posttoday

การเรียนรู้ ยุคไทยแลนด์ 4.0

30 มกราคม 2560

อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย พลังแห่งการสื่อสารที่ทำโลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

โดย...โยธิน อยู่จงดี

อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย พลังแห่งการสื่อสารที่ทำโลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารูปแบบการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่นั้นแตกต่างไปจากผู้คนยุคก่อนอย่างสิ้นเชิงชนิดไม่เหลือเค้าโครงให้พอระลึกถึง นำมาซึ่งคำถามที่ว่าแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า กับการเป็นคนไทยยุค 4.0 ระบบการศึกษาและรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กไทยจะเปลี่ยนเป็นเช่นไร

การวิเคราะห์ ทักษะสำคัญในอนาคต

ราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือทีเค ปาร์ก (TK park) แสดงทัศนะเกี่ยวกับประเด็นนี้ในงาน 12 ปี ทีเค ปาร์ก บนเสวนาการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล และความคาดหวังต่อบทบาทของทีเค ปาร์ก ว่า “โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเราทุกคนอย่างคาดการณ์ไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลทำให้เราเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ง่ายมากขึ้น เราคาดการณ์ไม่ได้กำหนดทิศทางไม่ได้ ทำให้เราต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องการใช้เทคโนโลยีด้วยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่อนาคต

การเรียนรู้ ยุคไทยแลนด์ 4.0

“ในอดีตการมีกำลังทหาร มีอาวุธที่ดีจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติได้แต่ในโลกยุคไร้พรมแดนนั้น ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาการศึกษาพัฒนามนุษย์ให้มีความพร้อมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่า ต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคตเทียบเท่ากับอาวุธที่เราใช้ป้องกันประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแผน 20 ปี ที่กำหนดกรอบกว้างๆ เพื่อนำประเทศไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เรื่องการศึกษาก็ยิ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาแผนไทยแลนด์ 4.0

การศึกษาในอนาคตก็คือการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของการอ่านหนังสือ รวมทั้งการกระจายห้องสมุดออนไลน์ที่จะช่วยกันพัฒนาเยาวชน องค์ความรู้ทั่วโลกนั้นมีอยู่มากมาย แต่สิ่งที่เราขาดอยู่และจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องการเรียนรู้ก็คือเรื่องของการคิดวิเคราะห์ที่จะนำองค์ความรู้นั้นมาปรับประยุกต์ใช้

กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นจะไม่มีทางเปลี่ยนไปเลย ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยก็ตาม แต่ทัศนคติต่อการเรียนรู้ของเราจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราทราบกันดีว่าข้อมูลล้นโลก และในทุกชั่วโมงมีนวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และทุกคนตั้งหลักไม่ทันเพราะถาโถมเข้ามามาก ไม่สามารถคาดการณ์ได้ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ความถี่ของการเกิด และจำนวนเนื้อหา ทำให้คาดเดาได้ลำบาก

การเรียนรู้ ยุคไทยแลนด์ 4.0

 

จุดรับมือของเราคือการสร้างภูมิคุ้มกัน ว่าเราควรมีทักษะอะไรบ้างที่เราจะรับมือในศตวรรษใหม่ข้างหน้า ทักษะในเรื่องความรู้เป็นเรื่องจำเป็นเสมอ แต่ทักษะที่จะหยิบเอาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า เราต้องการเห็นคุณลักษณะของคนไทยรุ่นใหม่ๆ ในการคิดวิเคราะห์และเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเราต้องเอาเทคโนโลยีมารวมกับองค์ความรู้ที่มีให้เกิดความน่าสนใจ

