใช้ค่าเสียหายจากต้นไม้อันตรายมีสูงมากกว่าการจัดหาต้นไม้ดีๆ มาปลูกและค่าจัดตั้งและดำเนินงานหน่วยงานป่าไม้ในเมืองหลายเท่า