posttoday

ตอบโจทย์อนาคต ด้วยคนรุ่นใหม่

16 กุมภาพันธ์ 2560

โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เร่งเร้าให้ผู้คนต้องปรับตัวเพื่อปรับเปลี่ยนได้ทันเวลา

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เร่งเร้าให้ผู้คนต้องปรับตัวเพื่อปรับเปลี่ยนได้ทันเวลา จึงเป็นความท้าทายที่คนทุกวัยในยุคนี้ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อพร้อมรับมือกับโจทย์ทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น

การเรียนรู้บนฐานของการคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล รู้จักนำองค์ความรู้ที่มีมาพัฒนาตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักให้เห็นความสำคัญ ซึ่ง BBL (Brain-Based Learning) คือหลักของการเรียนรู้ที่จะเข้าใจพัฒนาการสมองของคนทุกวัย ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นได้

งานสัมมนาวิชาการพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษา การเรียนรู้และพัฒนาสมองคนไทยทุกช่วงวัย OKMD BBL Symposium: Inspire You Brain, Inspire Your Future ที่มาพูดถึงการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ที่มีผลต่อพฤติกรรมและแนวทางการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

ตอบโจทย์อนาคต ด้วยคนรุ่นใหม่

 

กระบวนทัศน์ใหม่ต้องเกิดขึ้น

องค์ความรู้และนวัตกรรมเป็นอาวุธสำคัญของโลกยุคใหม่ จุดประกายสมองสร้างคนตอบโจทย์โลกยุคใหม่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า ประเด็นทิศทางการศึกษาของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่กับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน แนวคิดและกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ และแนวทางการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

“โจทย์สำหรับเด็กทั้งพลโลกมีการเปลี่ยนแปลง ความคิดความอ่านของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ประเด็นแรกที่พลโลกกำลังถูกท้าทายจุดสำคัญที่สุดก็คือการเข้ามาสู่ความเป็นดิจิทัล ไลฟ์ ประเด็นที่ 2 ก็คือสังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดค่อนข้างต่ำ ประเด็นที่ 3 ชีวิตเร่งเร็ว (Fast Life) ต้องสร้างนิว นอร์มอล (New Normal คือความปกติในรูปแบบใหม่) นิว มายด์เซต (Mindset คือกระบวนการทางความคิด การปรับทัศนคติ มองโลกในแง่มุมที่ควรจะเป็น การปรับความชอบหรือนิสัยหรือการจัดลำดับความคิดใหม่) และนิว เดเวลอปเมนต์ (New Development คือกระบวนการพัฒนาแบบใหม่)”

การพัฒนาศักยภาพของสมอง รศ.นพ.สุริยเดว บอกว่า มายด์เซตต้องเปิด โดยผ่านหลักบีบีแอล (การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน Brain-Based Learning : BBL) กายพร้อม ใจเปิด สมองเกิดการเรียนรู้ คิดสร้างสรรค์ เผชิญสิ่งที่ท้าทาย แล้วทำให้เกิดทักษะ ตรงนี้เป็นเรื่อง
พื้นฐานที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของสมอง

“ตอนนี้มายด์เซตของผู้ใหญ่ไทยคือการแข่งขัน ต้องปรับเปลี่ยนตรงนี้ให้ได้ ความเป็นจริงของประเทศไทย เมื่อลองหวนกลับมาดูว่า โภชนาการพร้อมหรือไม่พร้อม การนอนหลับอย่างเพียงพอ นี่คือกายพร้อม มาถึงใจเปิดที่ต้องเปิดกันด้วยความเป็นบวก สมองเกิดการเรียนรู้ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ให้เด็กเดินไปตามความชอบที่เขาถนัด จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจและความกระหายอยาก เมื่อเกิดสิ่งนี้ตามความถนัดก็ใส่องค์ความรู้เข้าไป ทักษะความชำนาญ และพื้นที่ยืนให้กับเขา เผชิญความท้าทายซึ่งเด็กต้องสู้ชีวิตและก้าวข้ามปัญหาผ่านอุปสรรคตามพัฒนาการของเขา โดยผ่านวิชาชีวิตของความยากลำบากขั้นพื้นฐาน จะได้มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่เข้มแข็ง และเมื่อประสบความสำเร็จพร้อมแบ่งปันให้กับผู้อื่น เกิดทักษะ ซึ่งเป็นสกิลล์ ฟอร์ ยัวร์ ไลฟ์ จำเป็นต้องให้ลูกหลานรู้เท่าทัน ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในการกระทำ”

ตอบโจทย์อนาคต ด้วยคนรุ่นใหม่

 

การพัฒนาแบบยั่งยืนในมุมเศรษฐศาสตร์ 

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ย้ำว่า คนคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ สิ่งที่จะทำให้แข่งขันและยืนหยัดในเศรษฐกิจสมัยนี้ ต้องมีคนที่เก่งแล้วเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ มีความห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่เช่นนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะไม่ยั่งยืน

