posttoday

มองภาพหัตถกรรมอนาคต เทรนด์งานฝีมืออาเซียน

19 เมษายน 2560

ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าหัตถกรรมของไทยในปี 2559 มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท หรือ 8,455 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย...พริบพันดาว ภาพ SACICT

ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าหัตถกรรมของไทยในปี 2559 มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท หรือ 8,455 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนั้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เครื่องเงินและเครื่องทอง ผลิตภัณฑ์ผ้า งานไม้ และอื่นๆ จึงนับเป็นทิศทางอันดีของการดำเนินงานส่งเสริมด้านศิลปหัตถกรรมไทย

เทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ (International Innovative Craft Fair 2017 - IICF) ได้จัดงานสัมมนา Craft Trend in ASEAN ภายใต้แนวความคิดหรือคอนเซ็ปต์ Future of Crafts in ASEAN โดยเชิญเหล่าผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์จากนานาประเทศในอาเซียนมาแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองของงานหัตถกรรมในแต่ละท้องถิ่นของตนผ่านการบรรยายในหัวข้อ “ภาพรวมของงานหัตถกรรมและการดำเนินงานในการพัฒนาหัตถกรรมในปัจจุบัน” และกิจกรรมเสวนาเรื่อง “มองภาพหัตถกรรมในอนาคต”

ทิศทางงานหัตถกรรมในประเทศไทย

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ศศป. หรือ The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า “SACICT” (อ่านพ้องเสียงกับคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในภาษาไทย) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ที่ผ่านมา ศศป. ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ของการเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และอนุรักษ์สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากลเพื่อให้ชุมชนกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน จึงนับเป็นทิศทางอันดีของการดำเนินงานส่งเสริมด้านศิลปหัตถกรรมไทย”

มองภาพหัตถกรรมอนาคต เทรนด์งานฝีมืออาเซียน

ภาพรวมของงานหัตถกรรมในประเทศ โครงการพัฒนางานหัตถกรรม ทิศทางการพัฒนาในอนาคต ตลอดจนวิสัยทัศน์ที่มีต่อเทรนด์ของงานหัตถกรรมในอีก 10 ปี ข้างหน้า อัมพวัน ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบัน SACICT มีสมาชิกอยู่ในประเทศไทยกว่า 2,500 ราย ในจำนวนนั้นกว่า 1,500 ราย เป็นสมาชิกที่มีข้อมูลอยู่ใน Crafts Map (แอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ที่ SACICT จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลและแผนที่ของร้านค้าศิลปหัตถกรรมในประเทศไทย) ประกอบด้วยครูศิลป์ ครูช่าง ทายาทช่างศิลป์ ตลอดจนชุมชนผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม โดยสินค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ งานสิ่งทอ เครื่องสาน งานโลหะ เซรามิก และเครื่องเงินเครื่องทอง

“ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางของการรวบรวมข้อมูลศิลปหัตถกรรมไทย แต่ SACICT ยังสนับสนุนและส่งเสริมด้านการพัฒนางานหัตถกรรมให้เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน เพื่อสอดรับกับเทรนด์และสามารถแข่งขันในตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ มีการจัดงานนิทรรศการศิลปหัตถกรรมในประเทศ และเข้าร่วมงานนิทรรศการซึ่งเกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมและงานดีไซน์ในระดับนานาชาติเป็นประจำ นอกจากนี้ยังจัดงานประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ (INNOVATIVE CRAFT AWARD) เพื่อส่งเสริมและพัฒนางานหัตถกรรมให้เป็นไปอย่างยั่งยืน”

สำหรับอนาคตของงานศิลปหัตถกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น อัมพวัน ชี้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การเข้าถึงงานช่างและงานหัตถกรรมต่างๆ เป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น

“สังเกตได้จากจำนวนสตูดิโอที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ตลอดจนการรวมกลุ่มของคนที่สนใจงานช่างด้านเดียวกัน SACICT จึงต้องการนำเสนอแนวคิดของการเชื่อมโยงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมในแขนงต่างๆ จากหลากหลายวัฒนธรรม ให้รวมกลุ่มเป็น Social Craft Network เพื่อใช้เป็นทิศทางในการวางเทรนด์ของ Craft Trends in ASEAN ในลำดับถัดไปอีกด้วย”

อินโดนีเซีย ‘ผสมผสานอดีตกับอนาคต’

