posttoday

สูงวัยอย่างมีสุข ยุคไทยแลนด์ 4.0

05 เมษายน 2560

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 13 เม.ย.ของทุกปี

โดย...มัลลิกา ภาพ เอเอฟพี, เอพี, มีสุข

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 13 เม.ย.ของทุกปี

ทำให้ฉุกคิดขึ้นได้ว่า ตอนนี้บ้านเมืองเรา มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จำนวนคนเป็นโสดเพิ่มมากขึ้น ไม่โสดก็มีลูกน้อยลงเรื่อยๆ และมีจ่อคิวขึ้นทำเนียบรับเงินผู้สูงอายุอีกเพียบในอนาคตอันใกล้

ผู้สูงอายุ ไทยเรากำหนดอายุไว้ที่ 60 ปี ปัจจุบันจัดเป็นสัดส่วน 14.9% ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย มีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยมากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน

ในภาคส่วนของรัฐบาลก็ออกนโยบายมาช่วยเหลือผู้สูงอายุ แต่นั้นเพียงพอแล้วหรือ แล้วถ้าประเทศไทยเข้าสู่ยุค “สังคมสูงวัย” คนเหล่านี้จะหวังพึ่งพิงใคร รัฐบาล ลูกหลาน หรือต้องเริ่มพึ่งพิงตัวเองตั้งแต่วันนี้ เตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่ออนาคตจะได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

สูงวัยอย่างมีสุข ยุคไทยแลนด์ 4.0 ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล

เตรียมสูงวัย กายฟิต-จิตดี-มีออม

โครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” (Pfizer Healthy Aging Society) ถูกออกแบบให้เป็น Knowledge-Based Project มีการเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายก่อนลงมือเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ส.ค. 2559-ส.ค. 2562) พื้นที่การดำเนินงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตยและบางขุนเทียน) ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการแล้ว และจะเริ่มขยายขอบเขตการดำเนินโครงการไปยัง จ.อุบลราชธานี (อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ)

ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวถึงข้อมูลด้านสุขภาพพบว่า ผู้สูงวัยไทยส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรค NCDs จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในการริเริ่มดำเนินโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพตั้งแต่วัยก่อนสูงวัยจนถึงวัยสูงวัย คือ ตั้งแต่อายุระหว่าง 45-59 ปี เพื่อสร้างรูปแบบสังคมการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยแบบองค์รวมที่มีความยั่งยืน เพื่อที่เราจะมีผู้สูงวัยยุคใหม่ที่มีความพร้อมทั้งทางด้าน Phisically Mentally และ Financial หรือเรียกง่ายๆ ว่า กายฟิต จิตดี มีออม พร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ซึ่งนับเป็นโครงการแรกที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุ”

วิมล บ้านพวน รองผู้อำนวยการ สำนักอนามัยผู้สูงวัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงวัยว่า “ปัจจุบัน 95% ของผู้สูงวัยไทย เจ็บป่วยด้วยโรคและมีปัญหาสุขภาพ พบ 1 ใน 2 คน อ้วน และเป็นโรคอ้วน โดยทุกๆ 8 คน จะพบเป็นโรคสมองเสื่อม 1 คน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมไปถึงการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงวัย ส่งเสริมด้านสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต”

ยังมีรายงานพบว่า ในอีก 34 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2593) ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าไทย เนื่องจากไทยจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน อัตราการเกิดจะน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต และเป็นสังคมผู้สูงวัยนั้นเอง ดังนั้นหากเราปล่อยให้สังคมผู้สูงอายุของเราเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงเพราะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประเทศไทยในอนาคตก็จะยิ่งมีปัญหารุนแรงในหลายมิติมากขึ้น

สูงวัยอย่างมีสุข ยุคไทยแลนด์ 4.0

มีสุข โซไซตี้ ประเทศไทย

ในส่วนของภาคเอกชน ธุรกิจที่จับกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยอย่างชัดเจนที่สุดและกำลังเติบโต คือ บริษัท มีสุข (ประเทศไทย) ที่ดำเนินการอย่างครบวงจรอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

โครงการมีสุขประกอบด้วย วิลลา มีสุข เรสซิเดนท์เซส พร้อมบริการ มีสุข โซไซตี้ ลูกค้ามี 2 กลุ่ม คือช่วยเหลือตัวเองได้ เฉลี่ยอายุ 45-72 ปี และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งมีอายุมากสุด 102 ปี ในการดูแลครอบคลุมทั้งการรักษาปฐมพยาบาล ดูแลสุขภาพกายทั่วๆ ไป บริการเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง และจิตใจ มีกิจกรรมหลากหลายที่คัดพิเศษให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

ศศิวิมล สิงหเนตร ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร มีสุข โซไซตี้ เปิดเผยถึงธุรกิจว่า จับกลุ่มระดับบน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีทุนพร้อมจ่าย “จะเห็นว่าเมื่อปีก่อนแบงก์ปล่อยเครดิตยาก แต่สำหรับลูกค้ามีสุขที่เช่าซื้อคอนโด-บ้าน โอนสดหมด เพราะคนกลุ่มนี้ทำงานหนักมาทั้งชีวิต ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับหนึ่ง พอถึงช่วงอายุ 40 กว่า จะเป็นเทิร์นนิ่งพอยต์ในชีวิตเขา เขาจะคิดแล้ววางแผนให้กับชีวิต

