posttoday

รุกขเทพ

03 มิถุนายน 2560

รุกขเทวดา ภาษาบาลีอ่านว่า รุกฺขเทวตา คือเทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามไม้ต้น

โดย...พรเทพ เฮง [email protected]

 รุกขเทวดา ภาษาบาลีอ่านว่า รุกฺขเทวตา คือเทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามไม้ต้น

 คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา เป็นอรรถกถาของธรรมบท หรือประมวลคาถา 423 คาถา ซึ่งปรากฏในขุททกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก กล่าวกันว่าพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์ชาวชมพูทวีป เดินทางไปแปลอรรถกถาในสิหลทวีปได้เรียบเรียงไว้จากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี

 ปัจจุบันธัมมปทัฏฐกถาใช้เป็นคัมภีร์ในการศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย จึงเป็นคัมภีร์อรรถกถาที่ได้รับความนิยมศึกษามากที่สุดเล่มหนึ่ง ถือว่ารุกขเทวดาอยู่จำพวกเดียวกับพระภูมิ และเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา

 ในสมัยพุทธกาลตอนที่พระพุทธเจ้ายังคงมีชีวิตอยู่ มีภิกษุชาวเมืองอาฬวีรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระที่เพิ่งบวชใหม่ พระรูปนั้นเห็นภิกษุรูปอื่นมีกุฏิอย่างดีเป็นของตนเอง ก็คิดอยากจะมีกับเขาบ้าง จะได้ใช้เป็นที่พักอาศัยกันแดดกันฝนได้

 วันหนึ่ง พระภิกษุรูปนั้นก็ตัดสินใจแบกขวานเข้าไปในป่า เพื่อทำการตัดต้นไม้สำหรับนำมาสร้างกุฏิของตนเอง เมื่อพบเจอต้นไม้ใหญ่ที่ถูกใจแล้ว ก็ลงมือฟันทันที โดยไม่รู้ว่าต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น คือ “วิมาน” ของ “รุกขเทวดา” ครอบครัวหนึ่ง (รุกขเทวดา คือ เทวดาชั้นต่ำชนิดหนึ่ง ที่ใช้ต้นไม้เป็นวิมานหรือที่พักอาศัย  รุกข=ต้นไม้  เทวดา=เทพหรือเทวดา)

 ฝ่ายรุกขเทวดาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อเห็นพระภิกษุรูปนั้นกำลังลงมือใช้ขวานฟันต้นไม้อยู่อย่างเอาเป็นเอาตายเช่นนั้น ก็รีบลงมาห้ามปรามเสียยกใหญ่  อ้อนวอนอย่างไรพระภิกษุรูปนั้นก็มองไม่เห็นและไม่ได้ยินเลย เนื่องจากเป็นพระบวชใหม่ที่ยังไม่มีญาณวิเศษใดๆ

 หนักๆ เข้ารุกขเทวดาผู้หญิงและลูกๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยอ้อนวอนและร้องห้ามปรามด้วย  เนื่องจากต้นไม้ต้นนี้เป็นวิมานแห่งสุดท้ายของครอบครัวตน หากต้นไม้ต้นนี้ถูกโค่นลงไปก็เท่ากับว่าวิมานของตนถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ และทำให้พวกตนไม่มีวิมานสำหรับอยู่อาศัย

 บางช่วงรุกขเทวดาก็ยกไม้ยกมือห้ามปรามและก้มกราบอ้อนวอน แต่พระภิกษุรูปนั้นก็มองไม่เห็น กลับเงื้อขวานฟันสุดแรงเกิด จนทำให้รุกขเทวดาต้องแขนขาดและบาดเจ็บเลือดสาดไปตามๆ กัน

 เมื่อเห็นว่าขอร้องหรืออ้อนวอนดีๆ ไม่ได้ รุกขเทวดาครอบครัวนั้น ก็เลยพากันด่าทอและสาปแช่งพระภิกษุรูปนั้นด้วยความโกรธแค้นอย่างมากมาย

 ไม่นานนักต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นก็ล้มลง ปล่อยให้รุกขเทวดาทั้งหมดพากันร้องห่มร้องไห้ด้วยความเศร้าและเสียใจอย่างสุดซึ้ง ในขณะที่พระภิกษุรูปนั้นกลับรู้สึกกระหยิ่มยิ้มย่องที่ตนเองสามารถโค่นไม้ใหญ่ต้นนั้นลงได้

 เมื่อเห็นว่าตนเองไม่มีที่พึ่งแล้วจริงๆ รุกขเทวดาครอบครัวนั้น ก็เลยพากันหอบลูกจูงหลานเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากพระพุทธองค์

 เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้แล้ว ก็ได้รับสั่งให้พระภิกษุรูปนั้นมาเข้าเฝ้า พร้อมทั้งสอบถามเรื่องราวต่างๆ และได้ตำหนิพระภิกษุรูปนั้นว่าเป็น “โมฆบุรุษ” (คนไร้สาระ) พร้อมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมา

 โดยทรงบัญญัติไว้ว่า หากภิกษุรูปใดทำลายภูตคาม (ภูต=ภูต, ผี คาม=บ้าน) หรือตัดต้นไม้ ภิกษุรูปนั้นจะต้องอาบัติ “ปาจิตตีย์” (ดังที่ได้กล่าวไว้ใน ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ 1 ในพระวินัยปิฎก)

 คราวนั้น ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของรุกขเทวดาครอบครัวนั้นด้วย ก็เลยเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อมาเนรมิตวิมานแห่งใหม่ให้รุกขเทวดาครอบครัวนั้นได้ใช้เป็นที่พักอาศัยไปตราบชั่วนาตาปี

 เพราะฉะนั้น การรักษาต้นไม้ให้อยู่ดีสวยงามคือ การรักษารุกขเทวดาหรือรุกขเทพ นำความเจริญรุ่งเรืองงอกงามมาสู่บุคคลและบ้านเมือง