ภาพรวมของงานหัตถกรรมในประเทศอินโดนีเซียว่ามีปัจจัยสำคัญมาจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีภูมิประเทศที่เป็นเกาะจำนวน 17,000 เกาะ และมีชนเผ่า ชนพื้นเมืองที่แยกได้กว่า 365 ชนเผ่า จึงทำให้ผลผลิตจากงานหัตถกรรมของอินโดนีเซียมีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ เทคนิควิธีการทำรวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งานของงานหัตถกรรมในแต่ละประเภท

มองภาพหัตถกรรมอนาคต เทรนด์งานฝีมืออาเซียน

เป็นที่น่าสนใจว่าแม้งานหัตถกรรมบางส่วนที่แทบจะสูญหายไปจากประเทศแล้ว แต่ก็ยังมีงานบางส่วนที่ยังคงอยู่ และสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนานนับศตวรรษจนถึงทุกวันนี้

ไมย์รา วิดิโอโน ประธานแห่ง Indonesia Craft Organization จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ขยายความว่า งานหัตถกรรมในประเทศอินโดนีเซียสามารถแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ เส้นใยธรรมชาติ สิ่งทอ หนัง โลหะ เซรามิก ไม้ แก้ว หิน และอื่นๆ โดยงานแต่ละแบบจะกระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ โดยมีเกาะชวาซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด เป็นเกาะที่รวมความหลากหลายและมีประเภทของงานหัตถกรรมมากที่สุดเช่นกัน

“จุดเด่นของงานหัตถกรรมในประเทศอินโดนีเซียอยู่ที่ความงดงามของชิ้นงานที่มีค่าในเชิงศิลปะ นอกจากนี้ยังรวมถึงทักษะการทำงานที่โดดเด่น คุณภาพของชิ้นงานที่ทำอย่างประณีตบรรจง ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่หลากหลายเพื่อให้ได้รูปทรง สีสัน และพื้นผิวที่งดงาม ส่วนสำคัญอีกประการคือศักยภาพของช่างพื้นเมืองที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่นำเทคนิควิธีการจากวัฒนธรรมต่างประเทศมาผสานเข้ากับงานพื้นเมืองได้อย่างลงตัว โดยไม่ทำให้เสียเอกลักษณ์ของตนไป”

ในส่วนของการพัฒนางานหัตถกรรมในอนาคตนั้น ไมย์รา มองว่าอันดับแรกคือการก้าวไปข้างหน้า โดยนำแนวคิดของการพัฒนาฝีมือที่มุ่งเน้นไปไปที่กระบวนการในค้นหาความหมายจากคุณค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิมมารวมกับนวัตกรรมใหม่ๆ โดยไม่ทิ้งเรื่องการศึกษาและการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนต้องคิดในมุมที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมด้วย จากแนวทางดังกล่าวที่เน้นการผสมผสาน (Hybrid) หรือควบรวมวิธีการทำงานที่ผสานเทคโนโลยีกับวิถีดั้งเดิมไว้ จะช่วยทำให้ได้งานหัตถกรรมใหม่ๆ ที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

มองภาพหัตถกรรมอนาคต เทรนด์งานฝีมืออาเซียน

ลาว ‘ผสมผสานดั้งเดิมเข้ากับสมัยใหม่’

งานหัตถกรรมในลาวได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีสมาชิกในสังกัดรวมกว่า 120 ราย ในจำนวนนั้นราว 25% เป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

ทาร์เรบอน รัตนวง คณะกรรมการ Lao Handicraft Association ได้แบ่งประเภทงานฝีมือในอุตสาหกรรมหัตถกรรมของลาวออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สิ่งทอ (ผ้าไหมและผ้าฝ้าย) เครื่องจักสาน (ไม้ไผ่, หวาย) เครื่องเงินและเครื่องประดับ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เครื่องปั้นดินเผา และผลิตภัณฑ์จากหม่อน

“งานฝีมือในแต่ละประเภทล้วนมีเอกลักษณ์และวิธีการทำแตกต่างกันออกไปในแต่ละชุมชนซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศลาว ทั้งนี้เนื่องจากพลเมืองกว่า 7 ล้านคนของลาวนั้น สามารถแยกย่อยออกเป็นชนพื้นเมืองและชนเผ่าได้กว่า 49 ชนเผ่า แต่ละเผ่าล้วนมีลักษณะการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดจากบรรพบุรุษที่แตกต่างกัน”

