posttoday

งานชีวิต : ปั้นดิน ให้เป็นพระ

19 มีนาคม 2560

ในเรื่องการให้ การบริจาคเพื่อการกุศล การทำบุญ สาธารณประโยชน์แล้ว สังคมไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนี้อย่างมาก

โดย...ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ เครือข่ายพุทธิกา Budnet.org

ในเรื่องการให้ การบริจาคเพื่อการกุศล การทำบุญ สาธารณประโยชน์แล้ว สังคมไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนี้อย่างมาก อย่างไรก็ดี กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรับหรือขอความช่วยเหลือ เช่น ผู้ต้องโทษ หรือผู้ติดยาเสพติด ดูจะถูกมองข้ามและหมางเมินมากที่สุด

ขณะเดียวกัน สถิติของผู้ต้องโทษทั้งผู้ใหญ่ในเรือนจำ เด็ก เยาวชนในสถานพินิจเยาวชนก็มีแนวโน้มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ มีการกระทำผิดซ้ำและเข้าออกบ่อยๆ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือ อคติทางสังคมที่ตีตราพวกเขาว่าเป็นผู้กระทำผิด เป็นบุคคลชั่วร้ายที่พึงหลีกเลี่ยง ด้วยอคติสังคมนี้เองที่ผลักดันให้ผู้ต้องโทษที่แม้ได้รับโทษแล้ว แต่ยังต้องโทษทางอคติสังคม จึงต้องกลับเข้าสู่วงจรเดิม คือ การกระทำผิดซ้ำจากการถูกกีดกัน ไม่ยอมรับของสังคม การไร้ที่พึ่ง ถูกรังเกียจ ถูกปฏิเสธ รวมถึงการต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่จูงใจให้กระทำผิดซ้ำ และรวมถึงการขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อปรับตัวสู่สภาพปัจจุบันให้ดีได้ ประมาณการว่าเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำมีสูงถึงร้อยละ 15 ในช่วงปี 2552-2556 สะท้อนว่าสถานพินิจและองค์ประกอบรองรับยังมีช่วงโหว่ของการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

กลุ่มผู้ต้องโทษ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ติดยาเสพติดเป็นกลุ่มที่ได้รับอคติทางสังคม ความผิดพลาดในการกระทำผิด หรือการมีอคติสังคมกลายเป็นตราบาปที่ปิดกั้นโอกาสในชีวิต อคตินี้เองทำให้เกิดวงจรสร้างผู้กระทำผิดซ้ำในสังคม กลายเป็นภาระสังคมที่กระทบสังคมโดยรวม ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีศักยภาพ ความสามารถที่จะเป็นกำลังสำคัญของสังคม ชุมชน ครอบครัว และต่อคุณค่าของตนเอง แต่ด้วยภาวะยากจนข้นแค้น ภาวะยากไร้ในการเรียนรู้ต่อคุณค่าชีวิต คุณค่าการเรียนรู้ตนเอง เพื่อพัฒนากาย จิตใจ สัมพันธภาพ และจิตวิญญาณจึงยากไร้ตามไปด้วย ความยากไร้นี้กระตุ้นให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ การประกอบอาชญากรรมต่อไป หากเรามองพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ แท้จริงพวกเขาก็คือกลุ่มผู้อ่อนไหวเปราะบางทางสังคม

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก เป็นตัวอย่างบุคคลที่ทำงานเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตภายในของกลุ่มเยาวชนที่กระทำผิด และต้องอยู่ในสถานพินิจฯ ทิชาเลือกที่จะทำงานกับเยาวชนโดยมุ่งฟื้นฟู เติมเต็มทุนชีวิตด้านกระบวนการคิดนึก การมีวิจารณญาณผ่านกระบวนการเรียนรู้วิชาชีวิต เยาวชนในบ้านกาญจนาฯ เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้ การค้นหาคำตอบผ่านเรื่องราวข่าวสารในชีวิตประจำวัน สื่อภาพยนตร์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุปัจจัย ทางเลือกในการแก้ไขปัญหา กระบวนการเปลี่ยนแปลงมีหัวใจสำคัญ คือ การมีทัศนคติที่มองเห็นคุณค่ามนุษย์ ภายใต้การกระทำผิดนั้นมีสาเหตุ และความเป็นมาอันเนื่องจากการมีทุนชีวิตที่น้อย สภาพครอบครัวที่แตกร้าว ภาวะยากจนข้นแค้น ความเครียดที่กดดัน สถานพินิจในรูปแบบบ้านกาญจนาฯ จึงมุ่งหมายการฟื้นฟูคุณค่า การเติมเต็มวิชาชีวิต การดึงบทบาทการมีส่วนร่วม รับผิดชอบของครอบครัวเพื่อให้เยาวชนได้เป็นคนใหม่ที่มีคุณภาพคืนสู่สังคม

