posttoday

ใลลา สุเทพากุล ต้องหาความรู้กับโรคที่เป็นไว้ด้วย

05 มีนาคม 2560

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งนัก เพราะวัยหนุ่มสาวนั้นมักจะห่างไกลกับคำว่าเจ็บป่วย

โดย...อณุสรา  ทองอุไร

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งนัก เพราะวัยหนุ่มสาวนั้นมักจะห่างไกลกับคำว่าเจ็บป่วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเสมอไปนะ ปัจจุบันนี้คนหนุ่มคนสาววัย 30 ต้นๆ มองดูผิวเผินก็คิดว่าแข็งแรงดี บางคนก็มาแบบฉับพลันไม่ทันตั้งตัว

เช่นเดียวกับสาวสวยคนนี้ ใลลา สุเทพากุล ที่แต่งงานได้เพียงแค่ 2 วัน ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดตับอ่อน ซึ่งเป็นการผ่าตัดครั้งใหญ่ครั้งแรกในชีวิตของเธอ เธอเคยเป็นประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทผู้ผลิตรายการเด็กชื่อดังอยู่เป็นเวลากว่า 5-6 ปี ก่อนจะลาออกไปท่องเที่ยวและทำงานเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มที่ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เธอจึงต้องไปตรวจร่างกายเพื่อไปขอวีซ่าเข้าประเทศ และจากการไปตรวจสุขภาพทำให้เธอพบว่าอวัยวะภายในของเธอกลับด้านเหมือนส่องกระจกแล้วกลับด้านกันแบบนั้นเลย หรือที่เรียกว่ามิเรอร์อิมเมจ แต่โชคดีว่าหัวใจไม่สลับด้านกันไปด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร ซึ่งแพทย์ก็ออกจดหมายเป็นคู่มือไว้ให้พกไปอังกฤษด้วยหากเกิดกรณีฉุกเฉินจะได้ให้แพทย์ที่นั่นรับทราบ

ตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาเกือบ 4 ปี เธอส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาโท คว้าเกียรตินิยมอันดับสองด้านบริหาร หลังจากนั้นเธอก็กลับมาทำงานกับบริษัทประกันภัยที่ประเทศไทยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เธอเล่าว่าตลอดเวลาที่อยู่ประเทศไทยเธอตรวจสุขภาพทุกปี ซึ่งร่างกายก็ปกติดี มีเว้นช่วง 4 ปีที่ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเท่านั้นที่ไม่ได้ตรวจสุขภาพเลย จนระยะหลังๆ เธอมักมีอาการตาลาย มองแล้วตาพร่ามัวไม่โฟกัส ซึ่งอาการนี้มักจะเกิดขึ้นตอนช่วงเช้าก่อนไปทำงาน แต่ก็เป็นอยู่สัก 10-15 นาทีก็จะหายไป แต่ก็เคยมีเกือบจะวูบบนรถไฟฟ้าอยู่ครั้งหนึ่ง เธอคิดว่าอาจจะไม่มีอะไรซีเรียสคงนอนดึกพักผ่อนน้อยหรือตื่นเช้าเกินไป และพยายามพักผ่อนให้มากขึ้นเดี๋ยวก็คงจะหายไปเอง และคิดว่าเป็นอาการเรื้อรังจากสมัยที่เรียนอยู่อังกฤษ เพราะเรียนไปทำงานไปคงพักผ่อนไม่เพียงพอจนส่งผลมาถึงตอนนี้

ใลลา สุเทพากุล ต้องหาความรู้กับโรคที่เป็นไว้ด้วย

จนกระทั่งเตรียมตัวจะแต่งงาน เลยต้องไปตรวจสุขภาพล่วงหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง พอไปตรวจก็พบว่าค่าน้ำตาลในเลือดต่ำมากจนผิดปกติ คือเหลือแค่ 40 ซึ่งคนปกติจะมีค่าอยู่ที่ 70-100 แต่ที่แพทย์แปลกใจยิ่งกว่าก็คือถ้าค่าน้ำตาลต่ำขนาดนี้น่าจะมีอาการผิดปกติ เช่น เป็นลมหน้ามืดวิงเวียนศีรษะตลอดเวลา แต่เธอไม่มีอาการดังกล่าวเลย เธอจึงถูกส่งตัวไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ แพทย์ส่งเธอไปสแกนแบบซีทีด้วยการฉีดสีที่ตับอ่อนพร้อมกับตรวจดูที่ช่องท้องช่วงล่างด้วย เพื่อที่จะดูการทำงานของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน ปรากฏว่าผลที่ออกมาคือเจอเนื้องอกที่ตับอ่อน โดยแพทย์บอกกับเธอว่าเนื้องอกตัวนี้ไปทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมามากผิดปกติ

อินซูลินซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ในกรณีที่ผลิตออกมามากไป จะยิ่งไปลดระดับน้ำตาลในร่างกาย โดยโรคนี้เรียกว่าอินซูลินโนมา “เราก็งง เพราะคิดว่าเราก็แข็งแรงดีนะ วิ่งทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 4-5 กิโล พอเริ่มหาข้อมูล สิ่งที่ค้นเจอคือมีแต่เรื่องมะเร็งตับอ่อน เริ่มกังวลทั้งโรค ทั้งค่ารักษา แถมตอนนั้นมีแพลนจะแต่งงานด้วย แผนทั้งหมดถูกพับเก็บไปโดยปริยาย และคิดว่าตอนนี้สิ่งที่ต้องทำก่อนคือรักษาโรค”

เนื่องจากโรคนี้พบเพียงแค่ 1 ในล้านเท่านั้น ซ้ำแพทย์ยังพบว่าอวัยวะภายในของเธอกลับด้านอีกด้วย ทำให้แพทย์ต้องการเคสของเธอเป็นกรณีศึกษา เธอจึงขอย้ายตามแพทย์ไปผ่าที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง “เพื่อแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายซึ่งหมอเองก็ยินดี แต่ต้องรอคิวผ่าหน่อย ค่อยๆ อดทนทำตามขั้นตอนไปเดี๋ยวก็ได้รักษาแล้ว และด้วยเป็นโรคที่ไม่มีอาการออก คุณหมอบอกว่ามันอันตรายกว่าพวกที่มีอาการเสียอีก เพราะเราอาจจะหมดสติหรือช็อกไปเมื่อไหร่ก็ได้ สุดท้ายก็ได้คิวผ่าในกลางเดือน ม.ค. 2560 ซึ่งก็รอคิวประมาณ 1 เดือน”

ใลลา สุเทพากุล ต้องหาความรู้กับโรคที่เป็นไว้ด้วย

การรักษาครั้งนี้จะมีแพทย์ 2 ท่านที่ต้องเข้ามาดูแลคือ แพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ กับแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ผ่าตัดอธิบายให้เธอฟังว่าเนื้องอกของเธอมีขนาดประมาณเกือบ 1 เซนติเมตร และเนื้องอกมันอยู่ตรงกลางของตับอ่อน ไม่ได้อยู่ที่ผิว ดังนั้นหากเซาะออกจะลำบากมาก จึงต้องผ่าตัดแบบเปิดท้องแล้วตัดเนื้อตับอ่อนออกไปถึง70 เปอร์เซ็นต์ คือตัดเนื้อดีทิ้งไปด้วย ซึ่งวิธีนี้มีความซับซ้อนน้อยและโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกก็น้อยเช่นกัน แต่เธอจะเหลือตับอ่อนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์

โดยแพทย์แจ้งว่าแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็เพียงพอต่อการผลิตอินซูลินแล้ว แต่ในกรณีที่ตับอ่อนกลับมาทำงานไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป เธอก็อาจจะเป็นเบาหวานได้ง่ายขึ้นในอนาคต นอกจากนี้แพทย์ผ่าตัดยังอธิบายเพิ่มเติมว่าอวัยวะอย่างม้ามก็มีเกณฑ์อาจต้องตัดออกไปด้วยเช่นกัน ในกรณีที่เปิดหน้างานมาดูแล้วพบว่าอยู่ใกล้กับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงม้าม แล้วการเอาเนื้องอกออกไปเกิดส่งผลกระทบในส่วนนั้นขึ้นมา เธอเริ่มรู้สึกกลัวขึ้นมาทันทีว่าต้องตัดม้ามเพิ่มด้วยเหรอ

