posttoday

เมอร์ส อย่านิ่งนอนใจ

08 เมษายน 2560

โรคติดต่ออุบัติใหม่ การเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้นเป็นของคู่กัน เพราะโรคเหล่านี้จะมีการระบาดวิทยามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

โรคติดต่ออุบัติใหม่ การเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้นเป็นของคู่กัน เพราะโรคเหล่านี้จะมีการระบาดวิทยามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงประสบการณ์ในการควบคุมและรักษาโรคที่ยังมีองค์ความรู้ไม่เพียงพอ

 โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome : MERS) ซึ่งเคยระบาดหนักในเกาหลีใต้เมื่อหลายปีก่อน และค่อนข้างจะหายเงียบไปจากสังคมไทยจากความตื่นกลัวอยู่พอสมควร

 ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงยังมีความเสี่ยงจากการที่มีผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศ ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อประกอบธุรกิจ และเดินทางไปแสวงบุญ จึงต้องมีการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเมอร์สในประเทศ

 องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) รายงานพบผู้ป่วยยืนยันสถานการณ์โรคเมอร์ส ณ วันที่ 10 มี.ค. 2560 จากรายงานผู้ป่วยทั้งหมด พบผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 1,917 ราย เสียชีวิต 684 ราย โดยพบรายงานผู้ป่วยทั้งหมดจาก 27 ประเทศ ดังนี้ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต์ เยเมน เลบานอน อิหร่าน ตุรกี อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย ตูนีเซีย แอลจีเรีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ จีน ไทย และบาห์เรน

 ในประเทศไทยตั้งแต่พบการระบาดของโรคในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง จำนวนทั้งสิ้น 3 ราย รายสุดท้ายพบเมื่อกลางปี 2559 เป็นชายชาวตะวันออกกลาง อายุ 18 ปี เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ได้เดินทางกลับประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2559

 ไวรัสเมอร์สแพร่กระจายเชื้อผ่านสารคัดหลั่งของระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก การไอ และการจาม เช่นเดียวกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั่วไป ผู้ที่คาดว่าติดเชื้อให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อบรรเทาอาการที่อาจจะเกิดรุนแรงมากกว่าเดิม และป้องกันอาการแทรกซ้อนที่จะไปกระทบกับอวัยวะส่วนที่สำคัญ

 อาการเบื้องต้นของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเมอร์สนั้นจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด กล่าวคือจะมีอาการไอ จาม มีไข้สูง และหอบเหนื่อย อาจจะมีอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย จากนั้นจะมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ปอดอักเสบ ไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น เพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ถ้ามีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคทันที

 สำหรับกรณีศึกษาของเกาหลีใต้ สาเหตุที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว คือไม่ได้ระวังตั้งแต่ต้น คือ 1.ปล่อยให้คนไข้ที่ติดเชื้อนอนกับคนไข้ทั่วไป 2.ระบบอากาศในห้องไม่ดีพอ ทำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ในหอผู้ป่วยในวอร์ดเดียวติดเชื้อไปด้วย และ 3.การควบคุมผู้ป่วยเข้าออกไม่เข้มงวด

 หากย้อนหลังกลับไปตอนค้นพบโรคเมอร์ส ซึ่งคือโรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนา (Corona Virus) หรือที่เรียกว่าเชื้อไวรัสเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) หรือ EMC/2012 (HCoV-EMC/2012) เนื่องจากพบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2555 เดิมทีเดียวไวรัสสายพันธุ์โคโรนานี้มักพบในสัตว์จำพวกค้างคาวบางชนิดและอูฐที่เลี้ยงกันมากทางตะวันออกกลางที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ต่อมาพบว่าเจ้าไวรัสมรณะนี้ได้พัฒนาสายพันธุ์ตัวเองให้สามารถกระจายมาสู่คน และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ในที่สุด

เมอร์ส อย่านิ่งนอนใจ

โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นชายวัย 60 ปี ซึ่งต่อมาเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบและไตวาย จากนั้นเชื้อไวรัสเมอร์สได้ระบาดลุกลามอย่างรวดเร็วในประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง และกระจายสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน เชื้อไวรัสโคโรนาต้นเหตุของโรคเมอร์สนี้ มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS : Severe Acute Respiratory Syndrome) แต่มีอาการที่รุนแรงกว่า

 โดยกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการตามมาตรการแนวทางการเฝ้าระวังป้องกันโรคใน 3 ส่วน คือ ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ โรงพยาบาล และในชุมชน

 โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในช่องทางเข้าออกประเทศจัดพื้นที่คัดกรองผู้เดินทาง ในกรณีที่พบผู้เดินทางสงสัยป่วย จะแยกผู้เดินทางและนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

 นอกจากนี้ สมาคมไวรัสวิทยาแห่งประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าทางวิทยาการรักษาโรคเมอร์ส และคิดค้นวัคซีนรักษา โดยมีชุดตรวจวินิจฉัยแบบรวดเร็วสำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เมื่อปี 2558 เรียบร้อยแล้ว สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค

 ปัจจุบันยังไม่มียา วัคซีน หรือเครื่องมือใดๆ ที่จะสามารถรักษาอาการโรคจากไวรัสเมอร์สได้โดยตรง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก (ราว 30% ของผู้ป่วย) การรักษานั้นแพทย์จะทำการรักษาตามอาการและประคองอาการเท่านั้น ดังนั้นใครที่มีภาวะเสี่ยง ควรหมั่นสังเกตตัวเอง ถ้ามีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 โรคไวรัสเมอร์สนับได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่มีความร้ายแรงมาก นับจากการระบาดของโรคซาร์ส (SARS : Severe Acute Respiratory Syndrome) เมื่อหลายปีก่อน แม้มีรายงานทางการแพทย์หลายชิ้นระบุว่าโรคเมอร์สนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่ายนัก แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการรับโรคอย่างไม่ประมาทเช่นกัน เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังไม่ให้รับเชื้อ ถ้าสงสัยในความเสี่ยงควรรีบไปพบแพทย์