posttoday

ประติมากรรมรอบพระเมรุ ศิลปะในรัชกาลที่ 9

03 พฤษภาคม 2560

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดย...กรองทรัพย์ ชาตินาเสียว / วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช / กิจจา อภิชนรจเรข

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย มี “พระเมรุมาศ” ซึ่งเปรียบได้กับ “เขาพระสุเมรุ” อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล การออกแบบภูมิทัศน์มีการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริต่างๆ นำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบสร้างสรรค์ในแต่ละส่วนพื้นที่รอบมณฑลพิธี

ส่วนประกอบหนึ่งซึ่งสำคัญที่จะทำให้พระเมรุมาศมีความสมบูรณ์ คือการจัดสร้างประติมากรรม ซึ่งจะได้ประดับพระเมรุมาศเป็นอีกหนึ่งความพิเศษที่เผยให้เห็นความวิจิตรและความยิ่งใหญ่ของฝีมือช่างปั้นภายในสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จ.นครปฐม มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลเอกสารกรมศิลปากร ได้กำหนดงานประติมากรรมซึ่งสร้างจากคติความเชื่อโลกและจักรวาล โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ จำนวน 12 องค์ (เชิญพุ่มโลหะ 4 องค์ เชิญฉัตร 8 องค์) เทวดานั่งรอบพระเมรุมาศ จำนวน 56 องค์ อยู่ระหว่างดำเนินขั้นตอนจัดทำเครื่องทรงและเก็บรายละเอียดส่วนใบหน้า และจัดทำเครื่องทรงเก็บรายละเอียดส่วนลวดลาย

ส่วนมหาเทพทั้ง 4 องค์ ประกอบด้วย พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ และพระพรหม ขั้นตอนการดำเนินงาน ณ เดือน เม.ย. พระพรหมอยู่ระหว่างการพ่นสีรองพื้น พระนารายณ์หล่อแบบเสร็จแล้วรอการลงสี เคลื่อนย้ายไปยังท้องสนามหลวง พระอินทร์และพระศิวะอยู่ระหว่างการปั้นเก็บรายละเอียดและเครื่องทรง นอกจากนี้ยังมีท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ (ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก) ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ (ชั้นที่ 3) จำนวน 4 คู่ 4 ทิศ ขณะที่ทางขึ้นบันไดพระเมรุมาศจะมีสัตว์มงคลประจำทิศ ได้แก่ ช้าง ม้า โค สิงห์ ทิศละ 1 คู่ รวมทั้งหมด 4 ทิศ รวมทั้งหมด 8 ตัว ขณะนี้ม้าหนึ่งคู่และโคหนึ่งคู่ดำเนินการเขียนสีและเสร็จแล้ว ช้างตัวที่หนึ่งอยู่ระหว่างการหล่อไฟเบอร์กลาส เตรียมทำสี ส่วนช้างตัวทujสองอยู่ระหว่างการดำเนินการพิมพ์เพื่อหล่อไฟเบอร์กลาส ส่วนสิงห์อยู่ระหว่างการปั้นปรับแก้ ทุกส่วนปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์และงดงามที่สุดในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้

ประติมากรรมรอบพระเมรุ ศิลปะในรัชกาลที่ 9

ออกแบบพระเมรุมาศตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา

การออกแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ มีลักษณะเป็นทรงบุษบกยอดประสาท เกี่ยวพันกับคติความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาและพราหมณ์ โดยทางพระพุทธศาสนายึดตามคติไตรภูมิ กล่าวถึงเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม ส่วนในทางศาสนาพราหมณ์นับถือพระพรหม พระนารายณ์ พระศิวะ และคนไทยมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า ตลอดจนได้คำนึงถึงความสวยงาม หรือสุุนทรียศาสตร์ ประโยชน์ใช้สอย และถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ฐานานุศักดิ์ หรือองค์ประกอบในทางสถาปัตยกรรมเทพชุมนุมผู้ปรารถนาไปแดนพุทธภูมิ

