posttoday

ม.ล.บวรชัย วรวรรณ ‘ภาพนก’ ความสุขที่ไม่ได้จบแค่กดชัตเตอร์

13 พฤษภาคม 2560

ภาพหนึ่งใบแทนคำเล่าเรื่องได้หมื่นคำ ช่างภาพระดับเทพในประเทศไทยนี้มีอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าจะถามหากัปตันขับเครื่องบินที่ถ่ายภาพระดับเทพ

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ : ม.ล.บวรชัย วรวรรณ, ทวีชัย ธวัชปกรณ์

 ภาพหนึ่งใบแทนคำเล่าเรื่องได้หมื่นคำ ช่างภาพระดับเทพในประเทศไทยนี้มีอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าจะถามหากัปตันขับเครื่องบินที่ถ่ายภาพระดับเทพ เวลานี้ทุกคนต้องชี้เป้าไปที่เจ้าของล็อกอิน "มอมแมม" แห่งเว็บไซต์พันทิปดอทคอมที่สร้างกระทู้ในตำนาน "ห้องทำงานน้อยๆ เก้าอี้เล็กๆ ของผม"

 เขาคือ กัปตัน ม.ล.บวรชัย วรวรรณ กัปตันสายการบินไทย ผู้รักการถ่ายภาพ

 “อาชีพการงานของผม เป็นอาชีพที่ต้องเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งทำให้เราได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ ที่ได้เห็นสภาพความสวยงามของภูมิประเทศในแต่ละเมืองทั่วโลก จึงเกิดไอเดียที่จะเก็บภาพสวยงามเหล่านั้น เราก็เริ่มกิจกรรมถ่ายภาพขึ้นมา แรกๆ เหมือนคนทั่วไปในการถ่ายภาพที่เริ่มเดินทางไปเที่ยวถ่ายโน่นนี่ไปเรื่อย

ม.ล.บวรชัย วรวรรณ ‘ภาพนก’ ความสุขที่ไม่ได้จบแค่กดชัตเตอร์

 "พอรู้สึกสนุกก็เริ่มขยายพัฒนาแนวทางการถ่ายภาพ เริ่มจากถ่ายภาพท่องเที่ยว ถ่ายภาพบุคคล ภาพถ่ายมาโคร ถ่ายภาพทางอากาศ และมาจบที่ถ่ายภาพทางธรรมชาติ ซึ่งผมเน้นไปที่การถ่ายภาพนก” ม.ล.บวรชัย เล่าด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความสุขเมื่อพูดถึงการถ่ายภาพที่เขารักและเสริมต่อในทันทีว่า

 “นกในเมืองไทยมีหลายพันชนิด มีทั้งหาได้ง่าย หายาก และหายากมากที่สุด ถ่ายมาเรื่อยๆ เริ่มจริงจังจนการถ่ายภาพนกกลายเป็นกระแสนิยมและขยายตัวในประเทศไทย มีชมรมสมาคมการถ่ายภาพเกิดขึ้นมากมาย ก็ทำให้ชื่อของผมเริ่มติดอันดับคนที่ถ่ายภาพนกเป็นอันดับต้นๆ ที่ติดก็เพราะว่าเราเป็นคนรุ่นแรกๆ ที่เริ่มเข้ามาถ่ายภาพนก เวลาที่มีคนค้นหาภาพนก หรือแนวทางการถ่ายภาพนกก็จะเห็นชื่อของเราติดอันดับ ทำให้เรามีคนรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ"

 ม.ล.บวรชัย เล่าลึกย้อนหลังว่า เขาเพิ่งจะมาเริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา และเริ่มถ่ายภาพนกเมื่อ 7 ปีที่แล้ว อาศัยเรียนรู้จากประสบการณ์ เพราะคงไม่มีหนังสือเล่มไหนที่จะเขียนเรื่องการถ่ายภาพได้ละเอียดเท่ากับประสบการณ์ตัวเอง