ทาร์เรบอน ชี้ว่างานหัตถกรรมของลาวที่มีได้แก่ผ้าทอ โดยเฉพาะผ้าไหมเอกลักษณ์ในงานทอผ้าไหมของชาวบ้านนั้นมีทั้งสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน และเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ซึ่งวัฒนธรรมเช่นนี้สืบทอดกันมาเนิ่นนานนับศตวรรษ

“แม่หญิงลาวส่วนใหญ่เรียนรู้วิธีและศิลปะในการทอผ้าจากแม่ของพวกเธอตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก จนถึงปัจจุบันผ้าทอก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แม่หญิงลาวในปัจจุบันยังคงนิยมการนุ่งซิ่น คู่กับเสื้อแบบนับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ผสมผสานความดั้งเดิมเข้ากับความสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว”

สำหรับอนาคตของการพัฒนางานหัตถกรรมของลาวในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น ได้มีการเตรียมก่อสร้าง Lao Handicraft Exhibition Center ที่เมืองเวียงจันทน์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของงานหัตถกรรมในประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของงานหัตถกรรมอาเซียน ภายในศูนย์จะมีทั้งนิทรรศการการจัดแสดงผลงานหัตถกรรมที่โดดเด่น ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกฝีมือสำหรับงานช่างแขนงต่างๆ ด้วย เพื่อส่งเสริมทั้งในแง่ของการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน ตลอดจนเป็นศูนย์ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

มาเลเซีย ‘มุ่งสู่การสร้างแบรนด์’

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีงานหัตถกรรมพื้นเมืองอยู่มากมายหลายแขนงที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นก็จริง แต่ปัจจุบันงานหัตถกรรมดังกล่าวกำลังตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายว่าจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปหรือไม่ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามามากมาย อาทิ การใช้งานที่อยู่ในวงจำกัด การนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ขาดความสนใจในการสืบทอดและสานต่อภูมิปัญญาแห่งงานหัตถกรรมเหล่านั้น

รศ.ดร.จูน เอ็นโก ซิอ๊อค เคี้ยง จากคณะศิลปะประยุกต์และนฤมิตรศิลป์ University of Malaysia, Sarawak จากสหพันธรัฐมาเลเซีย บอกว่าแนวทางในการพัฒนาโดยการนำวิธีการทำงานใหม่ๆ มาเพิ่มคุณค่าให้งานหัตถกรรมนั้นมีมากมายเช่นกัน เช่น การนำสีย้อมสังเคราะห์มาเพิ่มสีสันให้งานผ้าทองดงามขึ้น

“การนำเครื่องจักรมาช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว และได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือการเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานให้มากขึ้น เช่นในการพัฒนาและส่งเสริมเรื่องผ้าทอนั้น ผ้าทอไม่เพียงแต่จะนำมาทำแค่เครื่องนุ่งห่มเท่านั้น แต่ยังสามารถดัดแปลงเป็นเครื่องประดับ แอกเซสซอรี่ ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน หรืองานศิลปะตกแต่งก็ได้เช่นเดียวกัน”

ทิศทางงานหัตถกรรมในอนาคตของมาเลเซียในอีก 10 ปีข้างหน้า รศ.ดร.จูน ได้นำเสนอวิธีการทำงานไว้ว่าต้องมีการทำการวิจัยควบคู่ไปกับการทำโปรเจกต์ร่วมกับชุมชน โดยการสนับสนุนและร่วมมือจากรัฐบาล นอกจากนี้ ยังควรมีการวิจัยและพัฒนางานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม ทั้งในแง่มุมของวัสดุ งานดีไซน์ ขั้นตอนการทำงาน ตลอดจนอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์งาน

“ในขณะเดียวกันก็ยังต้องส่งเสริมให้คนหันมาเห็นคุณค่าและนำงานหัตถกรรมนั้นมาใช้งาน นี่คือสาเหตุที่ต้องปรับดีไซน์ให้มีความร่วมสมัยขึ้นโดยการจับมือร่วมกับแบรนด์หรือดีไซเนอร์มืออาชีพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเครื่องหวายสานสามารถนำมาทำเป็นชิ้นงานได้หลากหลายรูปแบบ เช่น กระเป๋าถือ รองเท้า เครื่องประดับ และแอกเซสซอรี่ รวมถึงต้องมีการโฆษณา การสร้างแบรนด์ การส่งเสริมการขายผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ทุกส่วนพัฒนาไปอย่างยั่งยืน”