การจัดสร้างรูปปั้นประติมากรรมประดับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในครั้งนี้ สำนักช่างสิบหมู่ได้คัดลอกลวดลายมาจากภาพจิตรกรรมสมุดข่อย สมุดไทย และประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ที่ตั้งประดิษฐ์อยู่บริเวณปราสาทพระเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) รวมถึงที่เป็นภาพวาดพระราชพิธีโบราณ เพื่อเป็นต้นแบบในการปั้นรูปหล่อ อาทิ รูปปั้นเทวดา สัตว์มงคลประจำทิศ ช้าง ม้า วัว สิงห์ ตลอดจนการจัดสร้างสัตว์หิมพานต์ นรสิงห์ กินนร ต่างๆ ซึ่งการจัดสร้างประติมากรรมจะยึดถือตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมาในเรื่องของไตรภูมิกถา จึงต้องใช้ต้นแบบจิตรกรรมที่มีที่ไปที่มาอย่างชัดเจน โดยเทวดายืน และเทวดานั่ง จะเป็นแบบเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้จะมีการปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีความสมดุลกับขนาดของพระเมรุมาศที่ใหญ่ การปั้นประติมากรรมทุกรายการในครั้งนี้ จัดสร้างตามขนบธรรมเนียม และสมพระเกียรติสูงสุด โดยยึดหลักตามแบบโบราณราชประเพณี เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8

ประติมากรรมรอบพระเมรุ ศิลปะในรัชกาลที่ 9 ประสพสุข รัตน์ใหม่

ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9

การสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ โดยรวมเป็นศิลปะยุคสมัยรัชกาลที่ 9 เพียงแต่รูปแบบการจัดสร้างเป็นการนำเอารูปแบบโบราณมาจัดสร้าง ยึดตามแนวความคิดเดิม แต่วิธีการทำใช้วิธีสมัยใหม่ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้สร้างพระเมรุมาศให้เป็นแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เป็นลักษณะเฉพาะ

ประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า กลุ่มประติมากรรม ช่างสิบหมู่ดำเนินงานไปตามขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบลายเส้น ปั้นต้นแบบ และกำลังขยายแบบเท่าขนาดจริง ขึ้นโครงสร้างและผูกไม้ครอส ขึ้นดินโกลนหุ่น ปั้นกายวิภาค ใส่เครื่องประกอบ เก็บรายละเอียด ทำพิมพ์ หล่อชิ้นงาน ตกแต่งชิ้นงาน ลงพื้นและเขียนสี ลงสีทอง/ปิดทองคำเปลว ประดับแวว และติดตั้งประกอบพระเมรุมาศ

“ลักษณะการปั้นประติมากรรมในงานพระเมรุมาศครั้งนี้มีความพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะเทวดาและเหล่าทวยเทพทั้งหลาย จะปั้นให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเดิมเราจะปั้นเทวดาแบบไทย ทรงเครื่อง มีหน้าตาแบบหัวโขน แต่เมื่อมาผนวกเข้ากับฉากบังเพลิง ที่จะเขียนเรื่องราวโครงการพระราชดำริ ซึ่งจะมีรูปคนที่เป็นแบบเหมือนจริง จึงสรุปกันว่า รูปแบบศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรืออะไรก็ตามจะเป็นแบบค่อนข้างเหมือนคนจริง ยกตัวอย่างเช่น มหาเทพและเทวดาจะปั้นให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น คือ มีกล้ามเนื้อแต่พองาม ขณะเดียวกันก็ยังมีความอ่อนช้อย โค้งมน มีความร่วมสมัยเป็นแบบศิลปะในรัชกาลที่ 9 สำหรับขั้นตอนการทำพิมพ์ จะหล่อต้นแบบไว้แล้วมาปรับแต่งให้สวยงามอีกครั้ง ก่อนที่จะทำแม่พิมพ์ยาง หล่อเป็นไฟเบอร์ แล้วลงสี” ประสพสุข กล่าว

ด้าน มานพ อมรวุฒิโรจน์ นายช่างศิลปกรรม อาวุโส กรมศิลปากร ผู้เคยทำงานพระเมรุมาศถวายตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 กล่าวถึงมหาเทพ 4 องค์ที่ต้องจัดสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับแบบร่างพระเมรุมาศที่ออกแบบเอาไว้เป็นเขาพระสุเมรุ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปรียบเหมือนสมมติเทพที่ลงมาช่วยโลกมนุษย์ และวันนี้ต้องส่งพระองค์กลับคืนสู่สวรรค์ เราต้องสร้างมหาเทพเพื่อส่งเสด็จ มีแต่ละชั้นลดหลั่นกันไป