โครงการปั้นดินให้เป็นพระ คืออีกตัวอย่างโครงการที่ทำงานเชิงกระบวนการเพื่อฟื้นฟูศักยภาพ ความมีคุณภาพ คุณค่าของผู้ต้องขังในเรือนจำโดยมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน กระบวนการสำคัญ คือ การใช้งานปั้นโดยให้ผู้ต้องขังสร้างงานพุทธศิลป์ ใช้วัสดุที่ดูไร้ค่า คือ ดินน้ำมันมาปั้นเป็นแม่พิมพ์พระพุทธรูป โดยผู้ต้องขังที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เรียนรู้การทำงานนี้ตั้งแต่ขั้นตอนการปั้น การขึ้นรูป หล่อปูน ทำแม่พิมพ์ แกะแบบ ทำการหล่อ ตกแต่งขั้นสุดท้ายเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงาม ภายใต้การอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนสังคม

ในช่วงกระบวนการสร้างงานพุทธศิลป์นี้ ผู้ต้องขังได้เรียนรู้ที่จะสังเกตจิตใจ ได้เรียนรู้ฝึกฝนการภาวนาจากการมีสมาธิในการทำงาน การได้มีโอกาสทำบุญผ่านแรงกาย แรงใจ ทักษะฝีมือ เพื่อสร้างสรรค์พระพุทธรูป สิ่งรำลึกถึงพระพุทธเจ้า สิ่งสำคัญผู้ต้องขังเหล่านี้ได้เรียนรู้ สัมผัสมิติชีวิตในเรื่องจิตวิญญาณ อันการได้เข้าถึงแก่นแท้ สิ่งมีคุณค่า สิ่งสูงสุด มีความหมายต่อชีวิต เป็นอุดมคติ โดยผ่านกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณ งานพุทธศิลป์ที่มีความงดงาม จึงสะท้อนคุณภาพความงดงามในจิตใจของผู้ปั้น ความงดงามอันเนื่องมาจากความสะอาด สว่าง สงบในจิตใจ สิ่งที่มีคุณค่า น่าชื่นชมคือ ช่างปั้น
เหล่านี้คือเหล่าผู้ต้องโทษ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งถือเป็นชายขอบสังคม ถูกปฏิเสธ ถูกมองข้าม แต่ด้วยโครงการนี้ทำให้พบว่าแท้จริงความดีงามต่างล้วนมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคน หรือตัวอย่างกระบวนการทำงานในบ้านกาญจนาฯ ก็เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเพียงการเติมเต็มทุนชีวิตให้กับเยาวชนที่เดินทางผิดพลาด การเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นได้

โดยกระบวนการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน ผู้ต้องขังเหล่านี้ได้มีโอกาสสัมผัสความสุขภายใน ได้รับการมองเห็นในความมีคุณค่า การยอมรับของสังคม การได้มีโอกาสทำคุณความดีผ่านแรงกาย แรงใจสร้างงานพุทธศิลป์ และได้นำพระพุทธรูปถวายแด่วัดวาอารามเพื่อการเคารพสักการะของเหล่าพุทธศาสนิกชน หัวใจสำคัญคือ การทำงานเชิงกระบวนการเพื่อมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญในทุกสังคม ในทุกระดับความสัมพันธ์ สิ่งที่ยากลำบากคือ คนส่วนใหญ่มุ่งใส่ใจกับเป้าหมายกับผลลัพธ์ โดยละเลยกระบวนการ ทำให้การเรียนรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การสร้างการเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้กระทำผิด ผู้ต้องโทษจึงต้องการกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน

เหล่าทุกคนต่างมีความเป็นดิน ซึ่งเปรียบได้กับความไม่รู้ ความมืดบอดบางอย่าง และเหล่าทุกคนก็ต้องการกระบวนการที่จะแปรเปลี่ยนความเป็นดินให้กลายเป็นพระพุทธรูป ซึ่งเปรียบได้กับการเป็นผู้ที่มีความดี ความงาม และความจริงในตนเอง และการแปรเปลี่ยนนี้ต้องการการเรียนรู้ การได้รับโอกาส ความเมตตากรุณา ซึ่งเหล่าทุกคนพึงมอบและเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน