posttoday

สูงวัยไม่หวั่นไอที

21 พฤษภาคม 2560

โรงเรียนบ้านธาตุไม่ได้ห่างไกล อยู่ริมถนนใหญ่แถวสี่แยกเดชอุดม ไม่ไกลจากตัวอำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี

โดย...วีระศักร จันทร์ส่งแสง เครือข่ายพุทธิกา http:www.budnet.org

โรงเรียนบ้านธาตุไม่ได้ห่างไกล อยู่ริมถนนใหญ่แถวสี่แยกเดชอุดม ไม่ไกลจากตัวอำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี

เป็นโรงเรียนชานเมืองที่ดูไม่น่าขาดแคลน แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาพบว่าโรงเรียนที่อยู่ใกล้ความเจริญแห่งนี้ยังมีด้านที่ขาดแคลน

จำนวนนักเรียนลดลงทุกปี จน 8 ชั้นเรียน มีนักเรียนไม่ถึง 100 คน

เมื่อได้ประชุมหารือกัน รศ.ชาญชัย ศุภอรรถกร จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคุณครูศิริลักษณ์ คมเฉียบ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านธาตุ ก็เห็นร่วมกันว่า ต้องทำให้โรงเรียนมีจุดเด่นบางอย่างขึ้นมา

กระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเอาเรื่องไอซีที (Information Communication Technology) เป็นตัวนำในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน

“ครูในโรงเรียนของเราส่วนใหญ่ค่อนข้างสูงวัย จะกลัวคอมพิวเตอร์มาก” ผู้อำนวยการศิริลักษณ์ เล่าสภาพปัญหาที่เป็นอยู่

ผู้อำนวยการโรงเรียนพยายามพัฒนาศักยภาพครูด้วยการหาโปรแกรมง่ายๆ มาให้ครูฝึกใช้เก็บรวบรวมคะแนนนักเรียน แบบบังคับกลายๆ ว่าให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการออกเกรดนักเรียน

ครูก็เอากลับไปบ้าน ให้ลูกช่วยทำ

“ครูบอกว่าไม่มีความรู้เรื่องไอที เลยไม่กล้าทำ จนอาจารย์ชาญชัยมาชวนร่วมทำวิจัย”

“เป็นทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อนุมัติผ่านมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต่างจากการวิจัยทั่วไปที่ส่วนใหญ่ประเด็นวิจัยมักมาจากความต้องการของนักวิจัย แต่วิจัยท้องถิ่นต้องเป็นความต้องการของชุมชน และชุมชนต้องมีส่วนร่วม” รศ.ชาญชัย เล่าเบื้องหลัง

“เมื่อผู้อำนวยการเล่าถึงสภาพและสิ่งที่โรงเรียนต้องการ เราก็เห็นร่วมกันว่าต้องนำไอซีทีมาใช้ในโรงเรียนบ้านธาตุให้มากขึ้น แต่ครูส่วนใหญ่อายุเกิน 50 ปีไปแล้ว และผู้สูงอายุกับไอทีก็เหมือนคู่ขัดแย้งกัน ใช้ไม่เป็น กลัวทำไม่ถูก เรื่องนี้กลายเป็นจุดตั้งต้นของการวิจัย หารูปแบบในการเสริมสร้างสมรรถนะในการใช้ไอซีทีสำหรับครูผู้สูงอายุ”

การวิจัยเพื่อท้องถิ่นเน้นการมีส่วนร่วมและการใช้ข้อมูลมากำหนดแนวทางการแก้ปัญหา มีการจัดเวทีชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัย จนได้ทีมวิจัยชุมชนเข้าร่วมด้วย 17 คน

ประชุมหาข้อมูลมากำหนดกิจกรรมที่จะทำ ออกแบบเครื่องมือการวิจัยให้แตกต่างจากการอบรมทั่วไปที่มาประชุมนั่งฟังแล้วแยกย้ายกันไป ไม่ได้ทักษะอะไรจริงจัง

พบว่ากระบวนการที่ให้ทีมวิจัยชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาของตน และร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ทำให้เกิดการยอมรับและยินดีเข้าร่วมเรียนรู้

เริ่มจากการทำให้ครูสูงวัยมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ไอซีที โดยมีนักศึกษาในทีมวิจัยคอยเป็นกัลยาณมิตรดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดระหว่างฝึกเรียนรู้การใช้ไอที โดยมีเป้าหมายในการสร้างความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดีในการใช้ไอซีที