“มหาเทพมี 4 องค์สูงราว 2 เมตรไม่รวมฐาน ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ส่วนสูงราว 2 เมตรไม่รวมฐานอย่างละ 4 ส่วน ช้าง ม้า วัว ฯลฯ ปั้นอย่างละ 1 แต่ต้องทำ 2 ตัว เพราะให้ตั้งซ้ายขวาของบันได มีครุฑ ส่วนเทวดานั่งใช้เยอะราว 32 องค์ ซึ่งเทวดาที่เราปั้นในปัจจุบันจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างพระเมรุมาศที่ใหญ่ เพื่อให้สมพระเกียรติที่สุด”

ประติมากรรมรอบพระเมรุ ศิลปะในรัชกาลที่ 9 มานพ อมรวุฒิโรจน์

ช่างสิบหมู่ ทุ่มเทแรงกายใจถวายรัชกาลที่ 9

งานปั้นครั้งนี้ถือว่ามีความยากและท้าทาย เนื่องจากเป็นเรื่องคติความเชื่อช่างปั้นจึงต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม เช่น เทพแต่ละองค์มีเครื่องทรงอย่างไรเพื่อให้เข้ากับคติความเชื่อ ลวดลายก็ต้องปรับให้เป็นสมัยใหม่ เป็นศิลปะยุครัชกาลที่ 9 เช่น ลายผ้านุ่งติดขี้ผึ้งให้มีลวดลายลายไทยประยุกต์ หรือหน้าตารูปทรงของเทวดามีกล้ามเนื้อที่คล้ายมนุษย์มากขึ้น

“ขั้นตอนการทำงานองค์หนึ่งๆ เด่นๆ เช่น มหาเทพ องค์พระนารายณ์ใช้เวลาทำงาน 3 เดือนกว่า ถอดรูปพิมพ์เสร็จแล้ว หล่อไฟเบอร์รอทาสีอยู่ที่สนามหลวง เริ่มทำตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่วาดแบบ หล่อ ทำเป็นแบบจำลองให้ทอดพระเนตร พอแบบผ่านแล้วต้องขยายแบบให้มีขนาด 2.15 เมตร เพื่อให้เข้ากับโครงสร้างพระเมรุมาศ วาดเส้นทำโครงเหล็กข้างในให้เท่าขนาดจริง ให้ช่างตัดเหล็กทำโครงเหล็กข้างในเพื่อรองรับดินเหนียวได้ แล้วค่อยๆ พอกดินให้เข้ารูปทรงและปรับแต่งโดยช่างฝีมือเพื่อทำต้นแบบ จากได้โครงสร้างก็แกะลวดลาย ได้รูปทรงที่ต้องการแล้วทำการถอดพิมพ์ มีทั้งพิมพ์ทุบ หรือพิมพ์ชิ้น ถ้าทำพิมพ์ยางก็ทำการหล่อ ได้พิมพ์แล้วก็หล่อเป็นไฟเบอร์หนาประมาณ 2 มิลลิเมตร แล้วก็ปรับแต่งตะเข็บ ลงสี เขียนสี เก็บสีโดยช่างจิตรกรรม ซึ่งในงานนี้ช่างฝีมือตั้งใจกันทำงานที่สุด หุ่นแต่ละองค์มีกำหนด ก.ย.นี้ต้องแล้วเสร็จ งานนี้ถือเป็นงานพระเมรุที่ยิ่งใหญ่ทำขึ้นเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ เราจึงทำงานถวายสุดฝีมือ เพราะในหลวงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยช่างฝีมือจึงพยายามทำสุดฝีมือ” มานพ กล่าว

ในการจัดสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้มีความพิเศษมีการจัดสร้างประติมากรรมรูปคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขนาดเท่าตัวจริง เพื่อประดับพระเมรุมาศในตำแหน่งใกล้กับพระบรมโกศ เพื่อสื่อให้เห็นถึงความผูกพันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อสุนัขทรงเลี้ยง โดยมีการจัดทำเพียงอิริยาบถเพียงแบบเดียวจำนวน 1 สุนัขเท่านั้น ซึ่งได้คัดเลือกภาพถ่ายคุณทองแดง ซึ่งอยู่ในอิริยาบถนั่งเฝ้าอยู่เคียงข้างพระองค์อีกด้วย