posttoday

ปรัชญาการศึกษาของเกาหลีใต้ เรียนอย่างมีเป้าหมายนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

27 พฤษภาคม 2560

คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นเช่นไร สามารถดูได้จากระบบการศึกษาของประเทศนั้น

โดย...ทีมงาน โลก 360 องศา

คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นเช่นไร สามารถดูได้จากระบบการศึกษาของประเทศนั้น ดังนั้นทีมงานโลก 360 องศา จึงให้ความสำคัญกับการนำเสนอการจัดการศึกษาจากประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าอันดับต้นๆ ของเอเชีย อย่างประเทศเกาหลีใต้ติดต่อกันมาเป็นตอนที่ 3 แล้ว

ลองมาดูกันว่าในมหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีใต้ที่โดดเด่นในแต่ละด้านนั้น มีการเรียนการสอนกันอย่างไรบ้าง เริ่มต้นกันที่มหาวิทยาลัยฮงอิก (Hongik) มหาวิทยาลัยในฝันของผู้ที่ต้องการเรียนด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฮงอิก มีอยู่ 2 วิทยาเขต คือที่เมืองเซจอง และในกรุงโซล ซึ่งวิทยาเขตในกรุงโซลเป็นวิทยาเขตแรก ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 มีอายุกว่า 71 ปีแล้ว บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่นและสวยงาม เจือไปด้วยงานศิลปะในมุมต่างๆ เป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนการสอนศิลปะเป็นอย่างยิ่ง

ปรัชญาการศึกษาของเกาหลีใต้ เรียนอย่างมีเป้าหมายนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

น้องๆ นักศึกษาที่เรียนในสถาบันแห่งนี้มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมมากที่สุดของประเทศและการเข้าศึกษาต่อที่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฮงอิก มีหลายสาขาที่น่าสนใจ เช่น การออกแบบเมือง การเรียนที่เน้นการผสมผสานระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปมากแต่ผู้คนก็ยังโหยหาความสวยงาม ความมีศิลปะอยู่เสมอ เป็นศิลปะเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

ปรัชญาการศึกษาของเกาหลีใต้ เรียนอย่างมีเป้าหมายนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฮงอิก วิทยาเขตกรุงโซล ยังตั้งอยู่ในย่าน “ฮงแด”ย่านมีชื่อเสียงในด้านศิลปะ และดนตรี แบบอินดี้ นอกจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮงอิกจะชอบไปสังสรรค์กันที่คาเฟ่ และไนต์คลับในฮงแด ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แล้ว ยังใช้พื้นที่ในย่านฮงแดเป็นที่พัฒนาความสามารถของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือดนตรี รวมทั้งชิ้นงานศิลปะต่างๆ ที่เอามาวางจำหน่ายด้วย

และไม่ไกลจากย่านฮงแด ที่เป็นเหมือนฝาแฝดกันก็คือ ย่านยอนนัมดง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ช่วยจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ให้ศิลปิน ยอนนัมดง อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยฮงอิกมากนัก จะมีทั้งร้านอาหารและร้านกาแฟดีๆ พร้อมทั้งจัดสวนไว้ตรงกลางอย่างสวยงาม สร้างความร่มรื่น ได้พักผ่อนทอดอารมณ์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คน จึงไม่น่าแปลกใจที่แรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ที่ดีจะเกิดขึ้นกับนักศึกษาว่าที่ศิลปินใหญ่ เพราะบรรยากาศต่างๆ ล้วนเกื้อหนุนทั้งมหาวิทยาลัยและชุมชนแวดล้อม

ทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นช่วยหนุนส่งให้งานออกแบบและสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้มีความโดดเด่น และทรงอิทธิพลต่อกระแสโลกซึ่งเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของสิ่งเหล่านั้น จำนวนไม่น้อยเริ่มขึ้นจากจุดเล็กๆ ในย่านนี้นั่นเอง

ปรัชญาการศึกษาของเกาหลีใต้ เรียนอย่างมีเป้าหมายนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