“โจทย์หลักที่สำคัญของประเทศไทยใน 10-20 ปีข้างหน้า คือการเติบโตแบบกระจายตัว ซึ่งคำตอบอยู่ที่เรื่องการศึกษา เพราะว่าคนที่มีการศึกษาจะทำให้ประเทศพัฒนาได้ คนเราที่เก่งสามารถทำงานที่มีมูลค่าเพิ่มและดีขึ้นก็สามารถกระจายรายได้ไปสู่ทุุกๆ คนได้ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่เป็นโจทย์หลักในอนาคต การพัฒนาคนต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่

กิริฎา บอกว่า เทคโนโลยีที่เข้ามาได้เปลี่ยนทักษะความต้องการของคนยุคปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนทักษะการทำงานให้เพิ่มขึ้นทุก 5 ปี

ตอบโจทย์อนาคต ด้วยคนรุ่นใหม่

โมเดลระบบการศึกษาจากฟินแลนด์            

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาจากฟินแลนด์ บอกว่า ตัวเธอเอง ถือว่าเป็นโปรดักต์หนึ่งจากการศึกษาของฟินแลนด์ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เด็กอยากไปโรงเรียน ฟินแลนด์ทำให้เด็กไปโรงเรียนแล้วสนุก ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของโรงเรียน เรื่องของรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน

“กรอบทางวัฒนธรรมของไทยเป็นปัญหาหนึ่งในเรื่องระบบการศึกษาที่ต้องแก้ไข การเรียนรู้ในฟินแลนด์เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของนักเรียนสูงมาก จะทำอย่างไรที่ให้นักเรียนรู้จักตัวเอง ทำอย่างไรให้นักเรียนกล้าจะบอกว่าตัวเองสนใจและชอบอะไร มีสองส่วนคือตัวเองรู้ว่าสนใจอะไรและกล้าที่จะบอก กรอบวัฒนธรรมของไทยยังไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนกล้าที่จะคิดกล้าที่จะทำอย่างเพียงพอ ทำให้ห้องเรียนเป็นคอมฟอร์ต โซน ที่ให้นักเรียนได้คิดได้ทำอย่างสบายใจ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สูงมาก เพราะเป็นการวางแผนให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโต เป็นการวางแผนอนาคตให้เขา จำเป็นต้องใช้จินตนาการเยอะมาก จะทำอย่างไรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น และมีทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในกระบวนการนั้น”

ฟินแลนด์มองว่าการพัฒนามนุษย์เป็นเรื่องขององค์รวม และไม่มีการเรียนพิเศษ เพราะว่าการช่วยเหลือนักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาแกนกลางอยู่แล้ว กุลธิดาย้ำว่า ในโครงสร้างการศึกษามีการทำงานร่วมกันหมดที่มุ่งเน้นไปที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ฟินแลนด์ไม่เคยจัดการศึกษาเพื่อการสอบ แต่จัดให้นักเรียนมีคุณภาพ

กรอบวัฒนธรรม กรอบวิธีคิด เป็นมายด์เซตที่ต้องกลับไปมองระบบการศึกษาไทยกันใหม่ เป็นสิ่งที่กุลธิดามองว่าจะเป็นความก้าวหน้าในการจัดการปฏิรูปการศึกษาของเด็กไทย

ตอบโจทย์อนาคต ด้วยคนรุ่นใหม่

 

สมดุลและพอเพียง

เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ Chairman of the Executive Committee and CEO มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองว่า ประเด็นหลักๆ ของการศึกษาไทยคือเรื่องของจิตสำนึก ทำอย่างไรให้คนเรามีจิตสำนึกที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ความรู้หรือคุณภาพของคนวัดไม่ได้ด้วยตัวเลข

“ชีวิตมนุษย์มีภายนอกกับภายใน โจทย์ของประเทศไทย คนไทย และเด็กไทย รวมไปถึงการศึกษา เป็นโจทย์ที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญทั้งภายนอกและภายในให้มีสมดุล สอนให้คนมีสติ แต่ไม่ใช่การสวดมนต์หรือเข้าวัด เพื่อให้ตัดสินใจอะไรที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงและถูกต้องเสมอ และเขาจะไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ถ้ามองในด้านเศรษฐกิจหรือตัวเลข ผมมองว่าโลกนี้กำลังถูกลากพาไปโดยกระแสของโลกาภิวัตน์ ผมค่อนข้างโอนเอียงมาในเกณฑ์ของพอเพียง ก็หมายความว่าเราไม่ควรยึดติดในเรื่องของตัวเลข เรื่องของวัตถุเป็นคนละเรื่องกับจิตใจ พอขาดความสมดุลตรงนี้แล้ว ชีวิตทั้งชีวิตก็ผิดหมดและหาตัวเองไม่เจอ”

เพชร บอกว่า เขาให้ความสำคัญกับอะแวร์เนส (Awareness การสร้างการรับรู้) อยู่ในปัจจุบัน จิตสำนึกก็จะตามมา ซึ่งตัวเลขก็จะตามมา ถ้าทำงานด้วยใจรัก วัดด้วยความสุขความสงบ คุณภาพชีวิตของคนไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข