posttoday

เล่าเรื่องคุณปู่มะขาม ก่อนถึงงานพระเมรุ

30 มีนาคม 2560

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นเหมือนอย่างถนนในต่างประเทศ

โดย...กองทรัพย์ ภาพ กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นเหมือนอย่างถนนในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรมา”

จากงานศึกษาค้นคว้าของเทพชู ทับทอง เป็นหลักฐานที่พอบอกให้คนรุ่นหลังรู้ว่า อายุต้นมะขามในบริเวณท้องสนามหลวงนั้นมากกว่า 100 ปี ในครั้งแรกมีการปลูก 365 ต้น ซึ่งไม่เพียงให้ความร่มรื่น หากยังเป็นสัญลักษณ์คู่สนามหลวงนับแต่อดีตเป็นต้นมา

ปัจจุบันรอบสนามหลวงมีต้นมะขาม 783 ต้น แบ่งออกเป็น 4 แถวเรียงรายโดยรอบ หากสนามหลวงเป็นโบราณสถาน เทียบรุ่นกันแล้วต้นมะขามที่มีอายุรุ่นราวคราว “คุณปู่” ก็ถือเป็นโบราณวัตถุด้วย

นับแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 ในวันที่ปวงประชาร่ำไห้ ท้องสนามหลวงกลายเป็นศูนย์รวมของปวงชนชาวไทยอีกครั้ง วันแล้ววันเล่าพสกนิกรต่างหลั่งไหลมาสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวนมวลประชาชนมหาศาล ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบสนามหลวง จากปัญหาขยะราว 100 ตัน/วัน

ที่สำคัญการทิ้งน้ำร้อน น้ำมัน น้ำเสียจากการประกอบอาหาร ทำให้คุณปู่มะขามอายุกว่า 100 ปี มีสภาพน่าเป็นห่วง ป่วยขั้นวิกฤต และมีอาการใบเหลือง ดินเน่า กลิ่นเหม็น เพราะโดนกดทับจากกระสอบทราย มีน้ำทิ้ง น้ำขัง และมีเศษอาหารบริเวณโคนต้นทำให้ต้นไม้ไม่สามารถดูดสารอาหารได้ 

เล่าเรื่องคุณปู่มะขาม ก่อนถึงงานพระเมรุ

สมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงใยปู่มะขาม

ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนเสด็จขึ้นรถยนต์พระที่นั่งเพื่อเสด็จฯ กลับ ได้ทอดพระเนตรต้นมะขาม พร้อมกับพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลต้นมะขามว่า “ต้องทำให้ประชาชนรู้ถึงคุณค่าของต้นมะขาม เพื่อที่จะได้มีจิตสำนึกและอนุรักษ์ไว้”

หลังจากการฟื้นฟูอาการของคุณปู่มะขามผ่านมาระยะหนึ่ง และเมื่อเริ่มก่อสร้างพระเมรุมาศ ซึ่งในครั้งนี้มีการใช้พื้นที่ที่มากขึ้น มีการตัดถนนสายกลางสนามหลวงใหม่เพื่อชักลากพระราชรถ และมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้นมะขามบางส่วนออกภายนอกสนามหลวง ดังนั้น กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ผู้ที่เกี่ยวข้องหลักดูแลพื้นที่สนามหลวง พิจารณาว่า เมื่อกิจกรรมภายในพื้นที่สนามหลวงเกิดผลกระทบต่อต้นไม้โดยรอบพื้นที่ จึงเกิดคณะทำงานเฉพาะขึ้นมาคือ คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการบริหารจัดการเคลื่อนย้ายและดูแลรักษาต้นมะขามในพื้นที่ในบริเวณสนามหลวงและบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง มุ่งจุดประสงค์เดียวกันคือ เพื่อบำรุงรักษาดูแลต้นมะขามและต้นไม้ในพื้นที่สนามหลวง

พล.ต.ธานี ฉุยฉาย ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวในวันที่มีการเคลื่อนย้ายต้นมะขามครั้งแรก 14 ต้น ว่า คณะทำงานได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาไว้ด้วยกัน เพื่อให้การล้อมย้ายและดูแลรักษาต้นมะขามเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

“ไม่ว่าจะเป็นผู้ย้ายคือสวนนงนุช กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร คณะทำงานชุดนี้ได้รวบรวมรุกขกรผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากกรมป่าไม้ รุกขกรที่ดูแลต้นไม้ในโครงการพระราชดำริ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตย์ มาช่วยกันดูแล เราดูแลต้นมะขามรอบสนามหลวงทุกต้น เพื่อให้การจัดงานออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ

คณะทำงานทุกฝ่ายยืนยันว่า จะดำเนินการดูแลต้นมะขามทุกต้นในพื้นที่สนามหลวงอย่างดีที่สุด ตามที่พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งและทรงห่วงใย ที่ตะปูดอกเดียวก็ไม่อยากให้ตอก แม้ลวดสักเส้นก็ไม่อยากให้พัน พระองค์ท่านทรงรักต้นไม้มาก เพื่อให้สมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และไม่ให้ต้นไม้อันเป็นประวัติศาสตร์ได้รับผลกระทบ เราจึงมีความจำเป็นต้องล้อมย้ายต้นมะขามจำนวน 44 ต้น ออกจากบริเวณสนามหลวง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างพระเมรุมาศ” พล.ต.ธานี กล่าวย้ำ

เล่าเรื่องคุณปู่มะขาม ก่อนถึงงานพระเมรุ

อนุบาลชายชราแห่งสนามหลวง

การเดินทางของคุณปู่มะขามในครั้งแรกนี้ จุดหมายปลายทางการอนุบาลคือที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยก่อนจะทำการเคลื่อนย้ายมีทีมผู้เชี่ยวชาญการดูแลต้นไม้ เข้ามาทำการดูแลต้นมะขามและบำรุงรักษา โดยเพิ่มปุ๋ยและออกซิเจน ส่วนต้นมะขามที่จะดำเนินการย้ายออกจากพื้นที่ ได้ทำการขุดล้อมและอนุบาลไว้ 1-2 เดือน พอล้อมไว้ล่วงหน้า เพื่อให้มีรากฝอยเกิดเพื่อหาอาหาร อาหารของต้นที่ล้อมเตรียมย้ายต้องดูแลเสริมฮอร์โมน วิตามิน เร่งราก เร่งใบ โดย กทม.ได้ทำการประเมินอาการของต้นมะขามไว้แล้วทุกต้น (A-สภาพสมบูรณ์มาก B-ปานกลาง C-เข้าขั้นวิกฤต) ซึ่งในจำนวน 44 ต้นที่ล้อมย้ายมีตั้งแต่สภาพสมบูรณ์มากจนถึงขั้นวิกฤตมาก อายุต้นที่มากที่สุดโดยประมาณคือ 50 ปี

ดร.คงศักดิ์ มีแก้ว ผู้อำนวยการส่วนวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า ทุกต้นที่มีแผนว่าจะย้ายนั้นได้มีการล้อมรากไว้หมดแล้ว อีกชุดหนึ่งคือวันที่ 25 เม.ย.นี้ จะทยอยล้อม ทยอยย้าย

“อยู่ที่การเคลื่อนย้าย เหมือนเราย้ายผู้ป่วยที่ยังไม่แข็งแรง ยังอยู่ในช่วงพักพื้น ต้นมะขามก็อยู่ได้ปกติแต่ถ้าเปรียบก็คือคนชรา แต่พอเรามีความจำเป็นต้องย้าย คือต้องตัดรากบางส่วนของเขาเพื่อค้ำพยุงลำต้นไว้ไม่ให้ล้ม เราต้องทำให้ดีที่สุด หามืออาชีพในการล้อมย้ายต้นไม้ ระบบการให้น้ำต้องสม่ำเสมอ มีคนดูแลคือ กทม. เราต้องช่วยกันเพื่อให้ต้นไม้นั้นรอด”

ก่อนที่รุกขกรจากกรมป่าไม้ จะกล่าวในฐานะประชาชนและคนที่รักต้นไม้ว่า ตลอดพระชนม์ชีพของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงรักต้นไม้ ทุ่มเทเพื่อต้นไม้ เพื่อป่า เพื่อประชาชน “มา ณ ปัจจุบันนี้ประชาชนที่บอกว่าจะทำเพื่อพระองค์ท่านแต่ในสิ่งที่ทำเพื่อพระองค์ท่าน แต่กระทบต้นไม้ เราก็มาช่วยกันระวังไม่ให้เกิดความกระทบโดยเฉพาะต้นไม้อันเป็นประวัติศาสตร์ สิ่งเดียวที่เราจะถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านได้คือดูแลต้นไม้ให้ดีที่สุด เพื่องานของพระองค์ท่านให้สมบูรณ์ที่สุด และสักวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น ต้นมะขามจะกลับมาสู่ที่เดิมได้ และดีกว่าเดิมก็จะเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่ได้ทำงานถวายพระองค์ท่าน”

เล่าเรื่องคุณปู่มะขาม ก่อนถึงงานพระเมรุ พล.ต.ธานี ฉุยฉาย

วัลยา วัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กทม.มีทีมงานติดตามการอนุบาลต้นมะขามของสวนนงนุช เดือนละ 2 ครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จะนำต้นมะขามมาปลูกไว้ที่จุดเดิม ซึ่งได้ทำทะเบียนแต่ละต้นไว้เรียบร้อยแล้ว ต้นที่ไม่ได้เคลื่อนย้าย กทม.ก็มีทีมงานมาดูแลอยู่แล้ว จริงๆ แล้วคือความประณีตในการปฏิบัติงาน ละเอียดลออทุกขั้นตอน ตอนนี้เราไม่ได้กังวลทีมงานมืออาชีพ”

พล.ต.ธานี กล่าวเสริมว่า ต้นไม้ป่ากับต้นไม้เมืองต่างกัน ต้นไม้ป่ามีนิเวศที่ช่วยดูแล แต่ต้นไม้ป่าที่ต้องมาอยู่ในเมือง ต้องมีการปรับสภาพเมืองเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ “เช่น เรื่องของพื้นที่ ระบบดิน โครงสร้างใต้ดิน การรดน้ำ เพื่อให้ต้นไม้เมืองมีสภาพที่สวยงาม ไม่ใช่แคระแกร็น ดังนั้น การย้ายต้นมะขามกลับมาภายหลังงานพระบรมศพ จะใช้หลักภูมิสถาปัตย์ เพื่อให้การย้ายกลับมาของต้นมะขามสภาพดูดีกว่าเดิม

ที่ผ่านมา มีครัวอยู่ในนี้เราปรับปรุงดินใหม่ โดยเอาหน้าดินออก เพิ่มดิน เอาปุ๋ยใส่เข้าไป ตอนนี้เรามีเครื่องมือพิเศษคือ เสียมลม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะใช้ลมพรวนดิน เพื่อให้อากาศเข้าไปลงลึกได้ดีขึ้นโดยที่ระบบรากไม่เสียหาย เรานำคนที่เก่งหลายๆ ด้านมาทำงานร่วมกันเพื่อให้ต้นมะขามสนามหลวงอยู่ยั่งยืนต่อไป”

ต่อไปคือให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลต้นไม้ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้อยู่ตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ หน่วยงานเอกชน ถ้าประชาชนมีความรู้เรื่อง ต้นไม้ก็จะเติบโตสวยงาม ให้ร่มเงา และเติบโตเป็นต้นไม้จริงๆ ตามที่ควรจะเป็น สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่หน้าที่ยิ่งใหญ่และแสนมหัศจรรย์อย่างต้นไม้ กำลังจะสร้างมิติใหม่

เล่าเรื่องคุณปู่มะขาม ก่อนถึงงานพระเมรุ ดร.คงศักดิ์ มีแก้ว