posttoday

ประสิทธิภาพ แห่ง ‘เวลาว่าง’

20 มีนาคม 2560

พระอาทิตย์ขึ้น แล้วพระอาทิตย์ก็ตก วันเวลาโกยอ้าวเหมือนติดปีก เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ วัชรพล แดงสุภา

พระอาทิตย์ขึ้น แล้วพระอาทิตย์ก็ตก วันเวลาโกยอ้าวเหมือนติดปีก เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ได้รับมอบหมายให้ไปงานการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง” ของสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขผานาทีใกล้เข้ามา จึงรู้ว่าไม่มีเวลาว่าง หรือเอาเข้าจริงๆ ก็อาจจะไม่มีเวลาอยู่เลย!

การประชุมเชิงวิชาการเป็นการศึกษาวิจัยการใช้เวลาว่างคนไทยในลักษณะสหสาขา เริ่มจาก ศ.สุกัญญา สุจฉายา ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงการใช้เวลาว่างในวัฒนธรรมไท-ไทยในอดีตว่า เวลาว่างของคนในสังคมเกษตรกรรมเดิมขึ้นอยู่กับฤดูกาลหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนใหญ่ตรงกับช่วงฤดูร้อน พักทั้งพื้นดินและพักทั้งคน รอฝนรอฤดูกาลผลิตรอบใหม่

ประสิทธิภาพ แห่ง ‘เวลาว่าง’

ช่วงเวลาพักผ่อนอย่างแท้จริง คือ ตรุษสงกรานต์ นอกจากพิธีกรรมและความเชื่อแล้ว การหยุดพักผ่อนจากการทำงานหนักในไร่นา ยังอยู่ในรูปของการละเล่น การแสวงหาความบันเทิง สำหรับหนุ่มสาวเป็นเวลาของการแสวงหาคู่รัก สำหรับพ่อบ้านแม่บ้าน เป็นช่วงเวลาที่จะได้วางภารกิจของครอบครัว เด็กๆ เป็นช่วงเวลาของความสนุกสนาน

ชนชาติไททุกกลุ่มมีการละเล่นและการแสดงพื้นบ้านอยู่มากมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทย หากแตกต่างกันตามพื้นที่ วัย อาชีพ และชนชั้น เช่น เวลาว่างของชายกับหญิง เวลาว่างของชาวบ้านกับชนชั้นเจ้านาย ซึ่งแตกต่างกันมาก

ประสิทธิภาพ แห่ง ‘เวลาว่าง’

สำหรับการใช้เวลาว่างของเจ้านายไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ตีความจาก “โคลงเล่นซ่อนหา” เนื้อหาเกี่ยวกับการละเล่นซ่อนหาของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระสหาย เมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานไปที่เกาะสีชัง ผู้เล่นจะต้องฟังโคลงแล้วทายว่ากวีกำลังประพันธ์ถึงสถานที่ใดในเขตพระราชฐาน เป็น “การเล่นปริศนาทายคำ” ที่มีคำตอบเป็นสถานที่ที่ตัวละครคือเจ้านายในอดีตเลือกใช้เป็นที่ซ่อน

“โคลงเล่นซ่อนหาสะท้อนให้เห็นถึงการใช้เวลาว่างของคนไทยในอดีตว่า มีการประกอบกิจกรรมหมู่คณะเพื่อความสนุกสนานพร้อมๆ กับการประเทืองปัญญา อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัดของสังคมไทย” ศ.สุกัญญา เล่า

ประสิทธิภาพ แห่ง ‘เวลาว่าง’

พรรณราย ชาญหิรัญ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงการใช้เวลาว่างของชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ว่า เป็นช่วงเวลาของการเปิดโลกทัศน์ของการใช้เวลาว่างแบบใหม่ โดยได้รับอิทธิพลจากตะวันตกที่เริ่มแผ่เข้ามา เช่น การไปตากอากาศ การเล่นกีฬากอล์ฟ ขี่ม้า รวมทั้งการเขียนหนังสือ

นพ.ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงการเล่นกับการส่งเสริมสุขภาวะของเยาวชนว่า ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของเด็กวัยเรียนไทย ปี 2556-2558 พบว่า เด็กอ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ โดย 12.6% ของเด็กไทยอยู่ในภาวะอ้วนลงพุง และ 41% ของเด็กที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ใช้เวลาอยู่หน้าจอ 3-6 ชั่วโมงต่อวัน

ประสิทธิภาพ แห่ง ‘เวลาว่าง’

“เราพบว่าการใช้เวลาต่อวันของเด็กโดยเฉลี่ย มีการนอนหลับ 8.26 ชั่วโมง มีกิจกรรมเคลื่อนไหวต่ำ 13.15 ชั่วโมง และมีกิจกรรมทางกายต่อวันเพียง 2.19 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของเด็กอายุ 10-11 ปีทั่วโลกแล้วมีตัวเลขใกล้เคียงกัน นั่นหมายความว่า เด็กทั่วโลกใช้เวลาเหมือนกัน ประสบปัญหาเดียวกัน”

