posttoday

พลาสติกสู่น้ำมัน

07 พฤษภาคม 2560

ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกเป็นปัญหาที่พูดกันมานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้เสียที โดยการผลิตพลาสติกในรอบ 50 ปี

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกเป็นปัญหาที่พูดกันมานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้เสียที โดยการผลิตพลาสติกในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า และอยู่ที่เกือบปีละ 350 ล้านตันในปัจจุบัน

อาเดรียน กริฟฟิธส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของรีไซคลิง เทคโนโลยี จากอังกฤษ กำลังท้าทายแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยเครื่องจักรที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมอย่างพลาสติก ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคือ น้ำมัน

บลูมเบิร์ก รายงานว่า เครื่องจักรของกริฟฟิธส์มีขนาดเท่ากับสนามเทนนิส โดยเริ่มต้นทำงานด้วยการใส่ขยะพลาสติกลงไปในท่อ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการคัดแยกสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป เช่น ก้อนหินหรือเศษอาหาร และเมื่อขั้นตอนดังกล่าวสำเร็จ ขยะพลาสติกจะเข้าไปสู่กล่องหลอมละลายที่มีความร้อนสูงราว 500 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้พลาสติกระเหยออกเป็นไอที่เรียกว่า พลากซ์ (Plaxx) ก่อนแยกออกมาเป็นพลังงานที่สามารถเอาไปใช้กับเครื่องยนต์ หรือเอาไปทำพลาสติกได้อีกครั้งหนึ่ง

เทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคเดียวกับกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ที่เรียกว่า เทอร์มอลแครกกิ้ง (Thermal Cracking) ซึ่งใช้ความร้อนในการระเหยน้ำมันเพื่อคัดแยกออกเป็นน้ำมันชนิดต่างๆ เช่น น้ำมันเครื่องยนต์และแก๊สโซลีน

กริฟฟิธส์ เปิดเผยว่า ต้องการผลิตเครื่องจักรดังกล่าวในลักษณะจำนวนมาก แล้วเปิดให้เช่า โดยเครื่องจักรดังกล่าวมีต้นทุนในการผลิตและติดตั้งประมาณเครื่องละ 3 ล้านปอนด์ (ราว 135 ล้านบาท) รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอีก 5 แสนปอนด์/ปี (ราว 22 ล้านบาท) แต่คาดว่าเครื่องจักรดังกล่าวจะช่วยสร้างรายได้ประมาณ 1.7 ล้านปอนด์/ปี (ราว 59 ล้านบาท) หมายความว่าสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 2 ปีครึ่ง

รีไซคลิง เทคโนโลยี ตั้งเป้าให้เครื่องจักรดังกล่าว 100 เครื่องสามารถทำงานได้ภายในปี 2025 โดยจะเริ่มต้นใช้เครื่องแรกในปี 2018 กับขยะพลาสติก 7,000 ตัน/ปี และผลิตพลากซ์ให้ได้ 5,000 ตัน/ปี