สรุปได้ว่าทักษะในการคิด กระบวนวิธีการคิด และกระบวนการวิเคราะห์ เป็นตัวตั้งต้นในการกำหนดทิศทางที่จะเดินหน้าการเรียนรู้ตามความชอบของเด็กแต่ละคน ผสานกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อมาแปรสู่กระบวนการปฏิบัติ ทักษะในเรี่องของการแก้ไขปัญหาต้องจำประเด็นให้ถูกและแก้ไขปัญหาให้เป็น รวมทั้งทักษะในการทำงานเป็นทีม เพราะในอนาคตการประสบความสำเร็จไม่สามารถประสบความสำเร็จด้วยตัวเองอีกต่อไป ดังนั้นเด็กๆ จะต้องเข้าไปเกาะติดกระแสการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบอกได้ยากว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไร เขาควรจะเข้าไปเรียนรู้ด้วยการหาช่องทางเข้าไปถึงความรู้ที่ต้องการ

เพราะอนาคตสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้คือ การรู้ให้ลึก รู้ในสิ่งที่ไม่สามารถหาได้ในอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ความรู้แนวกว้าง แค่กดคลิกแล้วก็หาได้เหมือนๆ กัน แต่คนที่มีลักษณะเฉพาะจะเป็นสิ่งที่ต้องการมากกว่า ส่วนการแทนที่งานในอนาคตด้วยเทคโนโลยี น่าจะเข้ามาแทนที่การทำงานที่มีรูปแบบซ้ำๆ หรือใช้เฉพาะการคำนวณเชิงสถิติมาช่วยในการตัดสินใจ แต่งานที่ใช้เรื่องคอมมอนเซนส์ในการตัดสินใจความรู้สึกในการสร้างสรรค์ และช่วยแก้ปัญหาจะยังคงอยู่ ซึ่งเด็กๆ จะต้องเกาะติดกับสถานการณ์และปรับตัวไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับแหล่งความรู้ของคนก็คือห้องสมุด ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่การทำงานอะไรก็ตาม แต่ห้องสมุดก็ยังเป็นแหล่งความรู้สำคัญ เพราะเทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ห้องสมุดได้ แต่ห้องสมุดจะผสานกับเทคโนโลยีเพื่อกระจายความรู้อย่างทั่วถึงต่อไป”

การเรียนรู้ ยุคไทยแลนด์ 4.0 ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช

ครูต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยี

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช  กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เสริมว่า ในยุคที่ผู้ใหญ่อยู่ในสังคมก้มหน้า เอามือไถถูสมาร์ทโฟน เด็กๆ ของเราก็จะเริ่มเรียนรู้จากการใช้งานของผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องเรียนรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ แต่การที่จะให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ใช่การถอดปลั๊กไม่ให้เขาได้เรียนรู้อะไรเลย เพราะไม่อย่างนั้นเขาก็จะกลายเป็นเด็กตกยุค ที่ไม่รู้จักการทำแอนิเมชั่น การใช้งานโซเชียลมีเดีย

เราจำเป็นต้องรู้ว่าควรจะสอนเด็กๆ อย่างไรให้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย โดยเริ่มต้นการเรียนการสอนในอนาคต บุคลากร เช่น ครูรุ่นใหม่ๆ จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องทำสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ เช่น อี-บุ๊ก ที่เปิดในแท็บเล็ต การทำอี-เลิร์นนิ่ง เช่น การทำโปรแกรมแฟลชใช้ในการเรียนการสอน และการทำสต็อปโมชั่น การทำภาพนิ่งต่อกันเป็นภาพเคลื่อนไหว เพื่อใช้ในการเรียนรู้ และก็มาถึงการทำภาพยนตร์สั้น เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เพราะเราเห็นว่าการเรียนการศึกษาในอนาคต แทนที่ครูจะใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ก็ต้องรู้จักใช้สื่อใช้เทคโนโลยีให้เป็น

“ในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมีสมาร์ทโฟนและสมาร์ทดีไวซ์เกือบทุกคน รวมถึงการที่รัฐบาลได้เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศ เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งความรู้ และให้สามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาในอีกหลายมิติ ทั้งในด้านการประกอบอาชีพและการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อาทิ การทำอี-คอมเมิร์ซ ขายสินค้าของชุมชนไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรของแต่ละพื้นที่เพื่อพัฒนาผลิตผล เป็นต้น ทั้งหมดนี้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ ได้เพียงปลายนิ้ว และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา”

การเรียนรู้ ยุคไทยแลนด์ 4.0 ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์

