posttoday

เอกภาสน์ เตพละกุล อยากทำเพื่อประเทศต้องลงมือ

31 ธันวาคม 2559

ความชอบในสิ่งเล็กๆ บางอย่าง สำหรับบางคนแล้วก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำ ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ความชอบในสิ่งเล็กๆ บางอย่าง สำหรับบางคนแล้วก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำ ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่สำหรับบางคนกลับนำความชอบมาเป็นแรงผลักดันไปสู่การสร้างฝันที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นจริงขึ้นมาได้

เอกภาสน์ เตพละกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท สกายเวนเจอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความชอบ มีฝัน แล้วลงมือทำจนสำเร็จ แทนที่จะปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นหายไปในอากาศ เพราะเอกภาสน์ มีแนวคิดว่า “ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ เราอย่ารอช้า ต้องลงมือทำ ทำไม่เป็นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นก็คือคุณทำรึเปล่า เพราะคนเราเรียนรู้ได้ตลอดเวลา”

จากการมีแนวคิดเช่นนี้เอง เมื่อบวกกับความชื่นชอบสร้างเมือง ต่อรถไฟ จากของขวัญเมื่อวัยเยาว์ 20-30 ปี ก่อนที่คุณพ่อซื้อมาให้เล่น และความต้องการอยากให้เมืองไทยมีแหล่งท่องเที่ยวสักแห่งที่คนทั้งครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ โดยได้ทั้งความบันเทิงและสาระ ในที่สุดจึงลงทุนลงแรงจนสร้างฝันสำเร็จเปิดตัว

เอกภาสน์ เตพละกุล อยากทำเพื่อประเทศต้องลงมือ

 

“สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์” เมืองจำลองย่อส่วนอัตรา 1:87 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ชั้น 2 เกตเวย์ เอกมัย ติดกับไฟลท์ เอ็คซพีเรียนซ พื้นที่ให้คนได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์เสมือนเป็นนักบิน ซึ่งเอกภาสน์ก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเช่นกัน

เอกภาสน์ เล่าว่า ความคิดอยากทำแหล่งท่องเที่ยวประเภทสาระบันเทิง (เอ็ดดูเทนเมนต์) ในเมืองไทย เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน จุดเริ่มต้นมาจากเวลานั้นผมเริ่มมีลูก 2 คน จึงเริ่มหาสถานที่ที่จะพาลูกๆ ไปเที่ยว ซึ่งในเมืองไทยพอมีบ้าง แต่พอไปแล้วลูกๆ รู้สึกสนุกสนาน ส่วนพ่อแม่อาจไม่ได้รู้สึกสนุกสนานร่วมด้วยเท่าไหร่ เพราะไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยได้ ทำให้เกิดความคิดว่า น่าจะมีสถานที่ที่คนในครอบครัวไปสนุกสนานร่วมกันได้ทั้งหมด

เวลานั้นก็ไปค้นหาสถานที่อยู่หลายประเภท ทั้งเกมเซ็นเตอร์ ซิมูเลเตอร์รถแข่ง แทรมโพลีน เกมเลเซอร์ รวมถึงเมืองจำลอง ไปดูมหกรรมขายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ในสหรัฐอเมริกา และสุดท้ายก็ได้ไปที่เมืองจำลอง ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเปิดมาประมาณ 10 ปีแล้วก็มองว่าเมืองจำลองน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์เรื่องเอ็ดดูเทนเมนต์ได้ เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้เข้าชมสูงถึงปีละ 1 ล้านคน จึงตัดสินใจว่าจะทำเมืองจำลอง

เอกภาสน์ เตพละกุล อยากทำเพื่อประเทศต้องลงมือ

 

ช่วงแรกที่ตัดสินใจได้แล้วเคยไปเจรจากับทางผู้ที่เป็นเจ้าของเมืองจำลองในเมืองฮัมบูร์กเพื่อขอซื้อแฟรนไชส์มาทำในไทย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ในที่สุดจึงตัดสินใจว่าจะทำเมืองจำลองขึ้นมาเอง ซึ่งความท้าทายสำคัญที่รออยู่ข้างหน้าก็คือ ไม่มีผู้ให้คำแนะนำว่าการสร้างเมืองจำลองต้องทำอย่างไร ประกอบกับในประเทศไทยไม่มีบุคลากรที่เคยทำแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้มาก่อน ซึ่งการสร้างเมืองจำลองย่อส่วนต้องใช้ทักษะสูง ความมุมานะก็ต้องสูง รายละเอียดในการทำก็มาก