หลังจากรู้จักมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมกันไปแล้ว ลองมาสัมผัสมหาวิทยาลัย KAIST ที่มีความเป็นเลิศทางด้านงานวิจัยกันบ้าง การเรียนการสอนด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่จะเน้นถึงความเชื่อมโยงงานวิชาการกับการนำไปใช้ได้จริงกับภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ทำวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง เช่นเดียวกับการเรียนออกแบบของเกาหลีใต้ ที่เน้นการผสานระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น ดังนั้นงานด้านวิชาการของเกาหลีใต้จึงสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้จริง เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ขณะที่การเรียนการสอนทางด้านภาษาของมหาวิทยาลัยฮันกุ๊ก ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันคือ หวังให้ขีดความสามารถทางด้านภาษาเป็นเครื่องมือพื้นฐาน เชื่อมโยงงานด้านต่างๆ กับประเทศอื่นๆ

มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กแห่งนี้มีการสอนภาษาต่างชาติมากถึง 45 ภาษา หนึ่งในนั้นคือภาษาไทยที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 1966 นานถึง 51 ปีแล้ว โดยจะมีการให้ทุนกับนักศึกษาต่างชาติที่มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้มาเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี ภาษาเกาหลี รวมถึงด้านเศรษฐกิจและการเมืองตามความถนัดและความสนใจของผู้ขอทุน

ปรัชญาการศึกษาของเกาหลีใต้ เรียนอย่างมีเป้าหมายนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

“อาจารย์ปาร์ค” แห่งมหาวิทยาลัยฮันกุ๊ก ได้อธิบายเรื่องการเรียนภาษาเกาหลีในแง่มุมของเจ้าของภาษาว่า ภาษาเกาหลีถือว่าเป็นภาษาที่ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะสำหรับคนไทย เพราะว่า ภาษาไทยและภาษาเกาหลี ก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งความยากของภาษาเกาหลี ไม่ได้อยู่ที่การเขียน แต่อยู่ที่อ่านแล้วก็ต้องเข้าใจ

“ภาษาเกาหลีมีคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาจีนมาก ถ้าไม่มีความรู้เกี่ยวกับอักษรจีน หรืออักษรคันจิ จะรู้สึกว่าอ่านยาก ที่สำคัญคือ มีหลักไวยากรณ์ที่ยากสำหรับคนไทย แต่ถึงภาษาเกาหลีจะดูเหมือนยาก แต่สำหรับคนเกาหลีที่เรียนภาษาไทย กลับบอกว่า ภาษาไทยยากกว่ามาก” อาจารย์ปาร์ค เปรียบเทียบให้ฟัง

ขณะที่ “ปานเทพ” นักศึกษาเกาหลีใต้ที่เลือกเรียนภาษาไทยเล่าที่มาของความสนใจมาศึกษาภาษาไทยว่า ช่วงเรียนระดับมัธยมได้มีโอกาสไปประเทศไทย เกิดความสนใจประเทศไทย จึงมาเลือกเรียนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กนี้ และที่สำคัญคือ ในปัจจุบันมีคนให้ความสนใจเรียนภาษาไทยมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในภาษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีโอกาส และอนาคตทางธุรกิจรออยู่

ปรัชญาการศึกษาของเกาหลีใต้ เรียนอย่างมีเป้าหมายนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาล้วนตอกย้ำให้เห็นวิธีคิดของคนเกาหลีใต้ว่า การเรียนไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ หรือมุ่งหวังแค่ให้ได้เกรดเฉลี่ยสูงๆ ได้เกียรตินิยม หรือแค่ได้รับใบปริญญามาเท่านั้น แต่มุ่งหวังที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในชีวิต นำไปสู่การทำงานที่มีคุณภาพ การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าต่อยอดขึ้นไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

ความเจริญของเกาหลีใต้ในทุกด้าน ณ เวลานี้ ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระบบการศึกษามีผลอย่างมากที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์อันทรงคุณค่า นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างแท้จริง

ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้ทางรายการ โลก 360 องศา เสาร์นี้ เวลา 21.20 น. ททบ.5