วันนี้เราต้องมองให้ไกลไปกว่าเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและบริการเพื่อสุขภาพ คนวัยเกษียณในปัจจุบัน ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง หลายคนเออร์ลีรีไทร์เพื่อจะได้มีเวลาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบได้มากขึ้น เรียกว่าขอใช้ชีวิตให้คุ้มค่าโดยไม่ยึดติดกับวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบพึ่งพาลูกหลาน ซึ่งองค์ประกอบในการใช้ชีวิตให้มีความสุข จึงไม่ได้มีแต่เพียงบ้านและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น ต้องมีส่วนของการบริหารจัดการที่ลงลึกถึงรายละเอียดต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายให้เลือกทำโน่นทำนี่ได้อย่างที่พอใจจึงจะเป็นการใช้ชีวิตได้อย่างสุขนิยมอย่างแท้จริง”

สูงวัยอย่างมีสุข ยุคไทยแลนด์ 4.0

มีสุข ตั้งอยู่ จ.เชียงใหม่ แต่ลูกค้ามาจากจังหวัดอื่นๆ รวมถึงชาวต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฝรั่งเศส สวีเดน “เราวางแผนครึ่งชีวิตที่เหลือ เราค้นพบเราเองยังไม่อยากอยู่ในสถานที่ไม่สบาย อยากอยู่ในสถานที่เหมือนได้พักผ่อน มีความพิถีพิถัน เราจึงออกแบบบ้านพัก คอนโดให้ได้บรรยากาศรีแลกซ์

นอกจากนี้ คนที่มาก็ไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกัน เรามีกิจกรรมที่เหมาะแต่ละคน เช่น ตีกอล์ฟ เที่ยววัด นวดสปา งานดอกไม้ แจ๊ซ มิวสิค เฟสติวัล มีสุขก็พาไปก่อน ให้ทุกคนได้เอนจอยกับชีวิต วัยนี้ทำงานหนัก พอถึงบรรยากาศหนึ่งต้องชิล บางคนซื้อคอนโดเพราะอยากปั่นจักรยาน ให้เราช่วยรักษาจักรยานให้ด้วย บินมาถึงเอาจักรยานหายไปหลายวันก็มี บางคนอายุ 50 ต้นๆ มาเพื่อเล่นไวโอลิน แซ็กโซโฟน เขาไม่เช่าโรงแรมอยู่ เพราะอยากได้ห้องที่ได้ฟิลลิ่งแบบบ้าน และมั่นใจว่ามีคนดูแล”

เนอร์สซิ่งโฮม สำหรับผู้สูงอายุ ยังมีภาพด้านลบอยู่ ทั้งในส่วนของลูกหลานเองก็หวั่นใจเกรงคนคิดว่า อกตัญญูต่อพ่อ บ้างก็มองภาพการกินอยู่อย่างแออัด ไม่มีสุขลักษณะอนามัยที่ดี มองภาพคนสูงอายุเจ็บป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่รวมกัน ช่างเป็นภาพชวนหดหู่ ทว่าทั้งหมดนี้ไม่มีให้เห็นใน วิลลา มีสุข เรสซิเดนท์เซส

สูงวัยอย่างมีสุข ยุคไทยแลนด์ 4.0

“คอนเซ็ปต์เราชูว่า เหมือนมาอยู่ที่ไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้ เราเอ็กซ์คลูซีฟถึงมีปัญหาอะไร มาพักผ่อนอยากทำอะไร บางกลุ่มมารักษาตัวเอง โรคซึมเศร้า เราก็จัดกิจกรรมสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนั้นๆ เรามีทั้งเมดิคอล เนอร์สซิ่งโฮม และแอ็กทิวิตี้

ตอนนี้มีสุขเปิดมา 3 ปี ช่วงแรกกลุ่มลูกค้าเป็นผู้สูงอายุ ลูกชวนพ่อแม่มาพักผ่อนก่อน แล้วลูกกลับไปทำงานฝากพ่อแม่ไว้กับเรา เราดูแลต่อ พาไปเที่ยว ทำกิจกรรม จนเขาเกิดความมั่นใจ มีความสุข พอกลุ่มที่ 2 สอง ที่มาหาเรา เป็นกลุ่มเมดิคอล ทั้งปวดหลัง พาร์กินสัน โรคซึมเศร้า คนที่กลัวตัวเองจะป่วยก็มาพักที่นี่ และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มอยากมีชีวิตของตัวเอง เขาซื้อเพื่อเป็นไพรเวทเรซซิเดนซ์ของเขา”

ธุรกิจในกลุ่มผู้สูงวัย ศศิวิมล มองว่ายังเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง “กลุ่มนี้เม็ดเงินมหาศาล คนกลุ่มนี้พร้อมจ่าย ที่เราจะทำคือ การบริหารจัดการการใช้ชีวิต หรือซอฟต์แวร์ มีหลายคนสนใจร่วมทุนกับเรา ที่จะได้เห็นในปีนี้มี 2 ที่ ภูเก็ตกับหัวหิน และเราจะสร้างคน เราเตรียมจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา สอนเรื่องการดูแลคนชรา ต้องรู้เรื่องโรค ไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุเป็นหลัก หลักสูตรแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เราตั้งใจให้ตัวเองเป็นเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ เราต้องเรียนรู้ตลอด เราเป็นสมาชิกของอัลไซเมอร์ยุโรป สมาชิกของเอจจิ้ง เอเชีย ที่สิงคโปร์ และในอนาคตเราคาดหมายเป็นต้นแบบผู้มอบบริการการใช้ชีวิต “แบบสุขนิยม”

สูงวัย ไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ คนสูงวัย ไม่ใช่ คนป่วย คนอ่อนแอที่จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างสิ้นเชิง การเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงวัยนั้น จึงเป็นสิ่งสมควรกระทำอย่างยิ่ง