ในประเทศไทยนั้นมีคนที่สร้างเมืองจำลองย่อส่วนเป็นงานอดิเรกอยู่บ้าง พอให้ไปหาความรู้จากคนเหล่านี้ได้ แต่คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถสร้างทุกอย่างในเมืองจำลองได้ด้วยตัวเอง บางอย่างจะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง อีกทั้งค่าตัวยังแพงมาก ดังนั้นจึงหันกลับมาเริ่มสร้างคนและทำเมืองจำลองย่อส่วนให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ระหว่างหาทีมงานก็ไปเจอกับอาจารย์ชาติขจร เลิศสวัสดิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงนำเสนอโครงการนี้ไปและได้อาจารย์มาร่วมงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต สร้างสรรค์เมืองนี้ขึ้นมา

“อุปสรรคในการสร้างสแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ มีเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนและเรื่องการหาวัตถุดิบอุปกรณ์ ต่อมาเป็นเรื่องของเงินทุน เพราะวัตถุดิบราคาสูง ปัญหาคือความเร็วในการทำงานทำเร็วมากไปก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงใช้เวลาสร้างกว่า 2 ปีจึงจะเสร็จ ซึ่งระหว่างก่อสร้างก็มีคนบอกว่าเราไม่มีทางทำเสร็จได้ แต่เราก็ทำได้จนเสร็จตามวันที่เราบอกเอาไว้ เลยรู้สึกภูมิใจที่ทำได้ ดีใจที่เด็กๆ จะเดินเข้ามาดูได้เสียที” เอกภาสน์ กล่าว

เอกภาสน์ เตพละกุล อยากทำเพื่อประเทศต้องลงมือ

 

ทั้งนี้ สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ เกิดขึ้นได้จากทีมงานกว่า 50 คน และกล่าวได้ว่าที่นี่คือเมืองจำลองฝีมือคนไทยแท้ก็ได้ ถือเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถที่จะทำเมืองจำลองได้ สิ่งสำคัญมาจากทีมงานทุกคนมีความมุ่งมั่นสูงมาก เชื่อในสิ่งที่ทำว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศและสังคมไทย พอมีความเชื่อร่วมกันแบบนี้จึงทำงานได้แบบไม่มีการมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของผม เป็นหน้าที่คุณ เวลางานหมดก็กลับบ้าน แต่ทุกคนมาเช้ากว่ากำหนดเวลางาน กลับดึกกว่ากำหนด ทำแบบไม่มีบ่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ร่วมกันตั้งแต่วันแรกที่เริ่มสร้างจนมาถึงวันนี้

เอกภาสน์ ระบุว่า ที่มาของการตั้งชื่อเมืองจำลองย่อส่วนว่า สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ มาจากการให้โจทย์กับนักเขียนการ์ตูนให้ช่วยสร้างเรื่องราว สร้างตัวละครมาเล่าเรื่องราวในเมืองจำลองย่อส่วนนี้ ซึ่งพอเล่าแนวทางเรื่องราวที่ต้องการไป นักเขียนการ์ตูนก็หยิบชื่อลูกชายของเอกภาสน์ คือ สแตนลีย์ มาเป็นตัวละครหลัก

เรื่องราวก็มีอยู่ว่า การผจญภัยของหนุ่มน้อยสแตนลีย์ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อคุณปู่ของเขาได้เล่าถึงสมบัติล้ำค่าที่เคยเก็บซ่อนไว้ในโลกแห่งนี้ สแตนลีย์จึงออกเดินทางตามหาสมบัติเหล่านั้น ซึ่งระหว่างทางก็ได้พบกับเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายผ่าน 11 โซนแห่งความสุขและความมหัศจรรย์ในเมืองจำลองย่อส่วน

เอกภาสน์ เตพละกุล อยากทำเพื่อประเทศต้องลงมือ

 

ได้แก่ 1.เมืองแห่งทรัพยากรที่เป็นต้นกำเนิดชีวิต ซึ่งรวบรวมทรัพยากรจำเป็นไว้ที่นี่ รวมถึงเขื่อนฮูเวอร์ แดม ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นที่สุดในวิศวกรรมโลก รวมทั้งเหมืองแร่ดีบุกที่แปรรูปเป็นของใช้ โซนก่อสร้างที่จำลองให้เห็นขั้นตอนการทำงานของช่างก่อสร้างและเหมืองแร่ทองคำ 2.เมืองเกษตรกรรมและการทำปศุสัตว์ เต็มไปด้วยต้นไม้และทุ่งหญ้าเขียวขจี การใช้ชีวิตแบบปลูกสวนผัก ผลไม้ ทำฟาร์มสัตว์ ผลิตไฟฟ้าจากแรงลม มีไฮไลต์เด็ดเป็นกังหันลมที่ทำด้วยฝีมือช่างไทย