“ก่อนนี้ยังไม่ใช้สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ไม่จับเลย นั่งหน้าจอคอมพ์แล้วตาลาย จะอาเจียน” ครูโรงเรียนบ้านธาตุคนหนึ่งเล่าภูมิหลังของตัวเอง

ระหว่างการวิจัย จัดอบรม 7 ครั้ง ในวันเสาร์-อาทิตย์

“ทีแรกว่าเหนื่อย วันเสาร์-อาทิตย์ไม่ได้หยุด” ผู้อำนวยการพูดถึงครูในโรงเรียน “แต่พอไปแล้วสนุก ถึงเวลาพักเบรกยังไม่อยากลุก เพราะสนุกไปกับเรื่องที่ได้เรียนรู้ อานิสงส์จากตรงนั้นทำให้เริ่มสนใจคอมพิวเตอร์”

“ต่อมาออกโทรศัพท์ใหม่เป็นสมาร์ทโฟนเลย เล่นไลน์ได้” ครูที่เคยแพ้จอคอมพ์ เล่าความเปลี่ยนแปลงของตัวเองหลังรับการอบรมในโครงการวิจัย

“จากหัดเล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก ก็ค่อยๆ ใส่เนื้อหา การใช้โปรแกรมเวิร์ด เอ็กเซลเข้าไป”

ผู้อำนวยการเล่าพัฒนาการด้านไอซีทีของครูในโรงเรียน

“ตอนนี้ครูโรงเรียนบ้านธาตุสามารถค้นหาข้อมูลจากยูทูบไปสอนนักเรียนได้ เราเรียนผ่านดาวเทียมของโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหินด้วย ก็ได้ใช้ความรู้ที่ได้จากการอบรม นักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาก็ต่อโน้ตบุ๊กขึ้นจอค้นกูเกิล  จะฝึกการเล่นละคร ร้องรำ ครูทำไม่เป็นก็เปิดดูจากเน็ต”

รวมทั้งการเตรียมสอบโอเน็ตทุกวิชา ครูก็หาตัวอย่างข้อสอบมาให้นักเรียนฝึกทำได้จากอินเทอร์เน็ตเช่นกัน

ตอนนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีโปรแกรมสำเร็จรูปให้โรงเรียนใช้บันทึกข้อมูลรายบุคคลของนักเรียน ข้อมูลพื้นฐาน การมาเรียน การฝากออมทรัพย์ บันทึกสุขภาพ ของนักเรียนแต่ละคนได้รับการบันทึกไว้ครบถ้วน

“ทีแรกทำในเล่มแล้วครูประมวลผล พอเราใช้โปรแกรม คอมพ์จะรวมให้ทั้งหมดแล้วแสดงผลออกมา” ผู้อำนวยการเล่าความก้าวหน้าด้านไอซีทีของโรงเรียน แล้วขอให้ครูลองเปิดให้ดู

“ครูประจำชั้นจะมีรหัสเข้าดูชั้นตัวเอง ผอ. ดูได้ทั้งโรงเรียน นักเรียนแต่ละคนก็เข้าดูของเขาได้โดยใส่เลขบัตรประชาชนของตัวเอง”

เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้งานของครูเบามือขึ้นมาก “จะลาหยุดก็เข้าโปรแกรมพิมพ์ผ่านระบบนี้ได้ ผอ.ก็สามารถอนุมัติผ่านทางนี้” ครูอีกคนเล่า

เมื่อครูใช้เป็นก็ได้ขยายผลไปสู่เด็กด้วย ครูเล่าว่าตอนนี้นักเรียนชั้น ป.1 พิมพ์งานส่งครูได้

ทุกห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์และจอ ให้ครูและนักเรียนใช้ค้นข้อมูลได้ มีแอพแปลภาษาอังกฤษ-ไทยให้ใช้

สำหรับกลุ่มครูที่ได้หัดใช้ไอซีทีเมื่อสูงวัย “ออกโทรศัพท์ใหม่ ตอนนี้ไม่ใช้โทรศัพท์แบบปุ่มกดแล้ว มีกลุ่มไลน์ของโรงเรียน มีอะไรก็สื่อสารกัน ครูที่เกษียณไปแล้วก็ยังได้ติดต่อกันอยู่ทางไลน์นี่แหละ  ก็ได้ความรู้มาจากตอนนั้น โครงการวิจัยเกิดประโยชน์อย่างมากมาย”

ทั้งต่อนักเรียนเยาวชนที่รับผลต่อเนื่อง และต่อครูสูงวัยที่ได้ทันยุคสมัย และเป็นคนสูงวัยที่ไม่หวั่นกลัวไอซีที