posttoday

บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย?

21 พฤษภาคม 2560

โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ในวันที่ 31 พ.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นวันรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ของคนทั้งโลก จึงจะขอพูดถึงเรื่องบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งทุกท่านคงทราบดีว่าบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบมีอันตรายต่อสุขภาพมากแค่ไหน โดยประมาณการกันว่าทุกปีมีผู้สูบบุหรี่ทั้งโลกเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ประมาณ 5 ล้านคน

สำหรับในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ต่อปีประมาณ 5 หมื่นคน ยังไม่รวมผู้ที่เจ็บป่วยและทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน

ที่จะคุยกันวันนี้ ไม่ใช่เรื่อง พ.ร.บ.บุหรี่ใหม่หรือเรื่องการหยุดสูบบุหรี่นะครับ แต่เป็นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า (E-Cigarette) ที่ได้รับความสนใจกันในช่วงระยะหลังนี้ ซึ่งผู้อ่านจะเห็นว่ามีทั้งผู้ที่ต่อต้านว่าไม่ควรให้มีการใช้ในประเทศไทยและผู้ที่สนับสนุนอยากให้สามารถมีการใช้ได้ จนเชื่อว่าหลายท่านอาจเริ่มมีความสับสน

ผมจึงจะขอนำเสนอข้อมูลและแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

บุหรี่ไฟฟ้า มีจุดกำเนิดจากจีนมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยมีหลักการคือมีอุปกรณ์ที่สามารถบรรจุของเหลว (E-Liquid) และมีส่วนที่ทำความร้อนให้ของเหลวเป็นไอระเหย (Atomizer) โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านลิเทียม

น้ำยานี้ส่วนมากมีส่วนผสมสำคัญ คือ Propylene Glycol ที่ทำให้เกิดไอระเหย (Vapor) ลักษณะคล้ายควันเมื่อโดนความร้อน (จึงมีการเรียกวิธีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าว่า Vaping) นิโคติน (มากกว่า 95% ของน้ำยาจะมีนิโคตินเป็นส่วนผสม) และสารปรุงรสและให้กลิ่น

การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ได้นิโคตินเข้าสู่ร่างกาย จึงเรียกบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็น Electronic Nicotine-Delivery Devices, ENDS พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ จึงได้ถือว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดหนึ่ง ต้องมีการควบคุมและขออนุญาตก่อนนำเข้าหรือจำหน่าย ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าจะกล่าวอ้างเสมอว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีสารพิษหรือสารก่อมะเร็ง และมีพิษน้อยกว่าบุหรี่ปกติ เป็นทางเลือกที่ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้มากขึ้น หรือได้รับพิษภัยจากบุหรี่ควันบุหรี่ลดลง จึงมีความพยายามเรียกร้องให้มีการขายได้อย่างเสรี

บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษหรือไม่

ควันจากบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วยไอจากสาร Propylene Glycol และมีการตรวจพบว่ามีสารจำพวกโลหะหนักบางหลายชนิดสูงกว่าควันบุหรี่ปกติ และสารนิโคตินที่มีอันตรายต่อภาวะหัวใจ หลอดเลือด และทำให้เกิดภาวะการเสพติด (ในบุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดมีปริมาณนิโคตินในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่ปกติอย่างมาก) และยังมีสารเคมีอื่นที่ผสมเพื่อปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่าสารเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพอย่างไรในผู้ที่เสพอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีข้อมูลในระยะยาวที่แสดงว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยหรือไม่

แม้ว่าควันจากบุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อให้เกิดมะเร็งและสารอื่นๆ เช่น น้ำมันดิน (Tars) น้อยกว่าควันบุหรี่ และน่าจะมีพิษต่อร่างกายน้อยกว่าควันบุหรี่ปกติที่เกิดจากการเผาไหม้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีพิษ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน การใช้บุหรี่ไฟฟ้าย่อมมีโอกาสทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพขึ้นอย่างมากโดยไม่จำเป็น

บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เลิกสูบบุหรี่จริงๆ ได้หรือไม่ การผลิตบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการช่วยการเลิกสูบบุหรี่ ดังนั้นข้อมูลที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกสูบบุหรี่ (Smoking Cessation) โดยที่ผู้สูบมีจุดประสงค์ที่จะเลิกสูบและไม่ติดบุหรี่ไฟฟ้าด้วยนั้น จึงมีไม่มากและข้อมูลปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้ผู้สูบเลิกสูบได้มากขึ้นกว่าวิธีการช่วยให้ผู้สูบเลิกสูบบุหรี่ด้วยวิธีมาตรฐาน

ดังนั้น ในปัจจุบันผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ควรปรึกษาคลินิกที่ช่วยการเลิกบุหรี่หรือโทรที่ Quit Line 1600

จากประสบการณ์ของผม ผู้ที่สูบบุหรี่แล้วใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ ส่วนน้อยมากที่ประสบความสำเร็จและมีผู้สูบส่วนหนึ่งที่กลับไปใช้บุหรี่ทั้งสองชนิดคู่กัน เนื่องจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้ผู้สูบมีตัวช่วยในการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น เช่น อาจใช้บุหรี่ไฟฟ้าในที่ที่ห้ามสูบบุหรี่ได้สะดวกขึ้น

ถ้าผู้สูบบุหรี่ปกติหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ในทางทฤษฎีอาจช่วยลดผลเสียจากการสูบบุหรี่ปกติลงได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีผลอย่างไรต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลพียงพอและพบว่าผู้สูบส่วนหนึ่งจะหันมาใช้ทั้งบุหรี่ปกติและบุหรี่ไฟฟ้า

แต่ปัญหาที่สำคัญมากกว่าคือกลุ่มเป้าหมายในการขายบุหรี่ไฟฟ้า จะเน้นไปในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและสตรี หลักฐานในต่างประเทศพบว่า คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

ในสหรัฐพบว่าวัยรุ่นถึง 15% เคยใช้ E-Cigarette มาก่อน ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลเสียจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างมาก และอาจเป็นการนำไปสู่การสูบบุหรี่จริงมากขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก เสนอให้แต่ละประเทศกำหนดนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์และความสามารถในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในแต่ละประเทศเพื่อป้องกันผู้สูบรายใหม่

จากข้อมูลในปัจจุบันผมมีความเห็นว่าประเทศไทยไม่ควรให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรี เราไม่ควรมีทางเลือกที่เป็นสารเสพติดให้กับประชาชน ถ้าต้องการใช้ในการเลิกบุหรี่ ควรใช้ในลักษณะที่เป็นยาช่วยในการเลิกบุหรี่คือมีการควบคุมที่เหมาะสมครับ