posttoday

นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา ย่อยอาหารสมองให้ง่าย

14 พฤษภาคม 2560

ทำไมเราเลี้ยง PIG แต่กิน PORK ชื่อหนังสือ ผลงานอีกเล่มของ นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา

โดย...มัลลิกา  ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

ทำไมเราเลี้ยง PIG แต่กิน PORK ชื่อหนังสือ ผลงานอีกเล่มของ นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา คุณหมอที่ติดอันดับนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ จากผลงานเรื่องเล่าจากร่างกาย (เข้าใจร่างกาย พฤติกรรมและธรรมชาติ ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการ) เหตุผลของธรรมชาติ (เรียนรู้กลไกร่างกาย และเหตุผลของธรรมชาติ ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการ) 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 1 และเล่ม 2 (วิทยาศาสตร์ของอารมณ์ ความรัก และความเกลียดชัง)

ส่วน ทำไมเราเลี้ยง PIG แต่กิน PORK ว่าถึงการเข้าใจคำศัพท์ภาษาอังกฤษผ่านรากศัพท์ และประวัติศาสตร์ เรียนรู้ความเป็นมาของรากศัพท์และประวัติศาสตร์ที่นำมาสู่การเกิดคำศัพท์ต่างๆ บางคำศัพท์ภาษาอังกฤษมาก่อนที่จะมีประเทศอังกฤษหรือคนอังกฤษเสียอีก เล่มนี้อ่านง่าย เพราะใช้วิธีการเล่าโดยการผูกเรื่องราวของคำศัพท์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เมื่อจบแต่ละบทก็จะมีการโยงเรื่องราวไปสู่คำถามในบทต่อไปอย่างต่อเนื่อง

“ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่อเมริกา พยายามอ่านหนังสือหลากหลาย อยากเปิดโลก อ่านศิลปะ ประวัติศาสตร์ ไปเจอภาษาศาสตร์ก็สนใจ เราเลยเริ่มสะสม อ่านเป็นงานอดิเรก จริงๆ รากคำศัพท์มีที่มา มีวิวัฒนาการของมัน คำศัพท์เริ่มแรกทำหน้าที่แบบหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจที่มา การท่องจำจะลดลง ในเล่มนี้มีไม่กี่คำที่ยกมา เราพยายามให้เกิดการเรียนรู้ต่อ อยากรู้คำอื่นก็หาต่อได้”

เขียนหนังสือแนววิทยาศาสตร์ กลุ่มผู้อ่านมีจำกัด หากแต่หลายเรื่องของ นพ.ชัชพล เป็นที่สนใจของผู้คนในวงกว้าง ซึ่งเป็นไปตามเจตนาของผู้เขียน

“เราพยายามเขียนให้ป๊อป คือป๊อปปูลาร์ สำหรับประชาชนทั่วไป แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสนใจ แต่ตอนนี้จะว่าเป็นเทรนด์ก็ได้ นักวิชาการพยายามจะสื่อสารกลับคืนสู่ประชาชน เหมือนหน้าที่ เขาบอกว่า เมื่อเราทำงานวิจัยเราต้องคืนความรู้ให้ประชาชน ผมเชื่อว่า โลกทุกวันนี้ Knowledge based economy ความร่ำรวยของประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ จะนำไปสู่เศรษฐกิจที่แข็งแรง

“ผมเชื่อว่าเราอาศัยอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ทุกวันนี้เราเหมือนปลาว่ายในน้ำ แต่ไม่สนใจว่าน้ำก็เป็นวิทยาศาสตร์ สีที่ใช้ย้อมผ้าก็คือวิชาเคมี ยาสีฟัน สบู่ เราเวียนว่ายในโลกวิทยาศาสตร์ ของที่เรากินก็มีสารเคมี เพราะความที่เราไม่สนใจโลกวิทยาศาสตร์ ถ้าเรารับสารรู้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ได้ จะมีหลายอย่างที่เราพิจารณาตัดสินมากขึ้น ชั่งน้ำหนักได้ดีขึ้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ตอนแรกที่ผมเขียนเรื่องวิวัฒนการของมนุษย์ คนก็ยังไม่คุ้นเคยกับมัน ไม่รู้เรื่องนี้น่าสนใจไหม เพราะเขาไม่ได้อ่าน แต่พอได้อ่านเขาก็ค้นพบว่ามันน่าสนใจ ผมว่าช่องว่างระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับไม่เชี่ยวชาญจะแคบลงเรื่อยๆ เพราะตอนนี้คนสามารถหาความรู้ได้”

ตอนนี้จะเรียกว่า นพ.ชัชพล เป็นนักเขียนเต็มตัวก็ได้ “ตอนนี้งานเขียนเป็นอาชีพเดียวในตอนนี้ ผมโฟกัสให้ความสนใจเขียนหนังสือ งานอื่นๆ อย่างบรรยายก็ยังไม่ทางการ แต่ผมก็รู้สึกเป็นคนนอกของวงการนักเขียนตลอด เพราะเราไม่มีการศึกษาการเขียนอย่างเป็นทางการ เราใช้ภาษาไม่สวย ภาษาของนักเขียนเขามีคลังศัพท์ใช้เยอะ แต่ขณะเดียวกันผมก็พยายามสื่อสารด้วยภาษาไทยแบบที่เข้าใจง่าย เป็นการพยายามแชร์ความรู้ที่เราเรียนมา หวังว่าจะเกิดประโยชน์

“ตอนนี้แม้จะเขียนได้เร็วขึ้น แต่ทุกครั้งที่เขียนยังยากเสมอ อย่างเล่มแรกผมไม่มีความกดดันอะไร เขียนสิ่งที่ต้องการสื่อสาร แต่พอคนอ่านเยอะ เล่มถัดมาคนจะคาดหวังมันเลยมีความกดดันนิดหน่อย แต่ก็คิดได้ว่า เราเขียนสิ่งที่เชื่อว่าดี ที่เราชอบ นี่คือสิ่งที่เราว่าน่าสนใจ สิ่งที่เราเขียนอาจโดนใจและไม่โดนใจใครก็ได้”

แม้จะถ่อมตัวว่าไม่ใช่นักเขียน แต่ นพ.ชัชพล เลือกเส้นทางให้ชีวิตในอนาคตแล้วว่า จะยึดงานเขียนหนังสือ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่อยากถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับทราบและเข้าใจในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว น่าเบื่อ ต้องนักวิชาการ หรือคนในแวดวงเท่านั้นที่ควรรู้ แต่ประชาชนต้องรู้เพื่อจะเข้าใจและนำไปปรับใช้ให้ชีวิตดีขึ้น