ระหว่างรอคิวผ่าตัด เธอก็พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ต แล้วก็คิดว่าต้องไปหาความเห็นที่ 2 ก็เลยไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งที่ 2 โดยได้หอบเอาผลการตรวจ ผลเอกซเรย์ต่างๆ ไปด้วย “เลยลองไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐแห่งที่ 2 ดู ซึ่งครั้งแรกที่ไป ได้ไปพบกับหมอผ่าตัดก่อน โดยสำหรับวิธีการผ่า หมอก็บอกว่าเนื้องอกมันอยู่ตรงกลาง ต้องตัดตับอ่อนตรงกลางออกแล้วเอาหัวกับหางไปต่อกับลำไส้ เพื่อให้ท่อน้ำดีในตับอ่อนไหลลงลำไส้แทน ซึ่งอาการแทรกซ้อนที่อาจจะมีตามมาก็คือการรั่วได้ แต่หมอที่นี่ไม่ได้พูดว่ามีเกณฑ์การเอาม้ามออกแต่อย่างใด เพียงแต่ให้ไปทำเอ็มอาร์ไอสแกนเพิ่ม เพื่อดูให้ละเอียดว่าการผ่าตัดแบบไหนเป็นไปได้มากสุด เพราะอวัยวะภายในของเราก็ไม่เหมือนชาวบ้านเค้าอีก”

ใลลา สุเทพากุล ต้องหาความรู้กับโรคที่เป็นไว้ด้วย

เนื่องจากโรคที่เธอเป็นจริงๆ คือ น้ำตาลต่ำ แต่การตรวจหาสาเหตุของน้ำตาลต่ำก็ทำให้เธอได้พบว่าตัวเองมีเนื้องอกในตับอ่อน อย่างไรก็ตามการมีเนื้องอกในตับอ่อนต้องเอาออกอยู่แล้ว แต่จะรักษาอาการน้ำตาลต่ำของเธอด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าก้อนเนื้องอกกับการผลิตน้ำตาลมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ดังนั้นเธอจึงต้องไปพบทั้งแพทย์ผ่าตัด และแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อควบคู่กันไป ไม่ว่าเธอจะไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลใดก็ตาม

“เพลียใจมาก ช่วงนั้นเดินสายเข้าออกโรงพยาบาล อาทิตย์ละ 3 วัน สลับกันไป 3 โรงพยาบาลเริ่มเครียด มีวันหนึ่งไปตามนัดหมอต่อมฯ ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งแรก แต่รอคิวนานมากหมอที่นัดไว้ยังไม่มา บังเอิญมีหมอจากประเทศเกาหลีเหนือมาแลกเปลี่ยนดูงาน เห็นเราพูดภาษาอังกฤษได้ก็เลยให้มาคุย โดยหมอเกาหลี 3 คน ก็ถามว่าเป็นอะไรมา เราก็เล่าให้ฟังและเขาก็ขอดูเอกสารที่เป็นพวกค่าเลือด ค่าอินซูลิน น้ำตาลต่างๆ ไปดู แล้วก็บอกว่าทำไมค่าอินซูลินกับค่าน้ำตาลมันดูขัดแย้งกัน คือค่าอินซูลินอยู่ที่ 3.4 หากน้ำตาลต่ำขนาดนี้และเป็นโรคนี้จริงๆ ค่าอินซูลินมันน่าจะสูงกว่านี้ ในขณะค่าที่แสดงมานี้มันก้ำกึ่งมาก คือไม่สูงเสียทีเดียว เราก็เอ๊ะยังไง ตอนนั้นหมอผ่าตัดที่โรงพยาบาลรัฐแห่งที่ 2 ก็สงสัยกับค่าตรงนี้เช่นกัน พอหมอเกาหลีมาเอ๊ะแบบนี้อีก เราก็เอาละ ชักจะยังไงละเนี่ย สุดท้ายหมอต่อมฯ ที่จะต้องมาตรวจเราเข้ามา แล้วก็มาอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็น “อินซูลินโนมา” นี่ล่ะ ถึงแม้ค่าจะก้ำกึ่ง แต่ก็บอกว่ายังไงมันก็เกินขึ้นมานิดหน่อย (เกิน 3) แต่หมอเกาหลีก็ให้ไปเจาะเลือด ตรวจซีเปปไทด์ เพิ่มเติมเพื่อดูค่าอื่นๆ ให้แน่ใจอีกครั้ง ซึ่งหมอต่อมฯ ของที่นี่ก็ตกลง เราก็ไปเลยเจาะเลือดเพิ่มแล้วก็รอรับผลไป แต่กว่าจะได้กลับมาฟังผลการแปลค่าของเลือดที่นี่ก็อีกเป็นสัปดาห์ ระหว่างนั้นเรามีนัดกับหมอต่อมฯ ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งที่ 2 ก่อน เลยเอาผลไปให้หมอต่อมฯ ที่นั่นดูด้วย โดยอยากรู้ว่าทั้ง 2 โรงพยาบาลเห็นตรงกันหรือในทิศทางการรักษา เพื่อความแน่ใจสบายใจของตัวเราเอง”