3.เมืองแห่งประวัติศาสตร์และอารยธรรม แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ อเมริกาและยุโรป ฝั่งอเมริกาจะสะท้อนภาพเมืองที่แข็งแรงเรื่องแนวคิดการใช้งาน การออกแบบง่าย ไม่หวือหวา ส่วนฝั่งยุโรป จะสะท้อนเรื่องการออกแบบวิจิตรงดงาม 4.เมืองแห่งจุดเริ่มต้นของการคมนาคมและความบันเทิง โดยเมืองนี้รถไฟเป็นพระเอก มีไฮไลต์เป็นราวด์ เฮาส์ โกดังเก็บรถไฟที่หาชมยาก พร้อมทั้งสวนสนุก คอนเสิร์ต และสนามบอล

5.เมืองแห่งทะเลทรายที่ร้อนระอุ ประกอบด้วยคาราวานพ่อค้ากลางทะเลทราย มีโอเอซิสจำลอง พร้อมสวนสัตว์ 6.เมืองแห่งท้องทะเล มีไฮไลต์เป็นเรือเก่าแก่ที่จมอยู่ใต้ทะเลลึก 7.ถ้ำแห่งกาลเวลา ที่จะได้พบกับสิ่งแปลกพิสดารที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอเหมือนหลุดออกมาจากเทพนิยาย 8.เมืองท่าสีขาว โดยจะปกคลุมด้วยหิมะทั่วเมือง ได้เห็นความน่ารักของสัตว์ขั้วโลก พร้อมกระเช้าลอยฟ้าขยับได้จริง และเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำงานเสมือนจริงร่วมกับเรือสินค้าขนาดใหญ่

เอกภาสน์ เตพละกุล อยากทำเพื่อประเทศต้องลงมือ

 

9.สนามบินไร้ขอบฟ้า ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดในสแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ เป็นเมืองแห่งการพบพาและจากไป ได้เห็นฉากความซาบซึ้งเกี่ยวกับตัวละครต่างๆ บนโซนนี้ พร้อมทั้งเห็นความอลังการของการทะยานขึ้นและลงจอดของเครื่องบินสายการบินมากกว่า 30 ลำ รวมถึงเครื่องบินเจ็ตของทหาร พร้อมโชว์ระบบการจัดการสนามบินอย่างละเอียด

10.ย่านธุรกิจพันล้าน สะท้อนความรุ่งเรืองของย่านธุรกิจและแสดงตึกระฟ้าโด่งดังในโลก สะท้อนภาพย่านชุมชนแออัด เพื่อให้ได้ศึกษาวิถีชีวิตคนเมืองแบบครบถ้วน ได้เห็นนสังคมเดียวกันที่มีคุณภาพชีวิตแตกต่างกันสิ้นเชิง และ 11.เมืองไท้ยไทย ที่นำเอาจุดสำคัญในประเทศไทยมารวมไว้บนโต๊ะนี้ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จตุจักร ตลาดน้ำ

เอกภาสน์ กล่าวว่า ถ้าเป็นคนทั่วไปที่มาเที่ยวชมสแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ น่าจะใช้เวลาเฉลี่ย 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นช่างภาพอาจจะใช้เวลาขั้นต่ำกัน 4 ชั่วโมง เพราะช่างภาพน่าจะชอบกับการได้รูปเมืองจำลองย่อส่วนแบบเต็มที่ โดยหวังว่าจะมีคนมาเยี่ยมชมที่แห่งนี้ 1 แสนคนในปีแรกหลังเปิดให้บริการ และกลายเป็น 4 แสนคน/ปี ภายใน 3 ปีข้างหน้า สำหรับการเข้าชมเมืองนี้จะเปิดให้เข้าได้ 10.00-20.00 น. ทุกวัน ค่าเข้าชมสำหรับเด็ก ความสูง 80-130 เซนติเมตร อยู่ที่ 450 บาท ผู้ใหญ่ 650 บาท

เมืองจำลองย่อส่วนแห่งนี้จะมีการปรับปรุงส่วนต่างๆ อยู่เรื่อยๆ โดยทุกๆ วันจะมีการเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ตามโซนต่างๆ โดยหลังจากนี้ก็จะรอฟังความคิดเห็นของผู้ที่เข้ามาชมเมืองจำลองย่อส่วนแห่งนี้ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร อยากเห็นอะไรเกิดขึ้นในเมืองแห่งนี้เพื่อนำมาปรับปรุง

ท้ายนี้ เอกภาสน์ ฝากไว้ว่า หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะเอ็ดดูเทนเมนต์ในไทยมากๆ เพราะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของกลุ่มครอบครัวได้ดี เด็กไทยจะได้ประโยชน์ไปด้วยนอกเหนือจากการได้รับความบันเทิง

การสร้างสแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ นอกจากทำให้ประเทศไทยเกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ขึ้นมาแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่เหนือไปกว่าคือสแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ เป็นเครื่องหมายที่สะท้อนความสามารถของคนไทยได้ดีว่า ถ้ามีความพยายาม ตั้งใจทำ และลงมือจริง ในที่สุดก็จะสำเร็จได้ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะยากเย็นเพียงใดก็ตาม