พฤติกรรมเนือยนิ่งของเยาวชนที่กลายเป็นปัญหาระดับโลก จะมีทางออกอย่างไร นั่นคือการส่งเสริมกิจกรรมเคลื่อนไหว (Active Play) ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งจากการนั่ง การอยู่หน้าจอและการเดินทาง เพิ่มพื้นที่สุขภาวะและกิจกรรมทางกาย วิธีนี้ช่วยเสริมพัฒนาการสติปัญญา พัฒนาการทางเจตคติ และพัฒนาการด้านทักษะร่างกาย โดยเด็กที่ใช้เวลากับกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ พบว่ามีผลการเรียนดีขึ้น มีสมาธิดีขึ้น น้ำหนักส่วนเกินลดลง

ประสิทธิภาพ แห่ง ‘เวลาว่าง’

อานนท์ จันทวิช ผู้อำนวยการสำนักสถิติเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ เล่าว่า สำรวจการใช้เวลาของคนไทยทั้งประเทศทุก 5 ปี คิดเป็นค่าเฉลี่ยของกิจกรรมในชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ ดังนี้ นอน 8.4 ชั่วโมง อาบน้ำ 1.1 ชั่วโมง รับประทานอาหาร 1.7 ชั่วโมง ทำงาน 8.6 ชั่วโมง ดูโทรทัศน์ 3 ชั่วโมง ท่องอินเทอร์เน็ตและใช้เวลากับโซเชียลเน็ตเวิร์ก 2.03 ชั่วโมง

จากท้องทะเลสู่วิถีเกษตรพอเพียง วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ มูลนิธิกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าว่า เมื่อพูดถึงเวลาว่าง เวลาว่างคือ “ว่าง” จุดเปลี่ยนในชีวิตเริ่มต้นเมื่อหนีความศิวิไลซ์ไปอยู่เกาะเต่า ดำน้ำ ทำสวน และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ลมพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อว่างก็ว่ายน้ำ พายเรือ เดินป่า ทำงานศิลปะ
ถ่ายรูปในคืนไร้ดาว

ประสิทธิภาพ แห่ง ‘เวลาว่าง’

ความว่างกับการใช้เวลาว่าง มีความหมายเหมือนจะคล้ายกันแต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว งานจิตอาสาของหนุ่มนักอนุรักษ์ เริ่มต้นขึ้นแล้วไม่หยุดลงง่าย เริ่มจากโครงการนักอนุรักษ์บ้านเกาะเต่า ดูแลเต่าในพื้นที่
จากนั้นก็ค่อยๆ ศึกษาปัญหาและความต้องการของชุมชน พบว่าเด็กบนเกาะว่ายน้ำไม่เป็น (!?!) เนื่องจากส่วนใหญ่ติดตามพ่อแม่ซึ่งอพยพมาจากแหล่งอื่น พ่อแม่ว่ายน้ำไม่เป็นจึงไม่กล้าให้ลูกลงน้ำ

วัชรพล จึงริเริ่มโครงการยุวชนเกาะเต่า สอนเด็กว่ายและดำน้ำ ปลูกฝังความรักและความเชื่อมโยงระหว่างเด็กกับพื้นถิ่นท้องทะเล สิ่งแวดล้อมและสัตว์ โครงการได้รับรางวัลมากมายทั้งในระดับสากล
จากนั้นหยุดว่ายน้ำแล้วหันมาทำสวนเกษตรอินทรีย์ ก้าวข้ามอุปสรรคอย่างยากลำบาก เพื่อจะพบว่าทุกสิ่งที่เราทำ ย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ปัจจุบันทำงานที่กรีนพีซ “เวลาว่าง” น้อยลงไปเยอะ

ประสิทธิภาพ แห่ง ‘เวลาว่าง’

ผู้เขียนเองล่ะ! การใช้เวลาของบ่ายวันหนึ่งเข้าร่วมฟังการประชุมเชิงวิชาการที่น่าทึ่ง คือการได้เห็นแง่มุมของเพื่อนร่วมสังคม นอกเหนือจากที่กล่าวมายังมีการใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุ การใช้เวลาว่างของอาจารย์มหาวิทยาลัย การใช้เวลาว่างของแพทย์ ได้เห็นเพื่อนมนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้กระทำการ สร้างสรรค์ คิดค้น เรียนรู้ หยิบยืม ผ่อนคลาย ร้อยเรียง ปรับตัว ต่อรอง ครอบงำฯลฯ สืบทอดความเป็นตัวตนให้เหมาะกับสถานการณ์ ความสุขความทุกข์ และความเป็นไปของโลก

ขณะเดียวกันก็สะท้อนตัวเราเองว่า เรากำลังใช้เวลาทำอะไร ถ้ามองให้ลึกลงไป การใช้เวลาก็คือการแสดงออกซึ่งตัวตนในรูปแบบหนึ่ง เหลี่ยมมุมและเนื้อหาที่แตกต่าง สะท้อนถึงรสนิยมและการหยั่งถึงซึ่งประสบการณ์ภายใน อันมีความสำคัญต่อการสร้างตัวตนของเราท่านทั้งหลายอย่างนึกไม่ถึง ย้อนถามไปยังผู้อ่านทุกคนว่า ในมิติของไทยวิถี สิ่งที่เราเคยทำ นำเรามาอย่างไร และสิ่งที่เรากำลังทำ จะนำเราคนไทยไปสู่ที่ใด