posttoday

จักรพงษ์ คงมาลัย ดิจิทัลแมน

25 กุมภาพันธ์ 2560

ในวงการดิจิทัลยุคใหม่ มีผู้เชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์แห่งวงการดิจิทัลไม่กี่คน จักรพงษ์ คงมาลัย

โดย...พรเทพ เฮง

ในวงการดิจิทัลยุคใหม่ มีผู้เชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์แห่งวงการดิจิทัลไม่กี่คน จักรพงษ์ คงมาลัย ก็เป็นหนึ่งในคนหนุ่มวัยต้น 40 ที่ไฟแรงและพร้อมที่เดินไปข้างหน้าเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองไทยไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

 ไฟฝันและพลังของเขามีอยู่เต็มเปี่ยม มาอ่านความคิดของเขากัน

ประสบการณ์อดีตจนถึงปัจจุบัน

 “ผมเริ่มต้นการทำงานในฐานะนักข่าว เป็นทีมแรกๆ ที่ทำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ตั้งแต่ปี 2000 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งพอดี แต่ถ้ามองในแง่ดีช่วงนั้นมันก็มีเรื่องให้เราเขียนทุกวัน พอเขียนๆ ไปผมมาค้นพบว่าตัวเองชอบเดินไปแอบดูพี่ๆ นักข่าวโต๊ะการตลาดกับโต๊ะไอทีว่าเขาทำอะไรกัน เลยมารู้ตัวทีหลังว่าลึกๆ แล้วสนใจเรื่องการตลาด

 “พอทำอยู่กลุ่มผู้จัดการได้ 3 ปี ผมก็เปลี่ยนสายมาทำงานการตลาดทำอยู่บริษัท เทเลอินโฟมีเดีย ทำ Product Marketing ให้กับ Local Search ของสมุดหน้าเหลือง YellowPages.co.th ทำไปทำมามีอยู่วันหนึ่งผมแวบเข้าไปในเว็บไซต์ Yahoo! แล้วดันทะลึ่งไปคลิกคำว่า Jobs ก็เลยสมัครไปเล่นๆ ไม่คิดไม่ฝันว่าเขาจะติดต่อกลับมา บอกให้ลองทำข้อสอบ 100 ข้อ วัดความรู้ความเข้าใจเรื่องอินเทอร์เน็ต ปรากฏว่าผมได้เข้ารอบสัมภาษณ์และไปทำงานกับบริษัทอินเทอร์เน็ตในฝัน Yahoo! ที่สิงคโปร์อีก 3 ปี

 “กลับมาเมืองไทยมาทำการตลาดดิจิทัลที่ Thai Samsung Electronics ในตำแหน่ง Content Marketing Manager จากนั้นก็ย้ายไปบริษัท Sanook Online ดูแลฝั่งธุรกิจและการพัฒนา Content บนเว็บไซต์ Sanook.com ก่อนที่จะออกมาเปิดบริษัทด้าน Digital PR & Content ของตัวเองชื่อ Moonshot ครับ

 “แต่ถ้าให้สรุปสั้นๆ คือในสายของการสื่อสารแบรนด์ ผมก็ผ่านงานทั้งฝั่ง Brand, Publisher และล่าสุด Agency เป็นคนที่เริ่มต้นจากคนทำ Content ก่อนแล้วค่อยบิดมาสู่โลก Marketing & PR ในตอนหลังครับ ทำมาร่วมๆ 17 ปีล่ะครับ”

ทำงานกับ Yahoo!

 “เป็นประสบการณ์ที่ดี แต่ก็ต่างกันมากกับที่เมืองไทยครับ ตอนผมเริ่มงานที่ Yahoo! เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมันเหมือนได้ทำงานกับบริษัทในฝันยังไงยังงั้น มีโอกาสได้เจอคนทำงานสายเทคโนโลยีจากทั่วโลก เรียนรู้มาตรฐานการทำงานในบริษัทอินเตอร์ ได้เดินทางไปซิลิคอนวัลเล่ย์ อะไรก็สนุกไปหมด แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดกลับเป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนไม่ได้ฉุกคิด นั่นคือเรื่องความเข้าใจธรรมชาติของคนบนโลกออนไลน์ หรือจะเรียกว่า 'Digital sense’ ก็ได้