เมื่อเจาะเลือดเพิ่ม เอาผลไปให้หมอที่โรงพยาบาลรัฐแห่งที่ 2 ดู แต่ปรากฏว่าหมอไม่คอนเฟิร์มโรค เพราะคิดว่าค่าก้ำกึ่งเกินไป และให้กลับไปฟังจากหมอต่อมฯ ที่โรงพยาบาลแรก ซึ่งเธอเองก็กลับไปที่โรงพยาบาลรัฐแห่งแรกอีกครั้ง วันที่ 4 ม.ค. 2560 ซึ่ง ณ ตอนนั้นเหลือเวลาอีกเกือบ 2 สัปดาห์ที่จะถึงคิวผ่าตัดแล้ว การไปครั้งนี้ก็เพื่อไปฉีดวัคซีนป้องกันหากเธอต้องผ่าตัดม้ามออกไป ซึ่งร่างกายจะไม่มีภูมิคุ้มกันแบคทีเรีย 13 ชนิด ดังนั้นจึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน โดยสำหรับคนวัยหนุ่มสาวไม่มีม้ามได้ร่างกายพอรับไหว ภายหลังจากได้รับวัคซีนและคิดว่ายังไงก็คงต้องผ่ากับแพทย์ที่โรงพยาบาลแรกแน่ๆ แต่เธอเองยังคงไม่แน่ใจกับวิธีการรักษาและการวิเคราะห์โรคของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ที่ดูจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในเย็นวันนั้นหลังจากได้รับวัคซีนแล้ว เธอจึงตัดสินใจไปพบแพทย์ผ่าตัดอีกที่เพื่อฟังความคิดเห็นที่ 3 เพิ่ม

ใลลา สุเทพากุล ต้องหาความรู้กับโรคที่เป็นไว้ด้วย

“เราเริ่มเครียดแล้ว เอายังไงดีต้องตัดทั้งม้าม ทั้งตับอ่อนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ หาข้อมูลทางเน็ตก็ไม่ค่อยมีคนที่เป็นโรคนี้กันมากนัก บังเอิญมีเพื่อนเป็นพยาบาลอยู่ที่ศิริราช เขาบอกว่าอย่าเพิ่งถอดใจ ลองมาหาหมอที่ศิริราชดูก่อน เขาจะนัดให้ เพื่อมาฟังความเห็นที่ 3 ว่าแผนการรักษาจะเหมือนกันไหม”

ได้ทำการนัดกับแพทย์ผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และเธอได้เอาเอกสารการตรวจทั้งหมดไปให้แพทย์ผ่าตัดดู ซึ่งมีทั้งเอ็มอาร์ไอสแกน ซีทีสแกน ค่าน้ำตาลที่เจาะมาแล้วหลายครั้ง เมื่อแพทย์ได้ดูอย่างละเอียดแล้วก็แนะนำการผ่าตัดโดยมี 2 ทางที่เป็นไปได้ 1.ไม่ต้องผ่าตัดตับอ่อนออกไป แต่ใช้วิธีควักเอาเนื้องอกออกเหมือนแคะขนมครก ไม่เสียเนื้อดีของตับอ่อนออกไป 2.คือแบบหมอที่โรงพยาบาลรัฐแห่งที่ 2 คือตัดตรงกลางทิ้งเอาหัวกับหางมาต่อกับลำไส้ ให้ท่อน้ำดีไหลลงลำไส้ โดยทั้งสองวิธีเป็นการผ่าแบบเปิดท้อง เพราะอวัยวะของเธอกลับด้าน ทำให้มีความซับซ้อนในการผ่าตัดมากกว่าคนทั่วๆ ไป ซึ่งแพทย์เล่าถึงแผนการรักษาแบบสบายๆ ไม่ซีเรียสอะไร จนเธอแปลกใจ

“เราก็เลยถามว่า อ้าวแล้วม้ามล่ะคะ ต้องตัดออกไหมคะ หมอก็ทำหน้างงว่า ตัดทำไม ไม่ต้องตัด และคุณหมอยังย้ำอีกว่า อายุยังน้อย มันค่อนข้างเสี่ยงที่จะตัดตับอ่อนทิ้งออกไปเยอะ ซึ่งอาจทำให้เราเป็นเบาหวานได้ในอนาคต ณ ตอนนั้นเรารู้สึกสบายใจมากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าก้อนเนื้อนี้เป็นอะไร แต่ดูจะเสียเลือด เสียเนื้อน้อยที่สุด ซึ่งจากทั้ง 3 โรงพยาบาลที่ไปปรึกษานั้น หมอที่ศิริราชอาวุโสสูงสุด แล้วมีแผนการรักษาและการพูดคุยที่ทำให้เราสบายใจที่สุด กำลังใจเริ่มมาละ หมอดูใจดีและมีอารมณ์ดี แถมมีเวลาให้นานด้วย จนกล้าปรึกษาหมอถึงเรื่องส่วนตัว ว่าคุณหมอคะ หนูกำลังจะแต่งงานตอนกุมภาฯ แต่ต้องเลื่อนเพราะรอคิวผ่าตัดค่ะ จะทำอย่างไรดี คุณหมอก็ยินดีกับเรา และบอกให้ไปแต่งงานตามฤกษ์ที่ได้มาก่อน เสร็จงานแล้วค่อยมาผ่า และด้วยความที่หมอเห็นว่าเราไปมาแล้วหลายโรงพยาบาล เลยถามว่าตกลงจะมาผ่ากับหมอไหม ถ้าโอเคก็ให้เลิกเดินสายช็อปปิ้งได้แล้ว (หมอแซว) ซึ่ง ณ เวลานั้นเราได้สอบถามถึงคิวหมอคร่าวๆ ซึ่งก็ยังพอได้อยู่ เลยตอบตกลงกับหมอ และเริ่มขั้นตอนใหม่อีกรอบที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะหมอประจำอยู่ที่นั่นด้วย และค่าใช้จ่ายน่าจะไม่สูงเท่าเอกชน”

ใลลา สุเทพากุล ต้องหาความรู้กับโรคที่เป็นไว้ด้วย

หลังจากนั้นเธอใช้เวลาเกือบ 3 สัปดาห์ เดินสายไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อของที่นี่ เพื่อให้ยืนยันโรค โดยมีการทำเทสต์เลือดดูค่าน้ำตาล และฮอร์โมนต่างๆ ของเธออยู่หลายครั้ง เจาะเลือดไปหลายสิบหลอด จนแพทย์ยืนยันว่าโรคของเธอคือ “อินซูลินโนมา” โดย ณ วันผ่าตัดคณะแพทย์ต่อมไร้ท่อก็ได้เข้าไปในห้องผ่าตัด เพื่อวัดค่าน้ำตาลทันทีเมื่อนำชิ้นเนื้อออกไป ว่าจะกลับมาปกติทันทีไหม หากใช่ นั่นแสดงว่าก้อนเนื้องอกตัวนี้คือสาเหตุของน้ำตาลต่ำอย่างแท้จริง “ตอนนั้นยุ่งมากจนไม่มีเวลาให้เครียด เป็น 3 สัปดาห์ที่ท้าทายสุดๆ เพราะต้องเตรียมงานแต่งงาน ไปพบแพทย์ รวมถึงเคลียร์งานประจำก่อนที่จะต้องลาหยุดยาว และที่สำคัญยังต้องไปออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายพร้อมก่อนผ่าตัด ก็ค่อยๆ คิด วางแผนและจัดการกับทุกอย่างภายในเวลาที่จำกัด และด้วยความที่หมอกลัวเราจะฟุบก่อนเข้าผ่าตัด เลยสั่งให้ทานของหวานๆ ตอนเตรียมตัวจะเป็นเจ้าสาวนี่ล่ะค่ะ”