เตรียมความพร้อมแนวกว้างเพื่อมุ่งสู่เชิงลึก

ความท้าทายในระบบการศึกษา ที่สร้างคนให้เป็นที่ยอมรับในอนาคต 20 ปี ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของทางภาครัฐ แต่ในระดับโรงเรียนและนักการศึกษาก็ถือเป็นความท้าทายสำหรับพวกเขาด้วยเช่นกัน ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า ให้ความเห็นในเรื่องการเรียนรู้ในอีก 20 ปีข้างหน้า ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนและนักจัดการศึกษาแนวหน้าของไทยคนหนึ่งว่า การจัดการเรียนการสอนความท้าทายอยู่ที่อนาคตที่คาดเดาไม่ได้

“นักเรียนที่เริ่มเรียนหนังสือกับเราตอน 3 ขวบ ถามว่าสิ่งที่เราสอนไปแล้วเขาจะได้ใช้เมื่อไหร่ นั่นก็คือตอนเรียนจบปริญญาตรีตอนอายุ 23 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ผมว่าความท้าทายของวงการศึกษาก็คือเรากำลังจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันเพื่อตอบโจทย์ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความท้าทายไม่ใช่บอกว่าตอนนี้ต้องการอะไรเดี๋ยวเราจัดให้ แต่ความท้าทายอยู่ที่การที่เราต้องบอกให้ได้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า สังคมต้องการอะไร ประเทศชาติต้องการอะไร องค์กร บริษัท ห้างร้าน ต้องการอะไร และครอบครัวที่มีเด็กเล็กๆ อายุ 3 ขวบ ในอีก 20 ปีข้างหน้า เขาต้องการให้ลูกเขาเป็นอย่างไร น่าจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด

สิ่งที่เราเตรียมตัวในวันนี้ แล้วเกิดวันข้างหน้าเขาไม่ได้ใช้ ก็เป็นความรู้สึกที่ทำให้เรารู้สึกผิดพลาด แต่ถามว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะต้องเจอกับอะไร เอาแค่ถามว่าปีหน้าเทรนด์แฟชั่นอะไรจะมาแรง ยังตอบได้ยากเลย สีไหนจะมา รถแบบไหนจะขายดี บ้านแบบไหนจะขายได้ยังตอบไม่ได้เลย ไม่ต้องถามถึง 20 ปีข้างหน้าว่าการศึกษาเราจะไปในทิศทางไหน วิชาไหนจะได้ใช้ มันเกินจินตนาการที่เราจะตอบได้

การเรียนรู้ ยุคไทยแลนด์ 4.0

หน้าที่ของนักการศึกษา คือต้องเตรียมความพร้อมกับนักเรียนให้เพียงพอ ผมเชื่อเสมอว่าการจัดการเรียนการสอนที่ดีหรือว่าการสอนที่ดี ควรจัดในรูปแบบสามเหลี่ยม การศึกษาของเด็กในช่วงวัยต้นควรเรียนให้หลากหลายมากที่สุด โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ และฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ เมื่อถึงช่วงกลางและปลายค่อยให้โอกาสกับเขาเลือกในสิ่งที่ชอบและถนัดมากที่สุด

หลักๆ ในการเรียนรู้ที่สำคัญต่ออนาคตจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ องค์ความรู้ และทักษะ เด็กๆ ต้องเตรียมความพร้อมไว้อย่างแรกคือองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องของภาษาเป็นเรื่องสำคัญ เด็กรุ่นใหม่ๆ ควรมีความสามารถด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาแม่ต้องพูดได้ดี อ่านออกเขียนได้ถูกต้องตามหลักภาษา จากนั้นค่อยไปเรียนรู้เพิ่มเติมในภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่นๆ ที่เขาสนใจ

ต่อมาคือเรื่องของทักษะ อันดับแรกคือทักษะในการช่วยเหลือตัวเอง ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และทัศนคติในการแก้ปัญหา ต่อไปงานในอนาคตจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และเด็กที่มีความอดทน มีความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาด้วยทัศนคติที่ดี จะเป็นที่ต้องการของทุกงานในอนาคตเสมอ"