 “การเรียนรู้นี้เกิดจากตำแหน่งหน้าที่ของผมตอนนั้นมีชื่อว่า Community Manager หรือ 'ผู้จัดการชุมชน' ของผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Flickr (ชุมชนคนรักการถ่ายภาพอันดับต้นๆ ของโลกในยุคนั้น) และ Yahoo! Answers (Q&A Platform) หน้าที่การงานของผมคือ เป็นตัวกลางระหว่าง Yahoo! กับ user คอยพูดคุยดูแลชุมชนผู้ใช้งาน การทำงานจึงต้องใช้ทักษะในการพูดคุยสื่อสารกับผู้คนบนโลกออนไลน์ค่อนข้างเยอะ สื่อสารกันผ่าน Blog, Social Network, Networking Forum บวกกับข้างใน Yahoo! จะมีกระบวนการทำงานที่ละเอียดมากๆ เขาจะมีทีมวิจัยด้านธุรกิจโดยเฉพาะที่คอยอัพเดทให้คนทำงานเข้าใจความเคลื่อนไหวของธุรกิจออนไลน์ ซึ่งตรงจุดนี้ล่ะครับที่ผมว่าในเมืองไทยยังขาด บ้านเรามักจะเรียนรู้อะไรกันผ่านการเรียนรู้ด้วยการลองทำอย่างเดียว อย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมจะบอกว่าการเรียนรู้ด้วยการลองทำนั้นดีเยี่ยมที่สุดแล้ว แต่บางครั้งการเรียนรู้ด้วยการพยายามสังเคราะห์ข้อมูลอย่างลึกซึ้ง อ่านและตีความ data ให้ออก”

จาก Thumbsup ถึงฝันก้าวต่อไป Moonshot

 “การเกิดขึ้นของมูนช็อต (Moonshot) สำหรับผมคือการเติมเต็มช่องว่างในการสื่อสารแบรนด์ครับ วิธีคิดมันก็เรียบง่าย คือเรามองว่าแบรนด์ทุกแบรนด์ต้องสื่อสารแบรนด์ด้วยการทำ 'โฆษณา' และ 'ประชาสัมพันธ์' อยู่แล้ว ที่ผ่านมาหลายๆ แบรนด์ก็เริ่มดึงคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านดิจิทัลมาใช้ในงาน 'โฆษณา' แต่พอมามองในแง่มุมของ 'ประชาสัมพันธ์' ผมกับหุ้นส่วนที่ Rabbit Digital Group มองตรงกันว่าเราไม่ค่อยเห็นใครนำเอาความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลมาใช้กับการทำ 'ประชาสัมพันธ์' มากนัก เราก็เลยวางจุดยืนว่า Moonshot คือ Digital PR & Content Agency ซึ่งหลายๆ แบรนด์ก็ให้การตอบรับค่อนข้างดี

 "แต่หลายๆ คนยังไม่ค่อยแน่ใจว่า Digital PR คืออะไร เราก็บอกกับทุกคนว่าในความคิดเห็นของเรา Digital PR คือกระบวนการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ดิจิทัลที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์แก่องค์กร และสาธารณชนของแบรนด์ การทำงานของ Digital PR เล่นอยู่กับเรื่องของ ‘คน’ จึงต้องวางแผนอย่างมีกลยุทธ์ และสร้างความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องในโลกดิจิทัล (Digital Stakeholders) เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ แบรนด์ที่ดีในใจผู้บริโภค ความพึงพอใจของลูกค้า การบอกต่อในแง่ดี การเพิ่ม Conversion Rates การเพิ่ม Return on Investment (ROI) มันจึงไม่ใช่เพียงการทำ Press Release การปั่นกระแส (Spinning Story) และเชิญนักข่าวมาอีเวนต์เท่านั้น เรื่องนี้เล่าแล้วยาวมากครับ"

 “ส่วน thumbsup เป็นเว็บไซต์ที่ผมเปิดขึ้นมากับเพื่อนๆ เมื่อต้นปี 2011 เนื้อหาจะเน้นอยู่ 2 เรื่อง 1.การตลาดยุคใหม่ 2.Tech Startup แต่ตอนหลังเราเห็นว่าคนอ่าน 2 กลุ่มนี้มีความต้องการเนื้อหาที่แตกต่างกัน เราเลยแยกออกมาอีกเว็บไซต์หนึ่งชื่อว่า techsauce.co ซึ่งผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับ techsauce แต่จะยังดูแล thumbsup ร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนเช่นเดิมครับ โดยปีนี้ thumbsup ก็จะกลับมาอีกครั้งพร้อมกับ event ของนักการตลาดและนักประชาสัมพันธ์ Spark Conference ที่เราจัดต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี ปีนี้จะเป็นครั้งที่ 4 รวมถึง event ขนาดกลางอย่าง Digital Matters ที่ชวนนักการตลาดนักประชาสัมพันธ์มาพบปะพูดคุยกันแบบเสวนายามเย็นสบายๆ”

จักรพงษ์ คงมาลัย ดิจิทัลแมน

 

มองไทยแลนด์ 4.0

 “ผมพยายามมองในแง่ดีว่ามันเป็นความตั้งใจดีของรัฐบาลนะครับ ผมชอบที่ ดร.พิเชษ ดุรงคเวโรจน์ (รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ท่านออกมาพูดว่าพยายามที่ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย เริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ได้ก่อน เพราะไม่ว่าเราจะมี 4จี, 5จี และเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถสื่อสารได้รวดเร็วทันใจอีกมากแค่ไหน มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าเราไม่ได้ทำให้คนทั้งประเทศมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

 “เราจึงน่าจะเริ่มจากการทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันให้ได้อย่างเท่าเทียมทั่วประเทศก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาให้เทคโนโลยีนั้นเข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยผ่านหลายๆ ส่วน นอกเหนือจากสื่อสารแบบปกติ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การศึกษา การแพทย์ แต่สิ่งที่ผมอาจจะยังมีคำถามค้างคาใจคล้ายๆ กับทุกคน ก็คือ ท่ามกลางโครงสร้างทางการเมืองที่ยังไม่นิ่งแบบนี้ พวกเราประชาชนคนไทยกับรัฐบาลจะร่วมกันขับเคลื่อนวิสัยทัศน์นี้ให้ถึงจุดหมายได้ดีที่สุดในเวลาที่มีอย่างไร กลัวมันจะกลายเป็นการฉายหนังซ้ำเรื่องเดิมๆ ว่าเรามีวิสัยทัศน์ เราคิดได้ แต่เรายังไปไม่ถึงด้วยสาเหตุนั้นสาเหตุนี้”

เทคโนโลยีดิจิทัล

 “คำว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมันค่อนข้างกว้าง กว้างในมุมที่ว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้อย่างไร ถ้าเอาใกล้ตัวพวกเราในแง่มุมของสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเมืองไทยตอนนี้สื่อดิจิทัลกินส่วนแบ่งเกือบ 10% และน่าจะขึ้นไปเกิน 20% ได้ในอนาคต อันนี้คืออิงจากหลายๆ ประเทศที่สื่อดิจิทัลยังคงเติบโตต่อเนื่องนะครับ บางประเทศมากกว่า 20% ไปมากแล้ว

 “ที่ถามว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวผมคิดว่าผู้คนน่าจะหันมาสนใจว่าไอ้เจ้าเทคโนโลยีดิจิทัลมันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง มันทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้นไหม ซื้อขายของผ่าน Mobile Commerce ง่ายไหม จอดรถด้วย IoT ง่ายขึ้นหรือเปล่า เรียกแท็กซี่ด้วยแอพง่ายไหม เวลาไม่สบาย คุยกับหมอง่ายขึ้นไหม สั่งอาหารได้ทันใจหรือเปล่า มันไม่ใช่แค่ว่ามีเน็ตแล้วดูคลิปและเล่นอินเทอร์เน็ตได้ไวขึ้นเฉยๆ”

ถอดบทเรียนสิงคโปร์

 “ผมคิดว่ารัฐบาลสิงคโปร์เป็นรัฐบาลที่มองเรื่องดิจิทัลได้ทะลุกว่าใครในภูมิภาคนี้ ผมชอบที่เขาเริ่มเตรียมรากฐานที่สำคัญกับ ‘คน’ ก่อน เช่น เขาจัดให้นักเรียนมัธยมของเขาต้องเรียนวิชาเขียนโปรแกรม ในอนาคตประเทศเขาจะเต็มไปด้วยคนที่ช่วงใช้เทคโนโลยีเป็น ไม่ใช่แค่คนที่บริโภคเทคโนโลยี ซึ่งบ้านเราก็ควรที่จะจัดทำสิ่งเหล่านี้บ้าง ผมเองเป็นคณะกรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ข้างในเราก็พยายามผลักดันเรื่องนี้เช่นกัน อีกเรื่องที่ผมชอบมาก คือ เขาจัดทำ Singapore Public Data ลองไปดูกันได้ที่ https://data.gov.sg/ นะครับ"

ธุรกิจยุคดิจิทัลโหดหิน

 “การแข่งขันของธุรกิจในยุคดิจิทัลนั้นดุเดือดเลือดพล่านมาหลายปีละครับ ในความเห็นส่วนตัวผม ผมคิดว่าแทบทุกๆ อุตสาหกรรมเลยครับ เห็นได้ชัดในธุรกิจทางด้านโทรคมนาคม การสื่อสาร สื่อมวลชน การเงิน หรือสิ่งไหนก็ตามที่สามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ก็ต้องแข่งในการปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ดีขึ้น เช่น ลูกค้าของคุณหลุดมาอยู่บนช่องทางออนไลน์มากขึ้น ก็ต้องตามมาร่วมบทสนทนาบนช่องทางออนไลน์ เสนอขายสินค้าออนไลน์ ปรับปรุงช่องทางการจ่ายเงิน ตลอดจนบริการหลังการขายออนไลน์ พูดง่ายๆ คือ ต้องดู Customer Journey ยุคใหม่ที่ย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ให้ครบ แล้วปรับตัวเข้ากับวิถีการใช้ชีวิตยุคใหม่ของผู้บริโภค ท้ายสุดมันไม่ใช่แค่ออนไลน์นะครับ ออฟไลน์ก็จะต้องทำต่อด้วย มันเลยไม่ง่ายนัก”

ช่องว่างของคนไทยกับเศรษฐกิจดิจิทัล

 “สำหรับผมคำว่า ‘ช่องว่าง’ น่าจะหมายถึงอุปสรรคที่ทำให้เรายังไม่ประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งผมคิดว่าคนไทยมีช่องว่างอยู่หลายเรื่อง แต่ขอยกเฉพาะ 3 เรื่องพื้นฐานที่สำคัญในเชิงความคิด ความรู้ ความเข้าใจพลวัตที่เปลี่ยนไปของโลกยุคใหม่ ผมชอบที่ Thomas Friedman เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มเก่าของเขา เรื่อง The World Is Flat เล่าแล้วยาวอยากให้ไปอ่านกัน แต่อ่านแล้วฟังหูไว้หูนะครับ ผมว่าบางอย่างก็มองในแง่ดีเกินไป

 “ในเชิงภาษา ประเทศไทยเรามีขนาดค่อนข้างเล็ก จำนวนผู้ใช้ภาษาไทยก็น้อยกว่าภาษาอื่นๆ การรับรู้และเข้าใจโลกในปัจจุบันจะรออ่านจากภาษาของเราเองอย่างเดียวไม่ได้ ความรู้เรื่องภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่เราพูดกันมานานหลายสิบปี แต่ปัจจุบันผมก็ยังพบคนรุ่นใหม่ที่มาสมัครงานกับผมแล้วภาษาอังกฤษยังไม่ดีพอที่จะเรียนรู้โลกใบนี้ได้ดีพอ

 "ในเชิงการเข้าถึงดิจิทัล มันเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศต่างๆ คนในเมืองใหญ่กับคนในชนบทที่มีโอกาสต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน อันนี้เป็นเรื่องระยะยาวมากๆ ดีแล้วที่รัฐบาลคิดและทำเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ผมว่าทุกคนคงอยากเห็นชีวิตโดยรวมของผู้คนดีขึ้น จากการที่ทุกภาคส่วนของสังคมเข้าใจและใช้งานดิจิทัลได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างเช่น

 - นักการตลาดและนักประชาสัมพันธ์เข้าใจว่าจะเอาเทคโนโลยีมาสื่อแบรนด์ได้อย่างเหมาะสมถูกที่ ถูกคน ถูกเวลาอย่างไร ไม่ยึดติดการทำอะไรเดิมๆ ไม่ต้องตั้งแผนกดิจิทัลขึ้นมา แต่ทุกคนเข้าใจเรื่องดิจิทัลตั้งแต่แรก

 - คนต่างจังหวัดสามารถสร้างรายได้มากขึ้นจากการขายสินค้าออนไลน์กับชาวต่างชาติ โดยไม่ถูกหลอก

 - ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดศักยภาพการแข่งขันในยุคนี้ได้ด้วยการเปิด Public Data

 - ตำรวจและเจ้าหน้าที่รู้เท่าทันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การพนันออนไลน์ ความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์

 "ทั้งหมดนี้ผมว่ามันคงขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในแวดวงไหนด้วย แต่สำหรับผม ผมฝันที่จะสร้างแบรนด์ที่คนรักได้จริงๆ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลมันขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ และความเป็นมนุษย์ไม่ใช่แค่สมการอัลกอริทึมหลังบ้าน”

เชื่อในพลังโซเชียลมีเดีย

 “เรียนตรงๆ ว่าตอนหัดใช้ Facebook มาใหม่ๆ ราวปี 2008 ผมก็ไม่คิดว่า Facebook จะมาไกลขนาดมีคนใช้เป็นพันล้านคนแบบนี้นะครับ ตอนนั้นคนไทยยังใช้ Social Network อย่าง Hi5 และ MySpace กันอยู่เลย แต่สาเหตุที่ Facebook ชนะได้ในระดับโลก ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม น่าจะเป็นเพราะการเอาจริงเอาจังกับการทำให้คนหันมาเปิดเผยตัวตนและใช้ชื่อจริงในแพลตฟอร์มตัวเอง ทำให้คนรู้สึกว่านี่คือชื่อเสียงของตัวเรา และต้องคอยอัพเดททุกสิ่งทุกอย่างในโปรไฟล์ของตัวเอง แต่ถึง Facebook จะดังขนาดไหน ผมว่ามันมีช่องว่างเสมอครับ ถ้าพูดถึงเรื่อง Social Network สำหรับคนทำงานและคนที่ต้องการติดต่อกับคนต่างชาติ LinkedIn ก็ดี ถ้าเราชอบติดตามข่าวสาร ผมว่า Twitter ก็ดี”

ชีวิตส่วนตัวและการทำงานหนัก

 “ผมเคยมีปัญหาเรื่องนี้นะครับ จนไม่มีเวลาให้ครอบครัว จำได้ว่าโทรไปปรึกษากับป้อม ภาวุธ แห่ง TARAD.com เขาแนะนำได้แสบมาก เขาบอกว่าให้ลองเอาเรื่องงานมาปนกับเรื่องส่วนตัว ทุกวันนี้ผมเลยพาครอบครัวไปทำงานด้วย ส่วนใครที่ไม่อินเรื่องดิจิทัลผมก็จะหาทางเอาดิจิทัลไปคุยกับเขา ชวนคุยเรื่องมือถือ แท็บเล็ต เดี๋ยวก็สนุกเอง ส่วนถ้าเรารู้สึกว่าเวลามันน้อย เราก็ตื่นเช้าขึ้นอีกนิดหนึ่ง เช่น ช่วงนี้ผมจะตื่นตีห้าทุกวัน แล้วเราจะมีเวลาทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย นอกนั้นก็เหมือนทั่วๆ ไปครับ จัดลำดับความสำคัญอะไรก่อน อะไรหลัง

 “เหนื่อยมี 2 แบบ คือ เหนื่อยกายกับเหนื่อยใจ เหนื่อยกายผมไม่ค่อยเหนื่อยครับ สนุก และมีพลังกับมันเสมอ ได้นอนพัก ตื่นมาเดี๋ยวก็หายเหนื่อย ส่วนเหนื่อยใจนี่ผมคิดว่ามันเป็นอารมณ์ของเราเอง เช่น ทำไมเราทำอย่างนั้นไม่ได้ ปัญหายุคดิจิทัลมันเยอะจัง ดราม่าดังทุกวันบนโลกออนไลน์ ทำไมคนอื่นไม่เข้าใจดิจิทัล จะแก้ไขอย่างไร ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่ามันเริ่มได้ง่ายด้วยการจัดการที่ใจตัวเราเองก่อนครับ”

ความฝัน

 “คนเรามีความฝันได้หลายความฝัน ปีนี้ฝันแบบนี้ ปีหน้าอาจจะฝันอีกแบบหนึ่งก็ได้ ความฝันส่วนตัวของผมตอนนี้เลยเป็นเรื่องงานมากๆ เลยครับ ผมฝันอยากเห็นวงการ PR ในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลก่อนครับ คำว่าเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่ Social technologies, Search technologies, Content Creation แต่ยังรวมไปถึงการทำความเข้าใจ Mobile Operating System, Data Analysis, Algorithm ของ Platform ต่างๆ, User Experience ของเว็บ, Smart Device ซึ่งความรู้ความเข้าใจเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมืออาชีพทางด้าน PR และ Marketing ยุคใหม่จะต้องมี Digital lifestyle หรือเป็นคนที่ชื่นชอบและสนุกกับการใช้เทคโนโลยีในการใช้ชีวิต ไม่เช่นนั้นต่อให้พยายามเรียนรู้แนวปฏิบัติยุคใหม่มากเพียงไร ก็จะไม่ ‘อิน’ กับเทคโนโลยีที่หลั่งไหลเข้ามาในชีวิตเราอยู่ดี”