สรุปเธอได้แต่งงานเมื่อวันที่ 6 ก.พ. เข้าโรงพยาบาลในวันที่ 8 ก.พ. และผ่าตัดในวันที่ 9 ก.พ. โดยอยู่โรงพยาบาล 8 วัน เธอก็กลับบ้านได้เป็นปกติ “ถ้าไม่มาหาหมอที่ศิริราช การผ่าตัดคงจะยุ่งยากมากกว่านี้ แล้วอาจต้องตัดม้ามออกไปฟรีๆ แถมหมอที่นี่ยังให้ไปผ่าที่แผนกปกติ ไม่ใช่คลินิกพิเศษ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ และที่สำคัญ เป็นการผ่าแบบส่องกล้องไม่ต้องเปิดหน้าท้อง ทำให้แผลเล็กมากและกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว สุดท้ายตับอ่อนเรายังอยู่ครบ มีเพียงเนื้องอกเท่านั้นที่ถูกตัดออกไป โดยหลังจากเอาชิ้นเนื้อออกไป ผลตรวจของก้อนเนื้อคือเป็นก้อนที่ผลิตฮอร์โมน ไม่ใช่ก้อนเนื้อร้ายอย่างที่กังวล ผลน้ำตาลเป็นปกติแล้ว ซึ่งเราประทับใจกับทีมแพทย์ที่ศิริราชมาก ใช้เวลาหาหมอที่ศิริราช 3 สัปดาห์กว่าๆ จึงได้ผ่า นี่ถ้ามาหาหมอที่ศิริราชแต่แรกคงได้ผ่าไปตัดแต่ปีที่แล้ว ไม่ต้องรอนานเกือบ 3 เดือนเช่นนี้” เธอกล่าวอย่างมีกำลังใจ

เวลาที่มีความเจ็บป่วยแล้วต้องมีการผ่าตัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์ 2 โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยตรงกัน อย่าฟังเพียงหมอแห่งเดียวแล้วตัดสินใจเชื่อทันที แต่นี่เธอไปพบแพทย์ถึง 3 โรงพยาบาล และถ้าเธอไม่ขวนขวายหาข้อมูลเพิ่ม หาแพทย์เพิ่ม คงต้องเสียอวัยวะ เสียใจ เสียเวลา และเจ็บตัวไปโดยเกินความจำเป็น

หมอที่ผ่าตัดให้เธอนั้นเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องตับแถวหน้าของประเทศ และยังเป็นแพทย์ไทยคนแรกที่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนตับได้อีกด้วย คือ รศ.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลศิริราชอีกด้วย “เราโชคดีที่ได้มาเจอคุณหมอทันเวลาก่อนที่จะสายเกินไป” เธอกล่าวอย่างมีความสุข

หลังจากผ่าตัดได้ 1 เดือน ค่าน้ำตาลในเลือดเธอขึ้นมาที่ระดับปกติคือ 85-90 เช่นคนทั่วไป หมอยังคงนัดตามผลอีก 2 ครั้ง ซึ่งเธอจะปรึกษาว่าเธอสามารถมีลูกได้ตามปกติเลยหรือไม่ เพราะเธอก็พร้อมแล้วสำหรับอนาคตที่สดใสและเริ่มต้นใช้ชีวิตครอบครัวต่อไป

ใลลา สุเทพากุล ต้องหาความรู้กับโรคที่เป็นไว้ด้วย