 "ทุกครั้งที่ออกไปถ่ายภาพ เราจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ กลับมาปรับปรุง และเรียนรู้พฤติกรรมแต่ละแบบของนกได้มากขึ้น บางครั้งเสียงของนกเป็นเสียงที่สำคัญมาก ถ้าเราจำเสียงได้จะง่ายต่อการตามหาได้เยอะว่าเสียงนี้นกกำลังสบายใจ ร้องหาคู่ หรือระวังภัย เสียงเหล่านี้จะทำให้เราจับสัญญาณของนกได้ ซึ่งต้องใช้เวลาและประสบการณ์หาอ่านไม่ได้ในหนังสือ"

ม.ล.บวรชัย วรวรรณ ‘ภาพนก’ ความสุขที่ไม่ได้จบแค่กดชัตเตอร์

 สำหรับอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างสุขในงานอดิเรกยามว่างที่เขาชอบ ม.ล.บวรชัย บอกว่า กล้องถ่ายรูปเขาเริ่มตั้งแต่ใช้กล้องตัวเบสิกพื้นฐานเพื่อเรียนรู้การถ่ายภาพอย่างถูกต้อง และใช้จนกระทั่งรู้สึกว่ากล้องที่มีอยู่ ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้

 "ที่บอกอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่ากล้องที่เราใช้ไม่ดีนะ แต่เป็นเพราะเรารีดประสิทธิภาพของกล้องออกมาอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังไม่สามารถได้ภาพอย่างที่เราต้องการ ผมถึงเริ่มเปลี่ยนกล้องไปใช้รุ่นที่มีความสามารถในการทำงานที่ดีขึ้น จริงอยู่ว่ากล้องรุ่นใหม่ๆ ก็มีการพัฒนาความสามารถที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้ถึงกับตามเทคโนโลยี จะเลือกเทคโนโลยีของกล้องตามสิ่งที่เราต้องการ

 “อย่างเช่นการถ่ายภาพนก ในบางจังหวะ ในบางสภาพแสง บางช่วงระยะกล้องทั่วไปไม่สามารถถ่ายได้ มันต้องมีเทคนิคการถ่ายภาพที่สูงมาก บางพื้นที่มีความแตกต่างแสงสูงมาก กล้องธรรมดาอาจจะต้องใช้การถ่าย 3 ภาพแล้วเอามารวมกันเป็นภาพเดียว เพื่อให้เกิดภาพที่สวยงาม แต่กล้องที่ระดับที่ดีขึ้นไปอีกระดับจะใช้การถ่ายเพียงแค่ 1 ภาพก็เพียงพอแล้ว ซึ่ง 1 ภาพ กับ 3 ภาพในการถ่าย 1 ครั้ง มีความหมายอย่างมากกับจังหวะในภาพ โดยเฉพาะการถ่ายภาพนกหรือภาพสัตว์ป่า เพราะเรามีโอกาสแค่ครั้งเดียวที่จะได้เก็บภาพนั้น ดังนั้นความสำคัญของอุปกรณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เราได้ภาพอย่างที่ต้องการ

 ม.ล.บวรชัย ย้ำว่า การถ่ายภาพนกเป็นสิ่งที่เขามองว่าเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความอดทนสูงมาก การที่จะถ่ายภาพนกให้สวยได้ สิ่งแรกที่ต้องการคือ ใจต้องรักก่อน รักแนวนี้ ถ้าไม่รัก บอกได้เลยว่าถ่ายแค่ครั้งเดียวก็แย่แล้ว

ม.ล.บวรชัย วรวรรณ ‘ภาพนก’ ความสุขที่ไม่ได้จบแค่กดชัตเตอร์

 "ครั้งเดียวเลิก ที่บอกอย่างนี้ เพราะการถ่ายนกเราต้องเข้าไปอยู่ในจุดที่นกอาศัยอยู่ในป่า อยู่ห่างไกลจากผู้คน นกกินหนอนเป็นอาหาร และหนอนจะชอบอาศัยในป่าในจุดสกปรก เช่น น้ำครำ หรือบางครั้งก็อยู่หลังห้องน้ำในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งนั่นล่ะคือสถานที่ที่นกเหล่านั้นจะมาหาอาหาร

 “คิดดูสิว่าเราจะต้องรออยู่ตรงนั้นเป็นชั่วโมงๆ ทนกลิ่นเหม็น นั่งรอเวลาถ่ายภาพในบังไพร ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะทำแบบนั้นได้ เวลาผมถ่ายภาพนก ผมจะต้องรู้ก่อนว่าเวลาที่นกออกมาหากินคือเวลาอะไร เพื่อที่จะได้ไปก่อนเวลา หากนกหาอาหารตอนพระอาทิตย์ขึ้น เราต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปนั่งรอ ก่อนที่นกจะมาถึงจุดที่เราจะถ่ายภาพ อาจจะต้องรอ 2-3 ชั่วโมง หรือรอทั้งวันก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น ซึ่งนกมีทั้งนกในเมืองและนกในป่า มีทั้งอยู่เหนือสุดของประเทศ และใต้สุดของประเทศ อีกทั้งมีช่วงเวลาในการอาศัยอยู่อย่างจำกัด วันหนึ่งเพื่อนโทรมาบอกว่าพบนกที่ผมกำลังตามถ่ายนี้อยู่ อ.ฝาง เราต้องรีบเก็บกระเป๋าเดินทางไปถ่ายรูปทันที เพราะนกอาจจะอยู่ แค่ไม่กี่วัน หากไปช้าเขาอาจจะอพยพไปแล้วก็ได้

 “เวลาอยู่ในบังไพร เราจะนั่งคอย ฟังเสียง สังเกต บางตัวมากับพื้น บางตัวมาจากยอดไม้ บางตัวมาในระดับสายตา เราต้องรู้จักนกที่เราจะถ่ายและรอคอยด้วยสายตา ต้องรู้ธรรมชาตินก เสียงนกที่ร้อง บางตัวก็ร้อง บางตัวก็ไม่ร้อง เวลานั่งในป่าบางทีมันเงียบเสียจนเราได้ยินเสียงนกเดินบนพื้นเขี่ยใบไม้ หรือกระพือปีก ก็แสดงว่านกตัวนี้กำลังเริ่มจะเข้ามาในทางที่ถ่ายแล้ว เราก็ต้องเตรียมตัว จับภาพนั้นไว้ หากพลาดก็คือจบทุกอย่างที่เตรียมกับเวลาที่รอคอย 2-3 ชั่วโมงกลับไม่ได้อะไรเลย”

 เมื่อถามช่างภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทยผู้ถ่อมตนต่อว่า ชอบถ่ายภาพนกประเภทไหนมากที่สุด เจ้าของนามแฝงมอมแมม ตอบกลับมาอย่างอารมณ์ดีกว่า

 “ในแวดวงคนถ่ายนกมีอยู่หลายประเภท เช่น บางคนถ่ายนกเพื่อเก็บเป็นบันทึกของตัวเองที่ถ่ายนกให้ได้มากที่สุด บางคนชอบนกถ่ายยาก ขอให้บอกว่าอยู่ตรงไหน ขอให้บอกดั้นด้นไปถ่ายให้ได้ และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มของผมเอง ถ่ายนกเพื่อความสวยงาม จะถ่ายยากถ่ายง่ายไม่สน ขอให้สวยก็จะตามไปถ่ายให้ได้ แต่ถ้ามีโอกาสจะได้ถ่ายภาพนกหายากสุดๆ ผมก็ไปเหมือนกัน

 “คนทั่วไปคิดว่าการถ่ายภาพนกเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ แล้วต้องมีมารยาทเยอะ เพราะเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติโดยตรง เสี่ยงต่อการรบกวนธรรมชาติสูง มารยาทอย่างแรกที่ต้องมีคือมารยาทต่อธรรมชาติ ขยะต้องห้ามทิ้งจะเศษเล็กน้อยอย่างไรก็ต้องห้าม ไม่ตัดต้นไม้ ไม่หักกิ่งไม้ ต้นไม้ล้มลุกไม่เป็นไร แต่ต้นไม้ยืนต้นห้ามเด็ดขาด"

ม.ล.บวรชัย วรวรรณ ‘ภาพนก’ ความสุขที่ไม่ได้จบแค่กดชัตเตอร์

 มารยาทและความเคารพที่มีต่อสถานที่และต่อนกที่จะไปถ่ายภาพ ม.ล.บวรชัย บอกว่าต้องรบกวนนกให้น้อยที่สุด เช่น นกทำรังหรือกำลังเลี้ยงลูกอยู่ ต้องมีมารยาทว่าเราควรจะเข้าไปใกล้เท่าไหร่

 "ถ้าใกล้มากๆ บางทีนกทิ้งลูกทิ้งรังไปเลยปล่อยให้ลูกตาย หรือบางครั้งเรารบกวนธรรมชาติด้วยการเข้าใกล้เกินไปทำให้นกไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ เพราะเราเข้าไปกวนธรรมชาติมาก เพราะนกมันกลัวเรา อย่างเช่นนกใช้เวลาป้อนอาหารลูกประมาณ 30 นาที/ครั้ง กลายเป็น 1-2 ชั่วโมง/ครั้ง ก็แสดงว่าเราเข้าไปรบกวนมากเกินไปทำให้นกมีความระวังตัวมากขึ้น

 “สุดท้ายคือการมีมารยาทต่อเพื่อนช่างภาพที่เข้ามาถ่ายนกด้วยกัน เราไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนนก ทำให้นกไม่เข้ามาในจุดถ่าย ทำให้ช่างภาพคนอื่นไม่สามารถถ่ายภาพนกได้ คนที่เข้ามาใหม่ หากเห็นช่างภาพคนอื่นกำลังรอถ่ายอยู่ก็ไม่ควรเข้าไปรบกวน ควรรอให้เขาออกมาก่อนแล้วตัวเองค่อยเข้าไป ส่วนคนที่กำลังถ่ายภาพอยู่ หากได้ภาพที่ต้องการแล้ว ก็ควรรีบออกเพื่อให้โอกาสคนอื่นเข้าไปถ่ายภาพได้บ้าง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นักถ่ายภาพนกควรปฏิบัติ"

 กลเม็ดเคล็ดลับของ ม.ล.บวรชัย ในการที่จะมีความสุขในการถ่ายภาพนกโดยไม่รำคาญและหงุดหงิดใจ

 "เวลาที่ผมเจอช่างภาพรวมกลุ่มถ่ายกันเยอะๆ ผมจะเลี่ยงไม่เข้าไป ปล่อยให้พวกเขาถ่ายไป เพราะความสุขในการถ่ายภาพของผมไม่ได้มาจากการที่ได้กดชัตเตอร์ถ่ายภาพอย่างเดียว แม้จะใช้เวลา 2-3 วันถ่ายภาพนกที่ต้องการ แต่สุดท้ายกลับถ่ายไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไร เพราะผมยังมีความสุขจากการเดินทาง ความสุขกับการได้อยู่กับภรรยาเพียงลำพัง 2 คน ความสุขกับการได้อยู่กับธรรมชาติ หลายครั้งที่ภูเขาทั้งลูกเป็นของเราเพียงแค่ 2 คน ได้นอนเต็นท์ ตื่นเช้า ชงกาแฟ สูดอากาศบริสุทธิ์ แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว” ม.ล.บวรชัย ทิ้งท้าย พร้อมเปรยความฝันหลังเกษียณว่าจะออกเดินทางถ่ายภาพนกต่อไปเพื่อให้ภาพปักษาอันแสนสวยงามนั้น เป็นเครื่องเตือนใจถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่