posttoday

ความสัมพันธ์จีนภาคบังคับ พ่อแม่ต้องสั่งสอนลูก

26 มีนาคม 2560

ว่ากันว่า จ้าวควงยิ่น ฮ่องเต้องค์แรกแห่งราชวงศ์ ซ่ง รับสั่งให้สร้างห้องลับขึ้นมาภายในศาลบรรพชน

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ว่ากันว่า จ้าวควงยิ่น ฮ่องเต้องค์แรกแห่งราชวงศ์ ซ่ง รับสั่งให้สร้างห้องลับขึ้นมาภายในศาลบรรพชน ในห้องนั้นมีศิลาหินตั้งไว้หลักหนึ่ง สลักข้อความลับของจ้าวควงยิ่น พระองค์บัญชาว่า ต่อจากพระองค์ไปเมื่อฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งองค์ใดขึ้นครองราชย์ จะต้องให้เข้ามาในห้องนี้ หากจะมีผู้ติดตามก็อนุญาตเฉพาะขันทีวัยเยาว์ ซึ่งอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เท่านั้น นอกจากนั้นห้ามเข้าใกล้ห้องนี้

ฮ่องเต้ใหม่จะต้องมาคุกเข่าต่อหน้า อ่านและท่องจำคำในหลักศิลาให้ขึ้นใจ หากมีพฤติกรรมละเมิดจากที่ศิลาจารึกไว้ มีคำสาปแช่งให้เกิดความฉิบหายแก่ฮ่องเต้องค์นั้น

ฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งทั้ง 8 พระองค์แรก น่าจะได้ทำพิธีกรรมอันลึกลับข้างต้นอย่างไม่ขาดตอน จนเมื่อทัพจิน (กิมก๊ก) บุกเมืองหลวงและทำลายพระราชวัง ข้อความอันลึกลับบนหลักศิลาจึงถูกเปิดเผยออกมา แท้ที่จริงแล้วกฎเหล็กบนหลักศิลานั้นจารึกไว้ 3 ข้อ ว่า

1.ให้ดูแลลูกหลานสกุลไฉให้จงดี (เพราะเป็นตระกูลของฮ่องเต้ราชวงศ์ก่อนที่จ้าวควงยิ่นรัฐประหารมา ซึ่งถือเป็นตระกูลเจ้านายเก่า) 2.ห้ามฆ่าขุนนางบัณฑิต 3.ห้ามเพิ่มภาษีที่นา

กฎประจำตระกูลนี้ก็น่าจะเป็นที่รู้กันดีในราชสำนัก เพราะเมื่อฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งคิดจะฆ่าขุนนางบัณฑิตคนใด ก็จะได้รับการยับยั้งและควบคุมโดยข้าราชบริพารรอบกาย เช่นฮ่องเต้องค์ที่ 6 ซ่งเสินจงฮ่องเต้

ซ่งเสินจงเป็นคนขี้โมโห ครั้งหนึ่งผลการรบที่มณฑลส่านซีไม่ได้ดังใจ จึงรับสั่งให้ประหารขุนนางเล็กๆ คนหนึ่ง ซ่งเสินจงรู้ดีว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย ในวันต่อมาจึงถามย้ำกับเสนาบดีไปว่า “คำสั่งประหารเมื่อวาน ได้ดำเนินการไปหรือยัง?” “กระหม่อมกำลังจะถวายฎีกาอยู่พอดี” เสนาบดี ตอบ

ซ่งเสินจงถามต่อ “อย่างไรกัน มีอะไรให้ต้องสงสัยอีกหรือ?” เสนาบดีตอบว่า “ปฐมกษัตริย์บัญญัติไว้ไม่ให้ฆ่าขุนนางบัณฑิต กระหม่อมไม่อยากให้พระองค์ผิดกฎ”

เสินจงเงียบไปนาน จากนั้นจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ให้สักหน้า แล้วเนรเทศ” ขุนนางอีกคนเอ่ยออกมาว่า “โทษเช่นนี้ ยิ่งกว่าประหาร”

“หมายความว่าอย่างไร?” ซ่งเสินจงถาม “บัณฑิตฆ่าได้หยามไม่ได้” ขุนนางตอบ

ซ่งเสินจงลงเสียงหนัก “แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็จะทำให้ข้าสบายใจ! พวกเจ้าทำให้ข้าไม่ได้เลยรึ!”

“ถ้าสบายใจแบบนี้ ไม่ทำได้ก็ดี”

ซ่งเสินจงได้แต่กล้ำกลืนแล้วเดินจากไป ไม่ต้องแปลกใจที่จ้าวควงยิ่นเองก็เคยว่าไว้ “พวกเจ้าคิดว่าเป็นฮ่องเต้นี่ง่ายนักหรือ?”… นี่คือสิ่งที่จ้าวควงยิ่น ซึ่งเป็นทั้งพ่อและเป็นทั้งฮ่องเต้ ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน

...เมื่อเปาบุ้นจิ้นป่วยหนักอาการร่อแร่ ยามรู้ตัวว่าจะต้องจากโลกนี้ไป สิ่งที่ท่านเป็นห่วงที่สุดก็คือลูกชายตัวน้อยในวัย 5 ขวบ ที่จริงก็ไม่ควรกังวล เพราะกฎหมายราชวงศ์ซ่งกำหนดให้ลูกของขุนนางระดับเปาบุ้นจิ้นเข้ารับราชการได้เมื่ออายุถึงเกณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องสอบแข่งขันให้วุ่นวาย

แต่เงื่อนไขข้อนี้กลับยิ่งทำให้เปาบุ้นจิ้นเป็นห่วงมากขึ้น ท่านรีบเรียกลูกชายตัวน้อยมาฝากฝังไว้กับภรรยา เปาบุ้นจิ้นสั่งให้เอาพู่กันและกระดาษมาเขียนบันทึกตามคำตนลงไปว่า

“ลูกหลานรุ่นต่อไปที่รับราชการ หากแปดเปื้อนด้วยพฤติกรรมทุจริตไม่ซื่อตรง ก็มิให้กลับมาเยือนบ้านเกิดโดยเด็ดขาด เมื่อตายไปห้ามฝังร่วมสุสานของตระกูล หากใครไม่ทำตามที่ข้าตั้งปณิธานไว้ มิถือเป็นลูกหลานของข้า” ว่าแล้วก็สั่งให้สลักไว้บนศิลา ตั้งไว้ในศาลบรรพชน...

สิ่งที่เปาบุ้นจิ้นกังวลก็คือ ตนจะจากโลกไปแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้อบรมสั่งสอนลูกชายตัวน้อย วันหน้าหากได้เป็นขุนนาง แล้วปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อตรง คดโกงขี้ฉ้อ จะถือว่าตนทำหน้าที่พ่อได้ไม่ดี สิ่งที่พอจะทำได้อย่างเดียวก็คือสลักปณิธานไว้เป็นตัวแทนสั่งสอนลูกหลาน

ไม่รู้ว่าเพราะเปาบุ้นจิ้นรอบคอบ หรือผู้ใหญ่ในตระกูลท่านเปาช่วยเลี้ยงดูลูกหลานได้ดี ลูกหลานเปาบุ้นจิ้นล้วนเป็นขุนนางดีที่ประชาชนรักใคร่ตามเจตนารมณ์เปาบุ้นจิ้นไม่มีผิดเพี้ยน

งักฮุย แม่ทัพผู้ขึ้นชื่อเรื่องความรักชาติ เมื่อครั้งก่อนสมัครเข้าเป็นทหารในราชสำนัก มารดาสลักอักษรจีน 4 ตัวไว้กลางแผ่นหลังว่า “ซื่อสัตย์ ภักดี สนองคุณประเทศชาติ” ตัวอักษรทั้ง 4 นี้ คืออุดมการณ์ที่งักฮุยไม่เคยลืมเลือนแม้ตัวตาย งักฮุยก็ทำได้เช่นนั้นจริงๆ

อุดมการณ์ที่ฝากฝังโดยบิดามารดามีค่านับร้อยเท่าพันทวี... ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมจีนแต่ดั้งแต่เดิมมา ลูกย่อมผูกติดกันกับคำสั่งสอนของบิดามารดาอย่างใกล้ชิด ความคิดที่ว่าบรรพชนคือผู้ที่จ้องมองพฤติกรรมลูกหลานอยู่ตลอดฝังรากมายาวนาน

ดั่งขงจื๊ออธิบายว่า ความสัมพันธ์ทั้ง 5 ของสังคม (ฮ่องเต้-ขุนนาง, บิดามารดา-บุตร, สามี-ภรรยา, พี่-น้อง, เพื่อน-เพื่อน) ต่างมีหน้าที่ที่พึงต้องปฏิบัติต่อกัน ห้ามละเลย นั่นทำให้คำว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” จึงกลายเป็นคำด่าว่าได้ เพราะพ่อแม่ต้องสั่งสอนอบรมลูกให้ดี เป็นหน้าที่ภาคบังคับ

ความเชื่อนี้เข้มงวดอย่างยิ่งในวัฒนธรรมจีน แค่ตัวอย่างข้างต้นก็พอรู้แล้วว่า พ่อแม่และบรรพชนมีความกังวลว่าจะบกพร่องในหน้าที่สั่งสอนลูกหลานขนาดไหน แม้ตัวตายไปก็ยังไม่อยากให้ลูกออกนอกลู่นอกอุดมการณ์

บางแนวคิดจากฝรั่งตะวันตกอาจโจมตีว่าเป็นอนุรักษนิยมที่สร้างปัญหา เช่นในเรื่องการครอบงำตัวตนของลูกหลานด้วยอัตตาของตัวเอง ซึ่งเอาเข้าจริงเรื่องแบบนี้เป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจ และสมดุลของการใช้หลักการ

อย่างไรก็ตาม โลกสมัยใหม่เป็นโลกที่ความคิดแบบฝรั่งๆ เติบโตแทรกซึม ไม่น่าแปลกใจที่ความเข้มข้นของระบบการสอนสั่งโดยบิดามารดาต้องเจือจางลงไปในแบบใดแบบหนึ่ง

สังคมฝรั่งพัฒนาระบบกฎหมาย การศึกษา และแนวคิดความรับผิดชอบในการกระทำรองรับระบบควบคุมพฤติกรรมของปัจเจกชน แต่ในโลกอีกฟากหนึ่งนั้น ดูเหมือนระบบการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ยังคงต้องรักษาไว้อีกไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นข่าวพฤติกรรมของผู้คนที่เหมือนไม่เคยโดนสอนสั่ง ไม่ว่าโดยพ่อแม่หรือสังคม

หลายๆ คนย่อมเคยรู้สึกว่าการอ่านทฤษฎีโบร่ำโบราณเป็นเรื่องล้าสมัย แต่ยิ่งเห็นพฤติกรรมในข่าวของกลุ่มคนที่ไม่น่าชื่นใจ ก็ยิ่งรู้ซึ้งและเข้าใจเหตุผลของระบบขงจื๊อ ความสัมพันธ์ทั้ง 5 ของขงจื๊อ เคยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสภาวะของสังคมเช่นนี้นี่เอง